"บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะ ศบค.ไฟเขียวต่อ พรก.ฉุกเฉิน 2 เดือน ลดเวลาเคอร์ฟิวเหลือ 4 ทุ่มถึงตี 4 คลายล็อก 9 กิจการ โรงหนัง-เล่นดนตรีในร้านอาหาร-ฟิตเนส-กีฬากลางแจ้งมีผู้ชมได้ ส่วนห้าง-ร้านสะดวกซื้อ-ตลาดเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ยังคงพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จว. ลดเวลากักตัวเข้าไทย ทุกมาตรการมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. เคาะพื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 3 ระยะ "กทม.-เชียงใหม่-พัทยา" ดีเดย์ 1 พ.ย. ไทยติดเชื้อลดลงเหลือหมื่นราย ดับ 101 ราย จ่อผุด "ศรช.” รับมือโควิดแทน ศบค. นายกฯ ควานหามือขวาคุมหลังปรับโครงสร้างใหม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 กันยายน เวลา 13.00 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน โดยเริ่มจากการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 10,288 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,149 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,180 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 969 ราย และมาจากเรือนจำ 127 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,571,926 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 12,494 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,435,401 ราย อยู่ระหว่างรักษา 120,156 ราย อาการหนัก 3,341 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 728 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 101 ราย เป็นชาย 56 ราย หญิง 45 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 74 ราย มีโรคเรื้อรัง 23 ราย เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล 2 ราย ที่ จ.จันทบุรีและฉะเชิงเทรา โดยจังหวัดที่พบผู้เสียชีวิตมากสุดคือ สมุทรปราการ 16 ราย รองลงมาคือ กทม. 12 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 16,369 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 1,785 ราย สมุทรปราการ 607 ราย ชลบุรี 587 ราย สงขลา 466 ราย ยะลา 445 ราย ระยอง 355 ราย ปัตตานี 305 ราย นราธิวาส 300 ราย สมุทรสาคร 291 ราย ราชบุรี 274 ราย โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานในที่ประชุม ศบค.ว่า การติดเชื้อของทั้งประเทศ กทม.และปริมณฑลถือว่าลดลง แต่ที่ยังน่ากังวลใจคือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อสั่งการควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ถึง 30 พ.ย. ทั้งนี้ แม้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อจะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่ยังต้องมีการเตรียมเปลี่ยนผ่านจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเป็นกฎหมายดังกล่าว ในส่วนของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ศบค., คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จึงให้ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาเรื่องนี้ให้มีความรอบคอบก่อน
คลายล็อก 9 กิจการ
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังได้พิจารณาว่าจำเป็นต้องเข้มข้นในมาตรการส่วนบุคคลมากขึ้น ส่วนมาตรการทางสังคมยังคงเดิม ได้มีการปรับมาตรการสำหรับกิจการและกิจกรรมที่ถูกปิดไปตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 10 กิจการและกิจกรรม ประกอบด้วย 1.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และวัยก่อนเรียน ให้เปิดดำเนินการได้ โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด 2.ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดเอกชน ห้องสมุดชุมชน และบ้านหนังสือ 3.พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน แหล่งประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน 4.ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม และหอศิลป์ ให้เปิดได้ แต่จำกัดจำนวนผู้เข้าชมไม่เกิน 75% 5.ร้านทำเล็บ เปิดได้โดยนัดหมายล่วงหน้า 6.ร้านสัก เปิดได้โดยนัดหมายล่วงหน้า ลูกค้าได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ หรือตรวจ ATK หรือ RT-PCR ผลเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง
7.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ นวดสปา เปิดดำเนินการได้โดยนัดหมายล่วงหน้า จำกัดเวลาบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน โดยลูกค้าต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ หรือตรวจ ATK หรือ RT-PCR ผลเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง แต่ยังไม่เปิดบริการอบไอน้ำ 8.ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ฉายภาพยนตร์ เปิดดำเนินการได้ถึง 21.00 น. จำกัดจำนวนผู้เข้าชม 50% และนั่งที่เว้นที่ แต่ถ้ามาด้วยกันให้นั่งด้วยกันได้ ห้ามรับประทานอาหาร 9.การเล่นดนตรีในร้านอาหาร ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 5 คน และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา นักร้องสามารถถอดหน้ากากอนามัยเฉพาะเวลาร้องเพลง และ 10.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ยังไม่เปิดดำเนินการ โดยให้ติดตามสถานการณ์อีก 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากทำให้มีการเดินทางเข้าร่วมอบรมสัมมนาจากหลายพื้นที่
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับเงื่อนไขมาตรการสำหรับกิจการและกิจกรรมในพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ 1.การห้ามออกนอกเคหสถาน จากเดิมเวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ปรับลดลงเป็นเวลา 22.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น อย่างน้อย 15 วัน 2.ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จากเดิมเปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 20.00 น. ปรับมาเป็นเปิดได้ถึง 21.00 น. โดยอนุญาตให้เปิดสถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา ห้องออกกำลังกาย ฟิตเนส สระว่ายน้ำ แต่ยังไม่เปิดดำเนินการในส่วนของตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก สวนน้ำ และห้องประชุมจัดเลี้ยง 3.ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ตลาดนัด เฉพาะจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค จากเดิมให้เปิดถึง 20.00 น. ปรับมาเป็นเปิดได้ถึง 21.00 น. และ 4.กีฬากลางแจ้ง ไม่มีระบบปรับอากาศ หรือในร่มที่มีเครื่องปรับอากาศ จากเดิมเปิดได้ถึง 20.00 น. ปรับมาเป็นเปิดได้ทุกประเภทกีฬาไม่เกิน 21.00 น. กรณีกีฬาในร่มจัดการแข่งขันได้ โดยไม่มีผู้ชม กีฬากลางแจ้งจัดการแข่งขันได้ โดยมีผู้ชมไม่เกิน 25% และผู้ชมต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ หรือตรวจโควิด-19 แล้วผลเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบคงระดับพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด และพื้นที่สีอื่นๆ เหมือนเดิม ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64
ศบค.ยังมีมติปรับลดเวลากักกันสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ รวมทั้งผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทย ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว หรือประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในทุกช่องทางที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศซึ่งโดยสารมาทางเครื่องบินและไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางช่องทางบก และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ส่วนผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางน้ำ จะต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนทุกคน
เคาะพื้นที่สีฟ้าเที่ยว 3 ระยะ
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก หรือพื้นที่สีฟ้า ระหว่างวันที่ 1-31 ต.ค.64 ซึ่งถือเป็นพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลัก เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประกอบด้วย 4 จังหวัด ที่เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า), พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) และกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก )
ส่วนพื้นนำร่องระยะที่ 1 ที่จะเริ่มระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย.64 ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กระบี่ทั้งจังหวัด, พังงาทั้งจังหวัด, ประจวบคีรีขันธ์เฉพาะ ต.หัวหิน และ ต.หนองแก, เพชรบุรีเฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ, ชลบุรีเฉพาะเมืองพัทยา อ.บางละมุง ต.จอมเทียน ต.บางเสร่, ระนองเฉพาะเกาะพยาม, เชียงใหม่เฉพาะ อ.เมืองเชียงใหม่ แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า, เลยเฉพาะ อ.เชียงคาน, บุรีรัมย์เฉพาะ อ.เมืองบุรีรัมย์
สำหรับพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-31 ธ.ค.64 จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ส่วนพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวระยะ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นไป จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เสนอขอขยายระยะเวลาเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ไปอีก 1 ปี เพื่อนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งนี้มีเรื่องการปรับรายละเอียดโครงการแฟกตอรีแซนด์บ็อกซ์ในระยะที่ 2 ผอ.ศบค.ได้เห็นชอบ รวมทั้งยังได้ให้ความเห็นชอบและลงนามจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อรองรับการเดินทางเข้าประเทศและโครงการแซนด์บ็อกซ์ทั่วประเทศหลังวันที่ 1 ต.ค.64 โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแล ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำว่า กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่คนจะเข้ามาในประเทศไทยนั้น ให้มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากและใช้ระบบฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย เพื่อจะดูแลได้ทั้งสุขภาพและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน
"ผอ.ศบค.ได้กล่าวขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ทั้งภาคเอกชนและผู้ประกอบการ จนถึงภาคประชาชน ขอบคุณอย่างสูงที่ทำให้ได้มีวันนี้ ถึงแม้ตัวเลขการติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่เป็นหลักหมื่นอยู่ ซึ่งเราต้องมีการตื่นตัวในการป้องกันตัวเองตามหลักของการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ไว้ โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องมีการกลับไปชีวิตวิถีใหม่ จะต้องอยู่กับโควิด โดยจะเปลี่ยนแปลงจากโรคระบาดเป็นเป็นโรคติดต่อประจำท้องถิ่น และขอให้ประชาชนช่วยร่วมมือกันต่อไป" โฆษก ศบค.ระบุ
มีรายงานว่า การที่ ศบค.มีมติขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน เนื่องจากการจัดทำโครงสร้างหน่วยงานรองรับการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดตามการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติยังไม่แล้วเสร็จ ในเบื้องต้นโครงสร้างใหม่จะมีการตั้งศูนย์อำนวยการโรคติดต่อแห่งชาติ (ศรช.) รวมถึงการพิจารณาหาผู้มาทำหน้าที่บูรณาการงานแทน ศบค.และ ศปก.ศบค.ที่บริหารงานอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กำลังพิจารณาว่าจะให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือหัวหน้าส่วนราชการมาทำหน้าที่ในส่วนเลขาฯ เพราะสถานการณ์โควิด-19 คงไม่จบในเร็วๆ นี้
นอกจากตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบแล้ว ยังต้องดูความพร้อมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดด้วย เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการจะเป็นไปตามมาตรการของ ศบค.ชุดใหญ่ที่มีกฎหมายเก่าเป็นกรอบการปฏิบัติ แต่กฎหมายใหม่มีความครบเครื่อง เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างความเข้มงวดรวดเร็วของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่บัญญัติไว้อย่างครอบคลุม ข้าราชการในจังหวัดที่รับผิดชอบอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีอำนาจอะไรบ้างที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างของศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาโควิด กทม.และปริมณฑลที่มีนายกฯ เป็นประธาน ถ้ายุบ ศบค.โครงสร้างนี้ก็จะหายไปด้วย ดังนั้นจึงต้องอุดช่องว่าง เมื่อโครงสร้างใหม่และร่างกฎหมายเสร็จ รัฐบาลจะประกาศเป็น พ.ร.ก.และประกาศใช้ในทันทีเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาค่อยเสนอให้ความเห็นชอบต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |