นายกฯ แถลงเวที UNGA 76 ชูความร่วมมือพหุภาคีพลิกวิกฤตเป็นโอกาสฝ่าโควิด ไทยติดเชื้อขยับขึ้น 28 ของโลก ป่วยใหม่ 12,353 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 125 คน กทม.ฉีดไฟเซอร์นักเรียนกลุ่มเสี่ยงแล้ว 2 พันราย ยังไม่พบผลข้างเคียง
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. เวลา 00.00 น. (ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ก.ย. เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly – UNGA 76) ภายใต้หัวข้อ การสร้างความยืดหยุ่นผ่านความหวัง โดยการฟื้นฟูจากโควิด-19 การสร้างอย่างยั่งยืน ตอบรับความต้องการของโลก เคารพสิทธิของผู้คน และการฟื้นฟูของสหประชาชาติ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีกนาน ความสามารถที่จะเรียนรู้สู่บริบท “Next Normal” และได้ชื่นชมวิสัยทัศน์ของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้จัดทำรายงาน Common Agenda ซึ่งเสนอความสำคัญในการร่วมมือกัน “เพิ่มพลัง” และสร้างเครือข่ายความร่วมมือพหุภาคี เพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และมีสันติภาพ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสร่วมกันผลักดันการปฏิรูป ความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี ให้สามารถเป็น “Driver of Change” อย่างแท้จริง
สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จะไม่มีใครปลอดภัย หากทุกคนยังไม่ปลอดภัย ประชาคมโลกจึงต้องเร่งผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ทุกประเทศต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ WHO เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก รวมถึงการหารือเพื่อพิจารณาจัดทำ Pandemic Treaty ในส่วนของไทยได้พยายามส่งเสริมการผนวกรวมมิติด้านสาธารณสุขในเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ เชิญชวนให้มีการใช้ประโยชน์จากหลักการกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขตามกรอบเซนได คือการสร้างระบบสาธารณสุขของโลกที่มีภูมิต้านทาน เท่าเทียม และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการฟื้นตัวที่ยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเกื้อกูลกันระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูภายหลังโควิด-19 และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของโลกต่อความท้าทายต่างๆ ในอนาคต ไทยเชื่อว่าหัวใจของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs คือความสมดุล ไทยได้ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีความท้าทายสูงเหมือนหลายประเทศ อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนมีความสำคัญ โดยเฉพาะการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะช่วยรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้นำพลังของอาสาสมัครในท้องถิ่นและความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาปรับใช้ในการรับมือกับโควิด-19 โดยใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรสมุนไพรพื้นบ้านของไทย มาเป็นยารักษาและบรรเทาอาการของโควิด-19
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความร่วมมือพหุภาคีในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภายใต้กรอบของ UN จะนำเราไปสู่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ และพลังของประชาคมโลก ในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อน จะนำเราไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้า ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทาย จะผลักดันให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน พร้อมกับการมีโลกใบใหม่ที่ดีและเข้มแข็งกว่าเดิม
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลขสถานการณ์ประจำวันว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12,353 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 10,809 ราย, จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,000 ราย, จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 532 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 12 ราย จากโครงการ Phuket Sandbox ได้แก่ กาตาร์ 1 ราย, อิสราเอล 1 ราย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย, กัมพูชา 1 ราย (ช่องทางธรรมชาติ) และ มาเลเซีย 7 ราย (ช่องทางธรรมชาติ) พบผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 1,561,638 ราย รักษาอยู่ 122,463 ราย รักษาในโรงพยาบาล 35,051 ราย และโรงพยาบาลสนาม 87,412 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,324 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 724 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 1,422,907 ราย หายเพิ่ม 14,305 ราย เสียชีวิตใหม่ 125 ราย รวมเสียชีวิต 16,268 คน
โดยผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นผู้ป่วยชาย 63 ราย ผู้ป่วยหญิง 62 ราย เป็นชาวไทย 122 ราย, เมียนมา 3 ราย ค่ากลางอายุผู้เสียชีวิต 67 ปี อายุผู้เสียชีวิตระหว่าง 23-105 ปี ค่ากลางระหว่างการทราบผลติดเชื้อจนเสียชีวิต 11 วัน นานสุด 41 วัน พบอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 79 ราย คิดเป็น 63% อายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 29 ราย คิดเป็น 23% และไม่มีโรคเรื้อรัง 17 ราย คิดเป็น 14% แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 27 ราย, ปริมณฑล 27 ราย, ภาคเหนือ 9 ราย, ภาคใต้ 18 ราย, ภาคอีสาน 11 ราย และภาคตะวันออก 33 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,976 ราย รวมสะสม 360,072 ราย, สมุทรปราการ 713 ราย รวมสะสม 106,681 ราย, ชลบุรี 651 ราย รวมสะสม 84,435 ราย, ยะลา 558 ราย รวมสะสม 21,009 ราย, ระยอง 517 ราย รวมสะสม 29,805 ราย, นครศรีธรรมราช 477 ราย รวมสะสม 14,111 ราย, สมุทรสาคร 412 ราย รวมสะสม 87,685 ราย, สงขลา 409 ราย รวมสะสม 28,073 ราย, นราธิวาส 370 ราย รวมสะสม 22,091 ราย และราชบุรี 297 ราย รวมสะสม 28,746 ราย
ด้านยอดการฉีดวัคซีนในประเทศไทย รวม 50,101,055 โดส สะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 31,352,795 ราย เพิ่มขึ้น 40,659 ราย เข็มที่สองจำนวน 17,667,069 ราย เพิ่มขึ้น 67,821 ราย และเข็มที่สามสะสมจำนวน 1,080,391 ราย เพิ่มขึ้น 3,735 ราย
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 (ไฟเซอร์) ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีนักเรียน/เยาวชน กลุ่มเสี่ยง 7 โรค ในกทม. กว่า 2,000 ราย แบ่งเป็นได้รับ 1 เข็ม จำนวน 1,681 ราย และได้รับครบ 2 เข็ม จำนวน 614 ราย ยังไม่พบการรายงานผลข้างเคียง ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลนำมาให้บริการแก่เด็กนักเรียน/ เยาวชน ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ใหญ่ ผ่านการรับรองจากสำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) องค์การอนามัยโลก และมีหลักฐานทางวิชาการที่บ่งชี้ว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัย จึงขอให้ความมั่นใจแก่น้องๆ นักเรียน เยาวชน อย่างไรก็ตาม การให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองก่อนด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |