เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีข่าวครึกโครมถึงการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษได้ยืนยันแล้วว่าเป็นถังบรรจุของเสียเคมีขนาด 200 ลิตรถึง 360 ถัง และถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร 40 ถัง รวมประมาณ 80,000 ลิตร และมีการบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเป็นสารอันตราย มีพิษกัดกร่อน และไวไฟ เข้าข่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
ในเรื่องนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะที่กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว ได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อทำการขุดสำรวจลงไปในผิวดินพิสูจน์ชนิดของสารเคมี พบว่า บริเวณดังกล่าวมีกลิ่นสารเคมีเข้มข้นกระจายฟุ้งไปทั่ว ชี้ให้เห็นว่ามีการซึมลงไปในชั้นดิน โดยคาดว่าน่าจะลึกประมาณ 1-2 เมตรจากผิวดิน พบของเหลวสีขาวลักษณะหนืดข้น ส่วนหนึ่งปนเปื้อนน้ำสีดำและสีแดงคล้ายสนิมเหล็กจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างของเหลวและดินที่ขุดขึ้นมาเพื่อนำไปพิสูจน์การปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ ตรวจวิเคราะห์โดยกระบวนการคัดแยกชนิดสารเคมี ได้สั่งการให้ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ดำเนินการเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ได้ทราบองค์ประกอบของสารเคมีที่พบในดินและน้ำ จากนั้นจะรวบรวมหลักฐานเชื่อมโยงกับข้อมูลของโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย เพื่อส่งให้กับพนักงานสืบสวนดำเนินคดีต่อไป
ในเรื่องนี้ พฤกษ์ ศิโรรัตนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ระบุว่า การดำเนินการขุดค้นเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานการกระทำความผิดลักลอบฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องด้วยสภาพการมีองค์ประกอบหลายส่วนที่ ทำให้เชื่อว่ามีการกระทำความผิดจริง โดยพบว่ามี กิจกรรมการฝังกลบเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมบดผสมกับเนื้อดิน และการใช้เครื่องจักรซึ่งเป็นรถแบ็กโฮ 2 คัน มีกำลังแรงม้ามากกว่า 50 แรงม้า เข้าข่ายลักษณะโรงงาน
"ถ้าพิสูจน์แล้วมีความผิดจริงจะมีความผิดฐาน ประกอบกิจการโรงงานจำพวก 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535"
เรื่องนี้ พฤกษ์ระบุว่า เบื้องต้นได้ดำเนินการแจ้งความและร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวน สภ.พัฒนานิคม ด้วยความผิดฐานการครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 วรรค 1 และมาตรา 73 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และเมื่อทราบผลจากการตรวจสอบวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนในดินและน้ำ จะนำไปเชื่อมโยงกับโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียจากอุตสาหกรรม และเป็นหลักฐานชี้ชัดในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดิน ผู้ขนส่งลักลอบทิ้งของเสีย และผู้รับบำบัดและกำจัดของเสียต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการตรวจสอบสืบค้นข้อเท็จจริงนั้นก็ต้องเร่งดำเนินการ แต่สิ่งเร่งด่วนต้องดำเนินการทันทีคือความปลอดภัยของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว โดยต้องรีบเอากองขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ก่อนจะส่งผลกระทบไปมากกว่านี้ และจากนั้นต้องเร่งดำเนินคดีผู้ที่ลักลอบเอาขยะมาทิ้ง ซึ่งการหาคำตอบนี้อาจต้องดูจากท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ต้องยอมรับว่า การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมสามารถทำให้เกิดผลกระทบตามมาได้มากมาย ไม่ว่าจะทิ้งลงดินหรือน้ำต่างก็มีแต่ผลเสีย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะเร่งแก้ไข และดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ก็ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และถือว่าการจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
และกรมโรงงานอุตสาหกรรมเองแม้ว่าจะมีระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ (Real Time) อยู่แล้ว แต่ยังพบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่
ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหาหกรรมต้องเข้มงวดดูแลการกำจัดกากอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม ต้องตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางของโรงงานว่าได้ส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายและกากอุตสาหกรรมทั่วไปไปกำจัดปริมาณเท่าไร และถึงปลายทางเท่ากันหรือไม่ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างขนส่ง
ซึ่งการดำเนินการนั้นต้องจริงจังและจริงใจ อย่าทำแบบผักชีโรยหน้ากันเลย.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |