โลกซับซ้อน...ดุลอำนาจ สากลกำลัง ‘ป่วน’


เพิ่มเพื่อน    

ความเคลื่อนไหวระดับโลกที่โยงจีนกับสหรัฐฯ ในหลาย ๆ มิติเป็นเรื่องที่คนไทยควรจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้ทันความเปลี่ยนแปลง “สมการแห่งอำนาจ”  ในเวทีสากล

            เพราะทุกย่างก้าวของวอชิงตันและปักกิ่งกำลังนำไปสู่  “ดุลอำนาจโลก” รอบใหม่

            ที่ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะเริ่ม “นิ่ง” ได้เมื่อใด

            หรืออาจจะไม่มีวัน “นิ่ง” ได้อีกต่อไป เพราะปัจจัยและตัวแปรนั้นปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

            เช้าวันเสาร์ (เวลากรุงเทพฯ) ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับข่าวว่า รัฐบาลแคนาดาปล่อยตัว “เมิ่ง หว่านโจว” ผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยของจีน หลังจากถูกกักตัวอยู่ที่นั่นมา 3 ปี

            ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็มีข่าวว่า รัฐบาลจีนปล่อยตัวชาวแคนาดา 2 คนที่ถูกจับในช่วงเวลาเดียวกันนั้นในข้อหา  “จารกรรม”

            ในขณะนั้น รัฐบาลจีนบอกว่าการจับแคเนเดียน 2  คนนั้นไม่เกี่ยวกับกรณีผู้บริหารหัวเว่ยแต่อย่างใด

            แต่พอถึงคราวปล่อยตัวก็กลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน”

            ที่เมิ่ง หว่านโจวได้รับอิสรภาพ ก็เพราะมีการต่อรองระหว่างเธอกับอัยการของสหรัฐฯ

            เธอยอมรับสารภาพผิดในข้อหาให้การเท็จเกี่ยวกับธุรกรรม ที่บริษัทในเครือที่อิหร่านได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรประเทศนั้น

            แลกกับการที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยอมระงับการดำเนินคดีข้อหาเรื่องฉ้อฉลอื่นๆ

            หากมองในแง่การเมืองก็อาจจะตีความได้ว่า สหรัฐฯ กับจีนยอมถอยกันคนละก้าวเพื่อลดประเด็นความขัดแย้งกันอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง

            แต่ในสัปดาห์เดียวกันนี้เอง สหรัฐฯ ก็เดินหน้ากดดันจีน และจีนก็กดดันสหรัฐฯ กลับในหลายกรณีเช่นกัน

            ก่อนหน้าการปล่อยตัวผู้บริหารหัวเว่ยเพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุการณ์แย่งชิงจังหวะระหว่างปักกิ่งกับไต้หวันในการขอเข้าสมัครเป็นสมาชิก CPTPP

            ปักกิ่งยื่นใบสมัครวันที่ 16 กันยายน ผ่านไป 3 วันไต้หวันก็ยื่นเอกสารทำนองเดียวกัน

            ขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะกลับมาเป็นสมาชิกกลไกเขตการค้าเสรียักษ์ที่วันนี้มีสมาชิก 11 ประเทศหรือไม่และเมื่อใด

            แต่จีนชิงตัดหน้าก่อน

            ตามมาด้วยไต้หวันที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับวอชิงตัน

            และอังกฤษก็ได้เจรจาต่อรองเข้าเป็นสมาชิกในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว

            ในจังหวะเดียวกันนั้น โจ ไบเดนเชิญผู้นำ Quad  หรือ “จตุภาคี” มาประชุมสุดยอดที่ทำเนียบขาว...แบบตัวเป็นๆ

            มากันครบครัน...คือนายกฯ จากอินเดีย,  ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

            เพื่อแสดงความเป็นกลุ่มก้อนสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการสกัดกั้นการเติบใหญ่ของจีน

            จีนรุกทางเศรษฐกิจ มะกันลุยทางการเมืองและความมั่นคง

            ไม่แต่เท่านั้น ไบเดนยังก่อตั้งกลุ่ม AUKUS  (Australia-UK-US) เพื่อแบ่งปันเทคโนโลยีการสร้างกองเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย

            เพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ออสเตรเลยเป็น “ฐานทัพเรือด่านหน้า” ให้สหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

            เพื่อเตือนจีนว่า โลกตะวันตกจะไม่ยอมให้จีนขยายอิทธิพลทางทะเลไปอย่างกว้างไกลในทะเลจีนใต้และน่านฟ้าฟากนี้เป็นอันขาด

            แต่เกิดผลข้างเคียงอันคาดไม่ถึง เมื่อฝรั่งเศสเกิดอาการช็อกที่พันธมิตรอย่างสหรัฐฯ, อังกฤษ และออสเตรเลียไม่ปรึกษาหารือหรือแจ้งให้ตนรู้ล่วงหน้า

            ฝรั่งเศสจะไม่กริ้วได้อย่างไร ในเมื่อตนมีข้อตกลงกับออสเตรเลียที่จะขายฝูงเรือดำน้ำ 12 ลำให้ด้วยงบประมาณกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

            ความสัมพันธ์จึงแตกดังโพละ

            ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงถึงกับเรียกทูตฝรั่งเศสประจำวอชิงตันและแคนเบอร์รากลับบ้านเป็นการประท้วง หลังจากที่รัฐมนตรีหลายคนดาหน้าออกมาชี้นิ้วกล่าวหาว่าเพื่อนทั้ง 3 ช่างไร้น้ำใจ แทงข้างหลังและสร้างความบาดหมางอย่างรุนแรง

            ทั้งไบเดน, นายกฯ สกอตต์ มอร์ริสันแห่งออสเตรเลีย และนายกฯ บอริส จอห์นสันต้องออกมายอมรับความพลั้งเผลอ

            แม้ว่ามาครงจะยอมถอย ตกลงจะส่งทูตกลับไปทำหน้าที่ที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียเหมือนเดิม

            แต่รอยร้าวนั้นลึกเกินกว่าจะปิดแผลได้ในระยะเวลาอันสั้น

            เห็นได้ชัดว่าความสัมพันธ์ระหว่างโลกวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 กำลังก้าวเข้าสู่  “ความปั่นป่วน” ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

            ไทยเราคิดและวิเคราะห์ในกรอบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป

            จะยอมให้เรื่องเล็ก ๆ เช่นกรณี “วัคซีนบริจาค 1  ล้านโดส” จากอเมริกาสู่ไทยที่กลายเป็นชนวนดรามาทางการทูตเป็นประเด็น จนลืมเรื่องระดับสากลที่ใหญ่กว่าหลายร้อยเท่าไม่ได้อีกต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"