เยอรมนีจัดเลือกตั้ง ลุ้นนายกฯคนใหม่แทนที่'อังเกลา แมร์เคิล'


เพิ่มเพื่อน    

เยอรมนีจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ โดยกลุ่มพันธมิตรพรรคอนุรักษนิยมของนายกฯ อังเกลา แมร์เคิล และพรรคโซเชียลเดโมแครตแนวทางกลาง-ซ้ายมีคะแนนขับเคี่ยวกันสูสี ผู้นำรัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่ต่อจากแมร์เคิลที่อำลาตำแหน่งหลังจากทำหน้าที่นาน 16 ปี

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และอาร์มิน ลาเชต ระหว่างหาเสียงที่เมืองอาเคินเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 (Getty Images)

    รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน กล่าวว่า การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีครั้งนี้มีชาวเยอรมนีมีสิทธิเลือกตั้ง 60.4 ล้านคน โดยเปิดหีบลงคะแนนเวลา 13.00 น.วันอาทิตย์ตามเวลาไทย และปิดหีบเวลา 23.00 น. ผลสำรวจชี้ว่าชาวเยอรมนีราวร้อยละ 40 บอกว่ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกพรรคใด และสัดส่วนเดียวกันได้ลงคะแนนล่วงหน้าทางไปรษณีย์แล้ว ซึ่งรวมถึงนางแมร์เคิล

    เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้จะนำพาเยอรมนีเข้าสู่ยุคใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังจากนางแมร์เคิล ในวัย 67 ปี ที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2548 ยุติการดำรงตำแหน่งไว้ที่ 4 สมัย ผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่า การชิงชัยครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้กันอย่างสูสีที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยกลุ่มพันธมิตรพรรคอนุรักษนิยม ซีดียู-ซีเอสยู ของแมร์เคิล ได้คะแนนราว 23% ตามหลังพรรคโซเชียลเดโมแครต (เอสพีดี) ที่ได้ 25% แต่ยังอยู่ภายในค่าความคลาดเคลื่อน

    นิโก ซีเกิล ผู้บริหารของบริษัทจัดทำโพล อิสฟราเทสต์ไดแม็ป กล่าวว่า ผลคะแนนในวันอาทิตย์อาจมีเซอร์ไพรส์ และถึงแม้ว่าเอสพีดีจะมีคะแนนนำในโพล แต่ก็ไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่ขั้วอนุรักษนิยมจะชนะ

    การชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นการต่อสู้กันระหว่างโอลาฟ ชอลซ์ รัฐมนตรีคลังและรองนายกฯ วัย 63 ปี ผู้นำพรรคเอสพีดี กับอาร์มิน ลาเชต วัย 60 ปีจากซีดียู-ซีเอสยู แต่เชื่อว่าทั้งสองพรรคจะได้ที่นั่งไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยลำพัง และคงต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรืออาจหลายเดือน ในการเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคอื่นๆ ที่ทำให้นางแมร์เคิลต้องรักษาการในตำแหน่งต่อไปก่อน

    ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วของเยอรมนีเมื่อเดือนกันยายน 2560 กว่าที่พรรคซีดียู-ซีเอสยูจะจัดตั้งรัฐบาลผสมกับเอสพีดีได้ต้องรอข้ามปีถึงเดือนกุมภาพันธ์

    ลาเชต นักการเมืองสายกลางที่เป็นพันธมิตรยาวนานของนางแมร์เคิล เคยเป็นตัวเต็งที่จะสืบทอดเก้าอี้ของนางแมร์เคิลนับแต่นางประกาศจะอำลาการเมือง แต่หลังจากทำเรื่องผิดมารยาทหลายครั้ง รวมถึงการหัวเราะเล่นหัวระหว่างงานรำลึกผู้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้คะแนนนิยมของเขาตกฮวบ

    ส่วนชอลซ์ ซึ่งเคยเป็นม้ามืดนอกสายตา ค่อยๆ สะสมคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการสร้างความผิดพลาด เขามักถูกกล่าวถึงว่าเป็นคนทำงานเป็นแต่น่าเบื่อ ชอลซ์วางสถานะตนเองว่าเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งที่ปลอดภัย และเป็นตัวแทนที่จะสืบสานงานของนางแมร์เคิลได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าจะอยู่ต่างพรรคกันก็ตาม

    นอกจากประเด็นความยุติธรรมทางสังคมแล้ว ภาวะโลกร้อนก็เป็นปัญหาที่ชาวเยอรมนีให้ความสนใจ  พรรคกรีนซึ่งได้ผู้นำคนใหม่คือ อันนาเลนา แบร์บอก วัย 40 ปี ได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นช่วงต้นปีนี้และเคยมีคะแนนนิยมขึ้นอันดับหนึ่งด้วย แต่ความผิดพลาดของแบร์บอกหลายอย่าง รวมถึงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการขโมยผลงาน ทำให้พรรคกรีนมีคะแนนลดลงอยู่อันดับ 3 ที่ 17% แต่พรรคนี้น่าจะมีบทบาทสำคัญตัดสินว่า ระหว่างซีดียู-ซีเอสยูกับเอสพีดี พรรคใดจะได้เป็นผู้นำรัฐบาลผสมชุดใหม่

    ชอลซ์เคยกล่าวไว้ก่อนหน้าวันเลือกตั้งว่า เขาอยากจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคกรีน และขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้เขาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม 2 พรรค แต่หากได้ที่นั่งไม่พอ ชอลซ์อาจต้องขอความสนับสนุนจากพรรคเสรีนิยม เอฟดีพี ซึ่งโดยธรรมชาติไม่ได้ผูกสมัครรักใคร่กับสองพรรคนี้

    ลาเชตก็เคยส่งสัญญาณว่า เขาอาจพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสม ถึงแม้ว่าซีดียู-ซีเอสยูไม่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม โดยน่าจะดึงเอฟดีพีและพรรคกรีนมาร่วมรัฐบาล

    พรรคซีดียู-ซีเอสยูครองการเมืองเยอรมนีมานับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่เคยได้คะแนนในการเลือกตั้งระดับประเทศน้อยกว่า 30%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"