พิพิธภัณฑ์อุบัติการณ์มุกเดนในมณฑลเหลียวหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน (เครดิตภาพ commons.wikimedia.org/Eurico Zimbres)
อีกไม่กี่วันพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ “แอลดีพี” ของญี่ปุ่นกำลังจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก “โยชิฮิเดะ ซูกะ” หนึ่งในนโยบายหรือแนวทางที่ผู้ท้าชิงทั้ง 4 คนประลองกันบนเวทีดีเบตก็คือจุดยืนที่มีต่อจีน และมีถึง 3 คนแสดงออกมาในท่าทีที่แข็งกร้าว
ขณะเดียวกัน ประเทศจีนเวลานี้กำลังมีการรำลึกครบรอบ 90 ปี “อุบัติการณ์มุกเดน” ที่ญี่ปุ่นใช้เป็นข้ออ้างโจมตีจีนในเช้าวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1931 เป็นจุดเริ่มต้นของ Full-scale Invasion หรือการรุกรานเต็มรูปแบบอันนำไปสู่การยึดครองแมนจูเรียในเวลาต่อมา
โหมโรงก่อนรุกราน
ญี่ปุ่นเคยโรมรันกับจีนในสงครามที่เรียกว่า “สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1” เมื่อปี ค.ศ.1894-1895 เพื่อแย่งชิงราชอาณาจักรเกาหลีที่อยู่ใต้อาณัติของจีนมาอย่างยาวนาน การรบเกิดขึ้นหลักๆ บนคาบสมุทรเกาหลี แมนจูเรียที่อยู่ทางเหนือเกาหลี เกาะไต้หวัน และทะเลเหลือง กองทัพราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ให้กับกองทัพฝ่าย “ฟื้นฟูเมจิ” เกิดสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ทำให้อำนาจในคาบสมุทรเกาหลีเปลี่ยนมือจากจีนไปเป็นของญี่ปุ่น นอกจากนี้จีนยังสูญเสียไต้หวัน เกาะเผิงหู และคาบสมุทรเหลียวตงให้กับญี่ปุ่น (แหลมทางใต้ของมณฑลเหลียวหนิง ปัจจุบันคือเมืองต้าเหลียน)
การเข้ามาของรัสเซียจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยเฉพาะการได้สัมปทานเดินรถไฟที่ต่อเชื่อมกับสายทรานซ์ไซบีเรียระหว่างเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก-วลาดีวอสต็อก โดยการเชื่อมเส้นทางจากฮาร์บินลงใต้มายังพอร์ตอาร์เธอร์ในเหลียวตงที่รัสเซียเช่าจากจีน ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มเห็นรัสเซียเป็นอุปสรรคของแผนการแผ่อิทธิพลของพวกเขาในเกาหลีและแมนจูเรีย
ญี่ปุ่นเสนอให้รัสเซียสามารถเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคแมนจูเรียได้ โดยแลกกับการให้รัสเซียรับรองอำนาจการปกครองเกาหลีของญี่ปุ่น รัสเซียปฏิเสธข้อเสนอและเรียกร้องการขีดเส้นแบ่งอิทธิพลกันที่เส้นขนาน 39 องศาเหนือในเกาหลี เมื่อเป็นดังนี้ ญี่ปุ่นเลือกที่จะรบดีกว่า โดยทำการจู่โจมอย่างฉับพลันในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1904 ใส่กองเรือรัสเซียที่พอร์ตอาร์เธอร์
สงครามกินเวลา 1 ปีครึ่ง การรบเกิดขึ้นในแมนจูเรีย คาบสมุทรเกาหลี ทะเลญี่ปุ่น และทะเลเหลือง สุดท้ายจักรวรรดิรัสเซียแพ้ให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่โลกตะวันตกปราชัยแก่กองทัพตะวันออก รัสเซียต้องอับอายขายหน้าชนผิวขาวด้วยกัน สูญเสียอำนาจและอิทธิพลในยุโรปตะวันออก เกิดความไม่พอใจของคนในประเทศ และเป็นเหตุให้เกิดการปฏิวัติรัสเซียครั้งแรกปี 1905 แม้ว่าจะประสบกับความล้มเหลว
ญี่ปุ่นได้สิทธิเช่าเส้นทางรถไฟแมนจูเรียใต้ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “มันเทตสึ” ของ China Far Eastern Railway ที่รัสเซียเคยได้สัมปทานจากจีน รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ อีกมากที่จีนเคยทำสัญญาอย่างจำยอมกับรัสเซียมาก่อนหน้านี้ (จีนทำสัญญาจำยอมกับชาติยุโรปจำนวนมากมาย) จากนั้นญี่ปุ่นก็ถือสิทธิเข้าบริหารอย่างเด็ดขาดในเขตเส้นทางรถไฟแมนจูเรียใต้ ทหารญี่ปุ่นเข้ามาประจำการและซ้อมรบทั่วบริเวณ
หลังการปฏิวัติจีนในปี 1911 จีนยังคงแตกแยกและประเทศอยู่ในยุคขุนศึกที่ไร้ความสงบอยู่นานหลายปี กระทั่งตั้งหลักได้ก็เริ่มเรียกร้องว่าสนธิสัญญาต่างๆ ที่ลงนามกับญี่ปุ่นนั้นไม่เป็นธรรมต่อจีนและประกาศเป็นโมฆะ ทั้งเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้ชาวญี่ปุ่น (รวมถึงเกาหลีและไต้หวัน) ที่ตั้งรกรากและทำมาหากินในจีนต้องออกไปตัวเปล่าโดยไม่มีค่าชดเชยใดๆ ญี่ปุ่นโดยกองทัพคันโตอันเกรียงไกรก็ตอบโต้ด้วยการวางระเบิดสังหาร “จาง จั้วหลิน” ขุนศึกแห่งแมนจูเรียในปี 1928
จีนเริ่มมีปัญหาขัดแย้งกับรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 1929 กรณีการเดินรถไฟ Chinese Eastern Railroad ในแมนจูเรียตอนเหนือจนนำไปสู่การสู้รบ กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตเอาชนะกองทัพของ “จาง เสี่ยวเหลียง” ขุนศึกแมนจูเรียคนใหม่ บุตรชายจาง จั้วหลิน ผู้ล่วงลับ และรัสเซียก็ยืนยันสิทธิในกิจการรถไฟในแมนจูเรียตอนเหนือต่อไป ความปราชัยของจีนครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นเห็นความอ่อนแอของกองทัพจีนอย่างเด่นชัด ขณะเดียวกันก็มองว่ากองทัพแดงโซเวียตแกร่งขึ้นมาก เห็นทีจะต้องเร่งพิชิตแมนจูเรียซึ่งครอบคลุมตะวันออกเฉียงเหนือของจีนทั้งหมด
เดือนเมษายน ปี 1931 “จาง เสี่ยวเหลียง” เดินทางไปประชุมกับ “เจียง ไคเช็ก” ที่ “หนานจิง” เมืองหลวงจีนตอนนั้น ได้ข้อสรุปว่าจีนจะต้องยืนยันสิทธิในดินแดนแมนจูเรียอย่างถึงที่สุด เวลาไล่เลี่ยกันนี้ฝ่ายกองทัพคันโตของญี่ปุ่นก็เริ่มวางแผนในการรุกรานแมนจูเรียครั้งใหญ่
อุบัติการณ์มุกเดน
“มุกเดน” คือเมืองที่เกิดเหตุ ปัจจุบันมีชื่อว่า “เสิ่นหยาง” อยู่ในมณฑลเหลียวหนิง ทหารญี่ปุ่นแอบวางระเบิดในเวลาค่ำของวันที่ 18 กันยายน 1931 ใกล้ๆ รางรถไฟ จุดวางระเบิดไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เป็นบริเวณรางที่ตั้งอยู่บนพื้นราบ ไม่ได้ตั้งอยู่บนสะพานที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อขบวนรถไฟ อีกทั้งวางในจุดที่ใกล้พอที่รางจะเสียหายแค่บางส่วน แต่ก็ไกลพอที่จะไม่เป็นอันตรายต่อขบวนรถไฟของญี่ปุ่นเอง ความสำคัญของจุดวางระเบิดอยู่ที่ห่างจากกองทหารรักษาการณ์เป่ยต้าหยิงของจีนเพียง 800 เมตร เพื่อให้ปุถุชนอนุมานได้ว่าทหารจีนเป็นฝ่ายก่อวินาศกรรม
เวลา 22.20 น. ได้เวลาจุดระเบิด รางรถไฟเสียหายนิดหน่อยเพียงฝั่งเดียว ยาว 1.5 เมตร รถไฟวิ่งผ่านไปได้โดยไม่ยากเย็น เข้าจอดที่สถานีเสิ่นหยางเวลา 22.30 น.
เพื่อให้ข้อกล่าวหาจีนวางระเบิดรางรถไฟของญี่ปุ่นมีความสมบูรณ์ เช้าวันต่อมาทหารญี่ปุ่นก็ระดมยิงปืนใหญ่เข้าใส่ค่ายทหารจีนให้เหมือนเป็นการเอาคืน กองทัพของจาง เสี่ยวเหลียง ถูกทำลาย ทหารจีนถอยหนี ในเย็นวันเดียวกันญี่ปุ่นก็ยึดมุกเดนได้เบ็ดเสร็จ ทหารญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ร้อยเอาชนะกองทหารของจีนที่มีถึง7 พันนาย ทหารจีนตายประมาณ 500 ส่วนญี่ปุ่นสูญเสียเพียง 2 ชีวิต
พลเอกชิเกโร ฮอนโจ ผู้บัญชาการกองทัพคันโต ซึ่งอยู่ที่กองบัญชาการในเขตเช่าคาบสมุทรเหลียวตงไม่รู้แผนการมาก่อน แต่ก็เห็นดีด้วยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหลังพันเอกเซชิโร อิตางากิ และพันโทคันจิ อิชิวารา ผู้วางแผนรายงานเหตุการณ์ให้ทราบ จากนั้นพลเอกฮอนโจก็ย้ายกองบัญชาการไปยังมุกเดน และได้ขอกำลังเสริมจากที่ประจำการอยู่ในเกาหลีโดยทันที
มีการต่อต้านและตอบโต้จากฝ่ายจีน แต่เพียง 5 เดือนหลังจากนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็กำราบได้อยู่หมัด ทั้ง 3 มณฑล ได้แก่ เหลียวหนิง จี๋หลิน และเฮย์หลงเจียง ที่ประกอบกันเป็นภูมิภาคแมนจูเรียก็อยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่น
รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเรียกร้องไปยังสันนิบาตชาติให้เข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งองค์กรสันติภาพที่ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้ได้มีมติให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกจากแมนจูเรีย แต่ญี่ปุ่นยืนยันจะแก้ปัญหาโดยการเจรจาตรงกับรัฐบาลจีน
มกราคม 1932 สหรัฐประกาศจะไม่รับรองรัฐบาลญี่ปุ่นในแมนจูเรีย และในกลางเดือนเดียวกันคณะกรรมการสันนิบาตชาติ นำโดย “วิกเตอร์ บูลเวอร์-ลิตตัน” เดินทางไปจีนเพื่อสืบสวนและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่แล้วในเดือนมีนาคม 1932 ญี่ปุ่นก็ประกาศตั้ง “แมนจูกัว” หรือประเทศแมนจูขึ้นเป็นรัฐหุ่นเชิด มีเมืองหลวงชื่อซิงกิง และได้อัญเชิญ “ปูยี” หรือ “ผู่อี๋” จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนแห่งอดีตราชวงศ์ชิงหรือราชวงศ์แมนจูขึ้นเป็นประมุขแมนจูกัว (แต่เพียงในนาม) จากนั้นญี่ปุ่นก็มีแผนส่งชาวอาทิตย์อุทัยเข้าไปตั้งรกรากประมาณ 5 ล้านคน
เดือนตุลาคมปีเดียวกันรายงานผลการสืบสวนตรวจสอบที่เรียกว่า “ลิตตันรีพอร์ต” ถูกนำเสนอออกมาเปิดเผยให้ชาวโลกได้ทราบว่า การบุกจีนเมื่อปีก่อนนั้นไม่ใช่การป้องกันตนเองของญี่ปุ่นแต่อย่างใด แม้รายงานจะไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าเป็นการจัดฉากลวงโลกก็ตาม
สันนิบาตชาติสรุปว่า แมนจูกัวคือผลจากการรุกรานทางทหารของญี่ปุ่นในแผ่นดินจีน และแม้จะรับรองให้ญี่ปุ่นคงบทบาทในแมนจูเรียต่อไปได้ เนื่องจากดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมานานหลายปี แต่ไม่รับรองแมนจูกัวในสถานะรัฐเอกราช เมื่อเป็นเช่นนั้นญี่ปุ่นก็ประกาศถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติในต้นปี 1933
นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งนับการรุกรานจีนของญี่ปุ่นว่าเกิดขึ้นต่อเนื่อง 14 ปี ตั้งแต่ปี 1931 จนถึง 1945 แต่บางคนก็แยกออกเป็น 2 ช่วง โดยชี้ว่าช่วงแรกนั้นเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 1932 ส่วนช่วงที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี 1937 กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
ในปี 1937 เริ่มเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ซึ่งก็คือการเริ่มสงครามโลกในฝั่งเอเชียบูรพา จีนสูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนไปนับสิบล้าน เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นมากมายหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองหนานจิง สตรีชาวจีนถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืนนับไม่ถ้วน เกิดการสังหารหมู่จนเทียบได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือที่เรียกว่า Asian Holocaust
แมนจูกัวดำรงสถานะอยู่เรื่อยมาจนญี่ปุ่นถูกสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945 ตามลำดับ เป็นอันปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ 2 กันยายน 1945 แมนจูกัวที่ถูกโซเวียตเข้ายึดได้ในปลายสงครามถูกส่งคืนแก่จีน
ชาวญี่ปุ่นก็เจ็บปวดและสูญเสีย
หนังสือเล่มหนึ่งตีพิมพ์ในญี่ปุ่นไม่นานมานี้ เขียนโดย “ทาคาโนริ เทซุกะ” เป็นเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นที่ย้ายเข้าไปตั้งรกรากในแมนจูกัว เทซุกะเคยสัมภาษณ์อดีตผู้ย้ายถิ่นฐานหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาเหล่านั้นไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินและบ้านเรือนได้มาจากการยึดเอาจากชาวจีนเจ้าของเดิม แต่สุดท้ายก็ยินดีรับไว้ เพราะในญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างหนัก การย้ายมาสู่แมนจูกัวจึงเป็นเหมือนการเริ่มต้นความหวังอันเรืองรอง
ไดอารีของ “โมริ คุรุมิซาวะ” นายกเทศมนตรีเขตคาวาโนะในจังหวัดนากาโนะ ถือเป็นตัวเดินเรื่องสำคัญในหนังสือเล่มนี้ คุรุมิซาวะได้เดินทางโดยรถไฟด่วนจากเมืองปูซานขึ้นไปยังเมืองซิงกิงพร้อมกลุ่มผู้ย้ายไปตั้งรกรากในเดือนมีนาคม ปี 1944 เขากลับมาชักชวนชาวนากาโนะให้ย้ายไปยังแมนจูกัวตามนโยบายรัฐบาล ที่พร้อมสนับสนุนเงินทุนและช่วยเหลือด้านอื่นๆ ให้กับผู้อพยพ ชาวญี่ปุ่นประมาณ 270,000 คนข้ามทะเลไปเพื่อเป็นเจ้าของที่ดินและมีชีวิตที่ดีในแมนจูเรีย เฉพาะชาวจังหวัดนากาโนะแห่กันไปถึงราว 33,000 คน
ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคมปี 1945 กองทัพญี่ปุ่นละทิ้งแมนจูเรียไปราว 3 ใน 4 ของพื้นที่ และได้เกณฑ์พลเรือนอายุ 18-45 ปีไปเป็นทหารเพื่อทดแทนพวกที่ตายไปเรื่อยๆ
เดือนสิงหาคม 1945 ผู้ตั้งรกรากที่มาจากการชักชวนของคุรุมิซาวะฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก โดยมีถึง 73 คนเป็นสตรีและเด็ก ตัวคุรุมิซาวะที่อยู่ในญี่ปุ่นก็ตัดสินใจลาโลกในปีต่อมา ไดอารีหน้าสุดท้ายของเขาหายไป แต่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเคยตีพิมพ์ไว้
“ผมเสียใจที่ผลักดันให้เกษตรกรญี่ปุ่นย้ายไปยังสถานที่แบบนั้น ผมไม่สามารถดูแลพวกเขาได้อีกแล้ว โปรดมอบบ้านและทรัพย์สินที่เหลือของผมให้กับพวกเขา”
หนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอเรื่องของผู้นำท้องถิ่นบางคนที่ไม่ยอมเข้าไปมีบทบาทในการโน้มน้าวชาวบ้านให้ย้ายถิ่นฐานไปยังแมนจูเรีย “ทาดาสึนะ ซาซากิ” นายกเทศมนตรีเขตโอชิมาโจะในจังหวัดนากาโนะ ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1987 ว่าหลังจากเดินทางไปดูพื้นที่ในแมนจูเรียเป็นเวลา 1 เดือนเมื่อปี 1938 ก็รู้ว่าเรือกสวนไร่นามีชาวจีนเป็นเจ้าของ นั่นหมายความว่าหากมีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าไปตั้งรกรากก็คงต้องไปยึดมาจากเจ้าของเดิม
ตอนจบของสงคราม ชาวญี่ปุ่นประมาณ 1.55 ล้านคน ทั้งเกษตรกรและผู้ที่เข้าไปทำอาชีพอื่นยังคงอยู่ในแมนจูเรีย กองทัพโซเวียตต้อนทั้งทหารและพลเรือนไปยังค่ายแรงงานในไซบีเรียและที่อื่นๆ ราว 575,000 คน ในจำนวนนั้นต้องเสียชีวิตไป 55,000 คน เด็กกำพร้าจำนวนมากถูกชาวจีนเลี้ยงให้เติบโต ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นให้การรับรองประมาณ 2,800 คน ในฐานะ “War Orphans” และมี 2,557 คนได้รับอนุญาตให้กลับญี่ปุ่น
หลายปัจจัยประกอบกันในช่วงเวลานี้ทำให้กระแสต่อต้านญี่ปุ่นของชาวจีนกลับมาอีกครั้ง พวกเขาร่วมกันบอยคอตสินค้าทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ต้นเดือนที่ผ่านมาช็อปปิ้งสตรีทใหม่หมาดในเมืองต้าเหลียนชื่อ “ลิตเติลเกียวโต” สร้างด้วยเงินลงทุน 6 พันล้านหยวน ต้องถูกสั่งปิดไม่มีกำหนด เพราะถูกชาวเน็ตจีนกดดันอย่างหนักหลังเปิดบริการได้เพียง 2 สัปดาห์
พวกเขามองว่าลิตเติลเกียวโตคือการรุกรานรอบใหม่ในรูปแบบที่ต่างออกไป.
อ้างอิง
- globaltimes.cn/page/202109/1234578.shtml
- japantimes.co.jp/news/2021/09/23/national/history/manchuria-settlers-research/
- en.wikipedia.org/wiki/Mukden_Incident
- en.wikipedia.org/wiki/First_Sino-Japanese_War
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |