ภาพ : ประธานาธิบดีโจ ไบเดน
เครดิตภาพ : https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2021/04/P20210303AS-1901.jpg
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2021 เมื่อเดือนกันยายน มีสาระสำคัญและข้อวิพากษ์ดังนี้
ประการแรก คุณค่าที่ยึดถือ ความท้าทายร่วม
โรคระบาดโควิด-19 เป็นประเด็นแรกที่ไบเดนเอ่ยถึง คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 4.5 ล้านคนแล้ว เป็นความท้าทายเร่งด่วนของประชาคมโลกอันจะก่อเกิดโอกาสมหาศาล หวังทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์เอาชนะโควิด-19 ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด และเตรียมพร้อมสำหรับโรคระบาดในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกความท้าทายที่กำลังคุกคามทุกมุมโลก รับรู้ได้ถึงภูมิอากาศแบบสุดขั้ว เผชิญภัยแล้งกับน้ำท่วม ไฟป่ากับพายุที่รุนแรงขึ้น คลื่นความร้อนที่ยาวนานกว่าเดิมและน้ำทะเลหนุนสูง สหรัฐจะเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พาหนะไฟฟ้า
เป็นคำถามว่าสหประชาชาติจะแสดงบทบาทเรื่องเหล่านี้เพื่อมนุษยชาติหรือไม่ จะธำรงรักษากฎบัตรสหประชาชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) หรือไม่ หรือยอมให้หลักการสากลเหล่านี้ถูกบิดเบือน
สหรัฐจะเป็นแชมป์ผู้เชิดชูคุณค่าประชาธิปไตย ยึดมั่นเสรีภาพ ความเท่าเทียม โอกาสและสิทธิมนุษยชนสากล ประณามการกดขี่เพราะเชื้อชาติศาสนาที่แตกต่าง จะไม่อ่อนน้อมต่อลัทธิอำนาจนิยม (authoritarianism) ประชาธิปไตยจะไม่ยอมแพ้พวกอำนาจนิยม แม้ไม่มีประเทศใดเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่สหรัฐจะยึดมั่นหลักการเหล่านี้ด้วยความเชื่อว่าประชาธิปไตยจะปลดปล่อยศักยภาพคนออกมามากที่สุด
วิพากษ์ : ในขณะที่การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นยุทธศาสตร์แม่บท (Grand strategy) มีนโยบายส่งเสริมให้ทุกชาติเป็นประชาธิปไตย สัมพันธ์กับการชี้ว่าใครเป็นมิตรเป็นศัตรู แต่ข้อมูลอีกด้านกลับพบว่ารัฐบาลสหรัฐนี่แหละละเมิดสิทธิมนุษยชน มีคำถามว่าจริงใจแค่ไหนต่อการส่งเสริมเสรีประชาธิปไตยในต่างแดน หรือเป็นเครื่องมือหวังผลประโยชน์ของตนมากกว่า
เรื่องแปลกแต่จริง รัฐบาลชุดที่แล้วถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ให้เหตุผลว่าข้อสรุปของ UNHRC ต่ออิสราเอลไม่เป็นธรรม (ที่ชี้ว่าอิสราเอลละเมิดสิทธิมนุษยชนปาเลสไตน์) น่าคิดว่าด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ถึงกับต้องถอนตัว
จากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลรัสเซียแถลงว่าเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐแสดงความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ (boorish cynicism) ไม่ยอมรับว่าตัวเองละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ทั้งยังชี้หน้าตำหนิประเทศอื่นละเมิดสิทธิมนุษยชน พยายามชักนำให้ UNHRC ทำตามที่ตนเองต้องการ การถอนตัวดังกล่าวเป็นอีกครั้งที่ชี้ว่าไม่ยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนจริง
ส่วนเรื่องแก้ไขภาวะโลกร้อนนั้นต้องขึ้นกับว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะต่อต้านหรือสนับสนุน ดังที่ทรัมป์ปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องโลกร้อน ปฏิเสธข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แม้กระทั่งจากหน่วยงานสหรัฐเอง จึงเอาแน่เอานอนกับรัฐบาลสหรัฐไม่ได้
ตลกร้ายของประเทศนี้คือรัฐบาลหนึ่งถอนตัวจากข้อตกลงนานาชาติ รัฐบาลถัดมาเข้าร่วมอีกครั้ง รัฐบาลหนึ่งไม่ยอมรับ UNHRC อีกรัฐบาลขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกรอบ รวมความแล้วไม่ว่าจะเรื่องโลกร้อนหรือสิทธิมนุษยชนต่างไม่คืบหน้าเท่าที่ควร คงไม่เกินไปถ้าจะกล่าวว่านี่คือเทคนิคการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างหนึ่ง
ประการที่ 2 อยากร่วมมือกับพันธมิตร นานาชาติ
สหรัฐพุ่งความสนใจต่อภูมิภาคที่สำคัญ เช่น อินโด-แปซิฟิกซึ่งจะมีผลสำคัญต่อวันนี้และพรุ่งนี้ จะร่วมมือกับพันธมิตร หุ้นส่วน สถาบันระหว่างประเทศ เพื่อขยายความเข้มแข็งร่วม เข้าจัดการความท้าทายต่างๆ ของโลก เป็นความจริงที่ว่าความสำเร็จของประเทศอื่นๆ ช่วยให้ประเทศตนสำเร็จด้วย จึงจำต้องเข้าพัวพันนานาชาติอย่างลึกซึ้ง มีอนาคตร่วมกัน
ความมั่นคงของสหรัฐ การอยู่ดีกินดีและเสรีภาพทั้งหมดสัมพันธ์กัน และผูกพันยิ่งขึ้นในยุคนี้
ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาได้ตอกย้ำข้อตกลงนาโต ร่วมกับสมาชิกนาโตสร้างแนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่รับมือภัยคุกคามที่เข้ามา สหรัฐจะเข้าพัวพันกับสหภาพยุโรปซึ่งเป็นหุ้นส่วนหลัก (fundamental partner) ในทุกมิติ ได้ยกระดับกลุ่มภาคี Quad ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่นและสหรัฐ รับมือความท้าทายตั้งแต่เรื่องสุขภาพ สภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีใหม่
เข้าพัวพันกับสถาบันระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน สหภาพแอฟริกา (African Union) องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ให้ความสำคัญกับประเด็นเร่งด่วนของแต่ละภูมิภาค ร่วมเวทีระหว่างประเทศต่างๆ เป็นสมาชิก COVAX เข้าร่วมข้อตกลงโลกร้อนปารีสอีกครั้ง (Paris Climate Agreement) และจะเข้าร่วม UNHRC ในปีหน้า
วิพากษ์ : เป็นความจริงที่นาโตเป็นพันธมิตรด้านการทหารเก่าแก่ เป็นความจริงอีกที่สหรัฐสัมพันธ์กับชาติยุโรปโดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกนาโตอียู แต่อีกด้านต้องมองว่าหลายประเทศในอียูเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างต่อเนื่อง เยอรมนีเพิ่มขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน รวมถึงยืนยันซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพิ่มเติม เดินหน้าสร้างท่อก๊าซ Nord Stream 2 แทนที่จะซื้อจากสหรัฐตามที่รัฐบาลสหรัฐร้องขอ ไม่สนใจว่าการขยายความสัมพันธ์กับจีนรัสเซียเช่นนี้จะส่งเสริมให้ 2 ประเทศนั้นเข้มแข็งขึ้น เชื่อมต่อกันมากขึ้นหรือไม่ (ตรงข้ามกับยุทธศาสตร์ปิดล้อม)
ประการที่ 3 พร้อมใช้กำลังถ้าจำเป็น
สหรัฐพร้อมใช้กำลังถ้าจำเป็นเพื่อปกป้องตัวเอง พันธมิตร ปกป้องผลประโยชน์สำคัญยิ่งของตน รวมถึงภัยคุกคามที่จวนจะถึงตัวแล้ว (imminent threat) แต่การใช้กำลังจะเป็นวิธีสุดท้าย มีหลายอย่างที่ไม่สามารถจัดการด้วยอาวุธ เช่น โรคระบาดโควิด-19
วิพากษ์ : การเอ่ยถึงภัยคุกคามจวนตัวทำให้นึกถึงหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) ของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นที่มาของการบุกอิรักโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน โดยอ้างหลักฐานว่ารัฐบาลซัดดัมมีอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งทั่วโลกประจักษ์แล้วว่าเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง
ประการที่ 4 กฎระเบียบการค้าโลกใหม่
สหรัฐกำลังมองหากฎกติกาการค้าโลกใหม่ หลักการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ที่ไม่เอื้อประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่เห็นด้วยหากประเทศแข็งแรงครอบงำผู้อ่อนแอ ไม่ว่าจะด้วยกำลัง แรงกดดันทางเศรษฐกิจ การขูดรีดด้วยเทคโนโลยี ข้อมูลเท็จ
วิพากษ์ : แม้ไบเดนไม่ใช้คำพูดเดียวกับทรัมป์ แต่เป็นแนวคิดที่สานต่อจากรัฐบาลชุดก่อนที่เห็นว่าระเบียบการค้าโลกปัจจุบันไม่ถูกต้องเสียแล้ว (ทั้งๆ ที่สหรัฐกับพวกเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสร้างระเบียบการค้าโลกที่เป็นอยู่) มีกระแสข่าวทรัมป์คิดจะถอนตัวออกจากองค์การค้าโลก สมัยทรัมป์วางแนวทางว่าห้ามประเทศใดเกินดุลการค้าตน (แต่ไม่ห้ามหากประเทศใดขาดดุลอเมริกา) รัฐบาลสหรัฐมีบทลงโทษเฉพาะต่อประเทศเหล่านั้น เกิดศัพท์ใหม่ว่าการค้าเสรีแต่ต้องยุติธรรมด้วย (free and fair trade) มีคำถามว่าหลักการดังกล่าวหมายถึงอย่างไรกันแน่
ประการที่ 5 จะไม่ก่อสงครามเย็นหรือแบ่งขั้วอย่างเข้มข้นอีก
ในที่ประชุมสมัชชาไบเดนกล่าวว่า ขอพูดชัดๆ อีกครั้งว่าสหรัฐจะไม่ก่อสงครามเย็นใหม่หรือแบ่งโลกเป็นขั้วอย่างเข้มข้นอีก พร้อมแก้ทุกปัญหาด้วยสันติวิธี
วิพากษ์ : ไม่กี่วันก่อนหน้านั้นอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการยูเอ็นเตือนจีนกับสหรัฐให้หลีกเลี่ยงสงครามเย็นรอบใหม่ ขอให้ทั้ง 2 ประเทศร่วมมือกัน ปรับความสัมพันธ์ก่อนบานปลาย “ทุกวันนี้มีแต่เผชิญหน้ากัน”
คำถามคือ ถ้ารัฐบาลสหรัฐไม่ก่อสงครามเย็น เท่ากับจีนพยายามทำใช่หรือไม่ หรือว่าเลขาธิการยูเอ็นเข้าใจผิด หรือมีใครสักคนกำลังโกหก
การประกาศพันธมิตรทางทหารอินโด-แปซิฟิก ระหว่างสหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย หรือ AUKUS เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา และการประชุมสุดยอดกลุ่มภาคี Quad เมื่อวันศุกร์ถูกวิพากษ์อย่างหนัก
เป็นเรื่องปกติที่ผู้นำประเทศจะพูดแต่เรื่องดีๆ ส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนในเวทีใหญ่ ในอีกด้านทุกถ้อยคำเป็นหลักฐานชั้นดีบ่งบอกว่าสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำตรงกันหรือไม่ ในที่สุดประชาคมโลกจะตัดสิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |