แนะชะลอโครงการ 'ผันน้ำยวม' สู่เขื่อนภูมิพลเข้า ครม. เผยพบพิรุธรายงานอีไอเอ


เพิ่มเพื่อน    

แนะชะลอโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลเข้า ครม. ชาวบ้าน-นักวิชาการ-ส.ส.-นักอนุรักษ์ร่วมประสานเสียงค้าน เผยพบพิรุธ EIA อื้อ หวั่นปนเปื้อนสายพันธุ์ข้ามลุ่มน้ำ ชาวกะเหรี่ยงเผยละเมิดข้อห้ามบรรพชน

25 ก.ย.64 - ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักข่าวThe Reporters และสำนักข่าวชายขอบ ร่วมกันจัดเวทีเสวนาออนไลน์ “ฟังเสียงที่หลากหลาย โครงการผันน้ำยวม/สาละวิน สู่เขื่อนภูมิพล” โดยถ่ายทอดสดใน 4 ภาษาคือไทย อังกฤษ กะเหรี่ยงและพม่า ซึ่งดำเนินรายการโดยน.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย 

ดร..ชยันต์ วรรธณะภูติ ผู้อำนวยการ RCSD กล่าวเปิดงานว่า หลายองค์กรร่วมกันจัดเวทีครั้งนี้เพื่อฟังเสียงประชาชนในหลายพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งใช้งบประมาณถึง 7 หมื่นล้านบาทถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และใหม่ในประวัติศาสตร์เพราะมีการเจาะอุโมงค์ผ่านภูเขาผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินไปสู่เขื่อนภูมิพล และเราไม่มีความรู้เลยว่าการเจาะอุโมงค์จากลุ่มน้ำหนึ่งไปสู่ลุ่มน้ำหนึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ตนเข้าใจว่ารัฐบาลไทยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลจีนซึ่งเราไม่รู้ว่าจะนำไปสู่ความผูกพันด้านอื่นอย่างไร หรือนำไปสู่การลงทุนขนาดใหญ่ที่เราคาดไม่ถึงหรือไม่ ซึ่งประชาชนไม่ใช่เฉพาะที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่พวกเราที่เป็นประชาชนที่เสียภาษีและห่วงใยสิ่งแวดล้อมอยากทราบว่าโครงการขนาดใหญ่นี้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพียงพอหรือไม่ 

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์  ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กร International Rivers กล่าวถึงภาพรวมของโครงการ ว่าแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำที่ยังไม่มีเขื่อนหรือโครงการขนาดใหญ่ แต่โครงการผันน้ำยวมครั้งนี้อาจเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่โครงการอื่นๆ ตามมา โดยการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ทำมา 3-4 ปีแล้ว ชาวบ้านได้ทักท้วงในหลายประเด็น ท้ายสุดคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการก้าวมาในลุ่มน้ำสาละวินของทุนจีนหรือไม่ 

หลังจากนั้น ได้มีการถ่ายทอดสดเสียงสะท้อนของชาวบ้านในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบตลอดแนวโครงการฯ โดยนายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน และชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นบริเวณจุดสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมและสถานีสูบน้ำรวมทั้งอุโมงค์ส่งน้ำ นายสะท้านกล่าวว่านักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เข้ามาเก็บข้อมูล EIA ได้เขียนถึงผลกระทบเพียงไม่กี่บ้าน คือหมู่บ้านท่าเรือกับหมู่บ้านแม่เงา แต่ข้อเท็จจริงมีประชาชนอีกหลายหมู่บ้านตลอดลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่อยู่ในรายงาน EIA ทำข้อมูลใน EIAไม่น่าเชื่อถือ และตัวสันเขื่อนซึ่งอยู่ห่างจากบ้านแม่เงา 20 กิโลเมตรจะทำให้น้ำจะท่วมพื้นที่ป่าซึ่งเป็นต้นน้ำชั้น 1 เอ นอกจากนี้ยังมีแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากสถานีลำพูน จะผ่านหมู่บ้านและผืนป่า แต่จนบัดนี้ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะมาอย่างไรเพราะเข้าไม่ถึงข้อมูล


นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ ชาวบ้านแม่เงา กล่าวว่า  ตนอยู่ในชุมชนแม่เงาได้ตระหนักถึงเรื่องโครงการนี้ ที่ผ่านมาได้เดินทางไปร่วมหลายเวทีรับฟังแต่สังเกตว่าไม่มีคนใหม่ๆ อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองรับฟังเสียงชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง เพราะเราอยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายหลายเผ่าพันธุ์ ชีวิตของพวกเราไม่มีใครอยากนับหนึ่งใหม่ แม้ไม่มีเงินมีทองก็อยู่ได้ หาหน่อไม้หาปลากิน หรือหาเช้ากินค่ำ ไปรับจ้างส่งลูกเรียนก็สบายใจ บ้านแม่เงาของเราอุดมสมบูรณ์มีป่าและน้ำสะอาด จึงไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำครั้งนี้

น.ส.มึดา นาวานารถ ชาวบ้านท่าเรือ กล่าวว่า ขอให้กสม. สื่อมวลชนและ ส,ส.ร่วมตรวจสอบคุณภาพรายงาน EIA ว่าได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และได้ตรวจสอบการมีส่วนร่วมที่แท้จริงหรือไม่ มีการให้ข้อมูลที่ทำให้ชาวบ้านรู้เรื่องจริงหรือไม่ ที่ผ่านมานายวีระกร คำประกอบ ที่ผลักดันโครงการและกรมชลประทานมักอ้างกฎหมาย เราจึงอยากอ้างกฎหมายบ้างในรัฐธรรมนูญ ม.58 ระบุให้หน่วยงานรัฐต้องมีเวทีรับฟังคิดเห็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แต่โครงการฯนี้ได้รับฟังจริงหรือไม่เพราะตอนที่จัดเวทีรับฟังความเห็นซึ่งตนเข้าร่วมด้วยในหลายครั้งซึ่งไม่มีภาษากะเหรี่ยง บางครั้งจัดล่ามภาษากะเหรี่ยงแต่ไม่ใช่กะเหรี่ยงโปว์ ทำให้ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง และบางครั้งชาวบ้านเดินทางออกมาร่วมเวทีรับฟังฯ ไม่ได้เพราะเป็นฤดูฝนเส้นทางลำบาก แต่เขาก็ยังจัดเวที

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวินกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นโครงการมีความไม่ชัดเจนโดยชาวบ้านได้เคลื่อนไหวและตั้งข้อสังเกต รวมถึงยื่นเรื่องคัดค้าน แต่หน่วยงานภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอเหล่านี้ พื้นที่แม่น้ำยวมและเงาเชื่อมโยงไปถึงแม่น้ำสาละวิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนอย่างเดียวแต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกัน แต่กรมชลประทานกลับทำการศึกษาไม่ครอบคลุม 

นางสาวพรชิตา ฟ้าประทานไพร ชาวบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุโมงค์เจาะผ่านและมีจุดวางกองดินกล่าวว่าชาวบ้านมีความเป็นห่วงในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่ทำกินและป่าไม้ที่อาจสูญหายไป ที่สำคัญชาวบ้านไม่ได้รับรู้ปัญหาเรื่องการทำอุโมงค์และชาวบ้านไม่รู้เรื่องการทำรายงาน EIA ดังนั้นถ้า EIA ไม่ถูกต้องก็ขอให้ยกเลิก อยากให้ยุติโครงการการทำอุโมงค์เพราะไม่คุ้ม เราอยากให้น้ำยวมไหลเป็นอิสระเช่นเดิม

นายพิบูลย์  ธุวมณฑล ประธานเครือข่ายชาติพันธุ์ อ.อมก๋อย กล่าวว่ามีชาวบ้าน 2 ตำบลในอำเภออมก๋อยที่จะได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะอุโมงค์โดยแนวเขตอุโมงค์ผ่านอมก๋อย 80% ส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต จึงอยากให้มีการทบทวนใหม่ อยากให้ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีเข้ามาศึกษาเพราะกลัวว่าจะเป็นแนวเขตลอยเลื่อนของเปลือกโลกที่เสี่ยงแผ่นดินไหวหรือไม่ เพราะสังเกตในบางจุดเคยมีรูยุบขนาดใหญ่ 

“พวกเราอยากให้ศึกษาข้อมูลมากกว่านี้ ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะมีกองดินขนาดใหญ่อยู่ใกล้บ้านเขา ใน EIA ระบุว่าจะมีจุดทิ้งกองดินขนาดใหญ่ (จากการขุดเจาะอุโมงค์) ที่อมก๋อย 3-4 แห่ง บางแห่งอยู่บริเวณพื้นที่ลาดชัน อาจทำให้ดินไหลลงแม่น้ำ ชาวบ้านต้นน้ำและปลายน้ำได้รับผลกระทบแน่นอน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่บอกจะเยียวยาแต่ไม่ได้บอกเยียวยาอย่างไร ชาวบ้านไม่รู้จะต่อสู้อย่างไร อยากให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลเยอะๆ ป่าที่ชาวบ้านใช้สอยทุกวันอาจจะถูกถมด้วยกองดิน และดินจากใต้ดินปลูกต้นไม้ไม่ขึ้น อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องบอกข้อดีข้อเสียให้มากกว่านี้” นายพิบูลย์ กล่าว

ด้านนายวันชัย ศรีนวล พ่อหลวงบ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปากอุโมงค์ผันน้ำเข้าสู่เขื่อนภูมิพล กล่าวว่า ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านเกิดข้อกังวลใจกับโครงการนี้ ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงไม่ได้รับรู้ข้อมูล มีหลายหน่วยงานเข้ามา เรายืนยันว่ากลัวเรื่องผลกระทบแต่ยังไม่ได้รับข้อมูลเท่าที่ควร แต่ยืนหยัดมาตั้งแต่ปี 2559 ว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการ ถ้าผันน้ำมาถึงจุดพื้นที่ของชาวบ้าน ทั้งสวนลำไยและบ้านเรือนจะอยู่ใต้น้ำ เราไม่ได้ค้านแบบไม่ลืมหูลืมนาตา แต่ได้รับผลกระทบจริงๆ พวกเรารักความสงบและรักธรรมชาติ หาเราสูญเสียพื้นที่ไปเราก็ไม่ได้มีพื้นที่อื่นอีก ทุกวันนี้น้ำท่วมชาวบ้านอยู่แล้ว 

นายศักดิ์ชัย แยมู ชาวบ้านแม่งูด กล่าวว่า อยากฝากถามไปยังผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเพราะโครงการนี้สร้างความเดือดร้อนและสร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงคือเมื่อผันน้ำมาทำให้นาไร่ถูกกน้ำท่วมและมีจุดทิ้งกองดิน ที่ผ่านมาเราถูกเวนคืนที่ดินสร้างเขื่อนภูมิพลมาครั้งหนึ่งแล้ว ทำให้เหลือพื้นที่ทำกินไม่กี่ไร่ ครั้งนี้มีโครงการผันน้ำอีกเราจะไม่เหลืออะไร ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือเรื่องวิถีชีวิตทำมากินของชาวบ้านต้องพึ่งพาป่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นธรรมชาติจะไม่เหมือนเดิม ตนอยากตั้งข้อเสงสัยคือเจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่เคยเข้ามาสำรวจและเขียนว่ามีชุมชนได้รับผลกระทบแค่หมู่บ้านเดียว แต่จริงๆแล้วชาวบ้านเกือบทั้งอำเภอฮอดต่างจะได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาทางเขื่อนและกรมชลประทานแทบไม่ให้ข้อมูลเลย 

นายซอต่าโพ ตัวแทนจากชุมชนรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า กล่าวว่าแม่น้ำยวมเป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำเมย ก่อนไหลลงแม่น้ำสาละวิน ความกังวลคือผลกระทบต่อท้ายน้ำ การทำเกษตรกรรมที่เมืองพะอัน และรัฐมอญ ผลกระทบต่อปลาอพยพซึ่งชาวบ้านศึกษาพบกว่า 100 ชนิด แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน ซึ่งพม่าอยู่ภายใต้รัฐประหารมาตั้งแต่กุมภาพันธ์  พื้นที่รอบๆ หัวงานที่วางแผนจะมีการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวิน ชาวบ้านกะเหรี่ยงในเขตเมงจีหงู่ จำนวนกว่า 8,000 คน กำลังได้รับผลกระทบจากการสู้รบและความไม่สงบในพม่า ขาดอาหาร ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในขณะนี้ 

“การศึกษา EIA จะศึกษาผลกระทบริมฝั่งแม่น้ำยวม เพียง 2-3 หมู่บ้านคงไม่พอ ต้องศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนมาถึงท้ายน้ำ ที่รัฐกะเหรี่ยง และรัฐมอญด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องแผนการลงทุนของจีน ซึ่งประชาชนกังวลมาก” นายซอต่าโพ กล่าว

ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากฟังชาวบ้านพบว่าผลกระทบมากกว่าที่เขียนไว้ในรายงาน EIA ตอนนี้มีคำพูดว่าเขื่อนภูมิพลสร้างมาแต่น้ำไม่เต็มเขื่อน จริงๆ ต้องถามว่าน้ำควรเต็มเขื่อน 1.3 หมื่นล้านลบ.ม.หรือไม่ จริงๆ แล้วเขาออกแบบให้เขื่อนใหญ่ แต่ไม่ได้ออกแบบให้จุน้ำให้เต็ม ถ้าปีใหนมีฝนเกินเขื่อนภูมิพลก็ยังเอาอยู่ การที่ ส.ส.อ้างว่าเหลือพื้นที่ในเขื่อนและหาน้ำมาเติม ถ้าคนเป็นวิศกรจะไม่พูดแบบนั้น 

“ตอนนี้เรามมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสนทช. ซึ่งดูแลภาพรวมของน้ำทั้งประเทศ เราพูดถึงการแก้ปัญหาน้ำทั้งลุ่มเจ้าพระยา ไม่ใช่แค่ขาดแคลนน้ำ ยังมีปัญหาน้ำเค็ม ทำไมต้องโยนภาระให้กรมชลประทานเพียงหน่วยงานเดียว สนทช.ต่างหากที่ควรออกมา มุมมองปัญหาต้องเปลี่ยน ไม่ใช่มองแบบผู้ปฏิบัติ แต่มองโดยภาพรวมเพื่อแก้ปัญหาลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน ควรตั้งโจทย์ให้ถูกก่อน ถ้าเราตั้งโจทย์ถูกจะเห็นว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่มีแค่วิธีนี้วิธีเดียว มีวิธีอื่นด้วย ซึ่งอาจไม่ต้องใช้เงินมหาศาลทำโครงการนี้ก็ได้” ดร.สิตางศุ์ กล่าว

ดร.สิตางศุ์กล่าวว่า ที่น่าตกใจคือโครงการนี้ผันน้ำข้ามลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องของลุ่มน้ำปิงตอนล่าง เจ้าพระยาและท่าจีน ซึ่งต้องพูดถึงการข้ามสายพันธุ์ข้ามลุ่มน้ำ เพราะปลาในลุ่มน้ำสาละวินอาจจะแข็งแรงกว่าปลาลุ่มน้ำเจ้าพระยา สุดท้ายเราจะยังมีปลาทูกินหรือไม่เพราะเป็นการย้ายน้ำข้ามมหาสมุทรด้วย ดังนั้นประชาชนในลุ่มน้ำปิงตอนล่าง คนลุ่มน้ำท่าจีน เคยรับรู้เรื่องนี้หรือไม่

ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ นักวิชาการจากคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ลุ่มน้ำสาละวินมีความพิเศษเพราะแม่น้ำมีความชันและน้ำไหลแรง ปลาที่ว่ายจึงมีความแข็งแรง ซึ่งมีปลากว่า 200 ชนิด และมี 7 ชนิดเท่านั้นที่เหมือนปลาลุ่มน้ำปิง ดังนั้นให้ปลาทั้งสองลุ่มน้ำอยู่ร่วมกันยากมาก เราไม่รู้ว่าปลาลุ่มน้ำสาละวินวางไข่หรือเติบโตอย่างไรเพราะไม่เคยมีใครศึกษา ปลาอาจเข้ามาวางไข่ในลุ่มน้ำสาขา หากมีการสร้างเขื่อนกีดขวางย่อมมีผลต่อการวางไข่ ซึ่งแม่น้ำเงาและยวม มีลักษณะที่เหมาะอย่างยิ่งต่อการอนุบาลตัวอ่อน และการกั้นเขื่อนเป็นการเปลี่ยนระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ เพราะปลาลุ่มน้ำสาละวินเป็นปลาน้ำไหล เมื่อไรที่กลายเป็นนิเวศน้ำนิ่ง ปลาก็ไม่สามารถอยู่ได้ ที่ห่วงคือการปนเปื้อนทางพันธุ์กรรมของการผันน้ำข้ามลุ่ม ซึ่งเคยมีตัวอย่างในยุโรปที่ทำให้ปลาสูญพันธุ์ โดยเฉพาะ 2 ลุ่มน้ำมีความต่างต่างสายพันธุ์ชัดเจน หากปนเปื้อนแล้วไม่อาจเอากลับคืนมาได้อีก

“การบริหารจัดการน้ำมักพูดถึงทรัพยากรน้ำซึ่งไม่มีชีวิต แต่ไม่ได้พูดถึงทรัพยากรทางน้ำซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในน้ำ ปลาเฉพาะถิ่นในสาละวินเราไม่ควรให้ได้รับการปนเปื้อน แม้มี (การออกแบบ) ตะแกรงกั้น แต่ไม่ใช่ตะแกรงตาถี่ที่ไม่ให้ไข่หรือลูกปลาเข้าไปได้ ดังนั้นควรหาวีธีการที่เหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ” ดร.อภินันทน์ กล่าว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิจัดการน้ำแบบบูรณาการกล่าวว่า การมีส่วนร่วมการทำ EIA จริงๆ ควรเอาข้อมูลข้อเท็จจริงมา แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมและผู้ศึกษาไม่ได้ชี้แจงชัดเจนตั้งแต่ต้น ทำให้ชาวบ้านไม่รู้ว่าผลกระทบที่แท้จริงเป็นอย่างไร ทำให้ขาดคุณภาพจึงควรชะลอออกไปก่อนเข้าคณะรัฐมนตรี 

น.ส.ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ที่เห็นชัดใน EIA คือมีการนำข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ เช่น การนัดพบที่ร้านลาบมาใส่ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการให้ข้อมูล และไม่ได้พูดถึงโครงการเลยแต่พูดเรื่องนอกพื้นที่ การให้ข้อมูลควรให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดและในภาษาที่เข้าใจได้ ซึ่งเครือข่ายชาวบ้านได้คัดค้าน EIA ตั้งแต่ต้น แต่คณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ไม่ได้ตัวสอบชัดเจน และรายงาน EIA ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายใน 2 เดือนซึ่งเร็วมาก ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และผ่านผืนป่าสมบูรณ์ และเรื่องการลงทุนที่บอกว่าจะให้จีนช่วยนั้น จริงๆ แล้วจีนเขามีกฎหมายควบคุมว่าหากโครงการไปลงทุนต่างประเทศและละเมิดประชาชนประเทศอื่นก็มีสิทธิไปฟ้องศาลจีนได้ แต่ปัญหาคือกรณีนี้รัฐบาลจีนจะยอมให้ฟ้องหรือไม่ เรื่องความรับผิดชอบหรือการลงทุนข้ามแดนในสหประชาชาติมีการพูดถึง ซึ่งจีนต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบกับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะหากเกิดผลกระทบกับประชาชน 

ภายหลังจากวิทยากรสะท้อนมุมมองด้านต่างๆ แล้ว ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายทั้ง ส.ส. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ

นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่าจริงๆ การแก้ปัญหาน้ำตรงนี้มีวิธีการอื่นโดยไม่ต้องใช้ทุนต่างประเทศ แต่ที่ย้อนแย้งกับการรักษาป่าคือการสร้างอุโมงค์เจาะผ่าผืนป่า อยากรู้ว่า EIA ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้อย่างไร แต่เมื่อชาวบ้านจะขอตัดถนนและไฟฟ้าเข้าไปยังชุมชน ทำไมถึงยากเย็น เราอยากรู้กระบวนการ EIA ทั้งหมดชอบด้วยข้อกฎหมายหรือไม่ ขาดหลักการหรือไม่ ซึ่ง ส.ส.จะร่วมหาข้อเท็จจริง เราไม่ได้คัดค้านว่าประเทศไทยต้องหาน้ำให้เพียงพอ แต่รูปแบบที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร 

นางปรีดา คงแป้น กสม.กล่าวว่าได้รับหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายเพื่อให้ตรวจสอบ ซึ่ง กสม.จะเข้าไปตรวจสอบทั้งสิทธิชุมชนและสิทธิสิ่งแวดล้อม เราอยากลงพื้นที่ไปดูทั้งเรื่องการรับฟังความคิดเห็นและผลกระทบ

นายพฤ โอ่โดเชา กล่าวว่า หลักใหญ่การอยู่ร่วมกับธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง เราให้การเคารพนับถือมากคือเจ้าน้ำ เวลาบวงสรวงจะไหว้เจ้าน้ำก่อน และโครงการฯ เป็นสองฟากลำน้ำที่ยิ่งใหญ่ (ลุ่มน้ำสาละวิน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าอย่าเอาน้ำสองฟากมาอยู่ร่องเดียวกันไม่เช่นนั้นจะเกิดอาเพศ เพราะเชื่อว่าแต่ละลุ่มน้ำมีเจ้า หากผันน้ำมารวมกันจะเกิดปัญหาทั้งหมด เป็นข้อห้ามเด็ดขาดในจารีตประเพณี ดังนั้นรัฐบาลหรือนักการเมืองที่มาชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ควรละเมิดข้อห้ามนี้ และการที่จะนำเรื่องเข้าครม. ถือว่ารวบรัดและผิดหลักการ 

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโครงการใหญ่แต่เร่งรัดตัดสินใจอาจเกิดปัญหาหลายอย่าง อยากให้ผู้ใหญ่ที่จะตัดสินใจช่วยทำพื้นที่รับฟังให้เปิดกว้างและรอบคอบกว่านี้เพราะความสูญเสียบางอย่างไม่สามารถเรียกคืนมาได้ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"