กรมอุตุฯ แจ้ง “เตี้ยนหมู่” อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว ศูนย์กลางอยู่ สปป.ลาว เคลื่อนตัวเข้า จ.มุกดาหาร ส่งผล 47 จว. "เหนือ-อีสาน-กลาง-ตะวันออก-กทม." เจอฝนตกหนัก "ปภ." เตือนบ้านริมน้ำ 10 จว.ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพฯ เฝ้าระวังน้ำท่วม หลังเขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ "ชัยนาท" ขึ้นธงสีเหลืองเตือนระดับน้ำขึ้นสูง
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 6 พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยเมื่อเวลา 16.00 น. มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองสะหวันนะเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยอยู่ห่างประมาณ 80 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของ อ.เมืองฯ จังหวัดมุกดาหาร หรือที่ละติจูด 16.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 105.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดมุกดาหาร ในคืนวันที่ 24 ก.ย.64 ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย
ประกาศกรมอุตุฯ ระบุตอนหนึ่งว่า จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในวันที่ 25 ก.ย.64 ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ขณะที่นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำกับกรมชลประทาน พบในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกสะสมและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงวันที่ 24-26 ก.ย.64 ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ในระหว่างวันที่ 24-26 ก.ย.64 ปภ.จึงประสาน 10 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ตลอดจนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
เฝ้าระวังน้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้างเขื่อน ป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหารริมน้ำ แพเรือโดยสารสาธารณะ เป็นต้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ปภ.ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์ผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมากตั้งแต่วันที่16 ก.ย.-ปัจจุบันว่า ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และนครศรีธรรมราช รวม 65 อำเภอ 189 ตำบล 807 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,436 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด
ในอีก 5 จังหวัดยังคงประสบภัยน้ำท่วมคือ จ.พิจิตร ปัจจุบันน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบึงนาราง, อำเภอโพธิ์ประทับช้าง, อำเภอโพทะเล, อำเภอสามง่าม และอำเภอดงเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร จ.ชัยภูมิ ลำน้ำชีเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอเนินสง่า และอำเภอบ้านเขว้า, จ.นครราชสีมา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอพิมาย, จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล, จ.สุโขทัย น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรี สำโรง อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอคีรีมาศ
"ภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลายระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่รับน้ำ ซึ่ง ปภ.ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ" กอปภ.ก.ระบุ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,112 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 ในวันที่ 27 ก.ย.64 ในอัตรา 2,441 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับน้ำท่าจากแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
"กรมชลประทานจึงปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 1,951 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ บริเวณคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนแม่น้ำน้อย (ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา) คลองโผงเผง จ.อ่างทอง วัดไชโย จ.อ่างทอง และ อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำจะสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 75 เซนติเมตร ในช่วงเช้าของวันที่ 26 ก.ย.นี้" อธิบดีกรมชลฯ กล่าว
'ชัยนาท' ขึ้นธงเหลืองเตือน
ส่วนนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.สั่งการด่วนให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพบริการ หากพื้นที่ใดสัญญาณมีความขัดข้อง ก็จะสามารถแจ้งผู้ประกอบการให้ดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที นอกจากนั้นยังได้ให้ศูนย์สายลมประสานไปยังสมาคมและเครือข่ายวิทยุสมัครเล่นให้เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้หากการสื่อสารหลักทางโทรศัพท์ขัดข้อง
ด้าน ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่าย 15 สถาบันการศึกษาด้านการจัดการภัยพิบัติ กล่าวว่า เหตุการณ์พายุขณะนี้จะทำให้ฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย เป็นหลัก โดยมีสาเหตุอันเนื่องมาจากร่องฝนยังวิ่งไปมาแถวๆ ภาคกลางและ กทม. ซึ่งเหตุการณ์อาจจะวิกฤตหนักขึ้นไปอีก ถ้าหากน้ำเหนือเขื่อนไหลลงมาผสมกับน้ำฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนเกิดเป็นภาวะเจ้าพระยาล้นตลิ่ง ซึ่งตามแผนของกรมชลประทานที่ร่างไว้นั้นจะช่วยตัดยอดน้ำเหนือก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยาให้ลดลงเหลือไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เมื่อมาผสมกับน้ำฝนตกในลุ่มน้ำตอนล่างจะมีปริมาณน้ำรวมกันไม่เกิน 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งในปริมาณนี้คันของ กทม. ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะพอรับมือไหว ไม่ให้เกิดการเอ่อล้นฝั่งได้
"จึงขอหนุนให้กรมชลประทานสามารถตัดยอดน้ำเหนือเขื่อนก่อนไหลลงสู่ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กทม. ให้ได้ ซึ่งก็จะช่วยให้บ้านเรือนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพ้นจากวิกฤตน้ำเอ่อล้นครั้งนี้ไปได้ แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาท ขอประชาชนริมฝั่งเจ้าพระยาในทุกจังหวัด รวมทั้งเขตบางพลัด บางกอกน้อย บางซื่อ ดุสิต เตรียมพร้อมเฝ้าระวังติดตามข่าวสาร สังเกตปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากเขื่อน และติดตามปริมาณฝนที่ตกในลุ่มน้ำตอนล่างนี้ ประกอบด้วย เพื่อเตรียมการย้ายสิ่งของหากมีความจำเป็นเกิดขึ้น" ดร.พิจิตตกล่าว
จ.ชัยนาท สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท ได้เปลี่ยนธงแสดงสถานการณ์น้ำที่ติดตั้งไว้บนสันเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท จากธงสีเขียวสถานการณ์น้ำปกติ เป็นธงสีเหลืองสถานการณ์น้ำเฝ้าระวัง เพื่อเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังระดับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะสูงขึ้น และเขื่อนเจ้าพระยาจะระบายน้ำเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเร่งพร่องน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้ลดต่ำกว่าระดับเก็บกัก 16.50 เมตร (รทก.) เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ภาคเหนือและน้ำฝนจากพายุเตี้ยนหมู่ที่จะพัดเข้าพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง
จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนตกหนักที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ทำให้น้ำป่าไหลทะลักลงอ่างเก็บน้ำหนองงูเหลือม ต.สระจระเข้ จนน้ำเต็มอ่างเนื้อที่ 200 ไร่ ก่อนไหลกัดเซาะแนวคันดินจนทรุดพังเสียหายเป็นแนวยาวกว่า 20 เมตร มวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่ที่ต่ำท่วม 3 หมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง ถนนทางเชื่อมหมู่บ้านมีน้ำท่วมสูง 10-20 เซนติเมตร รถยนต์สัญจรลำบาก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |