วัยรุ่นมี SEX เป็นเรื่องธรรมชาติ  เรียนรู้..ลดปัญหาท้องไม่พร้อม


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 15-19 ปี เราก็เหมือนมีโลกอีกใบที่ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวายหรือสั่งให้ทำนั่นทำนี่ เพราะความมั่นใจในตัวเอง ชอบความท้าทายได้ออกไปเจอประสบการณ์หรือลองทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งหากเลือกไปในทางดีก็จะดี แต่หากเลือกทางผิด ชีวิตก็พลิกผันได้เช่นกัน 
    เรียกได้ว่าวัยรุ่น เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ครอบครัวต้องคอยเฝ้าดูหรือให้คำปรึกษาอย่างเข้าใจและระมัดระวัง
    หนึ่งในปัญหาที่หลายคนกังวลเมื่อลูกหลานเข้าสู่วัยรุ่น คือการท้องไม่พร้อม หรือมีโอกาสที่จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานี้คงไม่ใช่เพียงแค่สภาพแวดล้อมทางสังคม หรือการเลี้ยงดูจากครอบครัว แต่อาจจะเป็นเพราะความอยากรู้อยากลอง ต้องการความรักจากเพศตรงข้าม การรู้เท่าไม่ถึงการณ์คิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ครั้งสองครั้งคงไม่เป็นอะไร รวมไปถึงการโดนล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งวัยรุ่นหรือแม้แต่ครอบครัวอาจจะขาดความรู้การสอนเรื่องเพศ การใช้ถุงยางอนามัยหรือทานยาคุมกำเนิด
    ปัญหาทางสังคมที่ตามมาปรากฏเป็นข่าวให้เห็นคือ เด็กถูกทิ้งกลายเป็นเด็กกำพร้า การทำแท้งผิดกฎหมาย หรือเสียชีวิตจากการกินยาคุมกำเนิดที่ซื้อตามอินเทอร์เน็ต หรือความไม่พร้อมของครอบครัวพ่อแม่วัยรุ่น เนื่องจากยังอยู่ในวัยเรียนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ทำให้ส่วนหนึ่งมีแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวเกิดขึ้น โดยมีสถิติในปี 2556 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว โดยลูกอยู่กับแม่ 15.4% และลูกอยู่กับพ่อ 3.4% 
    นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 10-19 ปี ในประเทศไทยมีจำนวน 8 ล้านคน แบ่งเป็นเพศชาย 4 ล้านคน และเพศหญิง 4 ล้านคน อายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มีสถานะสามี-ภรรยา 3%, อายุต่ำกว่า 18 ปี มีสถานะสามี-ภรรยา 20% ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้พร้อมที่จะตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อมหรือก่อนจบการศึกษาในวัยรุ่นผู้หญิง 
    "จากรายงานอัตราการคลอดบุตรในวัยรุ่นไทยสูงมากเมื่อเทียบกับวัยรุ่นเอเชียหรือระดับโลก พ.ศ.2554-2555 พบอัตราการคลอดในช่วงอายุ 15-19 ปี จำนวน 53.4 คน ต่อ 1,000 คน ที่่น่ากังวลประมาณ 50% เกิดจากการไม่ได้ตั้งใจมีเพศสัมพันธ์, 30% เด็กไม่รู้วิธีการคุมกำเนิดที่ถูกต้องและเหมาะสม, 10% เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ขณะมึนเมา และอีก 10% ไม่ตระหนักถึงผลที่ตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์" นพ.พีระยุทธ์กล่าว
    เจาะลึกจากสถิติของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ย้อนไป พ.ศ.2562 วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน หรือ 2,000 คนต่อปี ขณะที่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน 
    ในจำนวนคุณแม่วัยใส พบว่า ปีเดียวกันมีจำนวนผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ให้กำเนิดบุตรอยู่ที่ 63,831 ราย โดยแยกเป็นอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 61,651ราย และอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,180 ราย 
    ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีการคลอดซ้ำอีกถึง 5,222 ราย สถานการณ์เหล่านี้อาจกระทบคุณภาพชีวิตของเด็ก รวมถึงผลกระทบด้านการศึกษา การทำงาน หรือการใช้ชีวิตในช่วงวัยทีน
    สถานการณ์ล่าสุด นพ.พีระยุทธอัปเดตให้ฟังว่า ปัจจุบันอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลดลงอยู่ที่ 28 คนต่อ 1,000 คน โดยเร่งทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในช่วง 20 ปี โดย 10 ปีแรกในปี 2569 จะต้องมีอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ไม่เกิน 25 คนต่อ 1,000 คน และในปี 2579 จะต้องไม่เกิน 15 คนต่อ 1,000 คน 
    "การดำเนินงานด้านการคุมกำเนิดเป็นหนึ่งกลไกสำคัญลดอัตราการคลอดได้ เพราะทั้งวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่กว่า 40% ส่วนใหญ่จะลืมทานยาคุม และวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์กับแฟนใช้ถุงยางอนามัยเพียง 80%" 
    ผอ.บอกด้วยว่า ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของร่างกายก็มีผลตั้งท้อง เช่น เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนไวขึ้น หมายความว่าพร้อมตั้งครรภ์ จากการสำรวจพบค่าเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 11.57 ปี ทำให้เด็กที่ศึกษาอยู่ ป.5-6 ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ แล้วยังพบเด็กอายุ 10 ปีมาเข้ารับบริการฝากครรภ์ 
    "ในสถานการณ์โควิด-19 ปี 64 มีวัยรุ่นเข้ามาขอปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่อัตราการฝากครรภ์ลดลง” นพ.พีระยุทธระบุ  
    คุมกำเนิด..ทางเลือกและป้องกัน
    การทำงานเชิงรุก ทางกรมอนามัยทำงานลำพังไม่ทันสถานการณ์ นำมาสู่ความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการส่งเสริมวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ให้สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรระยะยาวด้วยการใส่ห่วงคุมกำเนิดและฝังยาคุมได้ฟรีทุกกรณี
    การฝัง 1 ครั้งอยู่ได้นาน 3-5 ปี และครอบคลุมถึงหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไปในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ภายใต้นโยบายป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ตามยุทธศาสตร์ พ.ศ.2560-2569 ได้จัดหน่วยบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรเพิ่มขึ้นจนครอบคลุม 85.6% ของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  
    นอกจากนี้ ลุยนโยบายส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) เพื่อให้ทุกการตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากความตั้งใจ มีการวางแผน แม่และเด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังคลอด 
    ขณะนี้มีวัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรสะสมกว่า 10,000-20,000 คนต่อปี จากสถิติปี พ.ศ.2563 ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 - 31 มี.ค.64 รวม 210,997 คน อิงตามข้อมูลจาก E-Claim ของ สปสช. ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จะดำเนินงานต่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น 
    นพ.พีระยุทธบอกด้วยว่า จะผลักดันในพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 กรณีกระทรวงศึกษาส่งเสริมให้โรงเรียนต้องมีการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา และเป้าหมายสำคัญตามมาตรา 5 เมื่อเด็กตั้งครรภ์แล้วต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพในรูปแบบที่เหมาะสม ได้รับสวัสดิการด้านอนามัยและการเจริญพันธุ์ ที่เป็นส่วนตัวและความลับ ซึ่งเป็นสิทธิของเด็กในการตัดสินใจ 
    ขณะที่ระดับชาติเน้นการวางยุทธศาสตร์ป้องกัน HIV ที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับถุงยางอนามัยที่ให้เด็กเข้าถึงถุงยางอนามัยราคาถูกและเข้าถึงง่าย อีกแนวทางที่จำเป็นคือ การให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษา สุขภาพในวัยรุ่น พร้อมให้คำปรึกษา ขณะนี้มีแพลตฟอร์มออนไล์ ช่องทาง Line : TEEN CLUB ให้ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิดต้องควบคู่กับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประกอบด้วย วิธีการคุมกำเนิดมาตรฐานร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ 
    ด้านกฎหมายมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาตามที่องค์กรเอกชนร้องศาลรัฐธรรมนูญพิพากษามาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้แก้ มาตรา 301 และมาตรา 305 โดยในการแก้ไข พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 7 ก.พ.64 ซึ่งเบื้องต้นคือแพทย์สามารถเลือกใช้ข้อบ่งชี้ในการยุติการตั้งครรภ์ในขอบเขตกฎหมาย ผู้ที่จะทำแท้งก็ต้องผ่านการพิจารณาทางการแพทย์ตามข้อบังคับ ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการของทางองค์การอนามัยโลกกำหนด 
    อย่างไรก็ตาม การป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมในระยะยาว สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่การดำเนินการตามนโยบายหรือทางกฎหมาย แต่การให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาตั้งแต่ยังเด็ก ที่อาจเป็นหนทางในการลดปัญหานี้ลงได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"