โลกในปัจจุบันที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของมนุษย์ให้มากที่สุด หนึ่งในนั้นคือเรื่องของคมนาคม ที่เทรนด์ตอนนี้สังคมกำลังให้ความสนใจและเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น เนื่องจากต้องยอมรับว่ามลพิษทางอากาศส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนั้น มาจากการคมนาคม ด้วยเทคโนโลยีเดิมของรถยนต์ที่ต้องมีการเผาผลาญเชื้อเพลิงให้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน ซึ่งเชื้อเพลิงเหล่านั้นมีบางส่วนที่ไม่สามารถเผาผลาญจนหมด และมีการปล่อยออกสู่บรรยากาศ
แต่ในยุคที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงสะอาดอย่างพลังงานไฟฟ้า ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อยอดและใช้งานเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ จนทำให้การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า หรือที่รู้จักกันว่า อีวี (EV) นั้น กำลังจะเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างแท้จริง ด้วยความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาวิกฤติมลภาวะและรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
เมื่อมีการเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ ก็มักจะเกิดคำถามและจากหลากหลายประเด็นที่ว่าประเทศไทยพร้อมแค่ไหน สำหรับสังคมของรถไฟฟ้า และต้องวางโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร เพื่อเตรียมรองรับกับยุคสมัยที่จะเปลี่ยนไป
นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนานวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (ปตท.) ที่ปัจจุบันช่วยปฏิบัติงานในบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) หรือเดิมชื่อบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% จึงได้ตอบคำถามเหล่านี้ภายใต้หัวข้อ What if… In the Future จะเป็นอย่างไรถ้าเราทุกคนใช้ EV
อรุณ พลัส จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจในด้านEV Value Chain เพื่อเป็นการรองรับการขยายฐานธุรกิจด้านอีวี ซึ่งถือว่าเป็นพันธกิจใหม่สำหรับกลุ่ม ปตท. ที่จะศึกษาและดำเนินงานในด้านนี้ เพื่อเสริมศักยภาพความแข็งแรง และสร้างความครอบคลุมด้านพลังงานของบริษัท โดยการมุ่งเน้นไปยังธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมในสังคมและมีความมั่นคง ทั้งการเข้าไปพัฒนาแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของอีวี รวมไปถึงการพัฒนาตัวรถหรือโซลูชั่นต่างๆ ในอนาคต
“อรุณ พลัส จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาทิศทางการตลาดสมัยใหม่ โดยจะทำดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะรวบรวมความต้องการของลูกค้าทั้งหมด และนำกลับมาตอบสนองผ่านบริการต่างๆ เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยหลายกลุ่ม ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับอีวี และสำหรับคนที่ต้องการทดลองใช้ เพื่อเปรียบเทียบในการตัดสินใจ ก็จะสามารถเข้ามาลองใช้โดยผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทได้”
ประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาเรื่องอีวีเพิ่มมากขึ้น แต่ปีนี้เป็นปีที่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยเฉพาะภาครัฐที่มีการสนับสนุนเรื่องอีวีอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อย้อนกลับไปดูวงจรการพัฒนาอีวีในกลุ่มประเทศอื่น หลายๆ แห่งสังคมอีวีเกิดขึ้นได้เพราะภาครัฐให้การสนับสนุนที่จริงจัง ภายใต้เป้าหมายที่สำคัญคือต้องการเปลี่ยนการใช้รถที่เป็นเครื่องยนต์มาใช้รถพลังงานสะอาด
หนึ่งในนั้นคือประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ต้องชื่นชมนโยบายของรัฐบาล ที่เริ่มต้นจากแก้ไขวิกฤตที่เกิดกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ เนื่องด้วยในอดีตจีนเองก็เป็นหนึ่งประเทศที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างสิ้นเปลือง และสร้างมลพิษทางอากาศอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเริ่มมีการปรับตัว จีนเบนเข็มจากเดิมที่เคยใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงเดิม อย่างเช่นการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน หรือใช้น้ำมัน ปัจจุบันก็เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
นอกเหนือจากนี้ คือการส่งเสริมให้ใช้อีวีเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะภาคการใช้งาน แต่สนับสนุนถึงภาคการผลิตไปด้วย จนปัจจุบันก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอีวีรายใหญ่ของโลก มีทั้งผู้ประกอบการผลิตรถยนต์รายเดิมเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตรายใหม่ก็เริ่มต้นได้ทันที รวมถึงมีสตาร์ทอัพที่ไม่ใช่เพียงแต่ออกแบบเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนานวัตกรรมและสร้างแบรนด์ขึ้นมาเองได้
ประเทศไทยในระยะของการดำเนินงาน ในมุมมองของอรุณ พลัสคือการมองถึงการลงทุน EV Charging Station นอกสถานีบริการน้ำมัน เพราะในสถานี บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีแผนดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทจะเน้นไปในจุดพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งศูนย์ประชุม ห้างสรรพสินค้า คอนโดหรือหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแผนที่จะดำเนินการตามปริมาณการใช้อีวีที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และยังเป็นการสร้างความมั่นใจของผู้ใช้รถอีกช่องทางหนึ่ง
ขณะที่ในแง่มุมของการใช้รถยนต์นั้น ต้องยอมรับว่าอีวีนอกจากจะเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าแล้ว ยังมีการดูแลรักษาที่ง่ายกว่าด้วย รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ในปัจจุบัน ซึ่งการดูแลอีวีนั้นจะเป็นการดูแลแบบแห้ง เนื่องจากรถยนต์ไม่มีน้ำมันเครื่อง และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายของเสียออกจากตัวรถ
ซึ่งเป็นจุดน่าสนใจสำหรับกลุ่มที่ใช้รถในรูปแบบของบริการในเชิงพาณิชย์ ที่จะต้องใช้รถบ่อยกว่าคนทั่วไป เพราะนอกจากจะดูแลรักษาถูกกว่าแล้ว ค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานต่อกิโลเมตรก็ถูกกว่าเช่นกัน ขณะที่ข้อกังวลของผู้ใช้อีวีนั้น จะพูดถึงประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ ที่เมื่อมีการชาร์จไฟเข้าออกก็จะต้องมีการเสื่อมอยู่ตลอดเวลา
และไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพลงจึงสามารถนำไปใช้ในธุรกิจอื่นได้ เช่น สามารถนำแบตเตอรี่ไปกักเก็บพลังงาน ให้กับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะผลิตไฟได้ในบางช่วงเท่านั้น หรือธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่เองในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและก้าวหน้า จนไม่ต้องกลัวว่าแบตเตอรี่จะเป็นขยะต่อโลกแน่นอน
ปีนี้เป็นปีที่จะเห็นความก้าวหน้าของธุรกิจต่างๆ ซึ่งในส่วนของอรุณ พลัสเองก็จะเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตจะเห็นพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศที่เข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจให้ตอบโจทย์กับความต้องการของสังคมมากขึ้น มีการเชื่อมโยงไปสู่โปรแกรมอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้บริการแบบครบวงจร ซึ่งเป้าหมายของบริษัทไม่ใช่เพียงจะลงทุนแต่ในประเทศเท่านั้น แต่มองถึงตลาดต่างประเทศเพื่อต่อยอดเป็นผู้นำในด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |