ปี65ได้บูสเตอร์ครบทุกคน สธ.ยันฉีดใต้ผิวหนังภูมิสูง


เพิ่มเพื่อน    

คนไทยฉีดวัคซีนทะลุ 46 ล้านโดสแล้ว  ศบค.แจงคนจองโมเดอร์นาเข็ม 3 อดใจรอ อย่าเพิ่งฉีดแอสตร้าฯ แทน "อนุทิน" คาดสิ้น ต.ค.ฉีดถึง 60 ล้านโดส  ปลายปีกลุ่มเป้าหมายได้ครบ ยันปีหน้ามีบูสเตอร์ให้ทุกคน  สธ.เผยผลวิจัยฉีดใต้ผิวหนังภูมิสูงใกล้เคียงเข้ากล้ามเนื้อ  ผลข้างเคียงน้อย-ประหยัด 5 เท่า
    ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 22 กันยายน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยวันที่  21 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 811,915 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.มีทั้งสิ้น  46,023,016 โดส แบ่งเป็นเข็มที่หนึ่ง  29,501,110 ราย คิดเป็น 41.0% ของจำนวนประชากร เข็มที่สอง 15,899,158 ราย คิดเป็น  22.1% ของจำนวนประชากร เข็มที่สาม 622,748  ราย โดยมีการวางเป้าหมายว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรังให้ได้ 70% ในเดือน ก.ย.  และวางเป้าหมายว่าจะฉีดเข็มที่สองให้คนกลุ่มนี้ให้ได้  70% ในเดือน ต.ค. ทั้งนี้ในวันที่ 24 ก.ย.ซึ่งเป็นวันมหิดลจะมีการรณรงค์ใหญ่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน โดยวางเป้าหมายจะฉีดวัคซีนทุกเข็มรวมกันให้ได้ 1 ล้านโดส
    เมื่อถามว่า คนที่จองวัคซีนโมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือกเอาไว้ควรจะรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ก่อน แล้วมาฉีดโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 4 หรือรอฉีดโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 3 เลยทีเดียว นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ในเรื่องของเข็มกระตุ้น ใครที่จองวัคซีนอื่นหรือวัคซีนโมเดอร์นามีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีกรอบเวลาจะส่งมอบถึงเมืองไทย แนะนำว่าถ้าคนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วและมีการจองวัคซีนโมเดอร์นาอยู่แล้ว ให้ถือเอาโมเดอร์นาเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 อาจจะต้องอดใจรอหน่อย ยังไม่ต้องกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า  
    นพ.เฉวตสรรชี้แจงว่า ในช่วงแรกของการฉีดวัคซีนกระตุ้นบูสเตอร์เข็มที่ 3 จะมีการใช้ระบบนี้ โดยคนที่ฉีดวัคซีนในเบื้องต้นคือก่อนเดือน พ.ค. คือฉีดวัคซีนซิโนแวคประมาณปลายเดือน ก.พ.และ มี.ค. ดังนั้นใครที่ฉีด 2 เข็มในช่วงดังกล่าวจะได้รับการติดต่อเอสเอ็มเอสหมอพร้อมให้กลับมาฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่ 3 หากไม่ได้รับการติดต่อก็สามารถสอบถามไปที่จุดที่เคยฉีดเข็มที่ 2 ได้ เพื่อความแน่ใจว่าข้อมูลตกหล่นหรือไม่
     ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า ได้ระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ศักยภาพ 7-8  แสนโดสต่อวัน คาดว่าสิ้นเดือน ต.ค.น่าจะฉีดได้ถึงเกือบ  60 ล้านโดส ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากกรมควบคุมโรคถึงความมั่นใจว่า กลุ่มเป้าหมายจะได้รับการฉีดครบทุกโดสภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงผู้ที่รับซิโนแวค 2 เข็ม ต้องมารับเข็มที่ 3 เป็นบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งก็ได้เริ่มไปแล้ว แต่จะเริ่มฉีดอย่างเป็นทางการในวันที่ 24  ก.ย.ซึ่งตรงกับวันมหิดล ทั้งนี้ได้มีการจัดหาวัคซีนบูสเตอร์โดสสำหรับคนไทยได้ค่อนข้างครบถ้วนแล้วสำหรับปีหน้า ซึ่งจะฉีดเข็มเดียว แต่เราต้องดูประสิทธิผลว่าจะต้องเติมในช่วงครึ่งปีหลังหรือไม่ หากต้องเติมเราเปิดออปชันกับผู้ผลิตว่าเราสามารถที่จะเพิ่มจำนวนการสั่งซื้อวัคซีนได้ โดยที่ราคาและเงื่อนไขไม่เปลี่ยนแปลง และในส่วนที่เปิดเผยได้พร้อมเปิดเผยให้ทุกฝ่ายรับทราบ
    เมื่อถามถึงกรอบจำนวนวัคซีนของปี 2565  นายอนุทินกล่าวว่า เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีให้จัดหาไว้ราว  100 กว่าล้านโดส ซึ่งต้องดูสถานการณ์ด้วย เพราะหากฉีดเป็นเข็มบูสเตอร์ได้ดี ประชากรเรามี 70 ล้านคน ถ้าเกิดไม่จำเป็นต้องใช้ถึงขนาดนั้น และหวังว่าปีหน้าการผลิตวัคซีนน่าจะมีทางเลือกมากขึ้น ราคาน่าจะลดลง การมาถึงของวัคซีนไม่น่าจะวุ่นวายเหมือนปีนี้ สถานการณ์เมื่อไม่มีคนเจ็บ คนตาย คนติดมาก สถานการณ์ทุกอย่างจะทำให้เกิดความลงตัวในทุกมิติ 
    ด้าน นพ.ศุภกิจ​ ศิริ​ลักษณ์​ อธิบดี​กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์ ​แถลง​ผลการวิจัยภูมิ​คุ้มกัน​และความปลอดภัย​จากการได้รับวัคซีน​กระตุ้นเข้าใต้ผิวหนังว่า งานวิจัยของเราใช้วัคซีน​ฉีดเข้าไปในชั้นผิวหนัง​เฉพาะบูสเตอร์​โดส คนที่ฉีดซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ผ่านมานาน 4-8 สัปดาห์​  และอีกกรณีคือคนฉีดซิโนแวคนาน 8-​12 สัปดาห์​ หลังจากนั้นใน 14 วันเเจาะเลือดมาดู ซึ่งเรื่องผลข้างเคียง​จะเห็นว่าฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะเกิดอาการเฉพาะที่มากกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนอาการทั่วไปของร่างกายที่มีปฏิกิริยา​เกิดขึ้นน้อย เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกัน​ปรากฏว่าใกล้เคียงกัน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้ออยู่ที่  1,600 ส่วนฉีดเข้าชั้นผิวหนังอยู่ที่ 1,300 แต่สามารถประหยัด​วัคซีน​ฉีดแค่ 1 ใน 5 ทั้งนี้เมื่อลองมาสู้กับสายพันธุ์​เดลตา (อินเดีย)​ ปรากฏว่าได้ผลไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังสามารถสู้กับสายพันธุ์​เดลตาได้ 
    นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมง​คล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์​ทาง​การแพทย์​ กล่าวว่า ผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดไข้ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อพบ 30% ส่วนที่ฉีดเข้าชั้นผิวหนังพบแค่ 5% ถ้าในอนาคตพิสูจน์​ได้ว่าไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงเฉพาะที่ การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะเป็นทางเลือกที่ดีในแง่ความปลอดภัยด้วย
    นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การแลกเปลี่ยนวัคซีนระหว่างไทยกับสิงคโปร์ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน  122,400 โดสจะมาถึงไทยในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยการแลกเปลี่ยนนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างไทยกับสิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของทั้งสองประเทศ บนหลักการว่าไทยจะส่งมอบวัคซีนคืนแก่สิงคโปร์ในภายหลัง ในโอกาสเดียวกันนี้ สิงคโปร์ยังได้มอบชุดตรวจ Antigen Rapid  Test จำนวน  2 แสนชุด และก้านเก็บตัวอย่างเยื่อบุโพรงจมูกจำนวน 5 แสนชุดแก่ไทย โดยวัคซีนและเวชภัณฑ์ทางการเเพทย์ดังกล่าวมีกำหนดขนส่งถึงไทยในวันเสาร์ที่ 25 ก.ย.นี้ โดยจะมีการส่งมอบที่สนามบินสุวรรณภูมิ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"