ปี 2564 เป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยเจอกับวิกฤตสาหัส อย่าง “โควิด-19” หลายส่วนได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ด้านสาธารณสุข และด้านการทำธุรกิจ ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปแทบจะสิ้นเชิง เกือบทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวัน และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่อีกหลายส่วนถูกกดดันจากปัจจัยแวดล้อม จนอาจจะไปต่อไม่ไหว สะท้อนให้เห็นจากภาพการปิดกิจการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ภาวะการว่างงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบเป็นลูกโซ่ส่งต่อไปยังรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนปูดออกมาเป็นปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่อยู่ระดับสูงในปัจจุบัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามออกมาตรการช่วยเหลือในหลากหลายมิติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการที่ออกมาได้อย่างเต็มที่นัก
ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงเหลือ 0.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.8% ขณะที่ปี 2565 ลดลงเหลือ 3.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% ด้วยเหตุผลที่ว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ขณะที่ตลาดแรงงานเองยังเต็มไปด้วยความเปราะบาง โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ
“เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงานเพิ่มเติมจากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่ง กนง.จะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด”
ส่วนภาคเอกชนอย่าง “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)” มองว่า จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มดีขึ้น และแผนการจัดหาวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคบางส่วน จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยมองว่าภาครัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยมาตรการระยะสั้น เน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช็อปดีมีคืน และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามการค้า (Trade War) ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมทั้งภาครัฐควรเดินหน้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการที่รัฐลงทุนเอง และโครงการลงทุนแบบ PPP เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มรูปแบบ
ด้านรัฐบาลเอง ที่ก็ยอมรับว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทยหายไปจำนวนมาก แต่จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา และหากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไว้ได้ดี ก็เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3-4/2564 จะดีขึ้น และจะเป็นผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ รวมถึงปีหน้าด้วย
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ที่ยังคงเชื่อมั่นว่า หลังจากนี้ทิศทางเศรษฐกิจของไทยจะค่อยๆ เติบโตไปได้ จากการช่วยเหลือของทุกฝ่ายในการประคับประคองช่วยกัน แม้ว่าประเทศไทยตอนนี้จะมีสถานการณ์ที่ท้าทายเรื่องหลุมรายได้ขนาดใหญ่ และไทยเองก็ยังเป็นประเทศที่อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เวลา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศเร็วขึ้น เพื่อเร่งให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวทยอยกลับเข้ามา
ขณะที่กระทรวงการคลังเอง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะยอมรับว่าสภาพการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจไทยยังคงไม่แข็งแกร่ง แม้ว่าไตรมาส 2/2564 จะเติบโตสูงถึง 7.5% เพราะอัตราการเติบโตเทียบระหว่าง 2 ไตรมาสนับตั้งแต่ต้นปียังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% และการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 และ 3 นั้น ก็ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะช้า และใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี โจทย์สำคัญและอาจจะเป็นทางรอดของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ น่าจะเป็นการเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัส ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อๆ ไปด้วย.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |