เมื่อจีนขยับขอเข้า CPTPP ไทยก็ต้องทบทวนยุทธศาสตร์


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อจีนประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ CPTPP ทั้งโลกก็ลุกขึ้นมาแสดงความสนใจในย่างก้าวครั้งสำคัญครั้งนี้
    สี จิ้นผิงกำลังจะบอกชาวโลกว่า ยุทธศาสตร์ของจีนนั้นมีทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง สังคมและเศรษฐกิจ
    และไม่จำเป็นที่เศรษฐกิจจะต้องผูกพันกับยุทธวิธีทางด้านการเมืองและความมั่นคงเสมอไป
    หรืออาจจะเป็นเพราะสี จิ้นผิงเห็นว่าการ “ตัดหน้า” โจ ไบเดน ในการขอเข้ากลไกเขตการค้าเสรีใหญ่อย่าง CPTPP ครั้งนี้เท่ากับเป็นการสร้างความได้เปรียบครั้งสำคัญในหลายๆ ด้าน
    ขณะที่สี จิ้นผิงบอกโจ ไบเดน ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า ปักกิ่งพร้อมจะแข่งขันและร่วมมือกับวอชิงตันในหลายๆ ด้าน
    แต่ก็ไม่ต้องการให้นำไปสู่ความขัดแย้ง
    นั่นคืออย่าให้ Competition และ Cooperation นำไปสู่ Conflict
    C สองตัวแรกเป็นเรื่องที่ดี แต่ C ตัวที่สามเป็นอันตรายต่อตนเองและสังคมโลกแน่นอน
    อเมริกาภายใต้บารัค โอบามา เป็นผู้ชักชวนให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันตั้งเขตการค้าเสรีใหญ่สำหรับแปซิฟิกที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership (TPP)
    แต่พอโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นมาก็ให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกไป
    โจ ไบเดนเข้าทำเนียบขาว แล้วเห็นว่าควรจะทบทวนเพื่อมีบทบาทอะไรบางอย่างใน TPP ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP โดย 11 ประเทศสมาชิกที่ยังคงอยู่
    แต่ไบเดนช้าไป สี จิ้นผิงเสนอตัวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ทันที ขณะที่อังกฤษกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา คาดว่าจะสรุปผลได้ในปีหน้า
    นอกจาก CPTPP ก็ยังมี RCEP ที่เป็นกลไกเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สำหรับเอเชีย มีอาเซียนบวกกับอีก 5 ประเทศ
    รวมกันแล้วสองกลุ่มนี้จะครอบคลุมประชากรเกือบ 40% ของโลก
    ไทยเราเป็นสมาชิก RCEP แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้า CPTPP หรือไม่
    เพื่อนเราในอาเซียนอีก 4 ประเทศ คือ บรูไน, เวียดนาม, มาเลเซีย และสิงคโปร์อยู่ทั้งสองกลุ่ม
    การตัดสินใจของจีนที่ยื่นในสมัครเข้า CPTPP ครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาด
    ขณะที่สหรัฐฯ กำลังก่อหวอดตั้งกลุ่มทางด้านความมั่นคงและการเมืองเพื่อสกัดอิทธิพลจีน แต่ปักกิ่งก็เปลี่ยนเกมด้วยการรุกหนักทางด้านเศรษฐกิจ
    ขณะที่เสริมสร้างเครือข่ายด้านความมั่นคงกับพันธมิตรของตน เช่น รัสเซียและประเทศในเอเชียกลางผ่าน SCO (Shanghai Cooperation Organization)
    แน่นอนว่าจีนพุ่งเป้าสร้างความเป็นมิตรไมตรีและสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องกับอาเซียน
    การที่จีนตัดสินใจ “เหยียบเรือทั้งสองแคม” (ทั้ง RCEP และ CPTPP) นั้นย่อมทำให้ปักกิ่งสามารถสร้างอิทธิพลทางด้านการค้าและการลงทุนเพื่อเสริมพลังด้านการเมืองและความมั่นคงทางอ้อมได้เช่นกัน
    คำถามสำหรับคนไทยก็คือว่า เมื่อจีนขยับเข้าสู่ CPTPP แล้วสหรัฐฯ จะตามมาหรือไม่
    และเมื่อเกมเปลี่ยนไปแล้วเช่นนี้ ไทยเราจะปรับยุทธศาสตร์เพื่อตามให้ทันกับการพลิกผันของสถานการณ์ของมหาอำนาจอย่างไรหรือไม่ 
    เป็นที่รู้กันว่าการถกแถลงภายในของเราเรื่อง CPTPP นั้นได้ดำเนินมาหลายปีดีดักแล้ว
    ทั้งฝ่ายเห็นพ้องและเห็นต่างก็มีเหตุผลที่น่าฟัง
    แต่การไม่ตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่งย่อมจะมี “ราคาที่ต้องจ่าย” ซึ่งอาจจะแพงเกินกว่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาวได้
    ฝ่ายคัดค้านเห็นว่าไทยจะเสียเปรียบอย่างน้อยในสองด้าน คือการเกษตรและสิทธิบัตรยา
    ฝ่ายที่เห็นว่าไทยควรต้องเข้าร่วมมองเห็นโอกาสของการส่งออกที่กว้างขวางทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า
    อีกทั้งหากเพื่อนเราในอาเซียนอย่างน้อย 4 ประเทศเป็นสมาชิกทั้งสองกลุ่ม ไทยอาจจะตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบยิ่งกว่าหากยังไม่ตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่ง
    ฝ่ายสนับสนุนอ้างงานวิจัยที่มีข้อสรุปว่า การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (GVCs) จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
    รวมไปถึงการขยายตัวของการจ้างงาน และลดระดับความยากจน และไทยมีแต้มต่อในการเข้าสู่ GVCs 
    แน่นอนว่าการเข้าร่วมกลไกนานาชาติเช่นนี้ บางภาคส่วนย่อมเสียประโยชน์และอาจได้รับผลกระทบทางลบ 
    คำถามคือ รัฐบาลจะประเมินข้อดีข้อเสียอย่างไร  และทำอย่างไรจึงจะสามารถเยียวยาพวกเขาได้ กองทุน FTA 
    เมื่อจีนขยับเข้า CPTPP สหรัฐฯ ย่อมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้
    ไทยเราสามารถจะเล่นเกม “รอ” ได้อีกนานเท่าไหร่
    และหากเราตัดสินใจไม่ร่วม CPTPP ทางออกของไทยในเวทีระหว่างประเทศมีอะไรบ้าง
    เป็นหัวข้อที่สมควรจะได้รับการถกแถลงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยในทุกๆ ด้าน
    เพราะเรื่องเขตการค้าเสรีมีผลต่อคนไทยทุกอาชีพ มิใช่เป็นเพียงหัวข้อถกแถลงระหว่างนักวิชาการ นักการเมือง และเอ็นจีโอเท่านั้น
    ท้ายที่สุดผู้นำก็ต้องตัดสินใจ และการตัดสินใจก็ต้องอยู่ที่ “ความกล้าหาญทางการเมือง” หรือ  political will นั่นแหละ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"