แจงขยับเพดานหนี้เอื้อกู้เพิ่ม1.2ล้านล.


เพิ่มเพื่อน    

ครม.เห็นชอบขอบเขตโครงการขอใช้เงินกู้ ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท  “อาคม” แจงขยับเพดานหนี้เป็น 70% ช่วยรัฐมีช่องกู้เพิ่มอีก 1.2 ล้านล้านบาท ยันแค่แก้ปัญหาเงินตึงมือ เพิ่มความคล่องตัวภาคการคลัง ไม่ได้กู้เต็มเพดาน
    เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า  ครม.เห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (แผนงานที่ 3) วงเงิน 170,000 ล้านบาท ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม  พ.ศ.2564 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ สถานประกอบการ SMEs, ผู้ประกอบการทั่วไป, แรงงานในระบบ, ประชาชนทั่วไป, เกษตรกร,  สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร), วิสาหกิจชุมชน, ผู้ว่างงาน  และวัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยขอบเขตโครงการที่จะขอใช้เงินกู้ต้องมีลักษณะเพื่อเป้าหมายอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
    1.เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการจ้างงานของ SMEs หรือในชุมชน ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการสร้างรายได้และอาชีพให้แก่ประชาชนในชุมชนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ  วงเงินเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท
    2.เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ ในสาขาที่ไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา และสามารถกระจายผลประโยชน์ไปสู่ระดับฐานราก ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ โดยมีการประยุกต์ใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการลงทุนที่สามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับชุมชนและ SMEs เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก
    3.เพื่อกระตุ้นการบริโภคกระตุ้นตลาด และพยุงอุปสงค์ให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนหรือครัวเรือน กระตุ้นให้เกิดการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วงเงินเบื้องต้นในข้อ 2 และข้อ 3 รวมกัน 100,000 ล้านบาท
    สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินงาน แบ่งช่วงการพิจารณาอย่างน้อย  2 รอบ คือ รอบที่ 1 เริ่มเดือนตุลาคม 2564 กรอบวงเงิน  100,000-120,000 ล้านบาท รอบที่ 2 เริ่มเดือนมีนาคม 2565 กรอบวงเงิน 50,000-70,000 ล้านบาท ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ 1.สามารถรักษาการจ้างงานผู้ประกอบการ SMEs ในระบบประกันสังคมได้ประมาณ 3.9 แสนราย 2.เกิดการยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับชุมชนและ SMEs  ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนและท้องถิ่น 3.สามารถพยุงระดับการบริโภคภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า การปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มอีก 10% เป็น 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% นั้น  จะทำให้รัฐบาลมีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท  แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีช่องแล้วรัฐบาลจะเดินหน้ากู้เงินตามจำนวนดังกล่าวทั้งหมด แต่การกู้เงินจะเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น โดยปัจจุบันรัฐบาลยังมีวงเงินกู้จาก พ.ร.ก.โควิดเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินสำหรับใช้ในปีงบประมาณ 2565 อีก 3.5 แสนล้านบาท  สำหรับใช้ดูแลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ
    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564  (ก.ย. 64) สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 58.96% แม้ว่าจะยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ในปีงบประมาณ 2565  รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิดเพิ่มเติม ที่ยังเหลือวงเงินอีก 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการกู้เงินในส่วนนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยหลุดกรอบความยั่งยืนทางการคลัง จึงจำเป็นต้องมีการขยายกรอบเพดานเพิ่มขึ้น
    ทั้งนี้ ในส่วนความคืบหน้าการใช้เม็ดเงินตาม พ.ร.ก.โควิดเพิ่มเติม  วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติกรอบการกู้เงินในปีงบประมาณ 2564 ไว้ 1.5 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันมีการกู้เงินตามโครงการที่ได้เสนอเข้ามาแล้ว 1.2 แสนล้านบาท โดยคาดว่าภายในเดือน  ก.ย.นี้จะสามารถกู้ได้ 1.4 แสนล้านบาทซึ่งเป็นไปตามแผน โดยวงเงินที่เหลืออีก 3.5 แสนล้านบาท จะดำเนินการกู้ได้ตามความต้องการใช้ในปีงบประมาณ 2565
    ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เข้าร่วมประชุมและเห็นความจำเป็นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าว เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้การดำเนินนโยบายรองรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยประเมินว่าความเสี่ยงต่าง ๆ ยังต่ำ โดยการใช้จ่ายภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูงและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และจะต้องเร่งลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้กลับมาที่ 60% ให้ได้ในระยะต่อไป
    ทั้งนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพื่อให้ถึงเพดานหนี้สาธารณะ แต่เป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินมาตรการให้ภาครัฐ เนื่องจากมาตรการทางการคลังยังจำเป็นต้องมีบทบาทต่อเนื่อง ในการช่วยเสริมรายได้ของประชาชนที่ลดลงมากเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว นอกจากนี้  พ.ร.ก.โควิด 5 แสนล้านที่จะกู้เพิ่มเติมในปีนี้และปีหน้า เพื่อใช้เยียวยาและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอลง  คาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่า 60% ในปี 2565 อยู่ก่อนแล้ว
    “ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การใช้จ่ายของภาครัฐจะต้องเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง อาทิ มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) เช่น มาตรการคนละครึ่งและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงาน โดยอาจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ผลในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการขยายตัวเศรษฐกิจ ขณะที่การเยียวต้องทำให้ตรงจุดเท่าที่จำเป็น และต้องมีกระบวนการใช้จ่ายที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยระยะต่อไปภาครัฐต้องมีแนวทางชัดเจนที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับลดลง เพื่อรักษาวินัย รวมทั้งสร้างพื้นที่ทางการคลังรองรับความเสี่ยงในอนาคต อาทิ การหารายได้เพิ่มเติมจากการสร้างฐานรายได้ใหม่ การควบคุมสัดส่วนของรายจ่ายประจำ และการเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างและยกศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว” นายเมธีกล่าว
    นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกหรือดรามา เพราะเห็นได้ชัดว่าอย่างไรเสียรัฐบาลก็ต้องกู้เพิ่มแน่นอน แต่ที่สำคัญคือกู้มาแล้วนำไปใช้อะไร เงินจะไปถึงมือคนที่ต้องการหรือไม่ นี่คือคำถามที่ประชาชนอยากทราบ ตนพูดในสภาไปตั้งแต่ปีที่แล้วว่า การจัดสรรงบประมาณในภาวะวิกฤตินั้น กระสุนมีจำกัด ทุกนัดต้องเข้าเป้า ไม่ใช่ว่าไฟไหม้บ้านอยู่แต่กลับนำงบไปจัดสวน  
    “ยิ่งรัฐบาลสร้างหนี้มากก็ต้องลงทุนให้ประชาชนทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น ให้ผู้ประกอบการมีผลตอบแทนสูงขึ้น ถ้ามาตรการที่ออกมาทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ได้ดิบได้ดี แต่คนตัวเล็กตัวน้อยต้องตายจากไป นั่นล่ะคือความผิดพลาดอย่างมหันต์ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องตรวจสอบกันอย่างเข้มข้นต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะเห็นและตระหนักในเรื่องนี้ และรีบกลับไปปรับโครงการต่างๆ ให้ตอบโจทย์” นายเกียรติระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"