โจ ไบเดนนัดหมายผู้นำ Quad หรือ “จตุภาคี” ที่ทำเนียบขาว วันที่ 24 กันยายนนี้แบบตัวเป็นๆ
ก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ก็เปิดตัว AUKUS สามประเทศ เพื่อประกาศแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์เองได้
ทั้งสองความเคลื่อนไหวล่าสุดคือความพยายามที่จะสกัดอิทธิพลจีนอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง
Quad (Quadrilateral Security Dialogue) สี่ชาติ คือ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, อินเดีย และญี่ปุ่น
AUKUS คือ 3 ประเทศ นั่นคือ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย และอังกฤษ
นี่คือการรุกคืบการสร้างพันธมิตรทางด้านความมั่นคงของไบเดนอย่างไม่ลดละ
จีนตอบโต้ทันทีด้วยการประกาศว่านี่คือ “ซากเดนของสงครามเย็น”
และเป็นความพยายามที่จะหาเรื่องจีนอย่างไร้เหตุผล
ซึ่งจะยกระดับความตึงเครียดของบรรยากาศทางการเมืองในภูมิภาคนี้อย่างไม่รับผิดชอบของวอชิงตัน
ข้อตกลงของสามชาติที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีความมั่นคง รวมถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกได้ด้วย
นอกจากนั้นยังจะถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสมองกลอัจฉริยะ เทคโนโลยีควอนตัม และเทคโนโลยีไซเบอร์อีกด้วย
ทั้งสามประเทศไม่ปิดบังอำพรางว่าที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างนี้ เพราะกังวลอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็แสดงอาการไม่พอใจอย่างมาก ถึงกับเรียกทูตของตนประจำสหรัฐฯ และออสเตรเลียกลับบ้าน เป็นการประท้วงที่มีข้อตกลงเช่นนี้
ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าออสเตรเลียเบี้ยวข้อตกลง และการกระทำของ 3 ชาตินี้เป็นการ “แทงข้างหลัง”
เพราะตั้งแต่ปี 2016 รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงสร้างเรือดำน้ำ 12 ลำให้ออสเตรเลีย รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท
นั่นถือเป็นสัญญาสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย
แต่โครงการนี้เกิดปัญหาความล่าช้าเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ออสเตรเลียยกเลิกสัญญา แต่ไม่ได้แจ้งหรือเจรจาอย่างเป็นทางการจนมีการแถลงข่าวกับสหรัฐฯ และอังกฤษ
ฝรั่งเศสเต้นผาง
เพราะสงสัยว่าที่ออสเตรเลียยกเลิกสัญญานั้นเพราะแอบไปทำข้อตกลง AUKUS เอาไว้ก่อน แต่เก็บเป็นความลับเอาไว้จนนาทีสุดท้าย
ข้อตกลงแบ่งปันเทคโนโลยีนี้ ทำให้ออสเตรเลียจะกลายเป็นประเทศที่ 2 นอกจากอังกฤษที่อเมริกายอมถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้
เรือดำน้ำที่อเมริกาจะช่วยสร้างนี้จะสร้างที่เมืองแอดิเลด (Adelaide) ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
ยิ่งกว่านั้นกองทัพเรือออสเตรเลียจะพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล รวมถึงขีปนาวุธร่อน Tomahawk ด้วย
เมื่อมีข้อตกลงนี้ก็จะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศที่ 7 ของโลกที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ตามหลังสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, จีน, อินเดีย และรัสเซีย
สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันนออกแถลงการณ์โต้ฉับพลัน
บอกว่าไม่ควรที่จะมีการสร้างกลุ่มใดๆ เพื่อกีดกันชาติอื่นเช่นนี้
จ้าว หลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกนักข่าวว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่จะทำลายสันติภาพภายในภูมิภาค
และทำให้การแข่งขันสะสมอาวุธระหว่างประเทศเข้มข้นยิ่งขึ้น
เขาบอกว่านี่เป็นแนวคิดที่ "หลงเหลือมาจากสงครามเย็น"
สื่อของรัฐบาลจีนออกบทบรรณาธิการโจมตีออสเตรเลีย ว่ากำลังเปลี่ยนตัวเองเป็นปรปักษ์กับจีนทั้งที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกันและกันมาโดยตลอด
ถึงวันนี้ประเทศที่มีเรือดำน้ำนิวเคลียร์มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา 68 ลำ รองลงมาคือรัสเซีย 29 ลำ, จีน 12 ลำ, สหราชอาณาจักร 11 ลำ, ฝรั่งเศส 8 ลำ, อินเดีย 1 ลำ
เมื่อมีทั้ง Quad และ AUKUS ก็เท่ากับว่าสหรัฐฯ กำลังยกระดับของการจัดทัพใหม่ในอินโด-แปซิฟิกเพื่อเผชิญหน้ากับจีน
ที่เห็นได้ชัดก็คือ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็พยายามจะเหยียบเท้ากันและกันในภูมิภาคอย่างเด่นชัดมากขึ้น
ต่างฝ่ายต่างก็ชักชวนให้อาเซียนเป็นพวกและไม่ให้คบหาอีกด้านหนึ่ง
ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองและความมั่นคงเป็นเพียงมิติเดียวของการปรับ “ดุลถ่วงอำนาจ” (balance of power) ในโครงสร้างแห่งภูมิรัฐศาสตร์ของย่านนี้เท่านั้น
ยังมีด้านเศรษฐกิจที่จีนก็รุกคืบด้วยการสมัครเข้า CPTPP เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก
เพราะเท่ากับว่าสี จิ้นผิงได้ “ตัดหน้า” โจ ไบเดน ในการเข้ามาสวมบทบาท “พี่เบิ้ม” ในกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่เคียงคู่กับ RCEP ที่ไทยเราร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย.
(พรุ่งนี้: เมื่อมังกรยักษ์เหยียบเรือสองแคมของเขตการค้าเสรีใหญ่ระดับโลก)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |