ขยับเพดานหนี้70%ต่อจีดีพี


เพิ่มเพื่อน    

“ประยุทธ์” ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ย้ำภาคราชการต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่การพลิกโฉมประเทศ ธนกรลั่นมติ ครม.ดึงดูดต่างชาติ 4 กลุ่มเป้าหมายจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ “ขุนคลัง” เผยขยับเพดานหนี้ต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70% แล้ว เพื่อรองรับการกู้ในอนาคต “เพื่อไทย” ฉะสร้างภาระให้รัฐบาลใหม่ต้องแบกรับหนี้
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในที่ประชุม นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นำเสนอรายงานภารกิจสำคัญและสรุปผลงานสำคัญของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ในรอบปีงบประมาณ 2563 เป็นคลิปวิดีโอผลงานในรอบปีงบประมาณของนายกฯ ความยาว 9.58 นาทีด้วย 
สำหรับคลิปผลงานประกอบด้วย 1.สนองนโยบายนายกฯ ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดย สลน.ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. 2.ขับเคลื่อนเชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในการสนองข้อสั่งการของนายกฯ ในการบริหารราชการในบริบทแห่งวิถีใหม่ และการทำงานในยุค New Normal พร้อมรับ Next Normal 3.ภารกิจด้านการต่างประเทศ มีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่เกื้อหนุนนายกฯ เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศและการหารือทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญผ่านระบบการประชุมทางไกล 4.ฟื้นฟูบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาทิ การจัดกำหนดการตรวจความพร้อมของโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสโมเดล
5.ประสานภารกิจนายกฯ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและวางรากฐานการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ 6.ติดตามขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกฯ ในการจัดทำรายงานผลงานรัฐบาลประจำปี และเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลติดตามด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 7.เชื่อมโยงฝ่ายบริหารกับรัฐสภา และ 8. สร้างการรับรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้าง 
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงถึงผลประชุมว่า นายกฯ กล่าวถึงการประชุมว่าเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน การบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งติดตามข้อสั่งการที่กระทรวงต่างๆ เพราะขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มดีขึ้น โดยได้กำชับถึงการทำงานต่อไปให้ยึดหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ 1. Hardware คือโครงสร้างต่างๆ แนวคิด นโยบาย งานตามหน้าที่ 2.Software คือ งานในส่วนที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม รวมถึงเรื่องที่ต้องแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ และ 3.การเตรียมการด้านทรัพยากรมนุษย์รองรับโลกยุคใหม่และหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจว่าจะต้องอยู่กับโควิดประเทศชาติก้าวผ่านภาวะวิกฤตนี้ไปได้
“นายกฯ ย้ำภาคราชการต้องปรับตัว ปรับหลักคิด ปรับหลักการทำงานเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำนวัตกรรมต่างๆ มาเสริมการทำงาน เป็นภาคราชการที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันตามแนวทางของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
ฟุ้งมาตรการดึงต่างชาติ
ทั้งนี้ นายกฯ ได้ถ่ายภาพร่วมกับคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2564 จำนวน 10 ราย ที่บริเวณโถงตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมมอบของที่ระลึกเป็นกรอบรูป ภาพถ่ายนายกฯ คู่กับผู้เกษียณอายุ และมอบหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ด้านหลังเป็นไอ้ไข่ ศิษย์หลวงพ่อทวด รุ่นเจริญก้าวหน้า มหาเศรษฐี ผ่านพิธีปลุกเสก 3 วาระ ให้เป็นที่ระลึกด้วย
นายธนกรยังกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ว่ามีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มที่ชัดเจน ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งแต่ละกลุ่มยังมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและการพัฒนาประเทศไทย อาทิ ลงทุนขั้นต่ำในพันธบัตรรัฐบาลไทยตั้งแต่ 250,000-500,000 ดอลลาร์ มีหลักฐานการลงทุนในประเทศไทย มีรายได้ขั้นต่ำ 80,000 ดอลลาร์ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วน 2 แนวทางในการดำเนินมาตรการ ทั้งการกำหนดให้มีวีซ่าประเภทพิเศษ และการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น มุ่งขจัดอุปสรรคที่เป็นปัญหาของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งมาตรการต่างๆ ยังถูกกำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทุกๆ 5 ปี โดยสามารถยกเลิกหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเหมาะสมกับการส่งเสริมการลงทุนจากทั่วโลกได้ ในส่วนการเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ยังคงยึดหลักการตามมาตรการที่มีอยู่เดิม ไม่ได้เป็นไปตามที่บางกลุ่มพยายามบิดเบือนข้อมูลมาโจมตีรัฐบาล
นายธนกรกล่าวว่า โลกยุคหลังโควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และทิศทางการพัฒนาทั่วโลก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการดึงดูดคนที่มีศักยภาพสูง นอกจากช่วยชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการสูญเสียรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมก้าวหน้าในประเทศ โดยคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี หากเพิ่มกลุ่มเศรษฐกิจสูง/ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เข้ามาทำงานหรืออาศัยในไทยได้ 1 ล้านคน  จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภายในประเทศได้ 1 ล้านล้านบาท จากการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท จากการเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเกี่ยวกับการลงทุน  
"อยากวิงวอนทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้าง ศึกษามาตรการอย่างลึกซึ้ง พิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ยืนยันว่าการดำเนินการทุกมาตรการของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์มุ่งส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เป็นการพลิกโฉมประเทศ" นายธนกรกล่าว
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ได้มีมติเห็นชอบให้ทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากเดิมที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี เป็นต้องไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้รัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี
“การทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้ เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุก 3 ปี” นายอาคมกล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังรายงานหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.2564 มียอดหนี้จำนวน 8,909,063 ล้านบาท หรือ 55.59% ของจีดีพี ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% อย่างต่อเนื่อง
เพื่อไทยฉะสร้างภาระ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เห็นชอบขยายกรอบเพดานหนี้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี เพื่อรองการกู้เงินจาก พ.ร.ก.โควิด 1 ล้านล้านบาท ในส่วนที่เหลือทั้งหมด รวมถึงการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 5 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุด ครม.เห็นชอบการปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 3 โดยให้มีการกู้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท จากเดิม 1 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 7 แสนล้านบาท และกู้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือ 3.5 แสนล้านบาททั้งหมด ทำให้สัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะที่คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 58% ของจีดีพี และปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะจะเกิน 60% ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องขยายกรอบเป็น 70% ของจีดีพี
    ส่วนนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า รัฐบาลกำลังยกเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี ทั้งที่พยายามโม้มาตลอดว่าหนี้สาธารณะจะไม่เกินเพดาน 60% แต่สุดท้ายก็ต้องกู้ทะลุเพดาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยหารายได้มาใช้หนี้เลย ดังนั้นการที่หนี้สาธารณะจะพุ่งไปถึง 70% จะทำให้รัฐบาลมีปัญหาในการชำระหนี้ เพราะปัจจุบันรายได้ของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาษีอากรที่เก็บได้ลดลง เหลือเพียง 13-14% ของจีดีพีเท่านั้น จะมาอ้างประเทศอื่นเช่น ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่าไม่ได้ เพราะประเทศเขาเก็บภาษีได้ในสัดส่วนที่สูงกว่าไทยมาก 
“การที่ พล.อ.ประยุทธ์กู้จนจะถึง 70% จะเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลในอนาคตที่จะต้องใช้เงินในการฟื้นเศรษฐกิจ เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์กู้มากเกิน รัฐบาลในอนาคตแม้จะมีความสามารถมากกว่า แต่จะไม่มีเงินเหลือให้กู้มาฟื้นเศรษฐกิจได้ ประชาชนจะลำบากกันอย่างรุนแรงและยาวนาน” นายพิชัยระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"