ลุยฐานเสียงพปชร.


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" เดินสายถี่ยิบ ลงพื้นที่ "สุโขทัย" ตรวจน้ำท่วม 22 ก.ย. หลังการเมืองคาดยุบสภาปีหน้า พบไป 3 จว. ฐานเสียง "พปชร." ของ "รมต.-ส.ส." สายหนุนประยุทธ์-โค่นธรรมนัส นิด้าโพลเผยกองเชียร์ลุงตู่ แนะไม่ควรร่วมสังฆกรรมพลังประชารัฐ และอย่าตั้งพรรคการเมืองเอง เสนอวางมือการเมือง  
    เมื่อวันที่ 19 ก.ย. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการ เยี่ยมเยียนประชาชน และติดตามปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.สุโขทัย ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ส่วนรายละเอียดของกำหนดการแต่ละจุดที่นายกฯ จะเดินทางไปนั้น ยังไม่ลงตัว ทางผู้เกี่ยวข้องจะได้หารือและสรุปกันอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ย.นี้  
    อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์มีคิวลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา, จ.ชัยนาท วันที่ 15 ก.ย., จ.ชลบุรี วันที่ 17 ก.ย. และสุโขทัยเป็นจังหวัดต่อไป โดยจังหวัดที่นายกฯ ไปส่วนใหญ่ล้วนเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีรัฐมนตรีและ ส.ส.ของพรรค อยู่ในกลุ่มที่สนับสนุนนายกฯ ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ, นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.ชัยนาท, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ ส.ส.ชลบุรี, นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เป็นต้น  
    ท่ามกลางการจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังส่งสัญญาณเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเหลือวาระการดำรงตำแหน่งอีกปีกว่าก็ตาม 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเรื่องปกติตามภาระหน้าที่ของท่านนายกฯ ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงได้รับทราบถึงความเดือดร้อนอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้หมายความถึงจะมีการยุบสภา ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งนี้ ไม่อยากให้หยิบยกการลงพื้นที่ของนายกฯ โดยเฉพาะการเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมมาเป็นประเด็นทางการเมืองเป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการยุบสภา ยืนยันว่ารัฐบาลจะอยู่ครบวาระ และไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องยุบสภา เนื่องจากขณะนี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างดี 
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในขณะนี้นั้น จะยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดิน ที่จะต้องนำมาใช้จัดการเลือกตั้ง ซึ่งงบประมาณเหล่านี้น่าจะนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ที่วันนี้ประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไปจนครบวาระ จากนั้นประชาชนจะเป็นผู้ที่ตัดสินเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ตรงกันข้าม วิธีการล้มรัฐบาลของพรรคการเมืองบางพรรคต่างหากที่วันนี้ประชาชนเริ่มรู้สึกว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือไม่
สบช่องยื่นยุบเพื่อไทย 
    นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.... จากพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตามที่นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เช่นที่แถลงกรณีไม่อภิปราย ท่ามกลางกระแสข่าวย้ายพรรคเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นคลิปที่นายศรัณย์วุฒิแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา มีการกล่าวอ้างเช่น “...แล้ววันนี้พรรคเพื่อไทยก็ถูกนายทุนครอบ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเจ็บปวดมาก มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ก็มีผู้บริหารบางคนนะฮะที่มารับใช้นายทุน...” และ “...และสิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า ฝากไปถึงผู้บริหารด้วย ถ้าเอ็งทำหน้าที่อย่างที่มันเกินเลยด้วยความลุแก่อำนาจของเอ็งเนี่ย ฟังไว้นะ คนชื่อศรัณย์วุฒิไม่ยอมก้มหัวให้เอ็งแน่นอนโว้ย เอ็งจำไว้ สำเหนียกด้วย แต่ถ้าเกิดผู้บริหารหรือเจ้าของพรรคเขาเห็นด้วย ก็เป็นอะไรที่ผมเสียใจมาก...” และ “...ผมใช้คำว่านายทุน ผมไม่อยากใช้คำว่าคนใหม่ ไม่ได้พูดคำว่าคนใหม่นะ มีนายทุน ก็ใช้คำว่านายทุนก็แล้วกัน ถ้าพูดอะไรไม่เข้าใจ ก็ขอย้ำว่า มีนายทุนเข้ามาครอบงำพรรค ผมบอกแล้วว่าอย่าไปว่าเป็นใหม่หรือเป็นเก่า ผมใช้คำว่าพรรคถูกนายทุนครอบ ใช้คำนี้นะครับ ครับ...”  
    นายเรืองไกรกล่าวว่า เนื่องจากนายศรัณย์วุฒิเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ข้อเท็จจริงตามคำกล่าวอ้างที่ปรากฏในคลิปทั้งสองดังกล่าว ที่อ้างถึงนายทุนครอบงำพรรค เจ้าของพรรค นายทุน พ.พาน และอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น เป็นคลิปที่มีความชัดเจนทั้งภาพและเสียง และอาจเป็นการนำข้อมูลภายในพรรคออกมาเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ กรณีตามข้อเท็จจริง จึงมีเหตุที่ควรขอให้ กกต.ตรวจสอบพรรคเพื่อไทยหรือกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หรือบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างถึงว่ามีการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเข้าข่ายฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 หรือไม่ และจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องมีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 92 หรือไม่ รวมทั้งขอให้ กกต.พิจารณาว่าจะต้องดำเนินคดีอาญาตามความในมาตรา 29 ประกอบมาตรา 108 หรือไม่ เช้าวันที่ 20 ก.ย. จะส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อให้ กกต.ตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจต่อไป                                                      
    ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ใครจะไปร้องอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญข้อเท็จจริงเป็นตามนั้นหรือไม่ ยืนยันว่าไม่มีข้อเท็จจริงตามที่มีการกล่าวอ้าง หากมีการร้อง สามารถชี้แจงได้อยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการถูกกระทำมาทุกรูปแบบ จึงระมัดระวังตัวและปิดช่องว่างมาโดยตลอด ระบบการทำงานของพรรคเพื่อไทยนั้น ทำงานภายใต้ ส.ส.ที่มีจำนวนมากกว่าทุกพรรค อยู่บนหลักการมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคน ไม่มีทางที่จะมีคนหนึ่งคนใดมาครอบงำได้ เมื่อมีการร้องเช่นนี้ ไม่มีความหวั่นไหวแต่อย่างใด  
    ด้าน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าผลการประชุมคณะกรรมการจริยธรรมพรรคเพื่อไทยว่า ที่ประชุมมีมติส่งรายชื่อ ส.ส. ที่ทำการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่ขัดกับมติของพรรค รวมทั้งสิ้น 7 คน ส่งไปให้คณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาแล้ว มี ส.ส.จำนวน 2 คนที่ทำความผิดร้ายแรงใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ให้ร้ายป้ายสีพรรค 2.กระทำความผิดซ้ำทั้งที่อยู่ระหว่างทำทัณฑ์บน 3.กระทำการขัดมติพรรคอย่างต่อเนื่อง
    โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการบริหารพรรคจะขอมติพรรคเพื่อเรียกประชุม ส.ส.ทั้งหมดเพื่อร่วมลงมติใดๆ กับ ส.ส.ทั้ง 7 คนอีกครั้งในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ ก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 ต.ค.ที่จังหวัดขอนแก่น
    "การดำเนินการของคณะกรรมการจริยธรรมพรรคเพื่อไทย พิจารณาจากพยาน หลักฐาน องค์ประกอบแวดล้อม และคำชี้แจง การดำเนินการทุกอย่างของพรรคมีการกำหนดระเบียบ ขั้นตอน ชัดเจน และศึกษาข้อกฎหมายอย่างถี่ถ้วน  โดยปราศจากอคติในการลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง เคารพเสียงส่วนใหญ่ตามหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว 
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ของพรรคจะลุยพื้นที่อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ในทุกพื้นที่ประชาชนยังต้องการความช่วยเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงการรับฟังปัญหาของประชาชนเพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งในปัจจุบัน ร่วมแก้ไขปัญหากับรัฐมนตรีในส่วนของพรรค และเก็บข้อมูลไว้เพื่อนำไปสู่การทำงานในช่วงเปิดสมัยประชุมหน้าต่อไป และนอกจาก ส.ส.แล้วยังมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด รวมถึงสาขาและแกนนำพรรคผู้รับผิดชอบ ในทุกเขตพื้นที่เลือกตั้งรวม 350 เขต ก็ยังคงทำหน้าที่ในนามพรรคในการดูแลให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 
    "การลุยทำงานในพื้นที่ไม่ใช่เพราะมีกระแสข่าวยุบสภา แต่เป็นเรื่องปกติของพรรคที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนการมีกระแสข่าวการยุบสภา เรื่องนี้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะพรรคเป็นสถาบันทางการเมือง พรรคเตรียมพร้อมตลอดเวลา" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์บอก 
    นายราเมศกล่าวในตอนท้ายว่า ในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่อยู่ในห้วงเวลาพักไว้ก่อน 15 วัน ก็ต้องรอดูว่าจะมีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อกันเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะครบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดในวันที่ 26 กันยายน 2564 หลังจากนั้นหากไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนต่อไป หากรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ แน่นอนว่าในมาตรา 91 ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งในเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์ กระบวนการ ในการเลือกตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ช่วงนี้ระหว่างที่ยังไม่ได้แก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ก็คงยากที่จะมีการยุบสภา  เพราะจะมีปัญหาในทางปฏิบัติทันทีว่ากฎหมายเลือกตั้งยังไม่ได้มีการแก้ไข แล้วจะใช้กฎหมายใดในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง กกต.คงจะไปออกประกาศ ระเบียบเองคงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ไปใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เชื่อว่าทุกพรรคก็ต้องเร่งดำเนินการแก้กฎหมายเลือกตั้งให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมหน้านี้ เพื่อเตรียมการในเรื่องกฎเกณฑ์กติกาให้พร้อม หลังจากกฎหมายเลือกตั้งที่ต้องแก้ไขผ่านสภา เชื่ออีกเช่นกันว่าทุกพรรคจะเข้าสู่โหมดการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ
เตือนบิ๊กตู่อย่าไปข้องแวะ พปชร.
    วันเดียวกันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “นายกรัฐมนตรีกระชับอำนาจ” 
    ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการให้รัฐมนตรีสองคนออกจากตำแหน่ง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 23.99 ระบุว่าเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว รองลงมา ร้อยละ 23.54 ระบุว่าพี่-น้อง 3 ป. แค่เล่นเกมการเมือง แต่จะไม่มีการแตกออกจากกัน,  ร้อยละ 17.16 ระบุว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม, ร้อยละ 16.70 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจะแตกแยกมากขึ้น,  ร้อยละ 11.92 ระบุว่านายกฯ จะได้คะแนนนิยมทางการเมืองน้อยลง, ร้อยละ 7.67 ระบุว่านายกฯ และรัฐบาลจะมีความมั่นคงน้อยลง, ร้อยละ 4.10 ระบุว่า พี่-น้อง 3 ป. กำลังจะแตกออกจากกัน,  ร้อยละ 3.57 ระบุว่านายกฯ และรัฐบาลจะมีความมั่นคงมากขึ้น, ร้อยละ 3.11 ระบุว่านายกฯ จะได้คะแนนนิยมทางการเมืองมากขึ้น, ร้อยละ 1.52 ระบุว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นปึกแผ่นมากขึ้น และร้อยละ 17.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ   
    ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.11 ระบุว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพรรคพลังประชารัฐเลย รองลงมา ร้อยละ 21.56 ระบุว่าไม่ต้องเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องคุมพรรคได้,  ร้อยละ 16.33 ระบุว่าควรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแทน พล.อ.ประวิตร และร้อยละ 6.00 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการตั้งพรรคของตนเองเพื่อเตรียมการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะบริหารงานล้มเหลว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้ ควรยุติบทบาททางการเมืองได้แล้ว รองลงมา ร้อยละ 19.97 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มีความสามารถในการบริหารและมีความเด็ดขาด กล้าที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดี และคาดว่าสามารถดูแลสมาชิกพรรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ, ร้อยละ 10.10 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าประเทศชาติจะสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งภายในประเทศชาติ หากจัดตั้งพรรคของตนเอง ท่านจะได้มีอำนาจมาดูแลบริหารงานอย่างที่สามารถเลือกสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติและความสามารถที่จะพัฒนาประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น, ร้อยละ 7.82 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะผลงานที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ดีเท่าที่ควร การแก้ไขปัญหาล่าช้า ควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงาน และร้อยละ 3.87 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"