วัคซีนเข็มกระตุ้นที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน


เพิ่มเพื่อน    

ภาพการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มคนทั่วไปในอิสราเอลที่รัฐบาลสหรัฐอยากเดินตาม ทว่าถูกยับยั้งโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ (เครดิต: israel21c.org)

 

นอกจากอิสราเอลที่เดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไปที่อายุเกิน 30 ปีตั้งแต่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว สหรัฐอเมริกามีแผนจะเดินตามโดยประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ตั้งใจจะฉีดให้ชาวอเมริกันในวงกว้างตั้งแต่สัปดาห์หน้า แต่ล่าสุดเพิ่งถูกคณะกรรมการพิเศษของ FDA เบรกหัวทิ่ม

            รัฐบาลสหรัฐประกาศนโยบายฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ “บูสเตอร์ช็อต” ไว้ตั้งแต่เมื่อ 1 เดือนก่อนว่าจะฉีดให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปหลังจากรับวัคซีนครบโดสมาแล้วอย่างน้อย 8 เดือน มีเพียงบริษัทไฟเซอร์ที่นำเสนอข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาทันการประชุมนัดพิเศษของคณะกรรมการที่ปรึกษาขององค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือ FDA เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

            คณะกรรมการดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้สังกัด FDA และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ หรือ CDC พิจารณาข้อมูลจากบริษัทไฟเซอร์, เจ้าหน้าที่ CDC, ตัวแทนรัฐบาลอิสราเอล และผู้เชี่ยวชาญอิสระที่นำเสนอข้อมูลประสิทธิภาพการป้องกันของไฟเซอร์และวัคซีนอื่นๆ ที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

            ยกตัวอย่างการให้ข้อมูลจาก “ดร.ชารอน อัลรอย-ไพรซ์” หัวหน้าระบบบริการสาธารณสุขของอิสราเอลที่บอกว่าตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลแม้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบโดสแล้วเมื่อช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาอยู่ในระดับ “น่ากลัว” เอามากๆ

            “60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยอาการหนัก และ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เสียชีวิต ล้วนได้รับวัคซีนมาครบ 2 โดสแล้ว” หัวหน้าระบบบริการสาธารณสุขของอิสราเอลกล่าว และว่า หลังการฉีดเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไปแล้วตัวเลขผู้ป่วยหนักก็ลดลงมาครึ่งหนึ่ง

            ตัวแทนจากไฟเซอร์ให้คำแนะนำว่าหากสหรัฐไม่เดินตามแนวทางของอิสราเอลก็อาจจะเห็นการติดเชื้อปีละ 5 ล้านคนในบรรดาผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 มาแล้ว 10 เดือน นอกจากนี้ตัวแทนของไฟเซอร์ยังชี้ว่าการติดเชื้อแบบ Breakthrough ในหมู่ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วนั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับค่าการป้องกันของวัคซีนที่ลดลงมากกว่าจะมีสาเหตุมาจากเชื้อสายพันธุ์เดลตา

            ทว่า ข้อมูลจากอิสราเอลก็เป็นอะไรที่ดูสับสนและน่าสงสัย เช่น กรณีที่ผู้ฉีดวัคซีนในเดือนมกราคมมีค่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเหลือเพียง 16 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ฉีดวัคซีนในเดือนเมษายนยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันไว้ได้ถึง 79 เปอร์เซ็นต์

            ผลการลงมติ 16 ต่อ 2 เสียงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และไฟเซอร์ โดยแนะนำเพียงการฉีดสำหรับผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักเท่านั้น ทั้งนี้การฉีดเข็มกระตุ้นของไฟเซอร์จะฉีดได้เมื่อรับเข็ม 2 มาแล้วเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ตาม FDA ยังมีสิทธิ์ขาดในการอนุมัติรับรอง แต่โดยปกติแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลงคำแนะนำของคณะกรรมการ

            ทางด้านของ CDC ก็จะมีการประชุมในกลางสัปดาห์หน้าเพื่อหาข้อยุติที่เป็นรายละเอียด ว่าคนกลุ่มใดบ้างที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยอาจรวมถึงบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าและครูในโรงเรียน

            ความเห็นของกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ส่วนใหญ่ที่ออกมาคือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วทุกกลุ่มยังถือว่าเร็วเกินไป โดยมีข้อมูลจากการศึกษาที่ไม่เพียงพอ และต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะข้อมูลด้านความปลอดภัยในผู้รับวัคซีนอายุน้อยที่มีความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมถึงประเด็นโมเดลการศึกษาของไฟเซอร์ที่มีปัญหาอันนำไปสู่การระบุค่าประสิทธิผลของวัคซีนต่ำเกินความเป็นจริง

            นอกจากนี้ การเปรียบเทียบสหรัฐกับอิสราเอลนั้นไม่น่าจะใช้ได้ เพราะอิสราเอลมีประชากรเพียง 9 ล้านคน และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติน้อยกว่าสหรัฐมาก และเมื่อถูกถามว่าเหตุใดยังมีการติดเชื้อจำนวนสูงอยู่แม้มีการฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว ทางอิสราเอลก็ตอบว่าเป็นเพราะการฉลองวันหยุดชาวยิวและนักเรียนเริ่มเปิดเทอม การติดเชื้อระลอกนี้น่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

            การศึกษาชิ้นหนึ่งจาก CDC ที่มีการรายงานผลออกมาไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประชุมซึ่งช้าเกินไปที่จะนำไปอภิปราย พบว่าค่าการป้องกันของวัคซีนไฟเซอร์ต่อการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อการฉีดเข็ม 2 ผ่านไป 4 เดือน นั่นคือเหลือประมาณ 77 เปอร์เซ็นต์

            แคทเธอรีน แจนเซน รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาวัคซีนของไฟเซอร์ ได้กล่าวในแถลงการณ์หลังผลการลงมติออกมาว่า “...เรายังคงเชื่อในประโยชน์ของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นวงกว้าง”

            ช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนการประชุมได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไบเดนอย่างหนักว่าไม่ควรประกาศการฉีดเข็มกระตุ้นออกมาก่อนที่ FDA และ CDC จะได้พิจารณาอนุมัติ และถือเป็นการกดดันการทำงานของทั้ง 2 องค์กร

            นักวิทยาศาสตร์ 2 คน ได้แก่ ดร.ฟิลิป เคราซ์ และ ดร.มาริยอง กรูเบอร์ จาก FDA และผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันเขียนบทความลงในวารสาร The Lancet เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลในการผลักดันการฉีดเข็มกระตุ้นก่อนที่จะนักวิทยาศาสตร์จะได้พิจารณาและให้คำแนะนำเสียก่อน โดยนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 คนนี้ถึงกับขอลาออกจาก FDA ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

            สาระสำคัญของบทความ Considerations in boosting COVID-19 vaccine immune responses ในวารสาร The Lancet เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ยังคงมีความสามารถในการป้องกันอาการป่วยหนักแม้จะเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลตา การศึกษาส่วนใหญ่ที่นำไปสู่ความพยายามในการฉีดเข็มกระตุ้นยังถือว่าเร็วเกินไป และยังยากที่จะตีความได้อย่างละเอียดแม่นยำ เนื่องจากอาจยังมีความสับสนและอาจเลือกมาแค่การศึกษาที่สนับสนุนไปในทางเดียวกันเท่านั้น

            การฉีดเข็มกระตุ้นอาจเหมาะสมกับบางคนที่การฉีดก่อนหน้านี้ (ทั้งวัคซีนชนิดเข็มเดียวและ 2 เข็ม) ไม่ได้รับการป้องกันที่เพียงพอ เช่นผู้ที่รับวัคซีนบางชนิดที่มีค่าการป้องกันต่ำ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อวัคซีนไม่ดีพอ (แต่การตอบสนองต่อเข็มกระตุ้นก็อาจจะยังไม่ดีพอเหมือนเดิม) ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อวัคซีน จะได้รับประโยชน์จากเข็มกระตุ้นของวัคซีนตัวเดิม หรือวัคซีนคนละชนิดกัน

            นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจกลายเป็นความเสี่ยงได้หากฉีดให้กับประชาชนทุกกลุ่มเร็วเกินไปหรือถี่เกินไป โดยเฉพาะวัคซีนบางชนิดที่อาจมีผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และกลุ่มอาการกีแยง-บาร์เร (GBS) ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองที่เกิดกับระบบประสาทส่วนปลาย

            บทความใน The Lancet กล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับระดับภูมิคุ้มกันไว้อย่างน่าสนใจ โดยบอกว่าเมื่อเวลาผ่านไปหลังการรับวัคซีนแม้ระดับภูมิคุ้มกันบางตัวจะลดลง เช่น ภูมิคุ้มกันด้านสารน้ำ (Humoral immunity) และระดับแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (Neutralising antibody) ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคาดการณ์ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงไปด้วย

            และถึงแม้การลดลงของประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะลดลง ก็ไม่จำเป็นต้องไปคาดการณ์ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงจะลดลงไปด้วยเช่นกัน

            นั่นก็เพราะการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงนั้นไม่ได้อยู่ที่ antibody response หรือการตอบสนองของแอนติบอดีเท่านั้น (ซึ่งอาจมีอายุสั้นในวัคซีนบางชนิด) แต่ยังขึ้นอยู่กับ memory response (ความจำได้ของเซลล์) และ cell-mediated immunity (การตอบสนองชนิดพึ่งเซลล์) ด้วย และโดยทั่วไปแล้วมีอายุคงอยู่นานกว่า

            แต่ถึงแม้ระดับประสิทธิผลของวัคซีนจะไม่เปลี่ยนแปลง การประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้คนเป็นจำนวนมากก็จะหนีไม่พ้นการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อแบบ Breakthrough อยู่ดี ยิ่งเมื่อผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วกลับไปมีพฤติกรรมเดิมๆ เหมือนเช่นก่อนการระบาด

            หากจะมีการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้นกันจริงๆ ก็ควรพัฒนาวัคซีนขึ้นจากฐานข้อมูลของเชื้อสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่มากปัจจุบัน (สายพันธุ์เดลตา) ไม่ใช้เชื้อรุ่นแรก เหมือนเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันทุกปีก็พัฒนาจากสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ล่าสุด อันจะเพิ่มแนวโน้มที่ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูง แม้ว่าเชื้ออาจจะกลายพันธุ์ต่อไปอีก

            การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหากไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่แม่นยำและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในวัคซีน ทำลายภาพลักษณ์และคุณค่าการรณรงค์ให้เร่งฉีดวัคซีนก่อนหน้านี้ หน่วยงานสาธารณสุขควรจะพิจารณาอย่างระมัดระวังด้วยถึงผลที่ตามมา เพราะได้รณรงค์ให้คนรับวัคซีนแต่เนิ่นๆ โดยไม่เกี่ยงชนิดหรือยี่ห้อ แต่กลับรับรองแค่บางวัคซีนในการฉีดเข็มกระตุ้น

            อีกทั้งต้องดูให้แน่ใจว่าการตอบสนองต่อเข็มกระตุ้นของวัคซีนบางชนิดอาจจะได้ผลดีแม้ฉีดในปริมาณน้อย ซึ่งก็จะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยได้ด้วย ดังนั้นต้องมีการเก็บข้อมูลปริมาณที่ต่างกันของวัคซีนกับผลลัพธ์ที่ตามมา ทั้งประสิทธิผลและความปลอดภัย โดยประเมินจากการสุ่มตัวอย่างให้มากที่สุด หลากหลายที่สุด และควรทำในระดับบุคคลมากกว่าในระดับกลุ่ม

            และเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็อาจเริ่มการให้ข้อมูลว่าการฉีดเข็มกระตุ้นจำเป็นในกลุ่มประชากรย่อยบางกลุ่ม ทั้งนี้การตัดสินใจที่มีเดิมพันสูงนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญระดับเดียวกันที่เรียกว่า peer-reviewed และข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมถึงการพูดคุยถกเถียงที่เข้มข้นในทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ

            ในที่สุดแล้ว แม้การฉีดเข็มกระตุ้นจะมีประโยชน์บางอย่าง แต่ก็ไม่เหนือกว่าการปกป้องคุ้มกันผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว การกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงมากที่สุดจะช่วยเร่งให้ “ภาวะการระบาดทั่ว” สิ้นสุดลงได้ เพราะสามารถไปยับยั้งการกลายพันธุ์

            จนถึงตอนนี้ประชาชนในประเทศรายได้ต่ำฉีดวัคซีนครบโดสยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางฉีดครบโดสประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนชาติร่ำรวยฉีดไปมากกว่าครึ่งของประชากร

            ประเทศรายได้ต่ำพึ่งพาการบริจาควัคซีนจากชาติร่ำรวยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนโครงการโคแวกซ์ได้รับวัคซีนพลาดเป้าไปมาก จำนวนที่ควรต้องได้ในปีนี้ จะได้ครบปีหน้า

            องค์การอนามัยโลกและหลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ร้องขอไปยังบริษัทผู้ผลิตวัคซีนให้ยกเว้นการใช้กฎหมายสิทธิบัตรยา และช่วยแบ่งปันเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัคซีนแจกจ่ายให้กับประเทศยากจน ทว่ายังห่างไกลความสำเร็จ

            มีการยกตัวอย่างวัคซีนสปุตนิก V ของรัสเซียที่อนุญาตให้บริษัทยา 34 บริษัทนอกรัสเซีย อาทิ บริษัทในอินเดียและบราซิล ผลิตวัคซีนของพวกเขาได้โดยมีการสนับสนุนวัตถุดิบ อุปกรณ์และเทคโนโลยีการผลิต ทั้งนี้สปุตนิก V ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ได้เพราะองค์การอนามัยโลกยังไม่รับรอง

            กลุ่มองค์กรต่างๆ ในอินเดียได้ส่งหนังสือถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อบอกกับจอห์นสันแอนด์จอห์นสันให้ร่วมมือกับบริษัทยาในกลุ่มประเทศโลกที่ 3 โดยยกเอากรณีของวัคซีนสปุตนิก V มาเทียบเคียงเพราะใช้เทคโนโลยีที่คล้ายกัน และการที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนงบประมาณ 1 พันล้านเหรียญให้กับจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในการพัฒนาวัคซีนก็น่าจะบังคับให้บริษัทเพิ่มปริมาณการผลิตโดยการจับมือกับ 34 บริษัทที่ผลิตวัคซีนของสปุตนิก V ได้

            จอห์นสันแอนด์จอห์นสันเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทแห่งหนึ่งในอินเดีย และมีบริษัทยาชื่อแอสเพนฟาร์มาแคร์ในประเทศแอฟริกาใต้ที่ทำการบรรจุขวดวัคซีนให้กับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่วัคซีนเหล่านั้นถูกส่งไปยังยุโรป ในขณะที่ชาวแอฟริกาใต้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หลังเป็นข่าวในนิวยอร์กไทม์ส จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ให้ข้อมูลว่าจะมีการผลิตวัคซีนในแอฟริกาใต้เร็วๆ นี้ และวัคซีนที่ผลิตได้จะถูกใช้ในทวีปแอฟริกา

            ส่วนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นานั้นยังไม่มีความร่วมมือใดๆ ในอินเดีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ และแม้ว่า mRNA จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน แต่คุ้มค่าสำหรับการถ่ายทอด-เรียนรู้ เพราะวัคซีนชนิดนี้สามารถผลิตได้ปริมาณมากกว่าวัคซีนชนิดอื่นในเวลาเท่ากัน

            กลุ่ม Public Citizen ในวอชิงตัน ดี.ซี. เรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐว่าสามารถช่วยองค์การอนามัยโลกได้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐมีสิทธิ์ในข้อมูลการผลิตวัคซีนโมเดอร์นา เนื่องจากได้ลงทุนอย่างน้อย 1.4 พันล้านเหรียญฯ ในการพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงเอกสารและข้อมูลการผลิตทั้งหมดภายใต้สัญญาที่ทำกับโมเดอร์นา

                ก่อนหน้านี้ “โจ ไบเดน” เห็นด้วยกับการยกเว้นการใช้กฎหมายสิทธิบัตรยาในการผลิตวัคซีนโควิด-19 แต่การปฏิบัติจริงยังไม่คืบหน้า เช่นเดียวกับรัฐบาลเยอรมนีผู้ให้งบพัฒนาวัคซีน mRNA ของไบโอเอ็นเทคก็ยังคงนิ่งเฉย.

อ้างอิง

- thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)02046-8/fulltext#back-bib1

- nature.com/articles/d41586-021-02383-z

- nytimes.com/2021/09/17/us/fda-pfizer-booster-covid.html

- cnbc.com/2021/08/10/breakthrough-covid-cases-why-fully-vaccinated-people-can-get-covid.html

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"