ขบวนการคนมีสีร่วมอุ้มหาย วัฒนธรรม"ถุงดำ"ทรมานจนได้ดี!


เพิ่มเพื่อน    

ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมาย ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนเมื่อเร็วๆ หลังเกิดคดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ และพวกร่วมกันซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต ทำให้กระแสเรียกร้องให้เร่งออกกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมานดังขึ้นอีกครั้ง หลังที่ผ่านมาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวค้างการพิจารณาในชั้นฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติมาเนิ่นนาน โดยล่าสุดที่ประชุมสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระแรก ที่มีการเสนอเข้าสภารวมด้วยกัน 4 ร่าง เช่น ร่างของคณะรัฐมนตรี-ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และหลังจากนี้จะมีการพิจารณาอีกสองวาระในชั้นสภา ซึ่งหากสภาเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

            สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม-นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน-อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนในสภาทนายความ ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนให้มีการออก กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ มาบังคับใช้ในประเทศไทย โดยเคยเสนอต้นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้ทางสภาพิจารณาด้วยก่อนหน้านี้ กล่าวถึงปัญหาเรื่องการอุ้มหาย ซ้อมทรมานในประเทศไทยตั้งแต่อดีต จนถึงคดีอดีต ผกก.โจ้ รวมถึงเส้นทางกฎหมายป้องกันและเอาผิดการอุ้มหาย ซ้อมทรมานไว้ว่า การออกกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทั่วโลกมีการบังคับใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว จนตอนนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะกฎหมายอาญาที่ใช้กันอยู่จะเน้นเรื่อง การทำร้ายร่างกาย โดยดูจากเช่น บาดแผลของผู้ถูกทำร้าย แต่หากเป็น การทรมาน มันไม่มีบาดแผล ซึ่งการทรมานเป็นเรื่องร้ายแรงกว่า เพราะการถูกทำร้ายร่างกายไม่กี่วันก็หาย แต่การทรมานเป็นบาดแผลทางจิตใจ บางทีตลอดชีวิต ที่ส่งผลกระทบถึงครอบครัว สังคม และอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายลงโทษคนที่กระทำการลักษณะดังกล่าว

            นอกจากนี้ การอุ้มคนให้หายไป ที่ส่วนใหญ่ความผิดตามกฎหมายโดยทั่วไปก็คือการ ฆาตกรรม ที่ต้องมีร่างกายของคนที่ถูกฆาตกรรมจริง เห็นชิ้นส่วน แต่หากเป็นการหายไปก็จะเริ่มต้นด้วยการบอกว่าเป็นคนหายแล้วก็เริ่มค้นหา ซึ่งโดยทั่วไปการไปหาคนที่กระทำให้คนหายก็มักจะไม่ค่อยหากัน เพราะไปเชื่อว่าคนที่หายเขาหายไปเอง มันก็มีลักษณะแบบนี้เรื่อยๆ ทั้งที่เรื่องการอุ้มหาย-การทรมาน มันเป็นการกระทำที่พฤติการณ์ร้ายแรงกว่าการทำผิดกฎหมายอาญาปกติ

            ....เช่น คนที่ไปอุ้มคนเพื่อทำให้คนหายจะมีการกระทำในลักษณะ มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เพราะไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ โกรธเคืองแล้วมาทำกัน และมีการดำเนินการที่เป็นกลุ่มคนร่วมกัน ไม่ได้ทำคนเดียว และคนที่ทำได้รับการฝึกมา เช่น ฝึกมาให้ทำร้ายร่างกายคน ฝึกให้ใช้อาวุธ และคนที่ทำก็มีอาวุธ มีการใช้อาวุธสงคราม มีเครื่องแบบ ที่ก็คือเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในฝ่ายดูแลความมั่นคง และมีการสั่งการ มีผู้บังคับบัญชาคอยสั่งการ จะอยากทำหรือไม่อยากทำก็ต้องทำ มีการแบ่งหน้าที่กัน คนหนึ่งคอยมัด อีกคนอาจคอยดูต้นทาง และเมื่ออุ้มคนไปแล้วก็นำตัวไปไว้ในพื้นที่ปิด ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้เลย เช่น พื้นที่โรงพักของตำรวจ พื้นที่กองทัพ หรืออุทยานแห่งชาติ และเมื่อมีการทำจะพบว่าจะเลือกทำในจุดที่ไม่มีกล้องวงจรปิด หรือหากมีกล้องก็จะเสียหรือหาย เกือบทุกเคส จะไม่มีพยานหลักฐานและรูปแบบการทำ ก็จะไม่พบร่องรอยทางด้านร่างกาย เช่น คลุมถุงดำ โดยไม่ได้คลุมชั้นเดียว แต่คลุมหลายชั้นเพื่อไม่ให้มองเห็นคนที่เกี่ยวข้องกับการไปอุ้ม โดยมีการนำตัวไปไว้ในห้องปิด ไม่มีแสง เพื่อให้คนที่ถูกอุ้มรับหรือพูดอะไรบางสิ่งหรือทรมานเพื่อหวังผลบางอย่าง ซึ่งการกระทำแบบนี้ถือว่าเลวร้ายกว่าการทำร้ายร่างกายปกติทั่วไป หรือการฆ่าปกติ พอหากเป็นเหตุฆาตกรรม ญาติผู้เสียชีวิตยังนำร่างไปทำพิธีกรรมทางศาสนาได้ แต่กรณีคนโดนอุ้มหาย ญาติทำอะไรไม่ได้เลย

            ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า หลายประเทศทั่วโลกก็เห็นปัญหาอุ้มหาย-ทรมานตรงกัน จึงมีการผลักดันรณรงค์เรื่องนี้กันมาก จนออกเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ที่รับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยก็ไปลงนามและร่วมเป็นภาคีสมาชิก (อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี-United Nations Convention against Torture: UNCAT)

สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือต้องมีการออกกฎหมายมารองรับเรื่องเหล่านี้ เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง โดยกระบวนการก็เกิดขึ้นจากนั้นมาตามลำดับ มีการมอบให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ไปศึกษาและยกร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายขึ้นมา ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็ให้อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกร่างขึ้นมา ผมเองก็ได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรกด้วย จนต่อมานำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สมัยรัฐบาล คสช. และส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้เห็นชอบออกเป็นกฎหมายประมาณปี 2560 แต่สุดท้าย สนช.ก็พิจารณาร่างฯ ไม่ทัน เพราะหมดวาระไปก่อน

            หลังเลือกตั้ง รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ไปให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ แต่ปรากฏว่า แม้จะผ่าน ครม.แล้ว แต่เรื่องยังล่าช้า ทางเครือข่ายภาคประชาชน นำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่มีผมเป็นประธาน จึงยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายฉบับภาคประชาชน และนำร่างไปเสนอให้พรรคการเมือง-ส.ส.พิจารณา ที่พรรคการเมืองต่างๆ ก็นำร่างดังกล่าวไปปรับแก้ไขรายละเอียดในแต่ละพรรค จนมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหายฯ ที่ถูกเสนอเข้าสภา ที่มาเข้ากับสถานการณ์คดีอดีต ผกก.โจ้ที่นครสวรรค์

วัฒนธรรม "ถุงดำ" ซ้อมทรมานจนได้ดี

            สุรพงษ์-ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม-ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทำเรื่องการอุ้มหายมาแล้วหลายคดี ย้ำว่า เรื่องเหล่านี้ (ทรมาน-อุ้มหาย) เกิดขึ้นมานานแล้ว โดย ถุงดำ ก็เป็นที่รู้กันสำหรับคนที่เกี่ยวข้องว่ามีการกระทำแบบนี้ มีการสอนกันมาด้วย เช่น ในสายตำรวจ จะสอนกันเลยว่าต้องทำยังไง เพราะถุงดำจะไม่เห็นร่องรอยต่างๆ และคนที่ถูกถุงดำคลุมจะไม่เห็นโลกภายนอก จะมีผลทำให้รู้สึกกดดัน โดยการใส่ถุงดำคลุมไม่ได้ใส่แค่ชั้นเดียว แต่มีการทยอยใส่ บางคนก็โดนไปหลายใบ วิธีการใช้ถุงดำคลุมหัวถูกสอนและใช้กันมาตลอด

...เพียงแต่กรณีของอดีต ผกก.โจ้ที่นครสวรรค์ ถือเป็นครั้งแรกที่มีคลิปออกมา มีหลักฐานชัดเจน เห็นกันจะจะ ว่ามีการครอบถุงดำเข้าไปยังไง มีการใส่ถุงดำเพิ่มเข้าไปยังไง จนคนที่เสียชีวิตล้มลงไปอย่างไร จึงทำให้สังคมตื่นตัว จากก่อนหน้านี้ก็จะเป็นลักษณะ ได้ยินเขาว่า มาสู่การเห็นกับตา ทำให้เกิดกระแสสังคมว่าควรจะต้องมีการแก้ปัญหานี้ให้จริงจัง

ที่ผ่านมามีหลายกรณีอย่างที่ผมเคยเข้าไปช่วยเหลือในฐานะกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ และในนามมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเวลาเข้าไปช่วยเหลือคนที่ถูกอุ้ม-ทรมาน ก็จะถูกตำรวจ-อัยการ หรือแม้กระทั่งศาลก็จะบอกว่า ไม่มีหลักฐาน ไม่มีการกระทำเรื่องเหล่านี้

            ยกตัวอย่างกรณีนักโทษ-ผู้ต้องหาชาวเมียนมาสองคนถูกตั้งข้อหาฆ่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เกาะเต่า ทางคนของสภาทนายความไป เขาก็บอกว่าถูกซ้อมทรมาน ถูกจับไปนั่งในห้องมืด โดนคลุมหัว ใส่ถุงดำ โดนจับซ้อม เรื่องแบบนี้หากคนไม่ได้โดนกระทำ ไม่มีทางเล่าได้ ลองหากไปถามคนทั่วไปที่ไม่เคยโดน หากเขาแต่งเรื่องขึ้นมา หากเราซัก เราจะรู้ได้เลยว่าเขาแต่งเรื่องโกหก เราก็ยกเรื่องนี้ไปบอกอัยการว่าให้สอบปากคำให้ดีๆ แต่เขาบอกว่าไม่มีหลักฐาน มีการตรวจร่างกายแล้วไม่เห็นมีการซ้อมทรมาน จนสุดท้ายผู้ต้องหาถูกศาลตัดสินประหารชีวิตโดยเรื่องการถูกซ้อมทรมานไม่มีการถูกพูดถึงเลย และยังมีเคสแบบนี้อีกมาก คนที่ทำเรื่องเหล่านี้ที่เป็นเจ้าหน้าที่จะมีความเชี่ยวชาญและทำซ้ำๆ กัน เพราะเมื่อทำแล้วไม่โดนอะไร ไม่ถูกดำเนินคดี เขาก็จะทำอีก พอไม่ถูกลงโทษแล้วยังมีผลงาน ได้เงิน ก็เลยเป็นวัฒนธรรมในการทำเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ตำรวจ-ทหาร

            ...จะพบว่าแต่ละเคส คนที่ทำไม่ได้ทำครั้งแรก อย่างกรณีอดีต ผกก.โจ้ ก็เริ่มมีคนร้องออกมาแล้วว่า กลุ่มนี้เคยทำมาแล้ว เคยมีการเรียกรับเงินแบบนี้มาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งทำครั้งแรก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายได้แล้ว

                -สาเหตุที่ทำให้การออกกฎหมายล่าช้าเป็นเพราะฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ พวกเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ไม่สนับสนุนให้ออกกฎหมายลักษณะนี้?

            ผมว่ามีสาเหตุมาจาก 2-3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย แม้ต่อให้มีกฎหมาย แต่ก็มีปัญหาการบังคับใช้ จนขึ้นชื่อเลยว่าตำรวจบ้านเราเป็นยังไง คนมีเงินมีอิทธิพลก็จะไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย หากไปกระทำความผิด มีเรื่องของการรีดไถ บ้านเราขึ้นชื่อเรื่องเหล่านี้ ทำให้มีการทุจริตคอร์รัปชันสูงในประเทศเรา พอมีเรื่องแบบนี้ก็เลยเป็นการดึงไม่อยากให้มีกฎหมายลักษณะนี้ออกมา เมื่อการกระทำเหล่านี้ทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้การจะออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่จะไปตรวจสอบปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐก็เลยถูกดึงไว้

            ยิ่งประเทศไทยเราเป็นรัฐที่มีทหาร-ตำรวจที่มีอำนาจมาก ซึ่งประเทศอื่นไม่มากขนาดนี้ ทำให้กลุ่มทหาร ตำรวจ ก็ไม่ค่อยสนับสนุนกฎหมายแบบนี้ เพราะสองกลุ่มนี้มีบทบาทสูงในแง่ของการเป็นรัฐบาล เห็นได้จากเข้าไปเป็น สนช. (ยุค คสช.) และ ส.ว. เลยทำให้การออกกฎหมายฉบับนี้เลยมีความล่าช้า

            -ปัญหาอุ้มหาย ซ้อมทรมาน ถูกพูดถึงในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ในอดีตกับหลายกรณี เช่น หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา อดีตผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี คดี ชลอ เกิดเทศ เรื่องเพชรซาอุฯ คดีบิลลี่ รักจงเจริญ หรือกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร แต่พบว่าส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยเอาผิดคนที่ทำได้ ยกเว้นแค่บางเคส เช่น คดีชลอ เกิดเทศ?

            พอคนทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีบทบาทและอำนาจสูง พอมีลูกน้องมาทำ ก็ใช้เรื่องเหล่านี้แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ทั้งทำเพื่อเรียกเงิน สร้างผลงาน และกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่เห็นแตกต่างกันทางการเมือง เลยใช้กระบวนการนี้เข้ามาจัดการ บ้านเราก็มีกระบวนการทำผิดแบบนี้เรื่อยๆ แต่ก็ไม่เคยหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้ เว้นแต่การซ้อมทรมานที่ไม่ใช่คดีใหญ่ โดยบางเรื่องที่หาตัวผู้กระทำผิดได้ ก็เป็นเพราะทำผิดมากเกินไป เช่น เคส ชลอ เกิดเทศ (พล.ต.ท.) กับคดีเพชรซาอุฯ ที่เป็นคดีใหญ่ นอกนั้นเกือบทั้งหมดจะรอดกันหมด

                ส่วนคดี บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก็เข้าตามเงื่อนไขทุกอย่าง คือมีการวางแผน เจ้าหน้าที่มีอำนาจ และทำในพื้นที่ปิด ไม่มีใครรู้ ในอุทยานแห่งชาติ ไปอุ้มตอนกลางวันแสกๆ มีคนเห็น คนทำก็เป็นลูกน้อง แต่สุดท้ายดีเอสไอก็ไปดำน้ำจนเจอกระดูกเล็กๆ ที่โดนเผาแล้ว จนพิสูจน์ได้ว่าเป็นกระดูกของบิลลี่จริง จนดีเอสไอสรุปว่าถูกฆาตกรรม และเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้อง (ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกรวม 4 คน) โดยดีเอสไอทำสำนวนส่งฟ้อง แต่อัยการมีความเห็นทางคดีแค่เอาผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการตั้งข้อหาฆาตกรรม แต่ดีเอสไอทำความเห็นแย้งว่า เป็นการฆาตกรรมและมีหลักฐานเพียงพอยื่นฟ้องเอาผิด โดยปัจจุบันคดีอยู่ในการพิจารณาของอัยการสูงสุดว่าจะมีความเห็นอย่างไร

หัวใจสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย

                สุรพงษ์-ที่ขับเคลื่อนให้มีการออกกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย กล่าวสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน ที่สภาฯ เห็นชอบในวาระแรก ทั้งของพรรคการเมือง และรัฐบาลว่า แม้จะมีการเสนอเข้าสภาฯ ไปถึง 4 ร่าง พ.ร.บ. แต่หลักการใหญ่ก็ไม่ได้แตกต่างกันในเรื่องหลักใหญ่ๆ อย่างร่างของกระทรวงยุติธรรมที่ ครม.เห็นชอบ ทางเรา (มูลนิธิผสานวัฒนธรรม) ก็เห็นว่า หลักการต่างๆ ในร่างก็เป็นหลักการที่ดี ควรจะออกมาประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพียงแต่ยังมีรายละเอียดบางเรื่องที่เห็นว่าหากมีการปรับแก้ไขบ้าง มันก็น่าจะดีขึ้น เช่น การที่จะบอกว่าการกระทำอย่างไรคือการทรมาน ในร่างของกระทรวงยุติธรรม ดูแล้วยังเขียนนิยามไว้แคบอยู่ ก็ควรปรับแก้ไขให้เขียนให้กว้างมากขึ้น รวมถึงการให้อัยการเข้าไปร่วมสอบสวนได้ตั้งแต่เริ่มต้นเลย ก็น่าจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการสั่งฟ้อง ที่น่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

                ...ส่วนที่ว่าในทางคดี จุดที่จะบอกว่ามีคนสูญหาย จะเริ่มจากเมื่อใด ก็จะดูจากพฤติการณ์ต่างๆ ไม่ใช่แบบที่ผ่านมา ที่ตำรวจมักจะบอกว่าต้องรอให้พ้น 24 ชั่วโมงก่อนถึงจะแจ้งความได้ว่ามีการสูญหาย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะในความเป็นจริง หากคิดว่าใครหายไป เพราะจากพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ถูกคนอุ้มหายไป ตำรวจเมื่อทราบเรื่องแล้วต้องเข้าไปสอบสวนติดตามทันที จะมาอ้างว่าต้องรอให้เกิน 24 ชั่วโมงไม่ได้ เพราะตำรวจจะปฏิเสธการรับแจ้งความไม่ได้ หากคนยืนยันจะแจ้งความ ตำรวจมีหน้าที่จดตามแจ้ง ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ หากทำถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่หากคนที่แจ้งความพบว่าแจ้งเรื่องอันเป็นเท็จ คนนั้นก็มีความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน  

                ขณะที่ประเด็นเรื่อง อายุความของคดี โดยหลักการ ต้องไม่ให้คดีอุ้มสูญหาย-ทรมาน มีอายุความ เพราะเรื่องเหล่านี้ร้ายแรงกว่ากฎหมายอาญาปกติ เพราะมีการเตรียมการวางแผน มีการทำกับคนอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งในร่างของพรรคการเมืองที่เสนอต่อสภาฯ ไม่มีอายุความ แต่ร่างของรัฐบาลยังไปอิงกฎหมายอาญาปกติ

                ขณะที่ในส่วนของ บทลงโทษ พบว่าทุกร่างที่เสนอเข้าสภาฯ มีการกำหนดบทลงโทษคนที่ทำผิดไว้สูง เพราะเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง รวมถึงมีการเขียนไว้ในร่างให้การเอาผิดสามารถเอาผิดไปถึงผู้บังคับบัญชาของคนที่ทำผิดด้วย เช่น มีเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาแล้ว มีผู้บังคับบัญชาตำรวจคนหนึ่งเห็นลูกน้องจับกลุ่มคุยกันอยู่ ก็ทักทายว่ามาทำอะไรกัน พวกลูกน้องก็บอกว่า กำลังคุยจะเตรียมการไปอุ้มคนคนหนึ่ง ผู้บังคับบัญชาได้ยินก็เดินผ่านไป ซึ่งกฎหมายปกติเอาผิดผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็น ผู้ใช้ ไม่ได้เป็น ผู้ลงมือทำเอง ไม่ได้สนับสนุน ไม่ได้บอกว่า เออ พวกเอ็งไป เพียงแต่ทราบ ลักษณะนี้กฎหมายปัจจุบันเอาโทษผู้บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายต้องเอาโทษด้วย เพราะเมื่อรู้ว่าลูกน้องตัวเองจะไปทำความผิดร้ายแรง แต่ไม่ยอมห้าม จึงต้องรับโทษด้วย หากพบข้อเท็จจริงว่ารู้เห็น หรือควรจะรู้เห็น เช่น ลูกน้องทำรายงานว่านำตัวใครมา แล้วตัวเองเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ยอมตรวจสอบ

            -บางคนอาจสงสัยว่า เรื่องการป้องกันและเอาผิดการอุ้มหาย ทรมาน ถ้าไม่ต้องออกเป็นกฎหมาย ทำแค่ไปแก้ไขเขียนเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายอาญา ได้หรือไม่ ถ้าทำก็อาจไม่ล่าช้าใช้เวลาหลายปีแบบตอนนี้?

                เราต้องเข้าใจว่าประมวลกฎหมายอาญาปกติออกมาบังคับใช้นานแล้ว แต่วันนี้ที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมากขึ้นไปด้วย โดยทั่วโลกเห็นตรงกันว่า การอุ้ม-ทรมานเป็นเรื่องร้ายแรง คนที่ทำก็ไม่ใช่คนปกติ แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีการทำเป็นขบวนการ ใช้อำนาจรัฐมาทำ และที่ผ่านมากฎหมายอาญาปกติ ไม่สามารถเอาคนผิดได้ จึงจำเป็นต้องยกร่างกฎหมายพิเศษขึ้นมา ให้มีกระบวนการพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อมาจัดการกับเรื่องเหล่านี้ให้ได้ เช่น เขียนเรื่องการตีความลักษณะการทำผิดให้กว้างขึ้น ว่าการทรมาน มีองค์ประกอบกี่อย่างถึงเรียกว่าการทรมาน ไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย หรือการให้มีระบบการตรวจสอบ ก็ต้องไม่ใช่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบ เพราะหากตำรวจเป็นคนทำผิด จะเอาตำรวจมาตรวจสอบ มันก็ไม่ได้ เพราะเป็นพรรคพวกเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเวลาเกิดเรื่อง มีคนไปแจ้งความ ตำรวจก็ไม่รับแจ้งความเป็นส่วนใหญ่ หรือหากทหารทำ ตำรวจก็ไม่กล้าไปตรวจสอบ

                ดังนั้นต้องให้มีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญมาตรวจสอบ อย่างที่เรามีการตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมาเพื่อให้มีคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาสอบสวนทำคดีที่ยากๆ ก็เลยมีการเขียนกฎหมายให้ดีเอสไอเข้ามาทำเรื่องนี้ จะให้ตำรวจทำไม่ได้ อีกทั้งปัญหาการอุ้ม-ทรมานเป็นปัญหาเชิงสังคมด้วย ก็ต้องให้มีคณะกรรมการเรียกว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่าย เพื่อมาดูทั้งในเชิงป้องกัน การปราบปราม การเยียวยา ให้มาดูในหลายมิติที่มากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีก

            สุรพงษ์-ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า หวังว่า ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ดีๆ อย่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายประกาศใช้ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย เพราะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก หลังที่ผ่านมาพบว่าบางส่วนไม่ค่อยสนับสนุนเรื่องนี้มากนัก ซึ่งถ้ามองไปอาจเพราะว่าเขาเป็นกลุ่มพวกซ้อมทรมานหรืออุ้มหายเองหรือไม่ จึงไม่สนับสนุนเรื่องเหล่านี้ โดยที่วันนี้เราเห็นความร้ายแรงของการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายมากขึ้น โดยตัวอย่างคดี อดีต ผกก.โจ้ ที่นครสวรรค์ คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการกระทำผิดลักษณะนี้โดยสังคมไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็หวังว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.โดยมีการผ่านร่างเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว

            -ถ้าประเทศไทยมีการใช้กฎหมายป้องกันการอุ้มหาย สังคมไทยและกระบวนการยุติธรรมของไทยจะได้อะไร?

                หากประเทศไทยมีการใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา คนก็จะไม่ถูกดูถูก เหยียดหยาม ดูหมิ่นกัน ไม่ใช่แค่การทรมานเท่านั้น แต่เราหวังว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เช่น การเหยียดกัน เช่น การเหยียดเรื่องเชื้อชาติ หรือเรื่องอะไรต่างๆ จะน้อยลง เพราะการเหยียดถือว่าเป็นสภาวะทรมานอีกแบบหนึ่ง เพราะการไปต่อว่าใคร หรือด่าใครแรงๆ ด่าเช้าด่าเย็น ก็เข้าข่ายตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประเด็นนี้อยู่ในร่างที่ภาคประชาชนไปทำกันมา หากเป็นแบบนี้ การเหยียดกันแรงๆ จะลดน้อยลง ก็จะทำให้ความสงบสุขในบ้านเราก็จะมีมากขึ้น ประชาชนก็จะไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น และจะช่วยทำให้ขอบเขตการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ ชัดเจนมากขึ้น ไม่มีวัฒนธรรมที่จะไปอุ้มหาย ซ้อมทรมาน เพราะจะมีทุกฝ่ายเข้ามาร่วมตรวจสอบ

                "เสียงของประชาชนเป็นเสียงที่สำคัญ ที่ผ่านมาเราก็ส่งเสียง แต่อาจน้อยเกินไป หลังเกิดคดีอดีต ผกก.โจ้ ทำให้คนส่งเสียงดังกันมาก มีการตรวจสอบต่างๆ จนทำให้การจะพลิกคดีทำได้ยาก ถึงแม้จะมีความพยายามจะพลิกคดี แม้อาจจะมีบางคนอาจไม่เห็นด้วยกับการให้มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่ก็คงทานเสียงประชาชนไม่ได้ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แกนนำภาคประชาสังคมในการผลักดันกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายระบุไว้. 

                                                โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"