องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกโรงค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณี ยันไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม ซัดรัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดหลังพักการประหารชีวิตมาเกือบ 10 ปี ทำให้ถูกจัดเป็นประเทศที่ล้าหลังเพื่อนบ้านในอาเซียน “ประยุทธ์” แจงโทษประหารยังจำเป็น เพื่อบ้านเมืองสงบสุขและเป็นบทเรียนสอนใจ "วิษณุ" ลั่นไม่ขัดรัฐธรรมนูญและมีอยู่ในกฎหมายไทย
เมื่อวันอังคาร มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีกรมราชทัณฑ์ โดย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เวลา 15.00-18.00 น. กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตโดยการฉีดยาพิษนักโทษเด็ดขาดหนึ่งราย อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ คือโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตายรวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ จ.ตรัง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555
โดยในวันเดียวกัน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นำโดยนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ได้รวมตัวกันที่หน้าเรือนจำกลางบางขวาง เคลื่อนไหวคัดค้านการลงโทษประหารชีวิต โดยสวมเสื้อสีดำ ชูป้ายมีข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ อาทิ "โทษประหารชีวิตไม่ได้ลดอาชญากรรม", "ผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม" เป็นต้น
ทั้งนี้ นางปิยนุชกล่าวว่า การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ เพื่อคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด เนื่องจากโทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการ ลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการลงโทษที่รุนแรง ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคม
"ยืนยันว่าไม่ได้เข้าข้างหรือต้องการให้โอกาสมากมายแก่ผู้กระทำความผิด และยังคิดว่าผู้ที่ทำความผิดต้องได้รับการลงโทษที่สาสมตามกฎหมายและต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ต้องไม่ใช่โทษประหารชีวิตที่เป็นการฆ่าคนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เคราะห์ร้าย เพราะไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว แต่การลงโทษด้วยการประหารชีวิตนั้น ไม่ใช่ทางออก และถือเป็นปลายทางในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน และไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากกว่าการลงโทษที่รุนแรง"
นางปิยนุชยังมองว่า ขณะนี้ประเทศไทยใกล้จะกลายเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว หากไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันครบสิบปี ซึ่งจะถือเป็นการยกระดับและเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทยที่เคย ประกาศไว้กับองค์กรสหประชาชาติ
ขณะเดียวกัน แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า เรื่องนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ที่น่าละอายอย่างยิ่ง เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของประชาชน ทั้งยังเป็นการทำตัวไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งต่างกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหารชีวิต
"ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าโทษประหารชีวิตจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้ จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โทษประหารชีวิตถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด ทั้งยังไม่ได้เป็น คำตอบสำเร็จรูปที่ช่วยแก้ปัญหาที่ทางการต้องการแก้ไขอย่างรวดเร็ว หลังผ่านไปเกือบ 10 ปีที่ไม่มีการประหารชีวิต การประหารชีวิตครั้งนี้จึงถือเป็นความถดถอยครั้งสำคัญของไทยบนเส้นทางที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต รัฐบาลไทยต้องยุติแผนการใดๆ ก็ตามที่จะประหารชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง และต้องประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ"
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกคำแถลงแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการยุติการพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติครั้งนี้ หลังจากได้มีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2552 ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียง 14 เดือนที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่าได้พักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสได้รับการประกาศว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ การยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นเจตจำนงที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด และพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทั้งสวนทางกับคำประกาศของรัฐบาลไทยที่กำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ อันจะมีผลทำให้คำมั่นสัญญาและสัจวาจาที่รัฐบาล คสช.ให้ไว้กับประชาชนและนานาชาติขาดความน่าเชื่อถือ
"ทำให้ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ โดยประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกกฎหมายที่ให้มีโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทไปหลายปีแล้ว ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ประเทศไทยยังล้าหลังในระดับสากล กล่าวคือเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต ในขณะที่ 141 ประเทศในโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปทุกประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตและมีการรณรงค์อย่างกว้างขวางในการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศอื่นทั่วโลก" มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุ
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า การที่กรมราชทัณฑ์กล่าวอ้างว่าสหรัฐอเมริกาและจีนยังเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิต เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ด้วยเหตุผลเป็นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม มากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องด้วยการลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิตที่ไทยดำเนินมาเกือบ 9 ปี ก็เป็นการแยกบุคคลที่กระทำความผิดออกมาเพื่อปกป้องสังคมและให้พลเมืองพ้นจากการเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตลอดจนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้นอยู่แล้ว การเดินทางไปสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในวันที่ 20-25 มิ.ย.นี้ของนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น อาจต้องไปตอบคำถามถึงการตัดสินใจประหารชีวิตผู้ต้องโทษอายุ 26 ปีนี้ และอาจเป็นเงื่อนไขให้การร่วมมือในกิจการต่างๆ ถูกกดดันจากทั้งตัวแทนรัฐบาลและภาคประชาสังคมของทั้งสองประเทศ
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นกฎหมายของเราที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ตอนที่มีการพิจารณาว่าจะยกเลิกโทษประหารหรือไม่นั้น เสียงประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เห็นควรให้มีอยู่ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันมีคดีร้ายแรงหลายๆ คดีเกิดขึ้น การมีโทษประหารก็เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุข และเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ ซึ่งเป็นเรื่องความจำเป็นของเราและความต้องการของประชาชน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว ที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามทำตามข้อตกลงของสหประชาชาติที่จะไม่ใช้โทษประหารชีวิต แต่อย่างน้อยโทษประหารไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มีอยู่ในกฎหมายไทย และคดีที่ตัดสินโทษประหารล่าสุดนั้น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ยืนตามกันว่าจะต้องมีโทษประหาร เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์สั่นสะเทือนมาก จึงมีเหตุผลพอสมควร อย่างไรก็ตาม เมื่อมีองค์กรระหว่างประเทศไม่เข้าใจ กระทรวงการต่างประเทศจะต้องชี้แจงให้เข้าใจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |