18 ก.ย.64 สมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และคณะทำงานโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม (ILD assembly) จัดเสวนาในกิจกรรมเติมเต็มลมหายใจ หัวข้อ “โรคพังผืดในปอด และความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด19”
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในระบบทางหายใจของมนุษย์สามารถเกิดโรคเรื้อรังได้มากมาย อาทิ วัณโรคปอด โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือกลุ่มโรคปอด(Interstitial Lung Disease) ในกลุ่มย่อยของผู้ป่วยโรคนี้จะมีปอดที่เป็นพังผืดอีก เรียกว่า โรคพังผืดในปอด Fibrotic-ILD (Fibrotic-Interstitial Lung Disease) ซึ่งเป็นโรคที่หายาก ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ 40 ปีขึ้นไป ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทำให้มีความท้าทายในด้านการคัดกรองวินิจฉัยโรคที่ไม่ชัดเจนและลำบาก รวมไปถึงการดูแลรักษา โดยอาการที่บ่งชี้ว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคพังผืดในปอด ได้แก่ มีอาการไอเรื้อรัง หรือ หอบเหนื่อยมานานกว่า 2 เดือน หรือมากจากการที่ปอดมีการติดเชื้อรุนแรง หากหาสาเหตุอื่นไม่พบ และไม่เคยสูบบุหรี่ แพทย์ต้องส่งวินิจฉัยเพื่อเติมหากมีผลเอกเรย์ปอดที่ผิดปกติ ฟังเสียงหายใจผิดปกติที่ชายปอดทั้ง 2 ข้าง คล้ายเสียงลอกแถบตีนตุ๊กแก และออกซิเจนปลายนิ้วต่ำเมื่ออกกำลัง เป็นต้น
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันผู้ป่วยโควิด19 เมื่อรักษาหาย หากเกิดรอยแผลเป็นหรือพังผืดในปอดจะค่อยๆหายไปใน 2-12 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยที่จะเกิดปอดอักเสบรุนแรงจากโควิดมีประมาณ 30-50% ซึ่งในจำนวนนี้เมื่อรักษาโควิดหายแล้วประมาณ 1 ใน 10,000 คน หรือน้อยกว่านั้น มีโอกาสที่จะเป็นโรคพังผืดในปอด เพราะปอดเกิดพังผืดมาก ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องติดตามการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ด้านรศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า โรคพังผืดในปอด แตกต่างจากพังผืดที่เกิดขึ้นเล็กน้อยในปอด ซึ่งมาจากการรักษาโรคหายแล้ว เช่น วัณโรคในปอด ควรเรียกให้เข้าใจง่ายว่า แผลเป็นในปอด เพราะโรคพังผืดในปอด จะทำให้ส่วนล่างของปอดมีลักษณะแข็ง และเกิดพังผืดได้ทั่วปอดทั้งสองข้าง ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซไม่สมดุล หรือเหนื่อยง่ายขึ้น หายใจไม่เต็มที่ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง เช่น โรคหนังแข็ง หรือหลังการติดเชื้อในโรคโควิด19 หรือบางรายอาจจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
รศ.นพ.กมล กล่าวอีกว่า โรคนี้พบได้บ่อยในประเทศตะวันตกอยู่ที่ 90-100 คน ต่อ 100,000 ประชากรต่อปี ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการ แต่จากการรวบรวมของสมาคมฯ ในโครงการ IPF Registry ซึ่งเป็นโรคพังผืดในปอดชนิดไม่ทราบสาเหตุ เก็บรวบรวมผู้ป่วยได้กว่า 131 คน
สำหรับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการอักเสบในปอดมีทั้งปัจจัยภายนอก รศ.นพ.กมล กล่าวอีกว่า จากการซักประวัติเกี่ยวกับอาชีพ เพราะจะมีการหายใจรับทั้งสารมลพิษอินทรีย์ สารมลพิษอนินทรีย์ เช่น ฝุ่น PM2.5 ควันบุหรี่ และปัจจัยภายใน เช่น ภาวะภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง (autoimmune dysfunction) ทำให้เกิดการอักเสบในปอด และอาจจะไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะใช้ประวัติการตรวจร่างกายร่วมกับเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดความละเอียดสูง (HRCT) โดยอาจพิจารณาร่วมกับการประเมินทางผลปฏิบัติการอื่นๆ ร่วม และการติดตามต่อเนื่อง เพราะ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด สามารถพัฒนาเป็นโรคพังผืดชนิดลุกลาม (Progressive Phenotype ILD: PF-ILD) ซึ่งจะทำให้เกิดพังผืดหรือแผลเป็นบริเวณถุงลมและหลอดลมฝอย ทำให้ออกซิเจนผ่านไปที่ปอดและกระแสเลือดยากขึ้น ผู้ป่วยจะหายใจหอบเหนื่อย ทำให้อวัยวะขาดออกซิเจนและทำงานไม่เต็มที่ แผลเป็นที่ปอดจะไม่หายกลับมาเป็นเนื้อปอดปกติ ดังนั้น หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพังผืดในปอดแล้ว ผู้ป่วยต้องไปตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังการลุกลามของโรคอย่างใกล้ชิด
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ อุปนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความรุนแรงของโรคโรคพังผืดในปอด ซึ่งปอดจะเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น แต่โรคนี้ก็จะทำให้ปอดยิ่งเสื่อมเร็วขึ้นเช่นกัน และอาจจะเทียบเท่ากับโรคมะเร็ง หากไม่ได้รับการรักษาจะมีเวลาอยู่ต่อได้เพียง 3.5 ปี โดยเทียบกับอัตราการรอดชีวิตภายใน 5 ปีกับโรคมะเม็ง เช่น โดยมะเร็งปอดอยู่ที่ 20% มะเร็งลำไส้ 60% มะเร็งเต้านม 85% มะเร็งต่อมลูกหมาก 87% และโรคพังผืดในปอดไม่ทราบสาเหตุเฉลี่ย 35% ซึ่งน้อยกว่าโรคมะเร็งอื่นๆ ส่งผลให้มีความรุนแรงในผู้ป่วยมากในระดับหนึ่ง
"การวินิจฉัยโรคนี้ค่อนข้างยาก โดยประชาชนหรือแพทย์ที่ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอาจจะคิดว่า ปอดเป็นเพียงแผลเป็นเท่านั้น ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ตรงโรค หรือการส่งต่อการรักษาล่าช้า ก็มีผลทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ ส่งรักษาล่าช้า 1 ปี อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยที่ 8% ส่งรักษาล่าช้า 1-2 ปี อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18% "รศ.นพ.ฉันชายกล่าว
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่นอนและเร็วที่สุด เพราะโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะปอดเสื่อมสภาพ อาจทำให้หายใจไม่ไหว แต่สามารถชะลอไม่ให้ปอดเสื่อมเร็ว เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในปัจจุบันมียาต้านพังผืดในปอดซึ่งเป็นยาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) ที่ช่วยชะลอการเสื่อมของปอด ที่ได้รับการรับรองครอบคลุมทั้ง 3 ข้อบ่งชี้ ประกอบด้วย ผังผืดในปอดแบบไม่ทราบสาเหตุ พังผืดในปอดจากโรคหนังแข็ง และพังผืดในปอดชนิดลุกลาม ซึ่งสามารถที่จะชะลอการลุกลามของโรค ลดการกำเริบแบบเฉียบพลัน และลดอัตตราการเสียชีวิต โดยมีการรักษาชนิดอื่นๆควบคู่ เช่น การบำบัดด้วยออกซิเจน การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มาก คือ ผู้สูบบุหรี่ รวมไปถึงการเจอมลภาวะพิษต่างๆ วิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ใส่หน้ากากหรือเครื่องป้องกัน หากต้องอยู่ในสภาวะเสี่ยง และหลีกเลี่ยงอย่าให้ปอดติดเชื้อ
อนุวัฒน์ โนรีวงศ์ ผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด อายุ 78 ปี เล่าว่า อาการโรคพังผืดในปอดจะเหนื่อยมาก สำลักบ่อย ไอต่อเนื่องรุนแรงจนไม่สามารถพูดหรือช่วยเหลือตัวเองได้เลย แม้จะใช้เวลารักษานานแต่อาการกลับแย่ลงเพราะหาสาเหตุไม่ได้ และมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ กว่าจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมนั้นต้องทรมานกว่า หลายปี ตนรู้สึกโชคดีที่ลูกสาวได้พาไปตรวจร่างกาย และได้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ทำให้รอดชีวิตอยู่ได้ จึงอยากฝากไปยังผู้ป่วยโดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอยู่ขณะนี้ลองสังเกตอาการโรคให้มากยิ่งขึ้น และปรึกษาแพทย์หากมีอาการเข้าข่ายส่งสัยเป็นโรคพังผืดในปอด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |