บั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์กม. จำคุก2ปี'ปึ้ง'ช่วย'แม้ว'หนี


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลฎีกาเด็ดขาด! สั่งคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา “สรุพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” ลักไก่ออกพาสปอร์ตให้ “ทักษิณ” ชี้ชัดเจตนาช่วยคนหนีคดี บั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนยุติธรรม ทำให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้ แต่ได้ประกันตัว 5 ล้านอุทธรณ์สู้คดีตามกฎหมายใหม่
    เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายสุนทร ทรงฤกษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.51/2560 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อายุ 65 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติต้นเดือน ก.พ.2560 ชี้มูลความผิดทางอาญานายสุรพงษ์ กรณีออกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกออกหมายจับในคดีร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในคดีก่อการร้าย และคดีอื่นๆ ขัดต่อระเบียบข้อบังคับ กต.ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (2) (3) และ (4)
    โดยคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ที่นายสุรพงษ์ยื่นคำร้อง 5 ฉบับ เพื่อขอให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 212 ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายที่กำหนดให้มีการประชุมเลือกผู้พิพากษาอาวุโสมาเป็นองค์คณะวินิจฉัยคดี รวมทั้งการให้มีผู้เสียหายแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งองค์คณะวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ประเด็นที่นายสุรพงษ์โต้แย้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนตรากฎหมาย ซึ่งได้มีการพิจารณาและประกาศบังคับใช้แล้ว ดังนั้นกรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
    ประเด็นวินิจฉัยสำคัญว่า นายสุรพงษ์กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะเห็นว่า นายวิรัตน์ผู้ร้องในคดีนี้ได้ให้การในชั้น ป.ป.ช. และเบิกความต่อศาลไว้ว่า ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐสภาและ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการกับนายสุรพงษ์ โดยเมื่อเดือน เม.ย.2552 นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.กต. ได้แจ้งถึงกรณีที่ กต.มีคำสั่งเพิกถอนพาสปอร์ตของนายทักษิณ ซึ่งคำสั่งมีสภาพโดยสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาในคดีที่ดินรัชดาฯ ของศาลฎีกานี้ ที่ตัดสินให้จำคุกแล้ว และยังเป็นผู้ต้องหามีหมายจับคดีอาญาอื่นๆ อีก โดยการกระทำของนายสุรพงษ์ที่เซ็นเกษียณคำสั่งการเสนอพิจารณาออกหนังสือเดินทางทั่วไปสำหรับบุคคลธรรมดาให้กับนายทักษิณใหม่ ในเวลาเร่งรีบรวบรัดเพียง 2 วันโดยไม่ตรวจสอบ หลังยื่นคำร้องจากเมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2554 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบ กต.ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทางทั่วไป พ.ศ.2548 และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และประมวลกฎหมายอาญา
    นอกจากนี้ ยังมีนายกษิต, อดีตอธิบดีกรมการกงสุล, อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย รวมทั้งอดีตปลัด กต., น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เบิกความถึงข้อเท็จจริงการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณ ขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาหรือเพิกถอนการออกหนังสือเดินทางทั่วไปที่เคยปฏิบัติมาในทำนองเดียวกันว่า กรณีของนายทักษิณ เมื่อศาลมีคำพิพากษาและออกหมายจับแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะมีหนังสือแจ้งมาที่ กต. เพื่อให้กระทรวงนำข้อมูลบุคคลต้องห้ามออกหนังสือเดินทางบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวง ซึ่งนายทักษิณมีหมายจับคดีอาญาอื่น รวมทั้งหมายจับที่เคยกล่าวหาในคดีก่อการร้าย โดยข้อมูลในบันทึกจะนำมาเป็นส่วนพิจารณา ซึ่งการปลดล็อกรายชื่อจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ที่มีรายชื่อต้องห้ามนำหลักฐานจากส่วนราชการ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนมายืนยันว่าพ้นจากหมายจับและข้อกล่าวหาในทุกคดีแล้ว
    กรณีของนายทักษิณยังไม่เคยปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ว่ามีหนังสือจากราชการแจ้งพ้นจากหมายจับในคดีนั้นๆ แล้ว ขณะที่การประชุมเพื่อพิจารณาออกหนังสือเดินทาง ก็พิจารณาและเสนอให้นายสุรพงษ์ลงนามภายในวันเดียว ทั้งที่พยานเคยให้ความเห็นยืนยันตามความเห็นเดิมไว้แล้วว่า กรณีของนายทักษิณไม่สามารถออกหนังสือเดินทางได้ตามเหตุผลที่กล่าวไว้ และยังไม่มีการปลดล็อกรายชื่อออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนที่พยานร่วมของโจทก์และนายสุรพงษ์เบิกความทำนองว่าการพิจารณานั้นต้องเป็นความลับ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นประเด็นที่กระทบการเมือง องค์คณะเห็นว่าหากเป็นกรณีที่สาธารณชนให้ความสนใจจริง ก็ต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย และต้องไม่กระทำในลักษณะเป็นความลับ รีบเร่งอย่างมีพิรุธทั้งที่ยังไม่ได้รับโทรเลข เพียงแต่พิจารณาไปโดยที่ได้รับความคำร้องจากนายทักษิณที่ตัวอยู่ต่างประเทศ และไม่ได้ตรวจสอบให้ครบถ้วน ทั้งที่มีข้อมูลของนายทักษิณเก็บเป็นแฟ้มไว้เป็นเฉพาะบุคคล อีกทั้งนายสุรพงษ์เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการตัดสินคดีและการออกหมายจับนายทักษิณ ดังนั้นนายสุรพงษ์ย่อมรับทราบข้อมูลอยู่แล้ว และการที่นายสุรพงษ์ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2554 ว่าจะพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสและปีใหม่ให้นายทักษิณนั้น ก็เป็นเรื่องที่ปรากฏชัดเจนว่าเป็นการให้สัมภาษณ์ทั้งที่มีการพิจารณาออกหนังสือเดินทางไปนานแล้วเกือบ 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2554 
    ส่วนการพิจารณาออกหนังสือเดินทางที่นายสุรพงษ์อ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลก็ไม่มีอยู่จริง และไม่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้เข้ามารู้เห็นเกี่ยวข้อง ส่งผลโดยตรงให้ กต.ออกหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไปแก่นายทักษิณ เท่ากับว่านายสุรพงษ์ในฐานะรัฐมนตรีกระทำการสนับสนุนช่วยเหลือนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและหลบหนีหมายจับในคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศสามารถเดินทางในต่างประเทศได้โดยสะดวก อยู่ในต่างประเทศโดยไม่ผิดกฎหมาย และรัฐบาลไทยไม่อาจขอให้รัฐบาลประเทศนั้นขับออกจากประเทศ หรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนอันเนื่องจากเหตุที่ไม่มีหนังสือเดินทางได้ ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไทยอ่อนแอ และไม่มีสภาพบังคับตามลำดับ นอกจากนี้ยังส่อให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทยในสายตาประชาคมโลก ซึ่งกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับนายทักษิณอันเป็นการกระทำโดยมิชอบและโดยทุจริต
    องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิพากษาว่า นายสุรพงษ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าการกระทำความผิดของนายสุรพงษ์ มีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งหลบหนีให้สามารถเดินทางในต่างประเทศได้สะดวก และเป็นผลบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
    หลังศาลมีคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายสุรพงษ์ได้เตรียมหลักทรัพย์เพื่อยื่นขอประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิของนายสุรพงษ์ ในการยื่นอุทธรณ์สู้คดีในศาลฎีกานี้ได้อีกครั้ง ตามกฎหมายใหม่คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560
    ต่อมาในเวลา 14.35 น. นายปรีชา ศรีเจริญ ทนายความของนายสุรพงษ์ เผยว่า ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายสุรพงษ์ โดยตีราคาประกัน 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล 
    ทั้งนี้ หลังวางหลักทรัพย์ประกันตัวเสร็จสิ้น นายปรีชาเผยว่า ทีมทนายความจะประชุมว่าประเด็นที่ศาลพิพากษายังมีเนื้อหาที่ไม่สมเหตุสมอย่างไรบ้าง โดยจะใช้จุดดังกล่าวสู้คดีในการอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยเฉพาะประเด็นขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยทีมทนายจะได้รอคำพิพากษาฉบับเต็ม แต่ไม่แน่ใจว่าจะยื่นอุทธรณ์ทันกำหนดเวลา 30 วันหรือไม่ เนื่องจากคำพิพากษามีรายละเอียดจำนวนมาก หากไม่ทันก็ต้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป และไม่จำกัดจำนวนครั้ง ขึ้นอยู่กับเหตุผล และศาลเห็นควรอนุญาตหรือไม่
    นายปรีชายืนยันว่า นายสุรพงษ์ยังมีกำลังใจดีอยู่ ยืนยันไม่ได้ทำผิดต่อหน้าที่และแผ่นดิน เรื่องนี้เป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ใช่ว่าคนเรามีคดีแล้วต้องตายไปจากความเป็นคนไทย นโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดไม่เหมือนกัน โดยนายสุรพงษ์ไม่มีความคิดหลบหนี เพราะถือว่าไม่ได้กระทำผิด ถึงวันนี้จะติดคุกไม่ได้ประกันตัว ก็เตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยนพร้อม และตั้งแต่ที่ทำคดีมา นายสุรพงษ์ไม่เคยพูดถึงการหลบหนีเลย อะไรจะเกิดก็พร้อมยอมรับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"