"บิ๊กตู่" ปิดห้องถกลับรัฐมนตรี แย้มจัดงาน "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ก่อน "เลือกตั้ง" ยันยึดตามโรดแมป ก.พ.62 "ประวิตร" คุยพรรคการเมืองสัปดาห์หน้า แต่ยังอุบสถานที่ ย้ำห้ามไลฟ์สดและไม่ให้ใช้เครื่องมือสื่อสาร แบะท่าอาจใช้ ม.44 งดไพรมารีโหวต "อุตตม" ปัดรู้เห็น "สมศักดิ์" เดินสายดูดอดีต ส.ส. "พท." เดือดดาหน้าซัดแหลก เชื่อหวังให้พรรคแตก "ภูมิธรรม" จวกตระกูล ส. ตีท้ายครัว แช่งพวกแปรพักตร์สอบตก
เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20-26 มิ.ย.นี้ว่า เป็นไปตามการปรับมติของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ปรับฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย โดยมีการยกระดับความสัมพันธ์มากขึ้นกว่าเดิม แม้จะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ซึ่งวันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของโลกทุกประเทศ รวมทั้งประชาคมโลก
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ มีการเตรียมตัวมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว มีการประชุมเรื่องใหญ่ๆ ทุกวัน เพราะตนต้องไปทำความเข้าใจกับเขาหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ส่วนการทำข้อตกลงต่างๆเป็นเรื่องตามขั้นตอนระบบราชการ เรื่องการจัดซื้อจัดหา คงไปซื้อกับใครไม่ได้ ถ้าไม่ได้ผ่านขั้นตอน ถ้าไม่ได้ความร่วมมือที่จะต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายและต้องผ่าน ครม.ทั้งหมด โดยไม่สามารถที่จะไปตกลงปากเปล่ากับใครได้
"เรื่องอื่นๆ ผมคงไม่ไปหารือ ในระดับนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเขาประสานงานอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ถามว่าการเดินทางไปครั้งนี้ จะถือโอกาสชี้แจงโรดแมปเลือกตั้งด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องชี้แจงอยู่แล้ว โดยจะชี้แจงทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ต้องรอการโปรดเกล้าฯ ลงมา ซึ่งในช่วงที่ตนไม่อยู่ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมเป็นผู้ประชุมชี้แจงขั้นต้นไปก่อน เพื่อรับฟังปัญหา จะแสวงหาวิธีการปลดล็อก คลายล็อกอะไรก็ว่ากัน
ซักว่านายกฯ จะอธิบายถึงปรากฏการณ์เดินสายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ภายใต้ชื่อกลุ่มสามมิตร เพื่อทาบทามอดีต ส.ส.เข้าพรรคประชารัฐอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า กรณีนักการเมืองออกมาพูดจาสนับสนุนการเดินสายเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ อันนี้เป็นเรื่องของการเมือง ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าการเมืองมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างด้วยกัน หลายพรรคการเมืองก็เคลื่อนไหว ตนยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตรงนี้เลย ฉะนั้นเป็นเรื่องของพรรคการเมืองต่อพรรคการเมือง นักการเมืองก็ว่ากันไป
ถามว่า ตกลงว่าวันนัดหารือพรรคการเมืองเป็นวันที่เท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้รอฟัง เขาจะแจ้ง ซึ่งคิดว่าคงกลับมาไม่ทันโอเคนะ ขอให้บ้านเมืองสงบสุข สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนต้องอย่าลืม อย่าเอาผมมาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง มันคนละเรื่องกัน
"สิ่งสำคัญที่สุดที่ คสช.กำลังพิจารณาอยู่คือการเตรียมการไปสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อย่าลืมนะคนไทยทุกคน นั่นคือเรื่องสำคัญอีกเรื่อง ฉะนั้นอย่าหาว่าผมเอาเรื่องนี้มาอ้างทางนี้ มันคนละเรื่อง เรื่องนี้ผมต้องการให้ประเทศชาติมันสงบ มีเสถียรภาพและมีผลต่อการลงทุนในช่วงเวลานี้ เรื่องการเลือกตั้งเราก็เดินของเราไป ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ผมก็ไม่เห็นจะมีความขัดแย้งอะไรกัน อย่าลืมนะ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เลือกตั้งหลังพระราชพิธี
ซักว่าจะมีการเลือกตั้งก่อนหรือหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หลังอยู่แล้ว
นายกฯ ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า อยากให้พวกเราให้ความสำคัญ กรุณาไปดูข้างในว่าสาระสำคัญเขียนว่าอย่างไร อย่าให้ใครมาบิดเบือนอีก เป็นเรื่องของความเห็นต่างก็ว่าไป ส่วนที่ดียังมีอยู่เยอะ ไม่ได้หมายความจะต้องไปบังคับใคร เพียงแต่ทำแล้วตอบคำถาม ตอบตัวชี้วัดเหล่านี้ให้ได้ ก็เหมือนกับแผนสภาพัฒน์ ที่แต่ก่อนไม่ค่อยสนใจกัน ต่างคนต่างทำนโยบายพรรค นโยบายการเมืองก็ว่ากันไป แต่ไม่ตอบสนองแผนสภาพัฒน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม ครม.เสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากที่ประชุมทั้งหมด เหลือเพียงรัฐมนตรีเท่านั้น เพื่อประชุมลับป็นเวลา 30 นาที ซึ่งนายกฯ ได้แจ้งในที่ประชุมถึงห้วงเวลาโรดแมปเลือกตั้งว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีอะไรเป็นตัวแปรสำคัญ การเลือกตั้งยังเป็นโรดแมปเลือกตั้งยังอยู่เดือน ก.พ.62 เหมือนเดิม
"ขณะนี้มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่รอประกาศใช้ รวมถึงงานพระราชพิธีสำคัญที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ โรดแมปการเลือกตั้งก็ยังสามารถอยู่ในเดือน ก.พ.62" แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเตรียมการพูดคุยกับพรรคการเมืองว่า จะพูดคุยกับผู้ที่เป็นแกนนำของพรรคโดยไม่จำกัดจำนวน โดยจะเชิญทุกพรรคที่จะเข้าร่วมการเลือกตั้ง ซึ่งพวกเขาก็จะได้เสนอแนะในสิ่งที่ต้องการด้วย
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ส่วนเรื่องที่พรรคอนาคตใหม่เสนอให้ไลฟ์เฟซบุ๊กระหว่างพูดคุยนั้น ไม่สามารถทำได้ และไม่ให้ใช้เครื่องมือสื่อสาร ขณะที่พรรคที่ยังจดจัดตั้งทะเบียนไม่เรียบร้อยก็ยังไม่สามารถเข้าร่วมได้ จะมาได้เฉพาะพรรคที่ขอจัดตั้งกับ กกต.แล้วเท่านั้น แม้ตอนนี้ยังไม่ได้เชิญพรรคการเมืองไหน แต่ทันสัปดาห์หน้าแน่นอน ส่วนสถานที่ยังไม่เปิดเผย แต่มีอยู่ในหัวแล้ว
"การหารือระหว่างพรรคการเมือง ไม่ได้ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาหารือเพียงไม่นาน แต่ก็ต้องดูความต้องการของแต่ละพรรคการเมืองว่าต้องการอะไร สิ่งไหนที่รัฐบาลตอบได้ก็จะตอบ เรื่องใดที่ยังตอบไม่ได้ก็จะมาหารือกันอีกครั้ง และรัฐบาลจะเป็นผู้รับฟัง ซึ่งเป็นการพูดคุยระหว่างพรรคการเมือง และ คสช. โดยไม่อนุญาตให้สื่อเข้าฟัง" พล.อ.ประวิตรกล่าว
ถามว่ามีความเป็นไปได้ถึงการใช้มาตรา 44 ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวสั้นๆ ว่า ก็เป็นไปได้
พอถามว่า ขณะนี้เริ่มมีอดีตนักการเมืองให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งอีกสมัย จะเป็นผลดีต่อการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเล่นการเมืองต่อหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้สื่อไปถาม พล.อ.ประยุทธ์
รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มวังน้ำยมลงพื้นที่ จ.เลย โดยมีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยมารอต้อนรับว่า เป็นการไปเยี่ยมกันมิใช่หรือ เขาไปคุยเรื่องอะไร หากคุยแล้วขัดคำสั่ง คสช. ก็จะดำเนินคดี
"ที่มีข่าว คสช.เดินสายดูดนักการเมืองนั้น ขอถามกลับว่า คสช.ไหน ผมไปดูดใคร ถ้าจะวิจารณ์ก็พูดกันไป ขนาดสิ่งที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียก็ยังมีการบิดเบือนกัน สื่ออย่าเอาข้อบิดเบือนมาถาม" รองนายกฯกล่าว
คุยการเมืองสัปดาห์หน้า
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรมอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (รมช.กลาโหม) เป็นผู้เตรียมการประชุมกับพรรคการเมือง พร้อมกับกำหนดวัน เวลา สถานที่ และเชิญผู้ที่จะเข้าร่วมประชุม เชื่อว่าคงใช้เวลาไม่นาน ส่วนในเรื่องโรดแมปการเลือกตั้งตนได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม.ไปแล้ว
นายวิษณุกล่าวว่า การเลือกตั้งคงไม่คลาดเคลื่อนไปจากที่รัฐบาลยืนยันไว้เดิมคือประมาณ ก.พ.62 มากนัก ซึ่งหลังจาก พล.อ.ประวิตรประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับรู้วัน เวลา ที่ใด แต่จะทำให้เกิดความเข้าใจในระดับหนึ่ง
"ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เมื่อใด เพราะขณะนี้กฎหมายท้องถิ่นยังไม่แล้วเสร็จ ที่คาดว่าจะสามารถเลือกตั้งท้องถิ่นได้ใน พ.ค.62 เป็นเพียงการคาดการณ์ในกรอบเวลาอย่างเต็มที่แล้ว แต่วันนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะกฎหมายท้องถิ่นยังไม่ถึงมือรัฐบาล แต่ได้ทราบว่าอีก 5 ฉบับที่เหลือคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังจะพิจารณาเสร็จแล้ว" นายวิษณุกล่าว
ถามถึงกรณีนายกฯ ระบุการเลือกตั้งจะมีขึ้นหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รองนายกฯ กล่าวว่า ได้ยินนายกฯ กล่าวไว้อย่างนั้น แต่พระราชพิธีดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของวันเวลา
ซักว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก รัฐบาลไม่มีการประชุมในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องของพระราชวินิจฉัย
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประวิตรกำลังพิจารณารายละเอียด หากมีความชัดเจนแล้ว พล.อ.ประวิตรคงจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีกครั้งว่าจะมีการพูดคุยกับพรรคการเมืองในวันใด และสถานที่ไหนอย่างไร
"ผมคิดว่าก็น่าจะเป็นช่วงสัปดาห์หน้า เพราะตอนนี้เราต้องประสานกับพรรคการเมือง และยังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องดูว่าขณะนี้มีพรรคการเมืองทั้งหมดกี่พรรค จากนั้นก็จะต้องทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการไปที่พรรคการเมืองด้วย" รมช.กลาโหมกล่าว
วันเดียวกัน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมว.อุตสาหกรรม) กล่าวถึงการเตรียมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังจากที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา เดินสายพูดคุยกับบรรดานักการเมืองกลุ่มต่างๆ ว่า ในส่วนของตนยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และเมื่อวันที่ 18 ม.ย.ที่ผ่านมาก็อยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ที่ จ.เลยกับกลุ่มดังกล่าวที่มีข่าวออกมาจึงไม่ได้ไปร่วมพบใคร อีกทั้งยังไม่ได้คุยกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงการเตรียมตั้งพรรคการเมืองแต่อย่างใด
"นักการเมืองบางคนที่อยู่ในภาพข่าว ผมมีความรู้จักกันอยู่ ส่วนในอนาคตจะทำงานร่วมกันหรือไม่นั้น ต้องดูก่อนว่าเป็นการทำงานในลักษณะใด ซึ่งคงต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เพราะแต่ละคนมีความชำนาญในงานที่ไม่เหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน" นายอุตตมกล่าว
มีรายงานด้วยว่า ทีมงานของนายสมศักดิ์ได้ส่งคนไปคุยกับนายสุพล ฟองงาม อดีต รมช.มหาดไทย และอดีตรักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทยด้วย เพื่อให้เป็นหัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่อุบลราชธานี โดยนายสุพลก็ไม่ได้มีท่าทีปฏิเสธ แต่ก็ยังไม่ได้ตอบรับใดๆ ขณะที่นายชูวิทย์ กุ๋ย พิทักษ์พรพัลลภ คาดว่าอาจไม่ย้าย เพราะเป็นคนสนิทของนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่แนบแน่นกับเจ๊แดง นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์
แช่งแปรพักตร์สอบตก
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการดูด ส.ส.บางส่วนของพรรคเพื่อไทยว่า เป็นปรากฏการณ์ปกติที่สะท้อนให้เห็นจุดมุ่งหมายของกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ที่ยังไม่ได้ก้าวข้ามไปจากวิถีการเมืองน้ำเน่าแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความชัดเจนเรื่องความต้องการสืบทอดอำนาจ เราจึงได้เห็นการดำเนินการสนับสนุนการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ อีกหลายพรรค จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการดูดตัว ส.ส.ของพรรคต่างๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ให้เข้ามาสู่พรรคที่ตนจัดตั้งขึ้น ใช้ตัวละครเดิมๆ ซึ่งมีภาพลักษณ์การใช้ทั้งเงิน อำนาจ การให้คุณให้โทษ การกดดันทางธุรกิจ และการให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ
"ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใดๆ ที่ทุกครั้งที่มีเสียงปี่กลองการเลือกตั้งดังขึ้น กระบวนการดูด ส.ส.จะเป็นกระแสที่นักการเมืองแบบดั้งเดิมจะมีความเคลื่อนไหวตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่การรัฐประหาร ปี 2549 เป็นต้นมา ฝ่ายผู้มีอำนาจได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งพรรคเพื่อแผ่นดินขึ้น ซึ่งคุณ ส. คนเดิมที่เป็นอดีตหัวขบวนของนักการเมืองตระกูล ส. ที่อยู่เบื้องหลังการดูดคนของพรรคไทยรักไทยไปพรรคใหม่ของตน ผลการเลือกตั้งระยะหลังๆ ได้สะท้อนการตัดสินใจของประชาชนคือ ส.ส.คนเดิมที่ถูกดูด ล้วนสอบตกเกือบหมดทุกคน ทั้งนี้ เพราะประชาชนผู้ลงคะแนนเขารู้ดีว่า จุดยืนของคนเหล่านี้คือเงินและผลประโยชน์ของตน" รักษาการเลขาฯ พรรคเพื่อไทยระบุ
นายสิระ พิมพ์กลาง หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เท่าที่รู้ข่าวมาในพื้นที่อีสาน ไม่เพียงอดีตรัฐมนตรี ส. จะเดินสายทาบทามเอง แต่ยังมอบหมายให้อดีต ส.ส.บางคนที่เพิ่งไปอยู่ในกลุ่ม ให้ไปติดต่อทาบทามเอาอดีต ส.ส.เพื่อไทยในหลายจังหวัดให้มาร่วมงานด้วย มีคนมาบอกกับตนว่าตัวเลขการดูดนั้นมหาศาล ถ้าเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเกรดเอมีตัวเลขสูงถึง 30-40 บวก หากเป็นอดีตส.ส.ไม่กี่สมัยก็ไล่ลงมา
"แม้แต่พวกที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นส.ส.ยังมากถึง 10 บวก แสดงให้เห็นว่ามีการใช้พลังเม็ดเงินมหาศาล สอดรับกับข้อมูลที่ผมได้มาก่อนหน้านี้ เป็นการหารือระหว่าง ส. ที่ทำการดูด พูดคุยกับอีก ส. ที่อยู่ในฝ่ายมีอำนาจ คุยกันถึงว่าถ้าจะทุ่มก็ต้องทุ่ม เอาให้…(ชื่อพรรคการเมือง)..แตกให้ได้" หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทยกล่าว
แหล่งข่าวจากอดีต ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย ระบุว่า สถานการณ์การดูดอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอดีต ส.ส.อีสาน เป็นอย่างนี้มานาน น่าเป็นห่วงว่าอดีต ส.ส.อีสานของพรรคเพื่อไทยจะเหลือสัก 20% ได้หรือเปล่า เกรงว่าอดีต ส.ส.จะตัดสินใจไปกันหมด เท่าที่ได้รับทราบมาต่อไปจะเป็นคราวของอดีต ส.ส.เกรดเอแล้ว นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังตัดสินใจไปเลย เป็นเรื่องน่าคิด ซึ่งหลังจากนี้จะมีอีกเยอะ
“มีแนวโน้มว่าจะไม่หยุดไหล เพราะเขื่อนเริ่มแตกแล้ว ก็จะลามไปถึงกันหมด ส่วนหนึ่งที่ทำให้อดีต ส.ส.ต้องไป ก็เป็นเพราะสถานการณ์ภายในพรรคต่างหากที่ทำให้ต้องออกไป เพราะไม่มีการดูแลอดีต ส.ส.เลย ไม่มีความชัดเจนในการเลือกตั้งเลย หัวคนนำก็ไม่ชัด การดูแลก็ไม่ชัด ไม่ได้ปัจจัยสนับสนุนรายเดือนมานานแล้ว เทศกาลต่างๆ ก็ไม่มี การหาเสียงก็ไม่พูดให้ชัด เมื่อพรรคไม่ชัด ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะอยู่หรือไป คนเรากองทัพมันเดินด้วยท้อง แต่ที่ผ่านไม่เคยได้อะไร เหมือนถูกลอยแพ เขาก็ต้องหาที่พึ่ง” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกระแสการดูดนักการเมืองรุ่นเก่าในช่วงเวลานี้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้งในวงการการเมืองเราถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักการเมืองทุกค่าย และจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโอนย้ายค่ายกันเสมอ เปรียบเหมือนสโมสรฟุตบอล ที่เมื่อจบฤดูกาลหนึ่ง จะมีการโอนย้ายปรับเปลี่ยนกันทุกสโมสร นักการเมืองก็เช่นกัน มีออกมีเข้า แต่ท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตามองอีกครั้งหนึ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |