"ชวน" บรรยายพิเศษเรื่องคุณธรรม ป้องกันโกง อย่าแปลกใจยุคที่คิดว่าใช้ รธน.ที่มีประชาธิปไตยกลายเป็นยุคที่มีรัฐมนตรีติดคุกมากที่สุด แนะ ป.ป.ช.นำคดีเก่าที่มีนายกฯ-รมต.-ติดคุกหัวโตมาเป็นบทเรียนให้หลักสูตร นยปส. ยกตัวอย่างคดีกู้กรุงไทย จีทูจีข้าว ด้าน "ปธ.ศาลฎีกา" ระบุคนทำชั่วจะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี จนกว่าความชั่วนั้นจะให้ผล
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรยายพิเศษเรื่อง ธรรมาภิบาล คุณธรรม และความโปร่งใสในการป้องกันการทุจริต ในเวทีสัมมนาสาธารณะเรื่อง กลยุทธ์การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตรระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 12 ตอนหนึ่งว่า เราจะเห็นว่าเรื่องการป้องกันทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นเรื่องใหญ่ ต้องจัดหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าเรามีปัญหาเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบในแวดวงบ้านเมืองของเราอยู่ตลอดมายาวนานแล้ว มากบ้าง น้อยบ้าง ตามยุคตามสมัย และแนวโน้มยังมีอยู่ทุกวันนี้ ทุกวงการ ทุกภาคส่วน ส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ด้านการเมืองในฐานะเป็นนักการเมือง และอยู่กับการเมืองมา 52 ปี อยู่ต่อเนื่อง ก็พูดได้ในฐานะประจักษ์พยานว่าแนวโน้มการทุจริตประพฤติมิชอบมีแนวโน้มไม่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากส่วนราชการ ฝ่ายราชการร่วมมือด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่
"ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่มีบางยุคบางสมัยที่เราคิดว่าใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีประชาธิปไตย แต่กลายเป็นยุคสมัยที่มีรัฐมนตรีติดคุกมากที่สุด ป.ป.ช. เจ้าของหลักสูตรควรจะนำคดีเหล่านั้นมาให้นักศึกษาได้ดู คดีที่ยังไม่จบก็เก็บไว้ก่อน แต่คดีที่จบแล้ว มีคนติดคุกไปแล้ว มีคนถูกลงโทษไปแล้วมากมายที่ ป.ป.ช.มีส่วนร่วมในหลายคดี บางคดีที่ ป.ป.ช.ไม่ได้มีส่วนร่วมก็ควรไปนำมาให้นักศึกษาได้ศึกษารวบรวมเอาไว้ศึกษา เพราะทุกเรื่องมีประโยชน์ในเชิงที่จะทำให้เราได้รู้ว่าบ้านเมืองเรามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมคนระดับนั้น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ลงมาถึงข้าราชการ ตั้งแต่ภาครัฐถึงเอกชน ทำไมต้องมีคนติดคุกอย่างนั้น เราจะได้เข้าใจว่าที่ไปที่มาเป็นอย่างไร อาจจะเป็นบทเรียน เป็นวิธีป้องกัน ไม่ให้คนของเรา หรือตัวเราเองต้องอยู่ในชะตากรรมเช่นนั้น"
นายชวนกล่าวว่า การทำสิ่งที่มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริตโกงกิน ไม่บิดเบือน ไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่คดโกง โปร่งใส เปิดเผย ตรงไปตรงมา มีการให้คำนิยาม คุณธรรม ธรรมาภิบาล จริยธรรม ซึ่งถ้าเราเข้าใจที่มาของคำเหล่านี้ จะทำให้รู้ว่าทั้งหมดอยู่ในเรื่องของคำว่าธรรมาภิบาล ซึ่งหลังจากที่ประกาศใช้ธรรมาภิบาล 6 ข้อแล้ว ยังมีการกระทำผิดเกิดขึ้นมาก
"เช่น ผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย เกรงใจบิ๊กบอส เกรงใจนายอนุมัติเงินกู้ให้เอกชนไป ผิดกฎหมาย ติดคุก 18 ปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทำสัญญาเจรจาข้าวจีทูจีผิดพลาด ติดคุก 40 กว่าปี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ติดคุก 2 ปี เพราะไปใช้ดุลพินิจเพื่อ ประโยชน์ของลูกนักการเมือง ดังนั้น ผมจึงอยากให้สังคมไทยเรามีธรรมาภิบาลข้อที่ 7 คือต้องไม่เกรงใจนาย เพราะถ้านายเราให้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ยอมขัดใจนายดีกว่าติดคุกในวันข้างหน้า เพราะหลายกรณีที่ติดคุกทั้งหมด คนที่สั่งไม่ติดเลย”
ประธานรัฐสภาแนะนำให้ไปอ่านพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 และวันที่ 5 ธันวาคม 2553 ที่ได้รับสั่งสองปีซ้ำว่า ขอให้ท่านทั้งหลาย ประชาชนทุกหมู่เหล่า พิจารณาให้ถ่องแท้ ว่าหน้าที่ท่านคืออะไร แล้วทำหน้าที่นั้นด้วยความรับผิดชอบ
ด้านนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทของกระบวนการยุติธรรมกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศไทย ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราคาดหมายกันว่าการทุจริตในประเทศไทยน่าจะลดลงบ้าง เพราะมีการป้องกันและปราบปราม ส่งดำเนินคดี และศาลพิพากษาไปแล้วจำนวนมาก แต่จากปริมาณคดีที่อยู่ในศาล ป.ป.ช. ป.ป.ท. เราอาจต้องยอมรับความจริงว่าเราอาจจะยังไปไม่ถึงเป้าประสงค์นั้นในเร็ววันนี้ แต่เชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว
"ไม่ผิดหรอกที่คนจะกระทำผิดมากขึ้นในสภาพสังคมที่ต้องต่อสู้กับการปากกัดตีนถีบอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เพราะไม่มีใคร อยากจะอยู่ในพื้นหรือฐานของคนอื่น แต่อยากจะอยู่ระดับที่สูงกว่าและมีอำนาจเหนือกว่าทั้งสิ้น"
ประธานศาลฎีกาเผยว่า เคยคุยกับผู้ต้องขังหลายรายที่กระทำผิดไป ทั้งที่เขารู้ว่าการกระทำของเขาถ้าถูกจับกุมดำเนินคดีอาจถูกจำคุกหรือหนักกว่านั้น แต่คนกลุ่มนี้ยังเลือกกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อสอบถามได้รับคำตอบว่าขณะที่เขาทำไม่คิดว่าจะโดนจับ หรือพูดง่ายๆ ขณะตัดสินใจกระทำผิดเขาคิดว่ามีโอกาสรอด จากการที่เห็นหลายๆ คน หลายๆ กลุ่มที่ก็ยังสามารถรอดลอยหน้าในสังคมได้ เป็นสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมต้องกลับมามองตัวเองว่าในฐานะที่เราเป็นปลายทางของการแก้ไขปัญหาการกระทำความผิด
"เมื่อคนคิดว่าเขาทำความผิดแล้วจะรอด สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหาแล้ว กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำให้เขาเชื่อมั่นหรือทำให้เขาเกรงกลัวว่าเมื่อไหร่ที่เขาขยับไปทำความผิดเขาจะต้องถูกจับกุมไปดำเนินคดี เมื่อคนคิดว่าเขาคุ้มค่าที่จะเสี่ยง"
นอกจากนี้ การกระทำการทุจริตยังเป็นเรื่องการก่ออาชญากรรมที่มีความร้ายแรง แต่ไม่เห็นสภาพของความรุนแรงเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ไม่เห็นคนที่เลือดตกยางออก ไม่เห็นการบาดเจ็บ ไม่เห็นสายตาของการถูกทำร้ายเหมือนความผิดฆ่าคนตาย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วคนก็รู้สึกว่าทำได้ง่าย ไม่ต้องกระทบกระเทือนความรู้สึก คนกระทำความผิดทุจริตไม่ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นด้วยตาตนเอง และเขาจะคิดว่าเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง เลยกล้าที่จะทำความผิดในลักษณะนี้จับก็ยาก เพราะเป็นการสมประโยชน์กัน คนให้ก็ยินดีให้ เพราะสิ่งที่ให้ไปคุ้มค่าที่จะเสีย คนรับก็คิดว่าเป็นโอกาสของตัวเองที่จะรับ ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมจะยอมรับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้
“เราเคยได้ยินกันว่าคนทำชั่วจะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี จนกว่าความชั่วนั้นจะให้ผล กระบวนการยุติธรรมจึงต้องสงเคราะห์ให้เขาได้เห็นผลเร็วๆ ดิฉันคิดว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน ป.ป.ช. ป.ป.ท. อัยการ ศาล รวมไปถึงหน่วยงานที่รองรับคนผิดอย่างกรมราชทัณฑ์นั้น จะต้องปรับบทบาทของตนเองในการทำหน้าที่ โดยเน้นให้เห็นความสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ความถูกต้อง เป็นธรรม แม่นยำ รวดเร็ว และโปร่งใส ตรวจสอบได้”
นางเมทินีกล่าวว่า เรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ แน่นอนว่าเราทำหน้าที่ในการค้นหาความจริงว่ามีการกระทำความผิดจริง คนที่ถูกกล่าวหาหรือจำเลยคนนั้นเป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้นคนที่จะเป็นคนทำหน้าที่ค้นหาความจริง พิสูจน์ความผิด จะต้องไม่ทุจริตเสียเอง นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ด้วยว่าเราจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตอย่างแท้จริง
ประธานศาลฎีการะบุว่า อีกส่วนที่สำคัญคือการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในองค์กรตั้งแต่ต้นทางเป็นเรื่องความสำคัญ ไม่ใช่เพียงความรู้ความสามารถ แต่ต้องมีทัศนคติที่ดี ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธา
วันเดียวกัน นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และโฆษก ป.ป.ช. กล่าวถึงการกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม อนุมัติจัดซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ และ A340-600 จำนวน 6 ลำ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 รวม 10 ลำ มูลค่า 53,536 ล้านบาท ส่งผลให้การบินไทยแบกภาระหนี้เป็นจำนวนมาก ว่าที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้มีมติตั้งองค์คณะไต่สวนโดย ป.ป.ช. 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกตั้งไต่สวนคือ นายทักษิณ และนายสุริยะ กับพวกรวม 5 คน อาทิ บอร์ดการบินไทย โดยองค์คณะไต่สวนได้มอบให้สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช.
ด้านสำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่ข่าวในหัวข้อ "มี 5 คน ป.ป.ช.ตั้งคณะใหญ่ไต่สวนอนุมัติซื้อเครื่องบิน 'ทักษิณ-สุริยะ-พิเชษฐ-ทนง-กนก'" มีเนื้อหาระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ 5 ราย นอกจากนายทักษิณและนายสุริยะแล้ว ยังมีนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม, นายทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการบริษัท การบินไทยฯ และนายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย รวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันนายพิเชษฐเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย ซึ่งเป็นพรรคเล็กร่วมรัฐบาล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |