สธ.ห่วงภาวะ‘ลองโควิด’


เพิ่มเพื่อน    

ยอดติดเชื้อรายวันเพิ่ม 1.3 หมื่นราย เสียชีวิต 188 ราย  "สมุทรปราการ" ป่วยพุ่งแตะ 1.5 พันราย "สธ." ห่วงคนหายโควิดเกิดภาวะ "ลองโควิด" แนะถ้ามีอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ รับรู้กลิ่นรสชาติลดลงให้รีบพบแพทย์ "บิ๊กตู่" กับคณะทำงานโล่งตรวจ ATK ไม่พบเชื้อ  "ทำเนียบฯ" ห้ามสื่อเข้ายาวถึง 30 ก.ย. "กลุ่มศิลปิน-ภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรมบันเทิง" ร้องรัฐผ่อนปรนถ่ายภาพยนตร์-เปิดโรงหนัง "นายกฯ" รับข้อเสนอมอบ ศบค.พิจารณา พร้อมช่วยเยียวยาทุกด้าน  "ทีม ศก.ปชป." จี้ยกเลิกเคอร์ฟิว "พท." ซัด รบ.เปิด ปท.ต้องพร้อมอย่าหวังแค่หารายได้
    เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,897 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,494 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,797 ราย ค้นหาเชิงรุก 1,697 ราย และเรือนจำ 394 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม  1,434,237 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 13,527 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 1,290,556 ราย อยู่ระหว่างรักษา 128,728 ราย อาการหนัก  3,911 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 788 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 188 ราย เป็นชาย 107 ราย หญิง 81 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 133 ราย  มีโรคเรื้อรัง 40 ราย มีเด็กอายุ 1 ขวบเสียชีวิต 1 รายที่ จ.นราธิวาส เสียชีวิตที่บ้าน 8 ราย อยู่ใน จ.สมุทรปราการ 5 ราย จันทบุรี 2 ราย และพัทลุง 1 ราย เสียชีวิตมากสุดอยู่ที่ กทม. 40 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 14,953 ราย 
    ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 830,413 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28  ก.พ. ทั้งสิ้น 42,477,514 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อใหม่  227,253,177 ราย เสียชีวิตสะสม 4,673,494 ราย   
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,886 ราย  สมุทรปราการ 1,455 ราย ชลบุรี 973 ราย สงขลา 470 ราย ระยอง 445  ราย ราชบุรี 389 ราย ยะลา 376 ราย ปราจีนบุรี 360 ราย สมุทรสาคร  338 ราย และนนทบุรี 295 ราย  
    นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายรายวันมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ สะท้อนถึงคุณภาพระบบการดูแลรักษา โดยยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 จนถึงวันนี้รวม  1,405,374 ราย หลายรายแม้จะหายป่วยและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว อาจจะยังมีอาการหลงเหลืออยู่ องค์การอนามัยโลก (WHO)  เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า ภาวะลองโควิด (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิดระยะยาว ซึ่งสามารถพบภาวะนี้ได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ร้อยละ  30-50 ของผู้ป่วยโรคโควิด จึงไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจแต่อย่างใด  
    นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา ขยายความว่า อาการภาวะลองโควิดแสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ มีไข้  ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม  เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และบางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย โดยผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรงจะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด จึงอาจส่งผลต่อเนื่องยาวนาน 3-6 เดือนได้กว่าจะกลับมาเป็นปกติ 
สธ.ห่วงภาวะลองโควิด
    นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะลองโควิดด้วย เช่น อายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เรื่องเพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่หายป่วยแล้วไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด
    "หากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังมีความเป็นไปได้ในผู้หายป่วยแล้วบางรายอาจจะติดเชื้อโควิดซ้ำได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม แต่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน ดังนั้นผู้ป่วยแม้หายป่วยแล้วแต่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัดหรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท" ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยากล่าว  
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า  ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้า โดยก่อนเริ่มภารกิจนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะทำงาน ทีมรักษาความปลอดภัย ข้าราชการ พนักงานภายในตึกไทยคู่ฟ้า ได้ตรวจเชื้อโควิด-19 โดยชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ  ATK ตามวงรอบปกติ ซึ่งผลการตรวจ พล.อ.ประยุทธ์และเจ้าหน้าที่ใกล้ชิดไม่มีใครติดเชื้อโควิด 
    ทั้งนี้ ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาลพบผู้สื่อข่าวที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจติดเชื้อโควิด-19  อีกทั้งเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำจังหวัดชัยนาท พล.อ.ประยุทธ์มีอาการจามระหว่างให้สัมภาษณ์
    วันเดียวกัน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้สื่อมวลชนงดปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนภายในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคภายในทำเนียบรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน จึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนงดการปฏิบัติหน้าที่ภายในพื้นที่ทำเนียบฯ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.64 ถึงวันที่ 30  ก.ย.64
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์พอใจการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย ซึ่งมีสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่มีจำนวนลดลงทั้งในพี้นที่กรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ ที่สำคัญจำนวนยอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของที่รักษาหายสามารถกลับบ้านได้ สถิติสูงกว่ายอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อใหม่รายวันติดต่อกันนานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว
    “การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยที่มีสัญญาณดีขึ้น  สะท้อนความร่วมมือร่วมใจของประชาชน เชื่อว่าต่อจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ทุกกลุ่มตามแผน ซึ่งนอกจากวัคซีนแล้วยังสร้างโอกาสให้กิจการ เพื่อให้สามารถเปิดบริการตามมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ Smart Control  and Living with COVID-19 ซึ่งมีการกระจายชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดให้พี่น้องประชาชน เริ่มต้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงก่อน และจะทยอยแจกทั่วประเทศ เพื่อให้ประเทศเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ชงเปิดโรงหนัง-กองละคร
    ต่อมาเวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และกลุ่มศิลปิน  เพื่อหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน กลุ่มศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปากร กลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมบันเทิง โรงงานและภาพยนตร์ และภาคเอกชน กว่า 40  องค์กร
    นายธนกรกล่าวถึงผลการประชุมว่า นายกฯ เห็นใจศิลปินพื้นบ้าน  บุคลากรด้านศิลปวัฒนธรรม และผู้อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด ที่ผ่านมารัฐบาลมีการช่วยเหลือเยียวยาผ่านมาตรการต่างๆ รวมทั้งยังห่วงใยกลุ่มศิลปินบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากข้อมูลตกหล่น จึงขอให้กระทรวงวัฒนธรรมเร่งประสาน รวบรวมรายชื่อและจำนวนบุคคลให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อภาครัฐจะได้จัดสรรทั้งวัคซีค รวมทั้งชุดตรวจ ATK ให้เหมาะสม ขณะเดียวกันจะได้ให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าถึงการเยียวยาของรัฐบาล และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในเครือข่ายของกลุ่มศิลปินทุกแขนงด้วย
    "นายกฯ รับข้อเสนอเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อาทิ  การเปิดโรงภาพยนตร์ มหรสพ การผ่อนปรนให้กองถ่ายสามารถถ่ายทำภาพยนตร์ได้ โดยจะมอบหมายให้ ศบค.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพิจารณามาตรการรองรับป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่จะต้องมีท้องถิ่นเข้าไปดูแลการถ่ายทำในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มของคนมากเกินไป รวมทั้งยังสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมประสานเครือข่ายกลุ่มศิลปิน เพื่อจัดทำข้อมูลให้ครอบคลุมและชัดเจน มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมาตรการลดภาษี การช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึง  Soft Loan แหล่งเงินทุน จากงบประมาณที่มีเหลืออยู่ จาก พ.ร.ก.กู้เงิน โดยจะได้มีการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์มีภารกิจตรวจราชการจังหวัดชลบุรี โดยจะเดินทางไปที่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์  จำกัด (แหลมฉบัง) เพื่อตรวจเยี่ยมการฉีดวัคาซีนโครงการ Factory  Sandbox ก่อนพบปะหารือร่วมกับนายกสมาคมนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและผู้บริหารสมาคมในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง 
    ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ปชป. และนายพันธ์พิสุทธิ์ นุราช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตบึงกุ่ม ปชป. นำตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้ารายย่อย  รวมถึงหาบเร่แผงลอยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มายื่นข้อเรียกร้องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ให้ ศบค.ยกเลิกเคอร์ฟิว หรือขยายเวลาเคอร์ฟิวเพิ่มเติมจาก 21.00 น. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยให้กลับมาดำเนินกิจการต่อได้ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
    ส่วน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเตรียมเปิดประเทศและเปิดพื้นที่กรุงเทพฯ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 15 ต.ค.ว่า อยากให้พิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนว่าประเทศไทยมีความพร้อมแล้วหรือไม่ โดยขอให้ดูข้อมูลหลายด้าน ทั้งยอดผู้ติดเชื้อที่รวมการตรวจด้วย ATK จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและจำนวนผู้เสียชีวิต  หากรัฐบาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ตนเห็นด้วยให้เปิดประเทศในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่รัฐบาลเองต้องเร่งสั่งจองวัคซีนป้องกันโควิดที่มีเทคโนโลยีป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่อย่างโนวาแวกซ์ ระบบแจ้งเตือนพื้นที่ติดเชื้อผ่านแอปพลิเคชัน และชุดตรวจ ATK เตรียมพร้อมให้ภาคเอกชนที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เปิดเพราะรัฐบาลหารายได้ทางอื่นไม่เป็น  
    อย่างไรก็ดี น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตอบโต้โฆษกพรรค พท.ว่า ต้องถามกลับโฆษกพรรค พท.ได้อ่านรายละเอียดของแผนการเปิดประเทศหรือไม่ หรืออ่านเพียงแค่ 3  บรรทัดแล้วไปนำเอาความเห็นที่ตรงกันข้ามมาต่อยอดเพื่อโหนกระแส  ซึ่งการจะเปิดประเทศได้นั้นมีรายละเอียดการตัดสินใจ มีความละเอียดรอบด้าน มีการประเมินผลเสมอ และต้องเข้าใจว่าเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นเกี่ยวพันกับธุรกิจในหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ค้าปลีก  เศรษฐกิจในชุมชน ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว จะมองเพียงมิติด้านท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวไม่ได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"