จีน-สหรัฐฯ พบ ‘ข้อตกลง ประนีประนอม’ กรณีพม่าในยูเอ็น


เพิ่มเพื่อน    

 

สัปดาห์หน้านี้จะเกิดกรณีการแย่งชิง “ความชอบธรรม” ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและรัฐบาล “เอกภาพแห่งชาติ” ที่ต่อต้านมิน อ่อง หล่ายอย่างดุเดือด

ในประเด็นว่า ใครเป็นตัวแทนของประเทศเมียนมาในสหประชาชาติ?

รัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจพยายามจะตั้งทูตของตนประจำสหประชาชาติแทนนาย Kyaw Moe Tun ที่เป็นเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะสหประชาชาติยังไม่รับรองการเปลี่ยนแปลงนั้น

พอมาถึงการประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่สหประชาติหรือ UN  General Assembly ในเดือนนี้ ประเด็นนี้ก็ร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง

ข่าวบอกว่าสหรัฐฯ และจีน (ซึ่งปกติจะยืนอยู่กันคนละข้างในเกือบทุกเรื่อง) ได้มีความตกลงอย่างไม่เป็นทางการที่จะให้ทูตเมียนมาคนเดิมยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป

นั่นย่อมหมายความว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่สามารถแต่งตั้งคนของตนเป็นผู้แทนในองค์กรโลกแห่งนี้

แต่สองยักษ์ใหญ่มีเงื่อนไขว่าจะต้องบอกให้ทูต Kyaw Moe Tun ไม่แสดงความเห็นที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในมวลหมู่ประเทศสมาชิกยูเอ็น ที่อาจจะเริ่มมีการ “เลือกข้าง” ในหัวข้อนี้

ทูต Kyaw Moe Tun เคยอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการรัฐประหารโดยทหาร และประกาศจะยังเป็นตัวแทนของคนเมียนมาต่อไป

หลังจากนั้นเขาก็ถูกขู่ฆ่าเอาชีวิตอยู่หลายครั้ง

หากจีนกับอเมริกาตกลงกันอย่างนี้จริง อย่างที่รายงานในบทความ  exclusive ในนิตยสาร Foreign Policy นั่นก็เท่ากับเป็นการซื้อเวลาไม่ให้รัฐบาลทหารได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติต่อไปอย่างน้อยอีก 1  ปี

บทความนี้บอกว่า ข้อตกลงระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับของสหภาพยุโรป, อาเซียน และรัสเซีย

เป็นจังหวะที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติเตรียมจะตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีกรรมการ 9 คนเพื่อพิจารณาเรื่องใครเป็นทูตของประเทศไหน

คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาคำขอจากรัฐบาลทหารเมียนมาที่จะขอเปลี่ยนทูตของเมียนมาในยูเอ็น

ขณะเดียวกันก็รับฟังเสียงคัดค้านการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลคู่ขนานหรือ National Unity Government (NUG) ที่ยืนยันว่าเป็นรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนคนเมียนมาที่แท้จริง

เมื่อมีข้อพิพาทอย่างนี้ สหประชาชาติก็จะต้องพิจารณาด้วยการตั้งคณะกรรมการตัดสิน

ข่าวบอกว่า ประธานคณะกรรมการชุดนี้จะมาจากประเทศสวีเดนที่มีภาพของความเป็นกลาง

กรรมการท่านอื่นจะมาจากภูฏาน, หมู่เกาะบาฮามาส, ชิลี, จีน, รัสเซีย, เซียร์ราลีโอน, แอฟริกาใต้ และสหรัฐฯ

แปลว่ามีตัวแทนจากมหาอำนาจทั้ง 3 ที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงถาวรนั่งอยู่ด้วย

ตามกฎกติกามารยาทของสหประชาชาตินั้น หากมีข้อพิพาทว่าใครคือตัวแทนประจำยูเอ็นของประเทศใด ทูตที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมจะยังคงรักษาเก้าอี้ไว้ จนกว่าคณะกรรมการชุดนี้จะมีมติและอนุมัติโดยที่ประชุมใหญ่ของสมัชชาแห่งประชาชาติ

และนั่นเป็นที่มาของการวิ่งเต้นกันอย่างร้อนแรงมาตลอด

แนวโน้มเดิมนั้นในคณะมนตรีความมั่นคงเสียงจะแตก นั่นคือจีนกับรัสเซียจะอยู่ข้างรัฐบาลทหาร ส่วนอเมริกา, อังกฤษ และฝรั่งเศสน่าจะโอนเอียงมาทางด้านรัฐบาลพลเรือน

แต่ฝั่งโลกตะวันตกต้องการซื้อเวลาไปให้นานที่สุด

เดิมทีคณะกรรมการชุดนี้จะนัดประชุมกันเดือนพฤศจิกายน แต่มีการวิ่งเต้นจากบางฝ่ายให้เลื่อนการประชุมให้เร็วกว่านั้นเพื่อให้ทันกับการประชุมของสมัชชาใหญ่

เมื่อจีนกับอเมริกานั่งลงพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง ก็เกิด “สูตรประนีประนอม” เรื่องเมียนมา

ทูต Kyaw Moe Tun ยอมรับกับ Foreign Policy ว่ากำลังมีการเจรจาหาทางออกเรื่องเมียนมาในสหประชาชาติ

เขาบอกว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เขาจะไม่ปราศรัยในที่ประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ

ตีความได้ว่า ทูตเมียนมาคนนี้ได้รับทราบว่าหากจีนกับอเมริกาพร้อมจะพบกันครึ่งทาง ด้วยการยอมให้ “สถานภาพเดิม” ยังดำรงอยู่  แต่ไม่มีการกล่าวหารัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเปิดเผย ก็อาจจะทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาไม่สามารถปลดทูตคนนี้ได้อย่างน้อยก็ในปีนี้

ประเทศอื่นที่มีประเด็นการยอมรับในองค์กรยูเอ็นคล้ายๆ กันวันนี้ก็มีอัฟกานิสถาน, กินี (เพิ่งเกิดรัฐประหาร) และเกาหลีเหนือ

ข้อตกลงที่ว่านี้หากเป็นไปตามข่าวล่าสุดชิ้นนี้ ก็หมายความว่าการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับตัวแทนของเมียนมาในยูเอ็นจะเลื่อนไปหลังการประชุมใหญ่ของสมัชชาสหประชาชาติ

โดยหวังว่าประชาคมโลกจะสามารถกดดันให้ทุกฝ่ายในเมียนมายอมหันมาพูดจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ท่ามกลางความน่ากังวลว่าเมียนมากำลังจะ “ล่มสลาย”

เพราะกำลังเผชิญกับวิกฤตหลายชั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐประหาร,  การปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่อง, โควิด-19 และเศรษฐกิจที่กำลังพังพินาศต่อหน้าต่อตา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"