“สานพลังสังคม-ชุมชน” ฝ่าวิกฤตโควิด !!


เพิ่มเพื่อน    

ผู้สูงอายุจากชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตเทศบาลนครขอนแก่นกับคูปอง ‘ปันกัน’ ใช้ซื้ออาหารและของจำเป็นในช่วงโควิด

 

          นับแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา  ส่งผลทำให้มีการปิดโรงงาน  ห้างร้าน  มีคนตกงาน  ถูกเลิกจ้าง  หรือมีรายได้ลดน้อยลง  นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องปากท้อง  เพราะความหิวไม่เคยปรานีใคร..!!

          โครงการ ‘ครัวชุมชน’ จึงผุดขึ้นมาหลายแห่งทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีทั้งคนตกงาน  คนป่วย  คนพิการ  คนชรา  เด็กๆ ที่กินไม่อิ่มท้อง  ฯลฯ  เพื่อทำอาหารแจกจ่ายกันกินในชุมชน  ส่วนใหญ่เป็นแกง  ผัด  ต้ม  ก๋วยเตี๋ยว  ขนมจีน  ฯลฯ  หรือแล้วแต่กำลังทุน  วัตถุดิบที่มี  เช่น  ชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา  กรุงเทพฯ

 

“ปันกันอิ่ม  แบ่งกันกินยามยาก”

          ผุสดี  ปั้นเลิศ  ผู้นำชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา  เขตประเวศ  บอกว่า  ชาวชุมชนเฟื่องฟ้าฯ อาศัยอยู่ในที่ดินราชพัสดุและบางส่วนอยู่ในที่ดินสาธารณะ  มีทั้งหมด 67 ครอบครัว  ประมาณ 300 คน  เกือบทั้งหมดมีอาชีพรับจ้างทั่วไป หากินไปวันๆ   ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง  ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ  มีรายได้วันละ 300-500 บาท  ฯลฯ  ได้รับผลกระทบจากโควิดตั้งแต่ปีที่แล้ว  เพราะหลายครอบครัวมีคนตกงาน  มีรายได้น้อยลง  ไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว  ชุมชนจึงหาทางช่วยเหลือกัน  โดยนำเอาพืชผักต่างๆ ที่ปลูกบนที่ดินว่างในชุมชน (ปลูกก่อนโควิด  เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา) เช่น  บวบ  น้ำเต้า  คะน้า  ฟักทอง  ผักกาด  ผักเคล  ผักน้ำ  ข่า  ตะไคร้  กะเพรา  โหระพา  พริก  มะเขือ  มะนาว  ฯลฯ  มาแจกจ่ายไปทำกับข้าว  แต่ก็ไม่พอ  แจกจ่ายไม่ทั่วถึง

          “พอดีช่วงนั้น  มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือชุมชน  เช่น  กระทรวง พม.  พอช. มีโครงการสนับสนุนให้ชุมชนที่มีรายได้น้อย  ชุมชนแออัด  จัดทำครัวชุมชนเพื่อทำอาหารแจกจ่ายกันกิน  ชุมชนได้รับเงินสนับสนุน 1 แสนบาทจึงเอามาทำครัว  แต่แจกจ่ายไปชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กันอีก 10 ชุมชนด้วย  ทำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง  เป็นกับข้าวต่างๆ  แต่ทำได้ 8 ครั้งก็หมดงบประมาณ”  ผุสดีบอก

 

ครัวปันอิ่มที่ชุมชนเฟื่องฟ้าฯ

 

          ส่วนสถานการณ์โควิดที่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงวันนี้  เธอบอกว่า  ทุกครอบครัวก็ยังลำบากอยู่  คนที่เคยขายของในตลาดก็ยังหายใจไม่ทั่วท้อง  เพราะหากมีแม่ค้าพ่อค้าคนใดติดโควิด  ตลาดจะต้องถูกปิด  ทำมาหากินไม่ได้อีก  มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ไม่มีคนนั่ง  แต่ยังมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนการทำครัวชุมชน  เช่น  มูลนิธิพุทธิกา  และ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ) มอบงบประมาณสนับสนุนการทำครัวชุมชนในปีนี้ 

          ขณะที่ชุมชนก็เอาผักสวนครัวที่ปลูกมาทำอาหาร  เช่น  ฟักต้มไก่  คะน้า-บวบ-เอามาผัด  ฟักทองเอามาแกงไก่-ผัดไข่  ชะอมชุบไข่ทอด  แกงส้ม  น้ำพริก  ผักลวก  ฯลฯ  หมุนเวียนกันไป  ทำให้คนในชุมชนมีอาหารกิน  เด็กๆ กินอิ่มก็ไม่งอแง  ยิ้มหัวได้ทั้งวัน

          “แต่ปีนี้เราจะทำให้ครัวชุมชนเดินไปได้ตลอด  เราจึงทำ ‘ครัวปันอิ่ม’  ขายกับข้าวราคาถูก  ถุงละ 20 บาท  ถุงนึงจะใหญ่กว่าร้านข้าวแกงทั่วไป  ข้าวให้ฟรีไม่อั้น  และแจกฟรีสำหรับคนแก่  คนป่วย  เด็กๆ  หรือครอบครัวไหนไม่มีเงินเราก็ให้ฟรีๆ ทั้งข้าวและกับ  เราช่วยกันทำขายอาทิตย์ละ 1 ครั้ง  มีกับข้าว 5-6 อย่าง  บางครอบครัวจะซื้อเอาไปใส่ตู้เย็นกินได้ทั้งอาทิตย์  คนนอกชุมชนรู้ข่าวก็มาซื้อ  ครั้งนึงจะขายได้ประมาณ 2-3 พันบาท  ขายได้เงินไม่มาก  เพราะเราไม่ได้กะจะเอากำไร  ถือว่าช่วยเหลือกัน  แบ่งปันกันกิน  ข้าวเปล่าเราก็ให้ฟรี  พอให้มีเงินมาหมุนเวียน  ถ้าทำแจกฟรีคงจะได้ไม่กี่ครั้ง  แต่ถ้าทำขายแบบนี้  เราจะช่วยกันได้ตลอดไป”  เธอบอกถึงอนาคตของครัวปันอิ่ม

 

 

 

          ใช่แต่จะเป็นเพียงผู้รับ  ชาวชุมชนเฟื่องฟ้าฯ ยังใช้ที่ว่างในชุมชนที่พอเหลืออยู่  ปลูกสมุนไพรเพื่อป้องกันและรักษาโควิด  เช่น  ฟ้าทะลายโจร  กระชาย  ปลูกรวมแล้วกว่า 100 กระถาง  ขณะนี้ฟ้าทะลายโจรเก็บไปทำยาได้แล้ว  โดยชาวชุมชนจะช่วยกันเอามาตากแห้ง  แล้วส่งไปให้ ‘ชมรมคนปลูกฟ้าทะลายโจรทั้งแผ่นดิน’ นำเอาไปบดบรรจุใส่แคปซูล  เพื่อส่งไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดต่อไป

          ปัจจุบันมีชุมชนต่างๆ ที่จัดทำครัวปันอิ่มโดยการสนับสนุนของมูลนิธิพุทธิกาเช่นเดียวกับชุมชนเฟื่องฟ้าฯ แล้ว 13 ชุมชนในกรุงเทพฯ  จำนวน  7,792 ครัวเรือน  กระจายความช่วยเหลือได้ 28,033 คน  บางชุมชนขายอาหารราคาอิ่มละ 9-10 บาท  หรือสูงสุดไม่เกิน  20 บาท  เป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันในยามยาก

 

คนขอนแก่นไม่ทิ้งกัน

          จังหวัดขอนแก่น  เป็นหัวเมืองใหญ่ในภาคอีสาน  มีสถาบันการศึกษา  โรงพยาบาลขนาดใหญ่  มีย่านธุรกิจการค้าที่คึกคักเฟื่องฟูมาช้านาน   ขณะเดียวกันก็มีชุมชนผู้มีรายได้น้อยกระจายอยู่รอบเมือง  มีคนทุกข์ยาก  ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเช่าบ้าน  ต้องยึดเอาพื้นที่สาธารณะเป็นที่พักพิง  (ปัจจุบันมีประมาณ 120 คน)  ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดนี้  พวกเขาต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า 

          ป้านงเยาว์   กงภูเวศน์  ประธานชุมชนเหล่านาดี 12  ตั้งอยู่ริมทางรถไฟในเขตเทศบาลนครขอนแก่น  เล่าว่า  ชุมชนเหล่านาดี 12 มีทั้งหมด 135 ครอบครัว  ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน  เป็นลูกจ้างในตลาด  ค้าขายเล็กๆ น้อย ๆ  เมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด  จึงคิดเรื่องทำอาหารขายให้คนในชุมชนเพื่อช่วยเหลือกัน  ขายในราคาถูก  จานละ 15 บาท  เช่น  ก๋วยเตี๋ยวไก่  ข้าวมันไก่  ข้าวไข่เจียว  และอาหารตามสั่ง  เริ่มทำตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

          “เราขาย 15 บาท  แต่กินอิ่มเท่ากับคนอื่นขาย  30 บาท  คนนอกชุมชนก็มากินได้   ส่วนคนแก่  คนป่วย  เราก็ให้กินฟรี  คนที่รู้ข่าวก็มาสนับสนุน  เอาเงินมาช่วยให้ทำอาหารแจก   ส่วนคนที่ตกงานในชุมชน  แม่บ้านที่ว่างงาน   เราก็ให้มาช่วยกันทำครัว  หั่นผัก  ช่วยล้างจาน  พอให้มีรายได้วันละ 100-200 บาท  แล้วแต่ใครทำน้อย  ทำมาก  แต่ก็ช่วยให้มีรายได้  คนกินก็จะได้กินของถูก  ช่วยเหลือกันไป”  ป้านงเยาว์บอก

          จากการจุดประกายของป้านงเยาว์  ทำให้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนและต่อยอดไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ  กลุ่มเปราะบางในชุมชนต่างๆ  รวมทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน  เช่น   สสส.  พอช. เครือข่ายสลัมสี่ภาค  กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน  กลุ่ม Hugtown เครือข่ายชุมชนเมืองขอนแก่น  เทศบาลนครขอนแก่น  พมจ.ขอนแก่น  ฯลฯ  ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือมีหลากหลาย  เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟนำพืชผักที่ปลูกมาแจกจ่าย   เทศบาลนครขอนแก่นจัดตรวจคัดกรองเชื้อโควิดและฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนไร้บ้าน ฯลฯ

 

ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนคูปองปันกัน 

 

          ‘โครงการคูปองปันกัน’  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น (พมจ.) และภาคีเครือข่าย  ร่วมกันจัดทำโครงการนี้ขึ้นมา  เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตจากการตกงาน  ขาดรายได้  กลุ่มเป้าหมายในเมืองขอนแก่นประมาณ  300-500 คน  ให้มีเงินจับจ่ายซื้ออาหาร   โดยจะจัดสรรคูปองอาทิตย์ละ 100 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง   เพื่อให้นำไปซื้ออาหารและสินค้าจำเป็น  และยังช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนหมุนเวียนด้วย  โดยมีชุมชนเข้าร่วม 11 ชุมชน  ร้านอาหาร  ร้านค้าเข้าร่วมรับคูปอง  รวม  26 ร้าน  เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

 

 

          นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการ ‘สร้างพื้นที่สะสมอาหาร’  ปลูกผัก  เลี้ยงไก่ไข่  ฯลฯ  เพื่อนำมาทำอาหาร   มีการจ้างงานกลุ่มคนไร้บ้านให้ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ  เช็ดถูราวสะพานคนเดินข้าม  ให้ค่าตอบแทนวันละ 300 บาท  จ้างงานไปแล้วประมาณ 100 คนโดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ 300,000 บาท  และ พมจ.ขอนแก่น  360,000 บาทเศษ

 

ศูนย์พักคอยรองรับผู้ติดเชื้อในชุมชน

          นอกจากการช่วยเหลือเรื่องปากท้องดังกล่าวแล้ว  ชุมชนเหล่านาดี 12 ยังร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  ขอใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟชั่วคราวที่อยู่ใกล้ชุมชนจัดทำศูนย์พักคอยในชุมชน (Community  Isolation) หรือ CI เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่หนัก  เพื่อแบ่งเบาภาระของทางโรงพยาบาล  โดย CI แห่งนี้ใช้ห้องต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของสถานีรถไฟ  ปรับปรุงเป็นห้องพักสำหรับผู้ติดเชื้อหรือกักตัวดูอาการ  รวมทั้งหมด 7 ห้อง  รองรับได้ 14 คน

 

ตู้ทำการภายในสถานีรถไฟชั่วคราวขอนแก่นนำมาปรับปรุงเป็น CI

 

          อดิเรก  แสงใสแก้ว  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย  ในฐานะจิตอาสาที่มีบทบาทสนับสนุนการจัดวางระบบ CI  บอกว่า  ศูนย์พักคอยในชุมชน  หรือ CI  มีความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงหรืออยู่ในสถานะสีเขียว  โดยผู้ป่วยจะต้องลงทะเบียนกับ สปสช.เพื่อรับยาและเวชภัณฑ์   แพทย์และพยาบาลจะดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ telemedicine หรือให้คำแนะนำการรักษาตัวผ่านโทรศัพท์ 

          “CI จึงเปรียบเสมือนกับโครงการแก้มลิงเพื่อพักคอยน้ำ  ไม่ให้น้ำท่วม  เพราะไม่งั้นจะมีผู้ป่วยสีเขียวที่ต้องเข้าไปรอการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามเป็นจำนวนมาก  และถ้ารักษาช้าหรือรู้ตัวว่าติดเชื้อช้าก็จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น  เชื้อก็จะแพร่กระจายได้มากขึ้น อดิเรกเปรียบความสำคัญของ CI

          เขาบอกว่า  การจัดตั้ง CI ในชุมชนนั้น  ผู้นำชุมชนจะต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน  และท้องถิ่น  เพราะบางคนอาจกลัวว่า CI จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ  ทำให้เกิดการต่อต้าน  ต้องมีการจัดวางระบบเพื่อความปลอดภัย  ได้มาตรฐาน  เช่น  การวางเตียงควรเว้นระยะห่างกันประมาณ 2 เมตร  เพื่อป้องกันการไอ จาม  นำสารคัดหลั่งที่มีเชื้อมาแพร่กระจาย  พื้นห้องควรทำความสะอาดได้ง่าย  ไม่มีรอยแยกหรือแตกเพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อ

          ต้องมีระบบระบายอากาศ   ระบบพักน้ำ  โดยเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนระบายน้ำทิ้ง   ห้องอาบน้ำ  ห้องสุขาควรแยกจากกัน  จำนวน 1 ห้องต่อผู้ป่วย 10 คน  ฯลฯ  เน้นการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ชุมชนมีอยู่หรือสินค้ามือสองมาปรับปรุงเป็นอุปกรณ์ต่างๆ  เพื่อความประหยัด  เช่น  การทำห้องความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงออกจากผู้ป่วยสีเขียว  ซึ่งหากเป็นระบบแบบโรงพยาบาลอาจใช้งบประมาณนับล้านบาท  หากชุมชนทำเองอาจใช้เงินเพียง  8,000 บาท

 

ชุมชนรุ่งมณี  เขตวังทองหลาง ใช้ศูนย์เด็กเล็กที่ปิดชั่วคราวทำ CI

 

          ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ร่วมกับ พอช. สนับสนุนการจัดตั้ง CI ในชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  โดยขณะนี้จัดตั้งแล้วใน 8 ชุมชน  และกำลังทยอยจัดตั้งอีกหลายแห่ง  เช่น  ชุมชนคลองลัดภาชี  เขตภาษีเจริญ  ชุมชนคลองลำนุ่น  เขตคันนายาว  ชุมชนรุ่งมณี  เขตวังทองหลาง  ชุมชนตึกแดง  เขตบางซื่อ ฯลฯ 

          ทั้งหมดเป็น CI ขนาดเล็กตามสภาพของชุมชน  ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ที่ทำการชุมชนหรือศูนย์เด็กเล็กมาปรับปรุง  รองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ  5-20 คน  แต่บางแห่งอาจรองรับได้มากกว่านี้ตามสภาพพื้นที่  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณแห่งละ 50,000-150,000 บาท

          ถือเป็นการสานพลังสังคมและชุมชนเพื่อฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน !!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"