19 มิ.ย.61- นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วน ระบุว่าเมื่อวาน วันที่ 18 มิถุนายน ครบรอบ 4 ปี ศาลตุรกีพิพากษาให้หัวหน้าคณะรัฐประหาร 1980 จำคุกตลอดชีวิตผมขอนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหารในตุรกีที่เคยเขียนไว่เมื่อหลายปีก่อน มาเผยแพร่อีกครั้ง ดังนี้
"นี่คือหมุดหมายอันสำคัญยิ่งสำหรับตุรกี นี่คือ ครั้งแรกที่ตุรกีได้เผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์การรัฐประหารโดยกองทัพหลายต่อหลายครั้ง คำพิพากษานี้ได้ทำลายวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่ฝังรากลึกอยู่ในตุรกี นี่คือครั้งแรกที่ทหารถูกนำขึ้นศาลในอาชญากรรมที่พวกเขาได้ก่อไว้ในอดีต"
Cengiz Aktar, นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวถึงคำพิพากษาศาลตุรกีที่ตัดสินให้นายพล Evren จำคุกตลอดชีวิตจากรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐
ภายหลังจากมุสตาฟา เคมาล อัลตาเติร์กได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของตุรกี ระบอบการเมืองการปกครองในตุรกีก็ยังไม่มีเสถียรภาพและยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก จริงอยู่ระบอบเคมาลิสต์อาจนำความเป็นสมัยใหม่มาสู่ตุรกี แต่ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ และความเป็นสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร ยังไม่อาจฝังรากลงไปในดินแดนแห่งนี้ มีการรัฐประหารโดยคณะทหารหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ๑๙๖๐, ๑๙๗๑, ๑๙๘๐รัฐประหารครั้งที่สามของตุรกีในยุคสมัยใหม่ และเป็นรัฐประหารครั้งล่าสุด คือ รัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ นำโดยนายพล Kenan Evren ตุรกีถูกปกครองโดยคณะรัฐประหารในชื่อ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” และรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่ ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ จนถึง ๑๙๘๓ ส่วนนายพล Evren หัวหน้าคณะรัฐประหารก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำไปซึ่งให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร) มีผลใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน จากนั้นก็ทยอยผ่องถ่ายอำนาจ โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ และมีรัฐบาลใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่มาจากการเลือกตั้งในปี ๑๙๘๓ อย่างไรก็ตามนายพล Evren ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีต่อไปจนถึงปี ๑๙๘๙
ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารรวมระยะเวลา ๓ ปี ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารนี้นำมาซึ่งการนองเลือด มีประชาชนเสียชีวิต ๕,๐๐๐ คน ถูกจำคุก ๖,๐๐๐ คน ถูกดำเนินคดี ๒๐๐,๐๐๐ คน เสียสัญชาติตุรกีไปอีกร่วม ๑๐,๐๐๐ คน และประชาชนอีกนับหมื่นที่ได้รับการทรมาน
บรรดานักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเห็นตรงกันมานานแล้วว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ ไม่ได้มาตรฐานประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan มีดำริว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในหลายประเด็น ประเด็นหนึ่ง คือ การลบล้างบทบัญญัตินิรโทษกรรม เอกสิทธิ์ และความคุ้มกันในการไม่ถูกดำเนินคดี ของคณะรัฐประหาร
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ได้ยกเลิกมาตรา ๑๕ ซึ่งเป็นบทบัญญัติชั่วคราวในรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ โดยมาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “การฟ้องร้องหรือดำเนินคดีให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางกฎหมายใดเนื่องจากการกระทำใดๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ จนถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ไม่อาจทำได้”
พูดง่ายๆก็คือ มาตรา ๑๕ สร้างเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลทหาร ในการไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องนั่นเอง
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรวม ๒๖ มาตรา ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ยังไม่อาจมีผลใช้บังคับได้ เพราะ ได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงร้อยละ ๗๐ จึงต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ รัฐบาลกำหนดวันออกเสียงลงประชามติในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๐ โดยเจตนาให้ตรงกับวันครบรอบ ๓๐ ปีรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan ประกาศว่า “วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๐ เป็นวันอันเหมาะสมที่สุดสำหรับการเผชิญหน้ากับการทรมาน ความโหดเหี้ยม และการปฏิบัติอันไร้มนุษยธรรมของรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐”
ในรัฐธรรมนูญตุรกี การออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ ผู้มีสิทธิออกเสียงมีหน้าที่ต้องไปออกเสียงประชามติ หากผู้ใดไม่ไปออกเสียง ต้องถูกปรับ (ประมาณ ๖๐๐ บาท) ผลปรากฏว่าประชาชนชาวตุรกีได้ออกเสียงลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนร้อยละ ๕๗.๙๐ ไม่เห็นชอบร้อยละ ๔๒.๑ มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงร้อยละ ๗๗
เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ นั่นเท่ากับว่า บทบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหารและพวก (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล) ในการไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้อง ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น ภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้วันเดียว การทดสอบท้าทายตอบโต้รัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ ก็เริ่มขึ้น สมาคมนักกฎหมายและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเดินหน้ากล่าวโทษนายพล Kenan Evren และพวกในความผิดฐานกบฏ ความผิดอาญาฐานอื่นๆ ตลอดจนความรับผิดทางแพ่ง
ต่อมา พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายพล Kenan Evren (ณ เวลานั้น อายุ ๙๗ ปี) และนายพล Tahsin Şahinkaya (ณ เวลานั้น อายุ ๘๙ ปี) ซึ่งเป็นผู้ก่อการรัฐประหารที่ยังคงมีชีวิตอยู่
ศาลเปิดกระบวนพิจารณาครั้งแรกในวันที่ ๔ เมษายน ๒๐๑๒
๑๘ มิถุนายน ๒๐๑๔ ศาลพิพากษาให้นายพลทั้งสองจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายทหารแล้ว ความผิดร้ายแรงเช่นนี้ ส่งผลให้ทั้งสองคนถูกถอดยศทางทหารทั้งหมด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |