เดือนนี้ครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์สยองขวัญระดับโลกคือ 9/11 ที่ทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงจนถึงทุกวันนี้
วันก่อนผมเขียนถามในเฟซบุ๊กว่า ทุกท่านยังคงจำได้ไหมว่าวันที่เกิดเหตุนั้นแต่ละท่านกำลังทำอะไรอยู่
ผมจำได้ว่ากำลังประชุมอยู่ ถูกห้องข่าวเรียกด่วนให้เข้ารายงานสดทางทีวี เพราะมีเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
แม้แต่ภาพสดๆ จาก CNN ก็ยังสร้างความสับสนว่ามันเป็นภาพจริงหรือเป็นภาพยนตร์กันแน่
พิธีกรและนักข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศทั้งหลายก็ช็อกไปตาม ๆ กัน ไม่สามารถอธิบายได้ว่าภาพที่เห็นเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกแฝดที่ World Trade Center กลางนิวยอร์กนั้น มันคืออะไรกันแน่
หนึ่งในคนที่เล่าประสบการณ์ของเหตุการณ์วันนั้นได้น่าสนใจคือ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่เขียนในเฟซบุ๊กของท่าน ทำให้ผมย้อนความทรงจำได้ดีทีเดียว
ท่านเขียนว่า
"9/11 ในความทรงจำ: แนวโน้มในอนาคต"
ในวันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน ช่วงหัวค่ำผมกำลังทานข้าวหน้าโทรทัศน์อยู่ในห้องที่หอพักของมหาวิทยาลัย ก็เห็นภาพเครื่องบินพุ่งชนตึก World Trade จำได้ว่ายกหูโทรศัพท์ไปบอกผู้ช่วยวิจัยว่าให้เปิดโทรทัศน์ไว้และติดตามดูสถานการณ์ให้ใกล้ชิด
สถานการณ์ที่ว่านี้ จริงๆ แล้วมีเค้าว่าจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นหลายปี มีรายงานของฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ ระบุว่าจะมีการก่อการร้ายครั้งใหญ่ในอเมริกา
และมีคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นที่กำลังจะลงจากตำแหน่ง ให้หน่วยงานความมั่นคงเฝ้าระวังสถานการณ์ให้ดี แต่เหตุการณ์ก็เกิดขึ้นจนได้ มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายมากมาย และเกิดสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สงครามกลางเมือง และเหตุการณ์ต่างๆ ตามมาอีกมาก
ซึ่งก็ทำให้การเมืองและความมั่นคงของโลกเปลี่ยนไป และส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งต่อผู้คนจำนวนมากมาจนถึงทุกวันนี้อย่างที่ทุกท่านก็ทราบดี
ผมยังจำได้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ไม่กี่วัน ได้ไปออกรายการโทรทัศน์ของคุณสุทธิชัย หยุ่น และอีกหลายรายการร่วมกับนักวิชาการคนอื่นๆ
ซึ่งผมก็ให้ความเห็นว่าอีกไม่นานสหรัฐฯ ก็จะเข้าสู่สงครามกับอัฟกานิสถาน และจะเลยไปทำสงครามกับอิรัก ซึ่งก็จะพบกับความวุ่นวายต่างๆ อีกมาก และจะกระทบกับไทยหลายประการ
รวมทั้งเราอาจจะถูกดึงเข้าไปช่วยสหรัฐฯ กับพันธมิตรของเขาที่อิรักด้วย ซึ่งก็จะมีความสูญเสียเกิดขึ้นกับทหารไทยได้
ในประเด็นหลังนี้ ผมยังจำได้ว่าได้ไปพูดเพิ่มเติมในรายการของคุณสำราญ รอดเพชร ที่สถานีโทรทัศน์ iTV กับนายทหารและคณะที่ถือกันว่าเป็นนักคิดนักวางแผนที่เก่งของกองทัพในขณะนั้น
แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับผม
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ตัดสินใจส่งทหารช่างของไทยไปช่วยซ่อมแซมบ้านเมืองในอิรัก ก็มีทีท่าไม่เห็นด้วยกับพวกเรา
นักวิชาการที่ค่อนข้างเป็นกังวลกับจุดยืนของประเทศไทยและทหารไทยในเรื่องนี้ (ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของทหารไทยที่ไปปฏิบัติหน้าที่และเสียชีวิตในอิรักด้วยครับ)
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีบทเรียนต่างๆ เกิดขึ้นมากในด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ทั้งในทางวิชาการและทางปฏิบัติ
เหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดไม่เชื่อว่าจะเกิด ก็เกิดขึ้น
ความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องหลายประการของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือที่ว่ากันว่าเจริญแล้ว ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็น
ประเทศที่อ่อนแอหรือกำลังพัฒนาที่ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งและการแทรกแซงที่คิดว่าจะดีขึ้น ก็ไม่ดีขึ้น และผู้คนจำนวนมาก ก็ยังที่จะถูกผลกระทบจากสงคราม ความรุนแรงและความขัดแย้ง อย่างที่ไม่ควรจะเป็น
รวมทั้งเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สหรัฐฯ ต้องถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน และการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้หลายคนคิดว่าคงไม่มีอะไรดีขึ้นกว่า 20 ปีที่ผ่านมา และคงจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือมหาสงครามในอนาคตได้ยาก และมหาสงครามของมหาอำนาจที่ว่านี้ ก็คงจะปะทุขึ้นมาในทวีปเอเชียของเรา
แต่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ เราก็ยังได้เห็นผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายรุ่น และหลากหลายวัย มีความหวังร่วมกันมากขึ้น ที่จะสร้างสังคมโลกให้มีสันติสุข และได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ผ่านช่องทางใหม่ๆ ด้วยวิธีการหรือเครื่องมือสมัยใหม่ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ หากความร่วมมือร่วมใจเหล่านี้เป็นไปได้ด้วยดี ก็เชื่อกันว่าแนวโน้มอีก 20 ปีข้างหน้า จะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ผมก็หวังเช่นนั้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |