“อนุทิน” ปรับฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เร็วขึ้นก่อน ต.ค. ส่งวัคซีนพื้นที่ภูเก็ตเพิ่ม สธ.ตั้งเป้าวันเดียว 1 ล้านโดส ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันมหิดล 24 ก.ย.นี้ รพ.วชิระภูเก็ตโชว์ผลวิจัยฉีดใต้ผิวหนัง ใช้วัคซีนเพียง 20% ภูมิสูงกว่าเข้ากล้ามเนื้อ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 กันยายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงว่า ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 14 ก.ย. จำนวน 694,076 โดส ฉีดวัคซีนสะสม 41,647,101 โดส โดยเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 27,769,059 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.5 ของจำนวนประชากร เข็มที่ 2 จำนวน 13,260,456 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.4 ของประชากร
ที่โรงพยาบาลปิยะเวท กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีมอบใบประกาศขอบคุณผู้บริจาค 11 ราย ในการสร้างโรงพยาบาลสนามปิยะเวทไอซียู 120 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรงว่า ภาคเอกชนมีส่วนร่วมอย่างมากทั้งการดูแลรักษาและการควบคุมโรคโควิด-19 เช่นการฉีดวัคซีน ที่ขณะนี้ทั่วประเทศฉีดไปแล้วกว่า 40 ล้านโดส จากศักยภาพการฉีดวัคซีนแต่ละวันเชื่อว่าภายในสิ้นปี 2564 จะฉีดวัคซีนได้มากกว่า 100 ล้านโดส ส่วนปี 2565 รัฐบาลได้เจรจาจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งการบริหารจัดการจะง่ายขึ้นเนื่องจากฉีดเพียงเข็มเดียว
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.64 ประมาณ 3 ล้านคน จะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าที่ได้รับเข็ม 3 ไปแล้ว คาดว่าจะเหลือประมาณกว่า 2 ล้านคน กรมควบคุมโรคกำลังเร่งวางแผนการฉีด โดยพิจารณาทั้งพื้นที่และกลุ่มเสี่ยง คาดว่าจะเริ่มได้ก่อนเดือน ต.ค.ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ ส่วนกรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีรายงานการติดเชื้อในจังหวัดเพิ่มขึ้นนั้น จะส่งวัคซีนไปเพิ่มเติม รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
นายอนุทินยังกล่าวถึงแนวทางการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังแทนกล้ามเนื้อว่า หลังจากทดลองฉีดในบางกลุ่มพบอาการผื่นแดงบริเวณที่ฉีด ผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นสมควรให้ฉีดตามวิธีเดิม ประกอบกับขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอจึงยังไม่จำเป็น
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ประชุมวิดีโอทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ให้ทุกจังหวัดเตรียมแผนการฉีดวัคซีนและรวมพลังนัดหมายประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้ 1 ล้านเข็ม (รวมวัคซีนทุกชนิดทั้งเข็มที่ 1, 2 และ 3) พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 24 ก.ย.นี้ เนื่องในวันมหิดล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน” ที่ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ในด้านการแพทย์การสาธารณสุขและเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศขณะนี้มีแนวโน้มการติดเชื้อลดลงชัดเจน และมี 25 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุได้เกิน 50% แล้ว ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา และ กทม. สามารถขับเคลื่อนฉีดวัคซีนแบบปูพรมฉีดให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ทันที นอกจากนี้ได้ให้ 5 จังหวัด ได้แก่ กทม. เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และชลบุรี เตรียมความพร้อมรองรับตามแผนการเปิดประเทศระยะที่ 2 ได้กำหนดให้ผู้ตรวจราชการ สธ.เลือกจังหวัดที่ประชาชนได้รับวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุม 50% มา 1 อำเภอ ซึ่งเป็นอำเภอที่ฉีดวัคซีนครอบคลุม 70% และมีตำบลหรือพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่ฉีดได้ครอบคลุม 80% รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด และสถานประกอบการดำเนินการตามแนวทาง Covid Free Setting
ที่ จ.ภูเก็ต นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แถลงผลงานวิจัยการฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังว่า รพ.วชิระภูเก็ต ประสบความสำเร็จในการทำวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าฯ แบบฉีดเข้าผิวหนัง โดยใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 20% นำโดย พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร และ พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม ได้ริเริ่มงานวิจัยนี้เพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารวัคซีนของจังหวัดภูเก็ต และน่าจะเป็นทางเลือกของประเทศไทยในการใช้วัคซีนเข็มที่ 3 ที่ใช้ปริมาณน้อยลงถึง 5 เท่า ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการขอเป็นลายลักษณ์อักษรกับ สธ.ในการฉีดใต้ผิวหนัง ซึ่งภูเก็ตอาจเริ่มฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังเป็นแห่งแรกทันทีที่ สธ.อนุมัติ
ด้าน พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รพ.วชิระภูเก็ต กล่าวว่า การวิจัยนี้มีอาสาสมัครอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 242 คนที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็มเข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีดแบบทั่วไป (แบบเข้ากล้ามเนื้อ) จำนวน 120 คน โดยได้รับวัคซีน 0.5 ml. และกลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีดแบบใต้ผิวหนัง จำนวน 122 คน โดยได้รับวัคซีน 0.1 ml. หรือ 1 ใน 5 ของการฉีดแบบทั่วไป ผลการทดลองพบว่าภูมิต้านทานของผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบทั่วไปเล็กน้อย โดยผู้ที่รับการวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,662.3 AU/ml และผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบทั่วไปมีภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,214.1 AU/ml โดยผู้รับวัคซีนทั้งสองกลุ่มมีค่าภูมิคุ้มเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด (840 AU/ml) ซึ่งผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีน้อยกว่าการฉีดแบบทั่วไป เช่น มีไข้หรือปวดศีรษะเพียง 70 ราย เมื่อเทียบกับ การฉีดแบบทั่วไป 98 ราย แต่การฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังจะมีผลข้างเคียงบริเวณที่ฉีด เช่น ระคายเคืองและบวมแดงมากกว่า แต่ไม่เป็นที่น่าวิตกกังวล โดยภูเก็ตจะนำร่องในการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ แบบใต้ผิวหนังให้ชาวภูเก็ตจำนวน 200,000 คนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปก่อนหน้านี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |