ส่อฉลุย! สภาฯ ถกกฎหมายป้องกันอุ้มหาย 'ก้าวไกล' โหนคดีแค่ช่วง คสช. 'ชวน' สั่งลงมติ 16 ก.ย.


เพิ่มเพื่อน    

15 ก.ย.64 - ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายเนื้อหาทำนองเดียวกันจากพรรคการเมืองเสนอประกบด้วย ดังนี้ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับพรรคประชาชาติ และฉบับพรรคพลังประชารัฐ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวรายงานหลักการและเหตุผลว่า สำหรับเนื้อหาสำคัญคือมุ่งเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดฐานทรมาน ในฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย  โดยกำหนดการกระทำที่เข้าข่ายความผิดไว้ในทำนองเดียวกัน คือ เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ และต้องมีวัตถุประสงค์อย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลที่ถูกทรมานหรือบุคคลที่สาม เพื่อลงโทษบุคคลที่ถูกทรมานอันเนื่องมาจากการกระทำของบุคคลนั้น หรือสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำการสิ่งใด เพื่อข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกทรมานหรือบุคคลที่สาม และเพราะเหตุผลอื่นๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีรมว.ยุติธรรม เป็นประธาน

“กฎหมายฉบับนี้ยังมีการกำหนดอัตราโทษสำหรับความผิดฐานกระทำการทรมานและฐานกระทำให้บุคคลสูญหายไว้เท่ากัน และหากผลของการกระทำความผิดนั้นร้ายแรงขึ้น ผู้กระทำความผิดก็ต้องรับโทษหนักขึ้นด้วย คือ ผู้ทำผิดฐานกระทำการทรมานหรือความผิดฐานทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท

หากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส จะต้องรับโทษหนักขึ้นจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หากกระทำความผิดเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายต้องวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 30 ปีหรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 3แสนบาท-1ล้านบาท และหากผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลที่อายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โทษก็จะหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง” รมว.ยุติธรรม ระบุ

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้บังคับบัญชาหากทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนกระทำหรือได้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว และไม่ดำเนินการที่จำเป็นเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการ หรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวน และดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องระหว่างโทษครึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย

จากนั้นส.ส.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยกล่าวถึงการที่บุคคลสูญหายและมีการซ้อมทรมาน อาทิ คดีบิลลี่ คดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีอุ้มหายวันเฉลิม คดีอุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนขันธุ์ คดีกรือเซะ คดีตากใบ คดีพ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหา เป็นต้น ซึ่งส.ส.ทุกคนต่างลุกขึ้นมาสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งว่า พบว่ามีบุคคลอุ้มหายหลายคน หากนับเฉพาะในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมเป็น 9 คน ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกกฎหมายนี้

นอกจากนี้ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวตอนหนึ่งถึงสมัยที่ครอบครัวของตนเองหาศพหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำของชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นปู่ของนางเพชรดาว ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ซึ่งต่อมาศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ

กระทั่งเวลา 18.48 น. นายชวน หลีกภัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งยุติการอภิปราย และให้ลงมติในวันที่ 16 ก.ย. จากนั้นได้สั่งปิดการประชุม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"