ไม่ยุบสภาแต่จะมาใหม่


เพิ่มเพื่อน    

น่าดูชม.....
    กูรูวิเคราะห์กันว่า "ลุงตู่" จะยุบสภาในเร็วๆ นี้
    ผู้มาก่อนกาลอย่าง "เต้ มงคลกิตติ์" ฟันเฟิร์ม นายกฯ จะยุบสภากะทันหันแน่นอน 
    จริงหรือไม่?
    ดูเหมือน "เต้" กำลังคึก หลังทำนาย "ลุงตู่" ปลด "ธรรมนัส พรหมเผ่า" 
    แล้วก็ปลดจริงๆ
    โซเชียลเลยแห่กันเชื่อตาม "เต้" 
    "เต้" ว่าไง โซเชียลก็ว่างั้น 
    สีสันครับ...
    วิเคราะห์การเมืองกันจริงๆ บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางการเมือง  ขณะนี้ยังหาเหตุผลถึงขั้นทำให้ต้องยุบสภาไม่ได้ 
    เรื่องบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ ไม่ใช่ความผิดพลาด 
    แต่เป็นความตั้งใจ! 
    เพราะเสียงโหวตจาก ส.ส.รัฐบาล วุฒิสมาชิก ส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน 
    การชิงยุบสภาเพื่อกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งเดิม บัตรใบเดียว เสียงไม่ตกน้ำ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ 
    บัตร ๒ ใบเสร็จเพื่อไทยจริงหรือไม่?
    ยังยากที่จะฟันธงว่าเป็นเช่นนั้น 
    แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกลายมาเป็น บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ มีสิ่งบอกเหตุมาตั้งแต่ วันที่ ๒๔ มิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว 
    คือวันที่สมาชิกรัฐสภาลงมติวาระที่ ๑ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน  ๑๓ ร่าง
    ผ่านเพียงร่างเดียวคือร่างที่ ๑๓ และเป็นร่างที่สมาชิกรัฐสภาขานชื่อลงคะแนนท้ายสุด
      เป็นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
    ที่ประชุมรัฐสภารับหลักการ ๕๕๒ เสียง   
    แยกเป็น ส.ส.ลงคะแนน ๓๔๒ เสียง  
    ส.ว.ลงคะแนน ๒๑๐ เสียง
    ไม่รับหลักการ ๒๔ เสียง
    งดออกเสียง ๑๓๐ เสียง
    ไม่ลงคะแนนเสียง ๒๗ เสียง
    ผ่าน เพราะได้เสียงจาก ส.ว.เกิน ๘๔ เสียง
    เมื่อเทียบกับจำนวนเสียงที่ลงคะแนนในวาระที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๐  กันยายน พบว่า 
    ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ ๔๗๒ เสียง 
    เป็นคะแนนของ ส.ส. ๓๒๓ เสียง 
    ส.ว. ๑๔๙ เสียง
    ไม่เห็นชอบ ๓๓ เสียง
    เป็นคะแนนของ ส.ส. ๒๓ เสียง 
    และ ส.ว. ๑๐ เสียง
    งดออกเสียง ๑๘๗ เสียง  
    เป็นคะแนนของ ส.ส. ๑๒๑ เสียง 
    และ ส.ว. ๖๖ เสียง
    จะเห็นว่าทิศทางการลงคะแนนเสียง ไม่ต่างกันมากเท่าไหร่ 
    ฉะนั้นแปลความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เสียงส่วนใหญ่โดยรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ล็อกบัตร ๒ ใบมาตั้งแต่ต้นแล้ว 
    แต่ก็มีคำถามว่า วัดกำลังแล้ว พรรคพลังประชารัฐ ไม่น่าจะสู้ พรรคเพื่อไทยได้ ระบบเลือกตั้งบัตร ๒ ใบจึงน่าจะเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้พรรคเพื่อไทยมากกว่า 
    สิ่งที่จะตามมาคือ "ทักษิณ" จะกลับมาอย่างเท่ๆ
    ระบอบทักษิณจะฟื้นคืนอีกครั้ง 
    แต่เดี๋ยวก่อน.... 
    อย่าเพิ่งไปถึงขั้นนั้่น
    แน่ใจหรือว่า วัดกำลังแล้ว พรรคพลังประชารัฐ สู้เพื่อไทยไม่ได้ 
    ผลการเลือกตั้งวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ พรรคเพื่อไทยโกยเก้าอี้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ ๑๓๖ ที่นั่ง ซึ่งเป็น ส.ส.เขตทั้งหมด
    หากเป็นบัตร ๒ ใบจะได้เพิ่มอีกนับสิบที่นั่ง 
    ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.เขตเพียง ๙๗ ที่นั่ง บวกกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑๙ คน รวม ๑๑๖ ที่นั่ง เป็นรองพรรคเพื่อไทย 
    แต่....มีตัวเลขที่น่าสนใจกว่านั้น 
    คะแนนรวมหรือ popular vote พรรคพลังประชารัฐเหนือกว่า 
    พรรคพลังประชารัฐได้ ๘,๔๔๑,๒๗๔ คะแนน
    พรรคเพื่อไทยได้ ๗,๘๘๑,๐๐๖ คะแนน 
    ต่างกันอยู่ ๕๖๐,๒๖๘ คะแนน
    มาถึงตรงนี้ก็พอจะมองออกว่า ทำไมถึงต้องเป็นบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ 
    ยังไม่จบ...พรรคพลังประชารัฐยังมีการบ้านต้องทำอีกเยอะ หากต้องการชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ ๑ แทนที่ พรรคเพื่อไทย 
    แน่นอนกรณีการปลด "ธรรมนัส พรหมเผ่า" ในสายตาคนภายนอก สะท้อนให้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจรอวันแตก 
    วิกฤตของ ๓ ป.เป็นสิ่งบอกเหตุว่า "ลุงตู่" โยนผ้าแล้ว ครบเทอมก็จบกัน ไม่ไปต่อ
    มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่? 
    ในข้อเท็จจริง การเมืองเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อยู่ที่เงื่อนไขและผลประโยชน์ที่ลงตัว 
    พรรคพลังประชารัฐยังเป็นเพียงพรรคการเมืองที่นักการเมืองรวมตัวกันอยู่หลวมๆ และพร้อมที่จะแยกย้ายได้ทันทีหากต้องเลือกตั้งใหม่ 
    แต่ประเด็นคือ ๓ ป. มีความมั่นใจอะไร ถึงวางแผนใช้ระบบเลือกตั้งบัตร ๒ ใบมาตั้งแต่แรก 
    รอยร้าวในพรรคการเมืองไม่ได้มีเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ
    เพื่อไทย แตกไปเป็น ไทยสร้างไทย นำโดย เจ๊หน่อย สุดารัตน์     
    ขณะที่พรรคแตกแบงก์พันเดิมก็ไม่กลับเพื่อไทย เช่น พรรคเส้นทางใหม่ ของ จาตุรนต์ ฉายแสง, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
    ว่ากันว่าจะทำลายเพื่อไทยต้องเจาะอีสานให้เข้า 
    แต่ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนทำได้สำเร็จ
    เมื่อพิจารณาลึกลงไป ก่อนมีไทยรักไทย ส.ส.อีสาน อยู่กับความหวังใหม่ ของพ่อใหญ่จิ๋ว 
    ความหวังใหม่แตก ถูกควบรวม ส.ส.หน้าเดิมก็มาอยู่ไทยรักไทย 
    ก่อนบางส่วนจะแตกไปเป็นภูมิใจไทย ก็ล้วนเป็นคนหน้าเดิม  ตระกูลการเมืองเดิมๆ แทบทั้งสิ้น 
    ก็หมายความว่า คนอีสาน ยังคงเลือกตัวบุคคลมากกว่าเลือกพรรค 
    นี่คือช่องทางที่จะโค่นเพื่อไทย  
    การบ้านที่พลังประชารัฐต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้คือ ทำอย่างไรให้ได้ ส.ส.เขตมากกว่าหรือเท่ากับพรรคเพื่อไทย 
    ถ้าแพ้ ก็ต้องแพ้แบบสูสี 
    แล้วไปวัดกันที่ บัตรเลือกตั้ง ที่ให้กาเลือกพรรค นั่นคือจำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 
    ขณะที่คนเก่าของพรรคประชาธิปัตย์พากันกลับรัง 
    ฟอร์มทีมใหม่กันอีกครั้ง
    พรรคก้าวไกลต้องฝ่ากระแสล้มเจ้า ดังนั้นจึงต้องอาศัยเสียงคนรุ่นใหม่เป็นหลัก แต่ก็ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ทั้งหมดจะเอากับพรรคก้าวไกล 
    และต้องไปแบ่งฐานเสียงกับพรรคเพื่อไทย ไทยสร้างไทย และเส้นทางใหม่ 
    เมื่อดูสัดส่วนอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สถิติที่ใช้ในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒  พบว่า 
    อายุระหว่าง ๑๘-๒๖ ปี มีประมาณ ๘.๔ ล้านคน  
    อายุระหว่าง ๒๗-๓๕ ปี มีประมาณ ๘.๔ ล้านคน
    อายุระหว่าง ๓๖-๕๐ ปี มีประมาณ ๑๕.๖ ล้านคน 
    อายุระหว่าง ๕๑-๖๕ ปี มีประมาณ ๑๒.๕ ล้านคน
    และอายุ ๖๖ ปีขึ้นไป มีประมาณ ๗ ล้านคน 
    เช่นเดียวกันคนรุ่นเก่า อายุประมาณ ๔๐ ปีขึ้นไปก็ใช่ว่าจะเลือก พลังประชารัฐ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยทั้งหมด 
    แต่ประเด็นล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์มีความอ่อนไหวสูงสำหรับคนอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป 
    รัฐบาลลุงตู่ มีเวลาบริหารประเทศต่ออีกปีเศษ มากพอที่จะหาช่องเจาะพื้นที่ภาคอีสาน 
    และมีอยู่ไม่กี่คนที่มีศักยภาพพอที่จะทำงานนี้ได้ 
    หนึ่งในนั้นคือ "ธรรมนัส พรหมเผ่า". 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"