วิรัชลุ้นศาลสั่งหยุดหน้าที่


เพิ่มเพื่อน    

"กลุ่มรัตนเศรษฐ-3 ส.ส.พลังประชารัฐ" โคม่า จบแล้วกลุ่ม 4 ช.  อัยการยื่นฟ้องคดีทุจริตงบก่อสร้างสนามฟุตซอลโคราชต่อศาลฎีกาฯ ตั้งข้อหาฉกรรจ์ "วิรัช-ภรรยา-น้องเมีย" ขอเลื่อนรายงานตัว อ้างติดสมัยประชุมสภา ลุ้นหนักองค์คณะให้ใบแดง ห้ามเข้าห้องประชุมสภา หยุดพักปฏิบัติหน้าที่ เผยส.ส.รัฐบาลกระเด็นไปแล้ว 7 เสียง 
    เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายสายัน จันทะรัง พนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามทุจริต 2 และคณะทำงาน นัดส่งตัวยื่นฟ้องในคดีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและประธานวิปรัฐบาล กับพวกรวม 87 คน เป็นจำเลย ในคดีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
     ซึ่งคดีดังกล่าว ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมชี้มูลความผิดนายวิรัช สมัยเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันกับพวกรวม 87 คน ทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2555 จัดสร้างสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา 18 จังหวัด มูลค่า 4,459 ล้านบาท รวมทั้งโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา เขต 2 จ.นครราชสีมาด้วย แต่ปรากฏว่าการสร้างสนามฟุตซอลใน จ.นครราชสีมา กลับสร้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถใช้งานได้
    โดยพบว่ากลุ่มผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมาทยอยเดินทางเข้ามารายงานตัวตามนัดของพนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริต 2 จำนวน 81 คน ไม่มารายงานตัวและขอเลื่อนอ้างเหตุผลว่าอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และเป็น ส.ส.จำนวน 3 คน คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยา ส.ส.นครราชสีมา และ นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ  ส.ส.นครราชสีมา พลังประชารัฐ (น้องสาวนางทัศนียา) 
    นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีดังกล่าวที่มีการฟ้องเอาผิดผู้ต้องหาทั้งหมด 87 คน โดยแต่ละคนจะข้อหาไม่เหมือนกัน แต่ในภาพรวม 14 ข้อหาด้วยกัน ประกอบด้วย เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยรัฐ, เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่วมกระทำความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ, ร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม ร่วมกันปลอมเอกสาร, สนับสนุนเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าพนักงานของรัฐในการทำหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542-พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญาอีกหลายมาตรา 
    นายประยุทธกล่าวต่อว่า ส่วนผู้ต้องหาที่ขอเลื่อนจำนวน 6 คนนั้น แบ่งเป็นบุคคล 5 คน และนิติบุคคล 1 แห่งด้วย ส่วนใหญ่อ้างประเด็นสถานการณ์โควิด-19 แต่ไม่ได้ป่วยหรือติดเชื้อโควิด-19สำหรับนายวิรัชและนางทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยา ผู้ต้องหาที่ 1-2 ที่เป็น ส.ส. อ้างว่าอยู่ในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร อัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้เป็นข้อห้ามในการยื่นฟ้องต่อศาล จึงแจ้งกลับไปว่าไม่อนุญาตให้เลื่อน ส่วนกระบวนพิจารณาของศาลจะดำเนินไปได้เพียงใดนั้น เป็นขั้นตอนที่ทางศาลฎีกาฯ จะได้เป็นผู้พิจารณา ส่วนกรณีหากไม่สามารถฟ้องส่งตัวได้ จะเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นที่ไม่มีการส่งตัว ซึ่งเป็นกรณีหลบหนีหรือประวิงคดี หรืออ้างเหตุขอเลื่อนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทางอัยการก็จะยื่นฟ้องทั้งหมด เมื่ออัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาก็จะมีขั้นตอนตามมาตรา 11 ของ ป วิ.อม. ที่จะกำหนดวันนัดประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อเลือกองค์คณะ ทั้ง 9 คน และออกหมายเรียกให้จำเลยมาตามกำหนดนัดพิจารณา
     เมื่อถามว่า คดีจำเลยเป็นนักการเมือง พนักงานอัยการมีความรู้สึกหนักใจหรือไม่ นายประยุทธกล่าวยืนยันว่า อัยการทำสำนวนคดีตามพยานหลักฐาน ไม่ได้วิตกกังวลแต่อย่างใด เรื่องนี้ไม่มีประเด็นนอกสำนวนหรือการเมือง ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังยื่นฟ้องคดีต่อศาล ขั้นตอนต่อไป ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 11 บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยเร็ว เพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 9 คน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา โดยองค์คณะผู้พิพากษามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีจนกว่าจะสิ้นสุดหน้าที่ และในมาตรา 17 เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา 10 (1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ กรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง หรือคำพิพากษานั้นมีผลให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์ตามหมวด 6 อุทธรณ์หรือไม่ ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
    นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก ได้เเก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 235 วรรค 1 (2) ยังบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่มีการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวแล้วแต่กรณี หากศาลประทับรับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา  เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และหากศาลมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ต้องคำพิพากษาต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ และผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ด้วย และในกรณีที่ศาลพิพากษาผู้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด รวมทั้งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน
    สำหรับผู้ต้องหากลุ่มนักการเมือง พบว่ามีด้วยกัน 3 คน โดยเป็นเครือข่ายตระกูล "รัตนเศรษฐ" ในพรรคพลังประชารัฐทั้งสิ้นคือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ, นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยา, นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ  ส.ส.พลังประชารัฐ (น้องสาวนางทัศนียา)    ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวิรัชเคยเป็นหนึ่งในปีกการเมืองกลุ่ม 4 ช.พลังประชารัฐ ที่มีข่าวต้องการผลักดันให้นายอธิรัฐ บุตรชาย ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการ  หลังศึกซักฟอก แต่ตอนหลังวงแตกหลังนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลังแยกวง และเกิดกรณีนายกรัฐมนตรีปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากการเป็นรัฐมนตรี  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนภายหลังยื่นฟ้อง จากคดีที่ผ่านมาในอดีตจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนก็จะมีคำสั่งประทับฟ้อง ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ไวเเค่ไหน ซึ่งเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาจะกำหนดวันนัดประชุม
    อนึ่งปัจจุบันมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่ระหว่างพักปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วร่วม 7 คน แยกเป็นที่ถูกศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรงจากการเสียบบัตรแทนกัน ประกอบด้วย น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ และจากพรรคภูมิใจไทย   2 คน นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ และนายภูมิศิษฏ์ คงมี สอง ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และยังมี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พลังประชารัฐ ในคดีทำผิดมาตรฐานจริยธรรมฯ กรณีครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ นอกจากนี้อีก 3 คน คือกรณีศาลรัฐธรรมนูญในคดีวินิจฉัยเรื่องสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของอดีตแกนนำ กปปส. ประกอบด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จากพลังประชารัฐ,  นายถาวร เสนเนียม และนายชุมพล จุลใส จากพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้หากศาลฎีกาสั่งให้สาม ส.ส.พลังประชารัฐตระกูลกลุ่มรัตนเศรษฐ หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่อีก จะทำให้มี ส.ส.รัฐบาลหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่รวมแล้วร่วม 10 คน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"