การจัดเวทีนำเสนอองค์ความรู้โมเดลการพัฒนา ‘ตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง’ ผ่านระบบ Zoom มีผู้เข้าร่วม 340 คน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน / พอช.จัดเวทีนำเสนอองค์ความรู้โมเดลการพัฒนา ‘ตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง’ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสนอบทสังเคราะห์การถอดความรู้โดยนักวิชาการ 5 ภาค ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สว. หนุนการพัฒนาประเทศจากฐานล่าง เหมือนสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างฐานให้มั่นคง พร้อมแนะรัฐสนับสนุนให้ตำบลเข้มแข็งเป็นวาระแห่งชาติ
วันนี้ (14 กันยายน) ระหว่างเวลา 13.00 -18.30 น. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้จัดเวทีนำเสนอองค์ความรู้โมเดลการพัฒนา ‘ตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง’ ผ่านโปรแกรม Zoom Meetings มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอองค์ความรู้โมเดลการพัฒนา การแลกเปลี่ยนการพัฒนาตำบลเข้มแข็งโดยการใช้เครื่องมือสนับสนุนต่างๆ ของแต่ละพื้นที่และของแต่ละหน่วยงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ฯลฯ โดยมีผู้นำชุมชน ผู้แทนภาคีเครือข่าย นักวิชาการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมเวทีประมาณ 340 คน
นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการสนับสนุนการพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า พอช. ได้สนับสนุนการนำตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งมาใช้ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนนำตัวชี้วัดฯ ไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชน และในปีงบประมาณ 2564 พอช.ตั้งเป้าหมายการพัฒนาตำบลต้นแบบชุมชนเข้มแข็งให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 800 ตำบล ( 5 ภาคๆ ละ 160 ตำบล) โดยใช้ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง 4 มิติเป็นเครื่องมือ (คนมีแนวคิดและความสามารถเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์โครงสร้าง/นโยบาย และองค์กรชุมชนเข้มแข็ง มีความสามารถในการบริหารจัดการ) และนำมาประเมินผล สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้โมเดล ‘การพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง’ นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ
‘นพ.อำพล’ แนะใช้ ‘เบญจพลัง’ หนุนการพัฒนา
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา บรรยายเรื่อง ‘ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยชุมชนเข้มแข็ง และทิศทางของรัฐที่ควนปรับเปลี่ยน’ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ภาพรวมของปัญหาชุมชนมีปัจจัยจาก 1.การบริหารราชการรวมศูนย์ รวบอำนาจ 2.ภายนอกดึงทรัพยากรออกจากชุมชน 3.ชุมชนขาดภูมิต้านทาน พึ่งตัวเองไม่ได้ 4.ชุมชน ฐานสังคมอ่อนแอ ล่มสลาย ดังนั้นการพัฒนาประเทศจะต้องพัฒนาจากฐานราก เหมือนการสร้างพระเจดีย์ จะต้องสร้างฐานพระเจดีย์ให้มั่นคง โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งจัดการตนเองได้ และไปเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ของสังคมได้
จากปัญหาดังกล่าว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป้าหมายที่ 3 เรื่อง ‘เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเอง และการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ’ จึงเน้นเรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง สร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างประชาธิปไตยชุมชน และการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาให้กับชุมชน
ทั้งนี้จากการศึกษาเรื่อง ‘การจัดการตำบลเข้มแข็งตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ’ ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โดยใช้วิธีการศึกษาหลายรูปแบบ รวมทั้งการศึกษาพื้นที่ 4 ตำบล 4 ภาค (ตำบลแม่ทา จ.เชียงใหม่ ตำบลห้วยงู จ.ชัยนาท ตำบลเลยวังไสย์ จ.เลย และตำบลนาทอน จ.สตูล) มีข้อค้นพบที่สำคัญที่จะนำไปสู่ตำบลเข้มแข็ง เช่น
1. ‘จตุพลัง’ เป็นการบริหารจัดการแบบหุ้นส่วนในระดับตำบล มีท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคม หากมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาเสริมเป็น ‘เบญจพลัง’ จะช่วยเพิ่มปัจจัยต่าง ๆ ให้ตำบลเข้มแข็งยิ่งขึ้น
2. การพัฒนาประเทศด้วย ‘ระบบแผนเดียวกัน’ หรือ One Plan ของรัฐบาล จะเชื่อมโยงกระทรวง กรม และพื้นที่ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชนเข้าด้วยกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ชุมชนท้องถิ่นจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและครบวงจร ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของเบญจพลังที่ต้องพัฒนาและเรียนรู้ร่วมกัน และ พอช.ควรจะเข้าไปหนุนเสริมชุนชนท้องถิ่นเรื่องการวางแผน
3. ตำบลจะเข้มแข็งขึ้นกับปัจจัยภายนอก เช่น การเมือง การบริหารราชการฯ การมอบหมายมีแผนงานเฉพาะ และปัจจัยภายใน เช่น มีการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ การพึ่งตนเองได้ และการขจัดอุปสรรค
4. การจัดการตำบลเข้มแข็งในระดับปฏิบัติการ ต้องใช้ทั้งแกนนำ เครือข่าย เครื่องมือ เวทีกลาง ศาสตร์และศิลปะ และการขับเคลื่อนนโยบายและแผน ฯลฯ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
“นอกจากนี้ตำบลยังมีนวัตกรรมที่เป็นทุนทางสังคมจำนวนมาก เช่น กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน การวิจัยโดยชุมชน ธรรมนูญตำบล วิสาหกิจชุมชน กองทุนตำบล ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาใช้และพัฒนาต่อยอดได้มาก โดยเฉพาะเรื่องแผนแม่บทชุมชน หากทำตรงนี้ให้ดี เมื่อรัฐทำเรื่อง One Plan ชุมชนจะได้นำแผนไปเสียบได้ทันที” นพ.อำพลกล่าว
สว.ร่วมผลักดัน ‘ตำบลเข้มแข็งเป็นวาระแห่งชาติ’
นพ.อำพล กล่าวถึงข้อเสนอในตอนท้ายเพื่อหนุนเสริมให้ตำบลเข้มแข็งว่า รัฐควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง 6 ด้านดังนี้ 1. ควรกำหนดให้การสร้างเสริม ‘ตำบลเข้มแข็ง’ เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ เป็นการตอกย้ำเรื่องการพัฒนา มีเป้าหมายนำไปสู่ ‘ตำบลเข้มแข็ง ประเทศมั่นคง’ 2. ควรกำหนดให้เป็นนโยบาย ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ทำความเข้าใจแนวคิด แนวทางการบริหารจัดการแบบหุ้นส่วนในระดับพื้นที่ และพัฒนาระบบกลไก วิธีการทำงานสนับสนุน ‘การจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วน’
3. ควรให้มี ‘ตัวชี้วัดร่วมเชิงกระบวนการ’ ให้ส่วนราชการที่มีภารกิจในระดับตำบลและพื้นที่ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วน 4. ควรให้มีแผนงาน โครงการ และงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วน เวทีสมัชชาตำบลเข้มแข็ง (ตำบล, อำเภอ, จังหวัด) การใช้เครื่องมือส่งเสริมการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วน
5. ควรให้มี ‘หลักสูตรการจัดการตำบลเข้มแข็ง’ ให้ผู้บริหาร ข้าราชการ ผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน 6. ควรให้มี ‘สมัชชาตำบลเข้มแข็งแห่งชาติ’ เพื่อเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาการจัดการตำบลเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
“ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อนี้ วุฒิสภาจะเอาไปผลักดัน รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต้องช่วยกัน เพื่อให้รัฐบาลนำสิ่งเหล่านี้ไปขบคิดต่อ แล้วไปออกเป็นนโยบายสู่การปฏิบัติจริง รัฐบาล หมายถึงกระทรวง ทบวงกรม ต้องเปลี่ยนวิธีคิด การจัดการ สร้างความเข้าใจว่า ให้คนข้างในสามารถเข้ามาร่วมกันจัดการตนเอง พึ่งพาตนเองให้มาก และรัฐมาสนับสนุน” นพ.อำพลกล่าวย้ำ
โมเดลการพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง
นอกจากการบรรยายของ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำเสนอบทสังเคราะห์ ‘โมเดลการพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง’ จากทีมนักวิชาการ 5 ภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก ม.ขอนแก่น และ ม.อุบลราชธานี ภาคใต้ จาก ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ภาคกลางและตะวันตก จาก ม.เกษตรศาสตร์ ภาคเหนือ โดยทีมนักวิชาการภาคเหนือ และภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑล และตะวันออก จาก ม.บูรพา
ตัวอย่าง ‘การถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชน เทศบาลตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ’
ผศ.บุญทิวา พ่วงกลัด มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอกระบวนการและวิธีการถอดบทเรียนว่า การลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ใช้วิธีการสนทนากลุ่ม โดยมีคนที่เข้าร่วมหลากหลาย และมีการสัมภาษณ์เชิงลึกผ่านระบบออนไลน์ ส่งข้อความผ่านไลน์
ในส่วนของพื้นที่มีบริบทหรือต้นทุนเดิม คือ มีความเข้มแข็ง มีความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน ในพื้นที่มีการขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นการพัฒนา ที่เด่นๆ เช่น กลุ่มพัฒนาบ้านเฮา เป็นเวลายาวนานก่อนที่จะเกิดการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ (ปี 2555) มีแนวคิดการจัดการตนเอง/การจัดการตนเอง จัดทำธรรมนูญประชาชนตำบลเสนางคนิคม (ปี 2555) อำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตร (2556) ฯลฯ
นอกจากนี้พื้นที่ยังมีทุนต่างๆ มากมาย เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กองทุนข้าวปันสุข หรือธนาคารข้าวของชุมชน เป็นการแบ่งปันข้าว มีการกำหนดเงื่อนไขว่าใครบ้างที่จะมาขอข้าวจากกองทุนได้ นอกนี้มีกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ
‘โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน เพื่อผลิตสินค้าและทำการตลาด’ โครงการนี้เกิดขึ้นได้โดยการวิเคราะห์สภาพปัญหา ซึ่งพบ 3 ปัญหาสำคัญ คือ 1.ปัญหาด้านรายได้ของเกษตรกร 2.ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ (นำไปสู่การคิดเรื่องการแปรรูป) และ 3.คนในชุมชนไม่มีรายได้ในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน เพื่อผลิตสินค้าและทำการตลาด
ชาวบ้านเสนางคนิคมรวมกลุ่มกันนำผลผลิตมาแปรรูปจำหน่าย สร้างอาชีพ สร้างรายได้
โดยมีกระบวนการ คือ 1. มีการวิเคราะห์ข้อมูล สำรวจศักยภาพ 15 กลุ่ม มีการคัดกรองเฉพาะกลุ่มที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำผลผลิตขายในและนอกพื้นที่ พบว่ามี 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มทำข้าวอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับข้าวและอื่นๆ
2. การดำเนินกิจกรรมโครงการ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. โดยการอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวและกล้วยเป็นหลัก เนื่องจากแต่ก่อนกลุ่มไม่ได้รวมตัวกัน ต่างผลิต ต่างขาย แต่โครงการทำให้กลุ่มต่างๆ มาร่วมกัน เพื่อผลักดันการดำเนินงานโครงการ รวมถึงเรื่องของตลาด นอกจากนี้ยังมีการอบรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพราะเดิมสินค้าขายในชุมชนเป็นหลัก มีขายข้างนอกบ้างโดยไม่มีโลโก้สินค้า ผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ ข้าวแต๋น กล้วยตาก กล้วยฉาบ โดยสร้างแบรนด์ “เมืองสองนาง” นอกจากนี้มีสินค้าเสริม คือ ชาจากใบข้าว
3. การดำเนินกิจกรรมผลิตภัณฑ์เสริม เช่น ชาใบข้าว กล้วยออร์แกนิค เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง จึงเน้นการส่งขายนอกชุมชน นอกจากนี้ยังมีการอบรมการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญการทำเว็บไซต์
4. การดำเนินกิจกรรมร้านค้าสวัสดิการชุมชน และตลาดนัดเกษตรปลอดภัย สินค้าวางจำหน่ายที่ร้านค้าสวัสดิการชุมชน เปิดดำเนินการแล้วแต่ต้องปิด เนื่องจากประสบปัญหาบางอย่าง กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ฟื้นคืนสิ่งที่มีอยู่เดิมกลับคืนมา
5. แผนในอนาคต ทางประธานสภาองค์กรชุมชนบอกว่าอยากจดทะเบียนให้เป็นวิสาหกิจชุมชน และมีการรวบรวมสินค้าชุมชนทุกอย่างที่พื้นที่สามารถผลิตได้ นำมาจำหน่ายในร้านค้า และการสร้างเครือข่ายโดยการเชื่อมโยงกับขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด ทำการค้าเชื่อมโยงทั้งในและนอกจังหวัด
เนื่องจากที่ผ่านมาในพื้นที่ได้รับออร์เดอร์สินค้าจากบริษัทเอกชนเป็นจำนวนมาก ราคาประมาณ 500,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาค่อนข้างสูง แต่ละกลุ่มจึงระดมกำลังคนมาช่วยกันผลิตสินค้าเพื่อผลิตให้ทันคำสั่งซื้อ ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่มีการร่วมกันผลิตในชุมชน ไม่ได้แยกกันทำเหมือนแต่ก่อน
“ในตัวชี้วัด 4 มิติ ชุมชนเข้มแข็งของ พอช. จะเห็นว่าเด่นชัดในเรื่องคนมีคุณภาพได้ 25 คะแนนเต็ม เห็นว่าคนในพื้นที่มีการขับเคลื่อนงานประเด็นต่างๆ ต้องการพัฒนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ที่สำคัญคือ เด็กและเยาวชนที่เคยร่วมกิจกรรมในช่วง 10 – 20 ปีที่แล้ว กลับมาเป็นแกนนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชนในการขับเคลื่อนงานครั้งนี้ด้วย” ผศ.บุญธิวายกตัวอย่างการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชน เทศบาลตำบลเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |