ถามจากปากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีถึงการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ยังไงก็ไม่หลุดแน่ แต่ถ้าสังเกตเอาเอง พอดูออกว่ามีความผิดปกติ จับสัญญาณจากที่ทุกพรรคการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวลงพื้นที่พบปะประชาชนถี่ขึ้น ขณะที่พรรคเกิดใหม่ เร่งหาตัวผู้สมัครและสมาชิกพรรค
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ใช้เวลาไปกับการ “ออนทัวร์” ล่องใต้ ฐานเสียงหลักของประชาธิปัตย์
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. จอดจุดแรกที่จังหวัดชุมพร ให้กำลังใจ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส ส.ส.ของพรรค จากนั้นเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.เลือดใหม่ “ดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย” ประกาศให้ชาวระนองทราบแต่เนิ่นๆ พรรคเอาคนนี้แหละลงชิงเก้าอี้ ส.ส.เมืองน้ำแร่ ในศึกเลือกตั้งรอบหน้า
นอกจากนี้ยังไม่ลืมกลับไปบ้านเกิดที่จังหวัดพังงา ให้กำลังใจ อสม. บุคลากรด่านหน้าโรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ และติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
รวมทั้งยังถือโอกาสพูดคุยกับชาวพังงา หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งอย่างซึ้งกินใจว่า "ดีใจที่ได้มาพบกับพวกเราอีกครั้ง ไม่ลืมพี่น้องประชาชน และไม่ลืมสิ่งที่ประชาชนทำให้ จนได้เป็นผมในวันนี้ ได้มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 ซึ่งพรรคเป็นสถาบันที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศ เชื่อว่าพี่น้องทุกคนร่วมภูมิใจกับผม เราผูกพันกันมายั่งยืนยาวนาน และจะผูกพันกันตลอดไป ตั้งปณิธานว่าวันหนึ่งแม้จะพ้นการเมืองก็จะไม่ลืมคนที่นี่ไม่ลืมพี่น้องคุระบุรี เราผูกพันกันตลอดชีวิตของความเป็นคน ไม่ใช่ตลอดชีวิตของการเป็นนักการเมือง นี่คือสิ่งที่อยากบอกกับพี่น้อง"
อย่างไรก็ตาม การออนทัวร์ครั้งนี้ “จุรินทร์” ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งครั้งก่อนไว้อย่างน่าสนใจว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก่อนที่ตนจะมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ถือว่าการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ว ทำให้ทราบว่ามีลักษณะคล้ายกับเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง
“มั่นใจว่าจะปักธงได้ที่จังหวัดระนองอีก 1 ที่นั่ง ส่วนพื้นที่จังหวัดอันดามัน ขณะนี้ได้วางตัวผู้สมัครครบแล้วทั้ง 6 จังหวัด ซึ่งรัฐธรรมนูญแก้ไขเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต้องเพิ่มผู้สมัครอีก 4 คน ในจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และภูเก็ต มั่นใจว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะได้ที่นั่งเพิ่ม และสามารถทวงคืนพื้นที่ใน จ.สตูลและระนองกลับมาได้ทั้งหมด”
เมื่อตรวจสอบผลการเลือกตั้ง มีนาคมปี 62 พบว่าประชาธิปัตย์เจ็บหนัก ในกรุงเทพมหานครไม่มี ส.ส.ในนามพรรคแม้แต่คนเดียว ส่วนภาคใต้ที่ว่าแน่ๆ ก็ยังโดนพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทยกินรวบ
เช่น จังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทยได้ยกจังหวัด มีพิบูลย์ รัชกิจประการ และวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ เป็น ส.ส. จังหวัดระนองก็ตกเป็นของ คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ แห่งภูมิใจไทย ขณะที่จังหวัดภูเก็ต พรรคพลังประชารัฐได้ยกจังหวัด โดยมีสุทา ประทีป ณ ถลาง และนัทธี ถิ่นสาคู เป็นส.ส.
ส่วนจังหวัดนราธิวาส มี 4 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็นของพรรคพลังประชารัฐ 2 คน วัชระ ยาวอหะซัน และสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ พปชร. จากพรรคประชาชาติ 2 คน ได้แก่ กูเฮง ยาวอหะซัน และกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ
จังหวัดยะลา เป็นของพรรคประชาชาติ 2 คน ได้แก่ ซูการ์โน มะทา, อับดุลอายี สาแม็ง และอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ จากพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนจังหวัดปัตตานี เลือกตั้งรอบหน้าน่าจับตาอย่างยิ่ง เมื่อปี 62 มี ส.ส. 4 คน ได้แก่ อันวาร์ สาและ พรรคประชาธิปัตย์, อับดุลบาซิม อาบู พรรคภูมิใจไทย, อนุมัติ ซูสารอ พรรคประชาชาติ และสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ พรรคประชาชาติ ข่าวล่ามาแรง “อนุมัติ” เป็นงูเห่า เลือกตั้งรอบหน้าจ่อย้ายซบพลังประชารัฐทั้งตัวและหัวใจ ส่วน “อันวาร์” ไม้เบื่อไม้เมาของพรรคประชาธิปัตย์ ออกเสียงเรื่องสำคัญๆ ทีไร สวนมติพรรคเป็นประจำ จึงต้องดูว่ารอบหน้าคณะกรรมการบริหารจะให้ลงสมัครต่ออีกหรือไม่ หรือจะย้ายพรรคหาพื้นที่เล่นการเมืองต่อไป
ในทางกลับกัน ประชาธิปัตย์ได้ยกจังหวัด 2 จังหวัด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดพังงา ส่วนที่เหลือมี พรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ร่วมแชร์ ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดตรัง มี 3 เขตเลือกตั้ง ก็ยังมีนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ แทรก
สำหรับจังหวัดใหญ่สำคัญอย่างสงขลา จังหวัดถิ่นเกิดของ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค เลือกตั้งครั้งที่แล้ว ประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถยกจังหวัดได้ โดยคว้าไปเพียง 3 เขต ประกอบด้วย เดชอิศม์ ขาวทอง, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ และถาวร เสนเนียม
โดยสนามเลือกตั้งปี 62 “นิพนธ์” ส่งลูกชาย “สรรเพชญ บุญญามณี” ป้องกันแชมป์ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดสงขลา แต่ไม่วายพ่ายให้กับ “วันชัย ปริญญาศิริ” จากค่ายพลังประชารัฐ นอกจากนี้ พลังประชารัฐก็ยังมี ศาสตรา ศรีปาน, พยม พรหมเพชร และ ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ด้วย
ปิดท้ายที่ “ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ” แยกตัวจากทีมงานของ ศิริโชค โสภา มาลงในนามพรรคภูมิใจไทย จนเอาชนะเจ้าสำนักไปได้
จังหวัดใหญ่อีกจังหวัดหนึ่ง คือ นครศรีธรรมราช แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 8 เขตเหมือนกับจังหวัดสงขลา แรกเริ่ม ประชาธิปัตย์ได้ 5 ที่นั่ง และพลังประชารัฐได้ 4 ที่นั่ง ต่อมามีการเลือกตั้งซ่อม เขตของ “เทพไท เสนพงศ์” เนื่องจากเจ้าตัวพ้นความเป็น ส.ส. จากกรณีเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีฯ ผลเลือกตั้งซ่อมปรากฏว่า ประชาธิปัตย์แพ้ให้ “อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
ทำให้นครศรีธรรมราชโดนแบ่งครึ่งเป็นที่เรียบร้อย พรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ รงค์ บุญสวยขวัญ, สัณหพจน์ สุขศรีเมือง, สายัณห์ ยุติธรรม และอาญาสิทธิ์
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ ประกอบ รัตนพันธ์, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ, ชัยชนะ เดชเดโช และพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
สำหรับจังหวัดพัทลุง นริศ ขำนุรักษ์ ประชาธิปัตย์ เข้าวินเพียง 1 คน ส่วน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” แม้เที่ยวนี้จะพลาดเข้าสภา แต่บทบาทตามหน้าสื่อดังยิ่งกว่า ส.ส.ในจังหวัดเสียอีก ผลงานล่าสุด ทำภูมิศิษฏ์ คงมี และฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.ภูมิใจไทย หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากกรณีเสียบบัตรแทนกัน
ชุมพร 3 เขตเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์คว้าไป 2 เก้าอี้ คือ ชุมพล จุลใส และสราวุธ อ่อนละมัย พ่วงด้วย “ส.ส.ลูกช้าง” สุพล จุลใส พี่ชายของ “ลูกหมี” ชุมพล จากค่ายรวมพลังประชาชาติไทย
ปิดท้ายที่จังหวัด กระบี่ มี 2 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็นของ สาคร เกี่ยวข้อง พรรคประชาธิปัตย์ และสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม หากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขได้ใช้จริงในศึกหน้า ต้องจับตา “พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล” เลือดใหม่กระบี่ของประชาธิปัตย์ จะลงสมัคร ส.ส.เขต หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะถ้า ส.ส.แบบแบ่งเขตเพิ่มเป็น 400 คน ที่นั่งของจังหวัดกระบี่จะเพิ่มขึ้นอีก 1 ที่นั่ง
นี่ก็คือผลงานของประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา พูดกันหนาหูศึกสนามใหญ่รอบหน้าค่ายที่เก่าแก่ที่สุดอาจจะมี ส.ส.เดินเข้าสภาต่ำกว่า 50 คน แต่การเมืองก็คือการเมือง ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร
ฉะนั้น รอดู “พรรคประชาธิปัตย์” ในเวอร์ชัน “จุรินทร์” ประสานฝ่ามือ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค จะปรับทัพปรับยุทธศาสตร์อย่างไรต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |