เมื่อ 'โจ ไบเดน' ต่อสาย ตรงถึง 'สี จิ้นผิง'


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อโจ ไบเดนยกหูที่วอชิงตัน ขอคุยกับสี จิ้นผิงที่ปักกิ่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายาวถึง 90 นาที โลกน่าจะเย็นลงไหม?
    คำตอบของผมก็คือ อยู่ที่ว่าทั้งสองผู้นำจะตีความคำว่า “การแข่งขัน" (competition) กับ “ความขัดแย้ง” (conflict) ไปในทางเดียวกันหรือไม่
    ทั้งสองฝ่ายบอกว่า การสนทนากันเมื่อเช้าวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมานั้นเป็นการ “พูดคุยแลกเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์อย่างตรงไปตรงมา เจาะลึก และครอบคลุมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจีน-สหรัฐฯ และประเด็นอื่นที่เป็นที่สนใจของทั้งสองฝ่าย"
     สี จิ้นผิงเริ่มด้วยการแสดงความเสียใจต่อโจ ไบเดน และประชาชนชาวอเมริกัน ที่บาดเจ็บล้มตายและสูญเสียทรัพย์สินอันเกิดจากพายุเฮอริเคน “ไอดา” ในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา 
    โจ ไบเดนขอบคุณสำหรับความห่วงใยจากจีน 
    สี จิ้นผิงชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมานโยบายต่อจีนที่สหรัฐฯ  นำมาใช้ได้ก่อให้เกิด “ความยากลำบากที่ร้ายแรง” (serious difficulties)  ต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ 
    สีบอกว่า การกระทำของสหรัฐฯ อย่างนี้ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนทั้งสองประเทศและผลประโยชน์ร่วมกันของนานาประเทศในโลก 
    โจ ไบเดนต้องต่อสายไปถึงสี จิ้นผิง ก็เพราะการติดต่อประสานระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งในระดับรัฐมนตรีไม่มีความคืบหน้าตั้งแต่เขาเข้ามานั่งในทำเนียบขาวเมื่อ 7 เดือนก่อน
    โจจึงต้องคุยกับสีเอง
    สหรัฐฯ พยายามจะแยกประเด็นที่พอจะเห็นพ้องกับจีนได้จากเรื่องที่เป็นความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด
    เช่นเรื่องโลกร้อน (climate change) น่าจะมีความเห็นพ้องต้องกันได้มากกว่าเรื่องการค้า, สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยที่โยงกับฮ่องกงและไต้หวัน
    แต่ฝ่ายจีนถือว่าทุกเรื่องล้วนมีความเกี่ยวพันกัน 
    อเมริกาจะเลือกคุยในเรื่องที่ตนหวังได้ประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการที่จะตอบสนองข้อกังวลของจีนไม่ได้
    โจย้ำว่า สองประเทศน่าจะมีความเห็นพ้องต้องกันในบางเรื่องที่ผลประโยชน์ตรงกัน
    แต่เรื่อง “ค่านิยม” และ “มุมมอง” ในอีกบางเรื่องอาจจะต้องยอมเป็นเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ไปก่อน
    สีบอกโจว่า ปักกิ่งพร้อมจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในประเด็นเศรษฐกิจโลกและโลกร้อน
    “แต่ความร่วมมือเช่นว่านี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในความกังวลของกันและกัน”
    ผู้นำจีนบอกว่า มีความจำเป็นที่ทั้งสองประเทศจะต้องขับเคลื่อนความสัมพันธ์ให้ “กลับมาสู่ทิศทางที่ถูกต้อง”
    สีหยอดคำเปรียบเปรยที่น่าฟังว่า
    “การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำข้อสอบแบบปรนัย (ขีดถูกขีดผิดหรือเติมคำลงในช่องว่าง) หากแต่เป็นข้อสอบบังคับ (หรืออัตนัยที่ต้องเขียนเรียงความอย่างครบถ้วนกระบวนความ)”
    ผู้นำจีนบอกว่า จีนและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วที่ใหญ่ที่สุดตามลำดับ 
    และย้ำเตือนว่า การที่จีนและสหรัฐฯ จะสามารถจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดีหรือไม่นั้น ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับอนาคตและชะตากรรมของโลก 
    สีบอกกับโจว่า นี่คือ “คำถามแห่งศตวรรษ” ที่ทั้งสองประเทศต้องหาคำตอบให้ได้ 
    ผู้นำจีนบอกว่า ความร่วมมือจีน-สหรัฐฯ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและโลก 
    แต่การเผชิญหน้ากันจะนำภัยพิบัติมาสู่ทั้งสองประเทศและทั่วโลก 
    อีกตอนหนึ่ง สียกคำกล่าวของกวีจีนโบราณข้อหนึ่งที่บอกว่า
    “ที่ซึ่งเนินเขาและลำธารสิ้นสุดและดูเหมือนไม่มีทางออกเลย ท่ามกลางต้นหลิวและดอกไม้บานสะพรั่งมีหมู่บ้านปรากฏขึ้นทันที”  
    สีบอกว่านับแต่การ “ละลายน้ำแข็ง” ความสัมพันธ์ทวิภาคีในปี  1971 นั้น จีนและสหรัฐอเมริกาได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ทุกประเทศ 
    แต่วันนี้ประชาคมระหว่างประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาร่วมกันมากมาย 
    สีบอกโจว่า จีนและสหรัฐอเมริกาควรแสดงวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และร่วมกันแบกรับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ด้วยการยืนหยัดที่จะมองไปข้างหน้า ก้าวไปข้างหน้า 
    โจได้ยินสีพูดชัดเจนว่า สองประเทศต้อง “แสดงความกล้าหาญเชิงกลยุทธ์และทางการเมือง” เพื่อผลักดันความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ให้กลับคืนสู่แนวทางที่ถูกต้องในการพัฒนาที่มั่นคงโดยเร็วที่สุด 
    เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศและประชาชนของทุกประเทศทั่วโลก.
    (พรุ่งนี้: ฟังผู้นำจีนร่ายยาวแล้วโจ ไบเดนบอกสี จิ้นผิงว่าอย่างไร)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"