เดดล็อก! "วิษณุ" เผย หากยุบสภาก่อนกฎหมายประกอบ รธน.ออกจะเป็นปัญหา แต่มีการแอบคิดทางออกไว้หลายออปชัน แต่ก็เสี่ยงหน่อย เผยปมพลิกนิดเดียวร่างแก้ไขเดิมให้ กกต.เป็นผู้กำหนด แต่ กมธ.ดันตัดออก
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (บัตรเลือกตั้งสองใบ) ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว หากมีการยุบสภาระหว่างรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้จะเดินหน้าเลือกตั้งได้หรือไม่ ว่าขณะนี้ถือว่ารัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว เมื่อไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ประกอบมาตรา 81 จะเป็นวิธีปฏิบัติเหมือน พ.ร.บ.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวคือถ้ากฎหมายใดได้รับการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว แม้มีการยุบสภาหรือรัฐบาลลาออกกฎหมายนั้นก็ต้องเดินหน้าต่อไปตามขั้นตอน เช่น จะส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องส่ง หรือไม่ส่งก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ดังนั้นการโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 ของรัฐสภาก็ถือว่าจบขั้นตอนแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แล้วมีการยุบสภาก่อนจะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม (บัตรใบเดียว) ในการเลือกตั้งใช่หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า หากยุบสภาก็ไม่ได้เลือกตั้งพรุ่งนี้ แต่ต้องเลือกตั้งภายใน 45 หรือ 60 วัน หากจังหวะนั้นมีรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาก่อนวันเลือกตั้งก็ต้องใช้ตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้ากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังแก้ไขไม่เสร็จสิ้น ก็ยอมรับว่าจะเป็นปัญหา เพราะแต่เดิมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด แต่กรรมาธิการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตัดประเด็นดังกล่าวออกไป
กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะใช้เวลาพิจารณาเท่าไหร่ก็ตอบไม่ถูก ก็ต้องทำตามขั้นตอน ที่สื่อมวลชนกังวลกันนี้เพราะตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าจะมีการยุบสภา แต่ถ้าไม่ได้คิดว่าจะมีการยุบสภาทุกอย่างก็จะเดินไปตามปกติ ทุกอย่างก็จะเสร็จก่อนยุบสภา
"ผมยืนยันว่าอย่างไรก็ใช้ของเก่าไม่ได้ เพราะมันขัดกับของใหม่ เนื่องจากของเก่าออกตามรัฐธรรมนูญเก่า การเลือกตั้งต้องว่าไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ยอมรับว่ากฎหมายลูกยังไม่เสร็จ ก็จะยุ่งมาก แต่ก็จะแก้ปัญหาให้ได้ก็แล้วกัน ยืนยันว่ามีทางออก แต่ผมตอบไม่ถูกเพราะ กกต.ต้องเป็นคนบอก เช่น ถ้ากำหนดวันเลือกตั้งช้า อีกนาน ก็มีเวลาจัดการอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเลือกเร็ว ก็มีวิธีจัดการอีกแบบหนึ่ง อย่าเอามาผูกปนกัน เพราะมันเป็นการใช้อำนาจของคนละองค์กร คนละเรื่อง คนสะส่วนกัน ซึ่งจะไปมีผลกระทบกัน ดังนั้นก็ต้องคำนึงถึงเอาไว้ และมีการแอบคิดทางออกไว้หลายออปชัน ซึ่งสุดท้ายแล้วหากเกิดปัญหาก็มีทางออก แต่ก็เสี่ยงหน่อย ที่ว่าเสี่ยงคือเสี่ยงต่อการคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ ที่คิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือต้องเร่งกฎหมายลูกให้เสร็จเร็วๆ" นายวิษณุกล่าว
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเล็กเตรียมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระที่ 3 ว่า สามารถทำได้หากเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์ไม่ขัดข้อง แต่คงไม่ไปร่วมยื่นด้วย เพราะเป็นร่างของพรรค และเราก็ยืนยันแล้วว่ากระบวนการทั้งหมดชอบโดยรัฐธรรมนูญทุกประการ แต่ถ้ามีผู้ใดสงสัยก็เข้าชื่อกันได้ 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 1 ใน 10 ของสมาชิกวุฒิสภา หรือ 1 ใน 10 ของ 2 สภารวมกันก็ทำได้ จะได้ไม่ต้องคาใจว่าเป็นไปโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เข้าใจว่ากระบวนการก็คงใช้เวลาอย่างดี ก็เดือนกว่าๆ เพราะเมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งมีเงื่อนเวลาล็อกอยู่ ถ้าจะช้าก็ช้าไปเดือนกว่า
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการเตรียมพร้อมต่อการยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ว่าด้วยระบบเลือกตั้งแล้ว ว่า การยื่นร่างแก้ไข พ.ร.ป. ต้องทำหลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเห็นชอบมีผลประกาศใช้ จากนั้นพรรคจะหารือร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เพื่อหารือร่วมกันต่อการเสนอเนื้อหาแก้ไข เบื้องต้นมีประเด็นที่คิดว่าจะปรับปรุงจาก พ.ร.ป.ฉบับที่ใช้อยู่ คือการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. และหมายเลขของพรรคการเมือง ให้เป็นหมายเลขเดียวกันทุกเขตและทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่สับสน และง่ายต่อพรรคการเมืองจะหาเสียง รวมถึงการเสนอเนื้อหาว่าด้วยการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่สามารถเขียนเนื้อหาให้มีความเป็นกลาง และทุกพรรคได้รับความเป็นธรรม เช่น นำหลักการของระบบคำนวณแบบ MMP ออกแบบผสมผสามกับระบบของรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้น
“การออกแบบให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถือว่าพรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบ ดังนั้นการออกแบบกฎหมายลูก ผมเห็นว่าพรรคขนาดกลาง รวมถึงพรรคขนาดเล็ก ควรมีโอกาสสร้างกติกาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคเท่าเทียมกัน รวมถึงพรรคฝ่ายค้านด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบมากเกินไป” นายนิกรกล่าว
ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มว่า ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลที่ลงมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แบ่งงานกันทำ และอยู่ระหว่างปรึกษาหารือประเด็นกฎหมายที่เราจะยื่น ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญตรงจุดไหนบ้าง พร้อมทั้งพูดคุยกับ ส.ส., ส.ว. และอดีตกรรมาธิการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่ามีความเห็นอย่างไร หากพบเนื้อหาว่ามีการขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เราก็จะเร่งขอรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.สนับสนุนต่อไป เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทันภายใน 15 วัน แต่ถ้าศึกษาแล้วไม่พบประเด็น และไม่มีเหตุผลเพียงพอเราก็ตัดสินใจว่าจะไม่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้สิ่งที่ได้เราดำเนินการคู่ขนานไปด้วยคือการพูดคุยกับพรรคการเมืองและ ส.ว. ที่ลงมติงดออกเสียงและลงมติไม่เห็นชอบ อาทิ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ เป็นต้น เชื่อว่าถ้าเรามีประเด็นชัดเจนก็อาจจะมีพรรคการเมืองและ ส.ว.มาเข้าร่วมลงชื่อด้วย โดยพยายามเร่งศึกษาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้ หากได้ข้อสรุปว่ามีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญก็จะเร่งล่ารายชื่อให้ทันภายในวันที่ 17 ก.ย. ซึ่งเป็นวันประชุมร่วมรัฐสภาวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุมสามัญครั้งนี้ ส่วนตอนนี้มีใครสนใจตอบรับเข้าร่วมลงชื่อด้วยแล้วนั้น ตนยังไม่สามารถบอกได้ แต่คงเป็น ส.ว.และพรรคการเมืองที่ลงมติไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า กรณีมีผู้วิจารณ์ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไปใช้บัตร 2 ใบ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์นั้น เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกินกว่าเหตุ ทั้งนี้การใช้รูปแบบบัตร 2 ใบทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกคนและพรรคแยกกัน ส่งผลให้ระบบพรรคเข้มแข็ง ลดการต่อรองทางการเมือง เปิดทางคนเก่งเข้าสู่การเมืองเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแยกคำนวณจาก ส.ส.เขตชัดเจน และสูตรคำนวณ ส.ส.ชัดเจนสามารถประกาศผลเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลแก้ปัญหาประชาชนได้เร็วขึ้น
นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย กล่าวว่า ถ้าหากผ่านตามขั้นตอน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะเกิดเผด็จการรัฐสภา ย้อนกลับ เหมือน รัฐธรรมนูญปี 40 อีกครั้ง เหมือนครั้งสมัยนายทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจ จะออกกฎหมาย พ.ร.บ.ตามใจชอบ และฝ่ายค้านอ่อนแอ ก็จะย้อนกับมาเหมือนเดิม และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญปี 60 ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนทุกฝ่าย ทำให้ 9 พรรคเล็กคัดค้าน อย่างไรก็ตาม หากประกาศใช้รัฐธรรมใหม่ ให้มีการเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ ทางพรรคเพื่อชาติไทยเตรียมผู้สมัครสู้ศึกเลือกตั้งอย่างเต็มที่
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ระบุว่า เมื่อถึงขั้นตอนออกกฎหมายลูก หากผลออกมาเป็นการนับคะแนนแบบแบบเยอรมนี ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยก็อาจจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเสียเปรียบพรรคเล็กมากขึ้น กลายเป็นพลังประชารัฐเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะฉะนั้นจึงมีการพูดถึงการยุบสภา เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้รูปแบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่แก้กันอยู่นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |