ผู้เชี่ยวชาญ เผยรักษาโควิดหาย แต่ปอดได้รับผลกระทบ อาจพบพังผืดในปอด มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ


เพิ่มเพื่อน    

 

 

13 ก.ย.64 - สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สถาบันบำราศนราดูร สถาบันโรคทรวงอก และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาเรื่อง “การฟื้นฟูการทำงานของปอดและระบบหายใจแก่ผู้ป่วย Post-Covid-19” เพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด19 ขณะนี้เรียกได้ว่าเป็น Vuca world ที่มีความซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว ถ้าหากจะตามให้ทันโรคต้องอาศัยความเร็ว ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลที่ต้องมีการใส่หน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน หรือในทางการรักษาทั้งในโรงพยาบาล ตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการปรับมาทำ ARI Clinic เพื่อคัดกรองโรค หอผู้ป่วยรวม(cohort ward)  ที่สามารถรับคนไข้ได้ 10-20 คน และมีช่วงที่ห้องไอซียูไม่เพียงพอ ก็ทำห้องไอซียูโมดูลาร์ 
ส่วนการรักษานอกโรงพยาบาลตั้งแต่ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนจำนวนเตียงไม่เพียงพอรองรับก็มีการทำ HI/CI และคาดว่าจะมีการทำแฟคตอรี่ ไอโซเลชั่น โฮเทล ไอซูเลชั่น เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรักษาโควิดหายแล้ว จากการรายงานต่างประเทศหรือในไทยเองพบว่า  ผู้หายป่วยโควิดยังมีอาการคงค้างอยู่ ซึ่งทางกรมการแพทย์ก็ได้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของคนที่เคยป่วยโควิด19 ในภาพรวมทุกอาการไม่ใช่เพียงแค่ปอดเท่านั้น เพื่อรวบรวมข้อมูล ในการประเมินปัญหาและหาแนวทางการรักษาดูแลต่อไป 

“ในส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด19 ภาพรวมของประเทศที่มีจำนวนลดลงแล้ว ก็ยังคงเฝ้าระวัง จากการลองคาดการณ์ว่าสถานการณ์แย่ที่สุด หากคนไข้มียอดกลับมาติดเชื้อเป็น 30,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 5,500 คน โดยจะใช้การตั้งรับแบบเชิงรุก ทั้งแนวทางการรักษา ยาต้านไวรัสต่างๆ เพราะผู้ติดเชื้ออาจจะกลับขึ้นมาสูงขึ้นอีกได้ ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว


ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไข้ที่ได้รับเชื้อโควิด19 ซึ่งจะมีปัญหากับปอดนั้นไม่ใช่เพียงแค่ช่วงเวลาที่ป่วยเท่านั้น แต่หลังจากหายแล้วก็อาจจะมีผลระยะยาวเพราะเชื้อไวรัสยังคงอยู่ จากข้อมูลการศึกษาในแถบยุโรป พบในคนที่ติดเชื้อโควิด19 ต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 50-60% และข้อมูลจากของไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน  คนติดเชื้อโควิดเกือบ 1.4ล้านคน  ในจำนวนนี้กว่า 30% ที่มีอาการปอดอักเสบ โดยกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องปอดมาก คือ กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะปอดจะเสื่อมลงตามวัย กลุ่มคนที่มีโรคเรื้อรัง ส่งผลให้สมรรถภาพปอดแย่ลง  และกว่าปอดจะหายต้องใช้เวลาถึง 36 เดือน และนานมากขึ้นในกลุ่มคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเข้าใจในการดูแลและฟื้นฟูปอด ดังนั้นการจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสื่อให้ความรู้ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ในการฝึกสมรรถภาพปอดของตนเองไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโควิด19 หรือผู้ที่ไม่ป่วย รวมไปถึงแพทย์ด้วย 

ด้านรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โควิดเป็นไวรัส RNA ที่มีโครงสร้างพันธุกรรมในการกลายพันธุ์ได้ค่อนข้างสูง และง่าย รวมไปถึงการระบาดข้ามสิ่งมีชีวิต ความเร็วในการกลายพันธุ์เฉลี่ยใน 1 เดือน อาจจะกลายพันธุ์ 1 ตำแหน่งของพันธุกรรม และจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อเชื้อไวรัสข้าสู่ร่างกาย และระบาดในพื้นที่ใดนานๆ ก็จะเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นได้ เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อไวรัสก็จะสร้างตัวใหม่ขึ้นมา หรือมีการแปรเปลี่ยนของรหัสพันธุกรรม ทำให้เกิดสายพันธุ์แปลกๆขึ้น อย่างในปี 2563 ไทยพบแต่พบการติดเชื้อเฉพาะสายพันธุ์อู่ฮั่น จนในปี 2564 ก็เริ่มมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ที่พบในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น อัลฟ่า เบตา แกรมมา และเดลตาที่ระบาดหนักในปัจจุบัน 

รศ.ดร.เจษฎา กล่าวต่อว่า ดังนั้นการกลายพันธุ์ที่มีผลกระทบกับมนุษย์ ทางองค์การอนามัยโลก(WHO) จะพิจารณา 3 ข้อ คือ 1.การระบาดเร็วขึ้นหรือไม่  2.มีความรุนแรงของโรค 3.การดื้อต่อวัคซีน ซึ่งหากจะให้ประเมินโควิดจะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน ก็ต้องดูจากการประเมินของ WHO ที่ได้แบ่งลำดับชั้นของโควิด ได้แก่ ชั้นสายพันธุ์ที่มีความน่ากังวล ชั้นสายพันธุ์ที่มีความน่าสนใจ และชั้นสายพันธุ์ที่น่าจับตา ซึ่งสายพันธุ์อัลฟ่า เบตา แกรมมา เดลตา ก็ยังคงอยู่ในชั้นของความน่ากังวล เพราะมีการแพร่กระจายเร็ว ส่วนสายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจของคนไทยอย่าง สายพันธุ์มิว ที่พบว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้นในโคลัมเบีย ส่วนในประเทศอื่นๆที่พบจำนวนยังไม่มาก หรือสายพันธุ์เอปซิลอน ที่มีลักษณะเด่น คือ ดื้อวัคซีน ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นี้ยังไม่ระบาดเร็วเท่าเดลตา  ทางที่ดีก็คือเราต้องปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิด และเตรียมรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้ววิธีการป้องกันคือ การดูแลตัวเองใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง  

ด้านนพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวถึงเชื้อโควิด19 ที่ส่งผลกระทบต่อปอดว่า ตั้งแต่เริ่มรับเชื้อโควิดจะมีการฝังตัวอยู่ประมาณ 3-5 วัน และจะเริ่มมีอาการไข้ ครันเนื้อครันตัว ปวดเมื่อย ไอ  และหลังจากนั้นใน 1 สัปดาห์ เชื้อจะเริ่มลงไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอด จึงทำให้เกิดอาการอักเสบ ซึ่งจะพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการไอมากขึ้น จากนั้นช่วง 2-4 สัปดาห์ อาการเหนื่อย ไอก็จะเพิ่มขึ้นจากการที่ไวรัสไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ทำให้หลั่งสารเคมีบางอย่างออกมา ซึ่งสารเคมีตัวนี้ต้องการที่จะต่อสู้กับเชื้อไวรัส แต่อาจจะเป็นผลเสียหากมีมากเกินไป หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล จึงทำให้เกิดการอักเสบของปอดรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก จึงทำให้คนไข้เริ่มมีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจติดขัด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว 

 

“ในผู้ป่วยประมาณ 3-5% อาจจะมีอาการปอดอักเสบรุนแรงมากจนกระทั่งระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือใส่เครื่องฟอกเลือด  เพื่อลดภาวะของการอักเสบ อย่างการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโควิด 2 ราย ที่หายกลับบ้านแล้วในวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา คนแรก เพศหญิงอายุ 59 ปี ป่วยตั้งแต่ช่วง 27 ก.ค. มีปอดอักเสบทั้งสองข้าง หลังจากรักษาหายและกลับบ้านไปกว่า 2-3 เดือน  แต่ยังต้องใช้เครื่องออกซิเจนอยู่ เมื่อมาติดตามผลการรักษาพบว่าปอดคนไข้มีพังผืดหรือมีเศษซากของเชื้อคงค้าง   แต่เชื้อโควิด19ตาย ไปหมดแล้ว อีกรายในเพศหญิง อายุ 72 ปี ที่ป่วยโควิดตั้งแต่ 24 มิ.ย. ซึ่งมีอาการปอดอักเสบรุนแรง จากการติดตามผลการรักษาก็ยังมีอาการเหนื่อยหอบ ทั้ง 2 ราย ปอดยังไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ ทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวในการหายใจไม่เต็มที่และเหนื่อยหอบ จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูคุณภาพปอด” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ กล่าวเสริมว่าว่า ผู้ป่วยโควิดที่ปอดอักเสบรุนแรง ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และในกลุ่มผู้ที่โรคหัวใจ โรคปอด โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น จากข้อมูลประเทศไทยในการระบาดระลอกที่ 3 หรือระลอกที่ 4 ตั้งแต่เดือน มิ.ย. พบว่าคนไข้ที่เป็นปอดอักเสบต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 30-50% ซึ่งใน 100 คน เฉลี่ย 10% จะต้องให้ออกซิเจน และอีก 3% ต้องใช้เครื่องไฮโฟลว์ หรือจนถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1% มีเพียง 2% ที่รักษาหาย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ปอดอาจจะได้รับผลกระทบหลังรักษาโควิดหาย ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม ซึ่งหลังจากออกจากโรงพยาบาลไป 3 เดือน ระยะปอดอักเสบจากเชื้อโควิดก็จะเริ่มหมด และจะถูกแทนที่ด้วยพังผืดถาวร เรียกว่า ระยะปอดเป็นผัดผืดจากโควิด ซึ่งขณะนี้ก็กำลังมีการติดตามผลของผู้ที่หายป่วยแล้วไม่พบเชื้อ หรือพบเพียงซากเชื้อ แต่ก็ยังคงมีอาการปอดอักเสบที่ลุกลาม ทั้งนี้ผู้ที่หายป่วยแล้วยังไม่ต้องตื่นตระหนกกับการเป็นพังผืดที่ปอดเ พราะในไทยยังไม่มีการพบ และคาดว่าอาจจะพบในจำนวนที่ไม่มาก 


นก.นภาพร แววทอง นักกายภาพบำบัดชำนาญการ กล่าวถึงการฟื้นฟูปอดว่า เมื่อหายป่วยจากโควิด19 ต้องฟื้นฟูทั้งร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวใจ หลอดเลือดและปอด รวมไปถึงระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เพื่อให้ร่างกายสามารถกลับไปใช้งานได้ ซึ่งในคนไข้โควิดส่วนใหญ่จะมีอาการเหนื่อยน้อยลงหลังจากหายแล้ว แต่จะเป็นอาการล้ามากกว่า ดังนั้นเมื่อกลับไปฟื้นฟูตัวเองที่บ้านวิธีการแรกคือต้องเรียนรู้วิธีการหายใจเข้า-ออกอย่างช้าๆ เพื่อลดการหอบเหนื่อย หากหายใจลำบากต้องมีการปรับท่านอนโดยเอาหมอนหนุนศีรษะให้สูง เพื่อให้กล้ามเนื้อท้องทำงานได้ดี หรือการนั่งอาจจะนอนฟุบไปที่โต๊ะ หากยังไม่รู้สึกดีให้นั่งเอาศอกไว้ที่หน้าตักและโน้มตัวไปข้างหน้า หรือการยืนหลังพิงกำแพง ขาห่างกำแพง 2 ฟุต เพื่อให้กล้ามเนื้อหายใจบริเวณลำคอเกิดการผ่อนคลาย โดยทุกท่าต้องมีการควบคุมการหายใจเหมือนการนั่งสมาธิ 


นก.นภาพร กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุระดับของการออกกำลังกาย 5 ขั้น คือ 1.เตรียมความพร้อม สำรวจอาการเหนื่อยของตนเอง 2.ทำกิจกรรมเบาๆ อาทิ เดิน หรือทำงานบ้าน  3.การใช้แรงระดับปานกลาว อาทิ วิ่งหรือว่ายน้ำ 4.การทำงานระดับปานกลาง เช่น การเต้น และ5.การกลับไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติ  ส่วนการออกกำลังกายอาจจะเริ่มด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การทรงตัวด้วยการจับขาที่งอไว้ด้านหลัง หากเดินไม่ไหวให้นั่งและยกขาสลับขึ้นลง หรือเหยียดขาพร้อมกับกระข้อเท่าขึ้นสลับไปมา การยกขวดย้ำสลับข้างเพื่อกล้ามเนื้อส่วนแขน โดยการออกกำลังกายผู้หายป่วยโควิดสามารถทำได้ง่ายๆ เพื่อฟื้นฟูร่างกายในเบื้องต้น 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"