ประยุทธ์สั่งเร่งใช้งบ! คลังแฉหนี้พุ่ง9ล้านล.


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ลั่นเดินหน้าไทยเข้มแข็ง สั่งทุกหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจเร่งถลุงงบประมาณ ชี้ยามนี้ภาครัฐเป็นกำลังหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ “คลัง” เปิดตัวเลขหนี้ใกล้แตะ 9 ล้านล้านบาท จ่อเต็มเพดาน 60%

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ในระหว่างลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ถึงการโครงการไทยเข้มแข็ง ว่าโครงการดังกล่าวเป็นระดับนโยบาย ถ้านโยบายยังมีอยู่ก็ดำเนินต่อ โดยต้องรู้ว่ามีข้อติดขัดตรงไหน และจะเดินหน้าต่ออย่างไร ส่วนงบประมาณดำเนินงานมีอยู่แล้ว
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เดือน ก.ย. เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 พล.อ.ประยุทธ์จึงมีข้อสั่งการทั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในที่ประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้ทุกหน่วยรับงบประมาณเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด เพราะช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 งบประมาณภาครัฐจึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ และขณะนี้เป็นช่วงท้ายปีงบประมาณ นายกฯ จึงให้ทุกหน่วยงานเร่งการเบิกจ่าย ทั้งส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง งบจากพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติและทำสัญญาผูกพันไปแล้ว เพื่อให้งบประมาณเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุด
น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท   ณ สิ้นเดือน ส.ค.2564 มีการอนุมัติแล้ว 269 โครงการ วงเงินรวม 996,008 ล้านบาท หรือ 99.60% คงเหลือ 3,991.06 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 841,307 ล้านบาท หรือ 84.47% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ แบ่งเป็นการเบิกจ่ายใน 1.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 63,898 ล้านบาท จำนวน 51 โครงการ 38,069 ล้านบาท หรือ  59.58% 2.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการ  708,197 ล้านบาท จำนวน 20 โครงการ 684,411 ล้านบาท  หรือ 96.64% และ 3.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 227,905 ล้านบาท จำนวน 225 โครงการ 118,827 ล้านบาท หรือ 53.07%
“ครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2564 ยังได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำกับติดตามหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ หากไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเวลาที่กำหนดให้เร่งจัดทำรายงาน ปัญหาและอุปสรรคเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ทราบต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ขณะที่เว็บไซต์สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เผยแพร่รายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.2564 พบว่ามียอดหนี้ 8,909,063.78ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.59% ของจีดีพี ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท โดยยอดหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย.2564 อยู่ที่ 8,825,097.81 ล้านบาท หรือ 55.20% ของจีดีพี
สำหรับหนี้สาธารณะเดือน ก.ค.2564 ที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากการกู้โดยตรงของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,836,723.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.2564 ที่ 7,760,488.76 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 7,071,423.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเป็นการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.โควิด-19 จำนวน 817,726.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 732,726.05 ล้านบาท และเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกด้วย ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 781,052.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.2564 ซึ่งอยู่ที่ 772,090.49 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน อยู่ที่ 399,141.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่  398,843.56 ล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน อยู่ที่ 381,911.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 373,246.93 ล้านบาท ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) อยู่ที่ 284,141.61 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 285,356.96 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย อยู่ที่ 7,146.04 ล้านบาท
วันเดียวกัน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงการจัดสรรเงินจากกองทุน SDRs จำนวน 6.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 21.7 ล้านล้านบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้ประเทศสมาชิก ว่าจะส่งผลบวกต่อตลาดการเงินโลก ซึ่งการจัดสรรเงินจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไอเอ็มเอฟสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งไทยที่ได้รับเงินจัดสรร 1.4 แสนล้านบาท หรือ 4.4 พันล้านดอลลาร์นั้น รัฐบาลควรหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเงิน SDRs ที่ได้รับการจัดสรรมาใหม่จำนวนนี้มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการคลัง โดยมุ่งไปที่การเยียวยาผู้ว่างงานและลงทุนทางการศึกษา การจัดซื้อวัคซีนและการลงทุนทางด้านสาธารณสุข
รศ.ดร.อนุสรณ์ยังกล่าวอีกว่า หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 2% เป็นระยะเวลาหลายปีต่อเนื่องกัน มีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤตหนี้สินทั้งภาครัฐและเอกชน และหากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 60% ในปีหน้า การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมจึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง การขยับเพดานหนี้จาก 60% เป็น 70% หรือ 80% ต้องศึกษาวิจัยถึงผลดี-ผลเสียอย่างรอบคอบ และต้องมั่นใจว่าเงินกู้ที่เป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษีในอนาคตและปัจจุบันต้องไม่รั่วไหลหรือใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา.  
 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"