นายกฯกำชับแก้ท่วม 17จว.ลุ้นรับโกนเซิน!


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม กำชับ ส.ส.-ขรก.-ท้องถิ่นร่วมกันเร่งระบายน้ำแก้ปัญหาท่วมซ้ำซาก ขันนอตแผนดูแลนิคมอุตสาหกรรมห่วงกระทบ ศก. "กรมอุตุฯ" เตือน 17 จว. "อีสาน-ภาคตะวันออก" รับมือพายุโกนเซินทำฝนตกหนักถึงหนักมาก "กทม." เตรียม 9 แผนเผชิญเหตุ "เพชรบูรณ์-พิษณุโลก" หลายพื้นที่น้ำยังไม่ลด

      ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ​ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม​ เรียกประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากจังหวัดสมุทรปราการเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน ประกอบกับน้ำทะเลหนุนบางช่วงทำให้การระบายน้ำค่อนข้างช้า เกิดน้ำท่วมขัง 4 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ คือ อำเภอเมือง อำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง โดยหน่วยงานราชการในจังหวัด พร้อมกองทัพได้เร่งดำเนินการระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมว่า นายกฯ เน้นย้ำให้ส่วนราชการในท้องที่ รวมถึงท้องถิ่น และ ส.ส.ทำงานร่วมกัน เมื่อเกิดน้ำท่วมให้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน  เตรียมแผนบริหารจัดการ โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ในบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากจะต้องแก้ไขปัญหาระบายน้ำทันที หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์และเตรียมตัวอพยพจัดหาสถานที่พักชั่วคราวให้ประชาชนอย่างเหมาะสม
    จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปที่สะพานยกระดับสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ อ.เมืองสมุทรปราการ ตรวจความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ โดยจุดแรกนายกฯ เยี่ยมชมและรับฟังรายงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน จากนั้นขึ้นเยี่ยมชมจุดสูบน้ำบนสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการตรวจระบบแรงดันน้ำครั้งแรกของเราตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา เพราะก่อนหน้านั้นมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมอยู่หลายพื้นที่ ซึ่งคงไม่ได้ไปโทษใครอะไร เพราะมันผ่านมาแล้ว ซึ่งได้คุยกับ สนทช. กรมชลประทาน ถือว่าสถานีระบายน้ำแห่งนี้ยังสามารถแก้ปัญหาเรื่องป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมได้มากพอสมควรในระดับหนึ่ง ส่วนกาลข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องบริหารพื้นที่ไป
    "จะต้องดูว่ามีเครื่องกีดขวางในการระบายน้ำอย่างไร และต้องวางแผนกับ สนทช.ในการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ถึงแม้จะมีระบบหมุนน้ำดีเพียงพอเท่าไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย เพราะหลายประเทศก็เกิดปัญหาน้ำท่วม ประเทศที่มีรายได้สูงก็มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม จึงกำชับไปว่าขอให้ระวังและมองอนาคตไว้ด้วย ถ้าวันข้างหน้ามันมากกว่านี้ด้วยสถานการณ์ภูมิอากาศโลกมากขึ้น อย่างเรื่องโลกร้อน น้ำแข็งละลาย ปริมาณน้ำในทะเลสูงขึ้น จึงต้องมองปัญหาในระยะยาว และร่วมมือกันไว้กับหลายประเทศ หลายภูมิภาค" นายกฯ กล่าว
เตือน 17 จว.รับมือโกนเซิน
    กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 13 เรื่องพายุดีเปรสชันโกนเซิน ระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของพายุดีเปรสชันโกนเซินบริเวณชายฝั่งของเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 15.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป
    ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดบึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ระยอง จันทบุรี และตราด ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
    อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 14 ก.ย.2564
    ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการจัดทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมและภัยธรรมชาติของ กทม.ว่า กทม.มีขีดความสามารถของระบบระบายน้ำสามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมใน 1 วันได้ไม่เกิน 80 มิลลิเมตร หรือปริมาณความเข้มฝนไม่เกิน 58.70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หากเกินกว่าปริมาณดังกล่าวก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ตามความรุนแรงปริมาณฝนที่เกิดขึ้น ในกรณีดังกล่าวได้จัดเตรียมแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่แล้ว
    พล.อ.อัศวินกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์น้ำหลากกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. มีแผนรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ 9 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.ติดตาม สถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานครโดยศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง 2. เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที 3.ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผน 4.เมื่อมีฝนตกศูนย์ป้องกันน้ำท่วมแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตก
     5.ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการจราจร 6. หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมทราบ 7.ประสานงานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤต โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม 9.ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ และช่องทางโซเชียลมีเดีย
เหล่าทัพระดมช่วย ปชช.
    ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำกองอำนวยการน้ำแห่งชาติให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำตามแผนในพื้นที่สำคัญ ทั้งแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เขื่อนระบายน้ำและแม่น้ำสายหลัก โดยเฉพาะการบริหารน้ำหลากที่ไม่สามารถควบคุม ผ่านระบบชลประทานและการกักเก็บในพื้นที่การเกษตร เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก พร้อมทั้งให้ใช้โอกาสนี้เร่งเก็บกักน้ำต้นทุนที่ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกร้อยละ 37 สำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึง
    "สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทุกเหล่าทัพยังคงจัดกำลังพล ยานพาหนะ รวมทั้งเรือผลักดันน้ำและเครื่องมือช่าง เข้าไปสนับสนุนการทำงานของจังหวัดที่ประสบอุทกภัยในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ และ อ.เมือง จ.ตาก เพื่อช่วยกันเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ และกำลังอยู่ระหว่างเร่งเข้าไปสนับสนุน 5 อำเภอ ใน จ.พิจิตร ที่ฝนตกหนักสะสม น้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ปัจจุบัน" โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
    จ.เพชรบูรณ์ สถานการณ์มวลน้ำมหาศาลในแม่น้ำป่าสักที่เอ่อล้น ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตร รวมทั้งย่านเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ของอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งจนถึงขณะนี้เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว โดยตอนเช้าจากการลงพื้นที่สำรวจระดับน้ำ ทั้งในเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก และเขตเทศบาลตำบลตาลเดี่ยว ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน พบว่าระดับน้ำบางจุดเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่ภาพรวมยังคงทรงตัว เนื่องจากลำน้ำป่าสักยังมีมวลน้ำหนุนลงมาต่อเนื่อง หากพื้นที่ต้นน้ำโซนบนจังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่มีฝนตกซ้ำลงมาอีก แนวโน้มคาดว่าจะยุบลงเรื่อยๆ
    จ.พิษณุโลก มวลน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ยังท่วมในพื้นที่ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง และบางส่วนของพื้นที่ ต.บ้านกลาง อ.วังทอง โดยเฉพาะที่ หมู่ 13 บ้านวังน้ำบ่อ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง ที่น้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ได้หลากท่วมบ้านวังน้ำบ่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งวัดระดับน้ำลดเพียง 10-20 ซม.เท่านั้น ขณะที่หมู่ 17 บ้านตานม ต.บ้านกลาง อ.วังทอง ฝนที่ตกลงมาหลายวันติดต่อกัน ทำให้น้ำจากเทือกเขาไหลเข้าท่วมไร่นา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และนาข้าวหลายร้อยไร่
    จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เดินทางลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หมู่บ้าน ต.หนองบัวละคร หมู่ 2, หมู่ 7 และหมู่ 9 อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกน้ำท่วมขังมาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.64 รวมกว่า 120 หลังคาเรือน โดยระดับน้ำสูงตั้งแต่ 80-120 ซม. ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะน้ำท่วมครั้งนี้ท่วมหนักในรอบ 10 ปี ถือว่ารุนแรงมาก.  

            
            

   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"