จัดหนัก! เดือนตุลาคมปูพรมฉีดวัคซีน 24 ล้านโดส มาครบทุกแพลตฟอร์ม ซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 8 ล้านโดส ฉีดตั้งแต่นักเรียนยันคนแก่ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายวันทรงตัว แต่เสียชีวิตยังสูงอยู่ จับตาคลัสเตอร์งานศพ นครพนม-กระบี่
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,191 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,459 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,647 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,812 ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 726 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,368,144 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 18,721 ราย
ยอดรวมหายป่วยสะสม 1,216,112 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 137,859 ราย อาการหนัก 4,168 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 875 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 253 ราย เป็นชาย 135 ราย หญิง 117 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 191 ราย มีโรคเรื้อรัง 32 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ที่ จ.สมุทรปราการ เป็นการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล 1 ราย ที่ จ.สงขลา โดยจังหวัดที่เสียชีวิตมากที่สุด คือ กทม. 111 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 14,173 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนวันที่ 10 ก.ย. 758,503 โดส ฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ. 39,631,862 โดส
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,364 ราย, สมุทรปราการ 1,308 ราย, ชลบุรี 991 ราย, สมุทรสาคร 643 ราย, ราชบุรี 629 ราย, สงขลา 473 ราย, ระยอง 441 ราย, ปราจีนบุรี 372 ราย, นราธิวาส 369 ราย, ยะลา 309 ราย ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 224,647,087 ราย เสียชีวิตสะสม 4,630,843 ราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดจะดูเหมือนลดลง จึงขอบคุณความร่วมมือของประชาชน ในการดำเนินมาตรการต่างๆ โดยในระยะต่อไปก็คงจะต้องมีการดำเนินการต่างๆ มากขึ้น เช่นเรื่องของการป้องกันส่วนบุคคล การฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองต่างๆ ซึ่งต่อไปจะเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำมากขึ้น แล้วก็บ่อยขึ้น ก็คือเรื่องของมาตรการองค์กร ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเปิดการทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะต้องมีมาตรการที่ทำให้การระบาดไม่กลับไปมากขึ้นเหมือนเดิม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน
การดำเนินการฉีดวัคซีนตอนนี้เพิ่มขึ้น 753,503 โดส สะสม 39,631,862 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 26,954,546 ราย และเข็มสอง 12,063,642 ราย ในระยะต่อไปเราจะมีวัคซีนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ วัคซีนแต่ละยี่ห้อที่ประเทศนำมาฉีดทั้งหมดผ่านห้องปฏิบัติการ และทุกชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค โดยซิโนแวคเรามีการวัดประสิทธิภาพลดป่วยหนักหรือเสียชีวิต ซึ่งการระบาดที่สมุทรสาครมีประสิทธิอยู่ 90.5% แต่พอเชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไปประสิทธิภาพในช่วงหลังๆ ลดลง เนื่องจากเชื้อมีการกลายพันธุ์ แต่ถ้าเราต้องการป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจะต้องมีกระบวนการในการบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งประเทศไทยใช้คือการเปลี่ยนสูตรวัคซีน เดิมวัคซีนแต่ละยี่ห้อเราจะฉีดยี่ห้อนั้นๆ ครบสองเข็ม แต่พอพบเหตุการณ์แบบนี้เราได้ปรับวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยมาปรับสูตรหลักสูตร ปัจจุบันใช้เป็นซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ข้อดีก็คือภูมิคุ้มกันในวันขึ้นพอๆ กับฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 ต่อสู้กับสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ได้ดีขึ้น
นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะต่อไปกระทรวงสาธารณสุขจะรีบดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มได้เร็วขึ้น เพื่อลดอาการรุนแรง ทั้งนี้วัคซีนไม่ใช่วิธีการป้องกันโรคเพียงอย่างเดียว มาตรการส่วนบุคคลก็ยังต้องเข้มงวด นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียชีวิตกว่า 90% เป็นกลุ่ม 608 ซึ่งเราต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนต่อไปครอบคลุม อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปปลายเดือน ก.ย. เราจะฉีดวัคซีนได้ทั้งหมด 45 ล้านโดส
มาครบทุกแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ เรามีวัคซีนหลักอยู่ 4 บริษัทคือ ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์ และซิโนฟาร์ม ผลข้างเคียงทุกยี่ห้อส่วนใหญ่จะคล้ายกัน มีไข้ ปวดศีรษะ ถ้าทานยาลดไข้ ทานยาแก้วิงเวียน อาการก็จะดีขึ้น แต่ผลข้างเคียงที่เราติดตามคืออาการแพ้รุนแรง ของซิโนแวคอาการที่รุนแรงคืออาการแพ้วัคซีนพบทั้งหมด 24 ราย คิดเป็น 0.1% ต่อแสนรายส่วนแอสตร้าเซนเนก้า มีทั้งหมด 6 ราย 0.04 ต่อแสนราย โดยทั้งหมดที่กล่าวรักษาหายกลับเป็นปกติ
ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้แอสตร้าเซนเนก้า ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรปพบค่อนข้างมาก ส่วนในเอเชียพบค่อนข้างน้อย พบเพียง 5 ราย คิดเป็น 0.03% ต่อประชากรแสนคน เพราะฉะนั้นวัคซีนหลัก 2 ตัวนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ถือว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยอยู่ในระดับสูง ส่วนไฟเซอร์ ที่สหรัฐอเมริกาพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตอนนี้ในไทยพบ 1 ราย หลังจากฉีดไปประมาณ 1 ล้านโดส คิดเป็น 0.1% ต่อแสนประชากร โดยรายนี้ไม่รุนแรงและหายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม อาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียงเป็นสิ่งสำคัญทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีการติดตามข้อมูล เพื่อให้ทราบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยมากแค่ไหน
"รายที่เสียชีวิตภายหลังการฉีดวัคซีน เวลาที่ฉีดวัคซีนเรามีการติดตามคนคนนั้นไปประมาณ 4 สัปดาห์ หากเกิดอาการผิดปกติ ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต เราจะต้องมีการพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีนหรือเปล่า ถ้าเป็นไปได้ในรายที่เสียชีวิตเราจะต้องขอชันสูตรศพว่าเกิดจากอะไร และเอาผลชันสูตรให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่"
นพ.โอภาสยังกล่าวอีกว่า ข้อมูลฉีดวัคซีนทั้งหมดพบว่า ผู้เสียชีวิตภายหลังการฉีดวัคซีนที่รับรายงานจำนวน 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเสร็จแล้ว 416 ราย เพราะว่าส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ทั้งหมด 249 ราย พบมีสาเหตุต่างๆ กัน ทั้งนี้ติดเชื้อในระบบประสาท เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตัน ปอดอักเสบรุนแรง ลิ่มเลือดอุดตันในปอด รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและมะเร็ง เป็นต้น ส่วนอีก 32 รายไม่สามารถสรุปได้ เพราะฉะนั้นที่เราฉีดวัคซีนไปเกือบ 40 ล้านโดส มีอยู่รายเดียวที่เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ร่วมกับเกล็ดเลือดต่อ Vaccin-induce immune thrombotic thrombocytopenia (VITT) หลังได้รับการฉีดวัคซีนเกิดได้จากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ถ้าในต่างประเทศพบค่อนข้างมากที่ 0.7% ต่อแสนราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในคนผิวขาว ส่วนคนเอเชียเกิดค่อนข้างน้อย โดยคณะผู้เชี่ยวชาญก็ได้รับคำแนะนำภาวะนี้เกิดได้แต่น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายถ้ามีการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นหลังฉีดวัคซีน ถ้าเกิดอาการผิด อย่างเช่น ปวดศีรษะมากแขนขาอ่อนแรง ก็ให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อ เพราะฉะนั้นประโยชน์ในการฉีดวัคซีนยังมีอยู่ค่อนข้างสูง จึงขอให้ประชาชนรับวัคซีนต่อไป แต่สิ่งที่เราจะต้อง เร่งรัดให้บุคลากรทางการแพทย์ให้ทราบเรื่องภาวะ VITT เพื่อให้วินิจฉัยอย่างรวดเร็ว และเพิ่มการพัฒนาการตรวจในห้องปฏิบัติการ
ส่วนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังได้รับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีน mRNA โดยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อโควิด- 19 โดยส่วนใหญ่เกิดใน 10 รายต่อแสน ราย สำหรับในไทยพบไม่ค่อยมาก ประมาณ 2 คนต่อประชากรแสนคน ส่วนใหญ่จะพบในวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ส่วนวัคซีนอื่นๆ พบได้แต่ไม่บ่อย ในไทยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 8 แสนคน พบรายงานเพียง 1 คน เป็นเพศชายอายุ 13 ปี มีอาการเจ็บหน้าอก 2 วันภายหลังได้รับการฉีดวัคซีนตรวจไม่พบการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ขณะนี้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและอาการดีขึ้นแล้ว
ปูพรม 24 ล้านโดส
สำหรับแผนการฉีดวัคซีนเมื่อที่ประชุมศบค. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนการจัดหาวัคซีน รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนในเดือน ต.ค. โดยจะมีวัคซีนจากซิโนแวคเข้ามา 6 ล้านโดส, แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 8 ล้านโดส รวม 24 ล้านโดส
นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนจากซิโนฟาร์ม เข้ามาอีก 6 ล้านโดส โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไปจะมีวัคซีนเข้ามาค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีการเร่งฉีดให้กับประชาชนเพื่อลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต และลดการแพร่ระบาด สำหรับแผนการฉีด ที่ ศบค.เห็นชอบในเดือน ต.ค. เป้าหมายฉีดให้กับประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของทุกจังหวัด โดยที่จะพยายามอย่างน้อย 1 จังหวัด มีความครอบคลุม 70% และมีต้นแบบ COVID Free Area อย่างน้อย 1 พื้นที่ ซึ่งมีความครอบคลุมร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังคงเพิ่มความควบคุมในกลุ่ม 608 ให้มากที่สุด นอกจากนั้นในจังหวัดนั้นๆ หากมีกลุ่มประชากรเป้าหมายอื่นที่สำคัญให้คณะกรรมการจังหวัดจัดสรรได้ อย่างน้อยให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 50
นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค.จะมีประชากรที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ค่อนข้างมาก โดยจะฉีดให้ครอบคลุมมากที่สุด อีกประการหนึ่งในเด็กอายุ 12 ปี ที่เรามีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามา เราจะเร่งฉีดเพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปิดภาคเรียนโดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการดำเนินการ ส่วนคนที่ฉีดซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม มีการเห็นชอบฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือน ต.ค. หากมีความพร้อมอาจจะเริ่มได้ก่อน
"ภาพรวมเราจะฉีดให้กับประชาชนทั่วไป 16.8 ล้านโดส เด็กนักเรียน 4.8 ล้านโดส แรงงานในระบบประกันสังคม 0.8 ล้านโดส หน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรภาครัฐราชทัณฑ์ 1.1 ล้านโดส และผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม และต้องการเข็มกระตุ้นเข็มที่ 0.5 ล้านโดส รวม 24 ล้าน โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์" นพ.โอภาสระบุ
ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 11 ราย โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อภายในจังหวัด 7 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 4,730 ราย รักษาหายแล้ว 4,447 ราย เสียชีวิตสะสม 24 รายเท่าเดิม
โดยเฉพาะคลัสเตอร์งานศพบ้านกุดข้าวปุ้น หมู่ 3 ต.ขามเฒ่า อ.เมืองนครพนม ทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับไทม์ไลน์ของผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิดไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 10 ราย ซึ่งมีอย่างน้อย 2 รายปกปิดไทม์ไลน์ของตนเอง เนื่องจากมีการตรวจพบสารเสพติดอยู่ในปัสสาวะ 1 คน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มเสพยาเสพติด และอีกหนึ่งรายอาชีพเป็นหมอนวดแผนโบราณ รับจ้างนวดนอกสถานที่ เช่น บ้าน หรือโรงแรม ที่พัก เป็นต้น
โดยคลัสเตอร์งานศพ เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนสิงหาคม มีทั้งคนในหมู่บ้านและในเขตเทศบาลเมืองนครพนมไปร่วมงาน ในจำนวนนั้นก็ทำงานราชการหน่วยงานป่าไม้แห่งหนึ่ง, พนักงานห้างสรรพสินค้า และหมอนวดแผนโบราณ ฯลฯ หลังเสร็จงานศพเจ้าภาพมีอาการไข้จึงเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดพบว่าผลเป็นบวก ทีมแพทย์จึงนำคนในครอบครัวรวม 3 คนมาตรวจก็พบว่าติดเชื้อเช่นเดียวกัน พร้อมติดตามตัวผู้ร่วมงานศพมาตรวจค้นหาเชิงรุกอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ญาติอยู่ในเขตเทศบาลเมืองฯ หลังทราบเจ้าภาพงานศพติดเชื้อโควิด จึงเข้ารับการตรวจค้นหาเชื้อ พบว่าติดโควิดเบื้องต้นแล้ว 10 ราย จึงเป็นเหตุให้ทางจังหวัดนครพนม มีประกาศสั่งปิดบ้านกุดข้าวปุ้นหมู่ 3 ต.ขามเฒ่า เป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-16 กันยายน โดยมีผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มเสี่ยงเป็นชาวบ้านกุดข้าวปุ้น จำนวน 147 หลังคาเรือน สาธารณสุขได้ลงพื้นที่ ปูพรมตรวจเชิงรุกทุกคนเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
ไทม์ไลน์ดาบตำรวจ
ล่าสุด พ.ต.อ.พลาเดช เพ็ชรหว้าโง๊ะ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม มีหนังสือด่วนที่สุดถึง ผกก.สภ.เมืองนครพนม, ผกก.สืบสวนฯ และ ผกก.ฝอ.(ฝ่ายอำนวยการ) เนื่องจากมีดาบตำรวจนายหนึ่งตำแหน่ง ผบ.หมู่ (จร.) สภ.เมืองนครพนม ปฏิบัติหน้าที่ศูนย์จราจรตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม (ศจร.ภ.จว.ฯ) มีผลตรวจยืนยันจาก รพ.นครพนม ว่าติดเชื้อโควิด จึงมีตำรวจหลายนายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับดาบตำรวจนายนี้ จำนวน 17 นาย ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงจะได้รับเชื้อ จึงมีคำสั่งให้ไปรับการตรวจยืนยันหาเชื้อโควิด ณ ตึกอำนวยการ รพ.นครพนม และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
โดยดาบตำรวจนายนี้มีห้องปฏิบัติงานอยู่ที่แฟลตตำรวจบ้านน้อยใต้ ชุมชนวัดสารภานนิมิต เขตเทศบาลเมืองนครพนม หลังเลิกงานจะเตะฟุตบอลกับเพื่อนตำรวจและบุคคลภายนอก มักจะนัดแนะกันมาแข่งขันที่สนามฟุตบอลตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมอยู่เป็นประจำ ในจำนวนเพื่อนก็มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานป่าไม้ที่ติดเชื้อโควิดจากคลัสเตอร์งานศพรวมอยู่ด้วย อาจเป็นไปได้ว่าดาบตำรวจได้เสวนากับเพื่อนรายนี้ โดยไม่ทราบว่าเพื่อนมีเชื้อโควิด และได้ไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนดังกล่าว หลังเพื่อนหน่วยงานราชการแห่งนั้นติดโควิด จึงเข้ารับการตรวจค้นหาเชื้อพบผลเป็นบวกดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ ทีมสอบสวนโรคต้องเช็กไทม์ไลน์ดาบตำรวจผู้ป่วยต่อไปอีกว่า ได้สัมผัสเพื่อนนักฟุตบอลด้วยกันกี่ราย สรุปตัวเลขคลัสเตอร์งานศพล่าสุด มีผู้ป่วยยืนยันผลแล้ว 15 ราย
ขณะที่สำนักงานสาธารณสุข จ.กระบี่ ได้ออกประกาศด่วน ให้ผู้ที่ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพ พระปัญญาวุธ ธรรมคณี อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง อ.เมืองฯ จ.กระบี่ ณ วัดแก้วฯ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึงวันที่ 6 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ให้มารายงานตัวเพื่อรับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่โรงเรียนเทศบาล 3 ท่าแดง เขตเทศบาลเมืองกระบี่ ในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ย.64 นี้ เวลา 09.00-14.00 น. หลังพบผู้ร่วมถึงพระและเณรที่เข้าร่วมพิธีในช่วงเวลาดังกล่าวติดเชื้อแล้วจำนวน 36 ราย และพบกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ จำนวนกว่า 1,000 คน โดย จนท.ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อสาธารณสุข อ.เมืองกระบี่ ได้คัดกรองพระและเณรภายในวัดที่มีอยู่ประมาณ 100 รูป เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 และทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
ที่บริเวณวัดแก้วโกรวารามฯ ต.ปากน้ำ อ.เมืองกระบี่ พบว่า ทางวัดได้มีการปิดประตูทางเข้าวัด โดยเปิดให้เข้า-ออกทางเดียว พร้อมขึ้นป้ายข้อความขนาดใหญ่ ว่าทางวัดมีความจำเป็นต้องวางมาตรการดำเนินการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 งดกิจนิมนต์ทุกประเภท งดบิณฑบาต งดตั้งบำเพ็ญกุศลศพ งดรับสังฆทาน ปิดแผงพระเครื่องภายในวัด ปิดประตูวัดทุกด้านเปิดให้เข้า-ออกทางเดียว งดทำวัตรเช้าเย็น และให้พระภิกษุสามเณรรับภัตตาหาร ในโรงฉันนำกลับไปฉันที่กุฏิ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเข้าสู่สภาวะปกติ
สมุทรปราการยังเกินพัน
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดกระบี่ ทางศูนย์สื่อสารความเสี่ยง สำนักงานสาธารณสุข จ.กระบี่ ได้รายงานพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 90 ราย (พบในจังหวัด 89 ราย จากนอกจังหวัด 1 ราย) โดยคลัสเตอร์ใหม่นี้ เป็นผู้ที่เข้าร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพอดีตเจ้าอาวาสวัดแก้ว มีผู้ติดเชื้อแล้ว 36 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมเพิ่มเป็น 2,286 ราย รักษาหาย แล้วรวม 1,587 ราย กำลังรักษา 696 ราย
นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,308 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 1,069 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 381 ราย, อำเภอพระประแดง จำนวน 86 ราย, อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 84 ราย, อำเภอบางพลี จำนวน 314 ราย, อำเภอบางบ่อจำนวน 103 ราย, อำเภอบางเสาธง จำนวน 101 ราย, โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการ จำนวน 239 ราย เสียชีวิต 12 ราย เป็นเพศชายจำนวน 6 ราย เป็นเพศหญิงจำนวน 6 ราย อายุระหว่าง 20-84 ปี มีโรคประจำตัว 11 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 997 ราย
ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงปัจจุบันจำนวน 92,721 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในโรงพยาบาลเอกชนและรักษาใน Hospitel มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการรวมจำนวน 19,886 ราย
ด้านนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา เปิดเผยว่า มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่พบผู้ป่วยรายใหม่ 473 ราย เสียชีวิต 2 ราย ป่วยสะสม 23,496 ราย เสียชีวิต 134 ราย นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 3,300 คน รักษาหายกลับบ้านแล้วกว่า 19,700 คน
นายจารุวัฒน์เปิดเผยว่า จ.สงขลา พบผู้ป่วยสูงสุดตั้งแต่โควิดระลอกใหม่ มาจากการตรวจคัดเชิงรุกในพื้นที่แบบเข้มข้น ส่งผลให้ค้นหาผู้ติดเชื้อซึ่งมาจากการสัมผัสกลุ่มเสี่ยงจากโรงงาน ร้านค้า บริษัท และตลาด 5 อันดับ อ.หาดใหญ่ 74 ราย, สิงหนคร 68 ราย, สะบ้าย้อย 46 ราย, จะนะ 32 ราย และ อ.เมืองฯ 31 ราย
รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการดำเนินการฉีดวัคซีนสะสมของ จ.สงขลา ณ วันที่ 10 ก.ย. เข็มแรก 519,487 เข็ม ร้อยละ 47.94, เข็มที่ 2 จำนวน 254,074 เข็ม คิดร้อยละ 23.45 และเข็มที่ 3 จำนวน 19,499 คิดเป็นร้อยละ 1.80 จากเป้าหมาย 1,083,675 ราย ในเดือน ต.ค.64 จะฉีดครบตามเป้าหมายร้อยละ 70.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |