บัตรเลือกตั้งสองใบ ใครได้-ใครเสีย-ใครกินรวบ


เพิ่มเพื่อน    

การเลือกตั้งใหญ่ ส.ส.ของประเทศไทย หลังจากนี้มีแนวโน้มจะกลับไปใช้ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.สองใบ อีกครั้ง หากไม่มีอะไรพลิกผันอีก หลังเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 เรื่องแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 472 เสียง-ไม่เห็นชอบ 33 คะแนน-งดออกเสียง 187 คะแนน

            การที่กติกาเลือกตั้ง ส.ส.จะกลับไปใช้บัตรสองใบอีกครั้ง พรรคการเมืองใดจะได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ การเลือกตั้งของไทยรอบหน้าโฉมหน้าจะเป็นอย่างไร มีความเห็นแนววิเคราะห์จากสองนักรัฐศาสตร์สองสำนักที่สอนด้านการเมืองการปกครองไทยโดยตรง

เริ่มที่คนแรก ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการชื่อดังจากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ความเห็นว่าประเทศไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีการเปลี่ยนกันเร็วมาก อย่างระบบที่ใช้ล่าสุดบัตรใบเดียว ก็เพิ่งใช้แค่หนเดียวเมื่อตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 มาตอนนี้ก็จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันของพรรคการเมืองในสภา ในแง่ดีคือ เป็นระบบที่เป็นที่ยอมรับของพรรคการเมืองหลายพรรคในสภา ทำให้เวลาจะมีการเลือกตั้งรอบหน้าก็จะไม่มีการเกี่ยงงอนตั้งแง่กับระบบเลือกตั้งบัตรสองใบที่จะใช้ เพราะเมื่อเป็นฉันทามติแบบนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันด้วยความรู้สึกว่าลงไปแล้วมัน Free and Fair

ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนมีความเคยชินกับการเลือกพรรคแล้ว อย่างบัตรสองใบ ในสถานการณ์ปกติหากประชาชนคนไหนเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตเพื่อไทย แล้วก็เลือกพรรคเพื่อไทยในบัตรบัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับคนที่เลือก ส.ส.เขตประชาธิปัตย์ อีกใบก็จะกาเลือกประชาธิปัตย์เช่นกัน โดยพบว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมการเลือกตั้งแบบนี้ แต่พบว่าหลังรัฐประหาร คสช. และมีการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ได้เกิดสภาวะสองจิตสองใจขึ้นมา เช่น ที่เห็นชัดอย่างภาคใต้ คนก็รักประชาธิปัตย์แต่เขาก็รักลุงตู่ด้วย แต่เมื่อบัตรเลือกตั้งมีใบเดียวก็ทำให้คนต้องตัดสินใจ ไม่เลือกพลังประชารัฐก็ต้องเลือกประชาธิปัตย์ เลยทำให้เก้าอี้ ส.ส.เขตในภาคใต้ของประชาธิปัตย์หายไป

การที่ประชาธิปัตย์อ้างเหตุผลในการสนับสนุนบัตรสองใบว่าเป็นการให้เสรีภาพประชาชนในการเลือกตั้ง แต่จริงๆ แล้วในทางปฏิบัติ เขาก็รู้ว่าตราบใดที่พลังประชารัฐยังอยู่ และพลเอกประยุทธ์ยังลงเลือกตั้งต่อครั้งหน้า เขาก็รู้ว่าคนภาคใต้ก็ยังผูกพันกับลุงตู่อยู่ แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าเขาก็รู้ว่าคนใต้จะเลือก ส.ส.เขตประชาธิปัตย์ แต่บัตรบัญชีรายชื่อก็จะเลือกลุงตู่ ประชาธิปัตย์ก็ยังได้ตรงนี้อยู่ บัตรสองใบจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ช่วยให้ประชาธิปัตย์มีคะแนนขึ้นมาพอสมควรมากกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562

            สำหรับ พรรคเพื่อไทย แน่นอนว่าบัตรสองใบก็จะทำให้แฟนคลับเพื่อไทยจะเลือกเพื่อไทยทั้งระบบเขตและบัตรบัญชีรายชื่อ จะไม่มีการปันใจ ไม่เหมือนกับประชาธิปัตย์ที่ยังมีการปันใจให้ลุงตู่ แต่ของเพื่อไทยไม่มีปัญหา ซึ่งจริงๆ บัตรใบเดียวเพื่อไทยก็ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ว่าหากใช้บัตรใบเดียวต่ออีกจะทำให้เพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากได้ ส.ส.เขตเต็มจำนวน ส.ส.พึงมีในสภา บัตรสองใบจึงทำให้เพื่อไทยยังไงก็ได้ ส.ส.มาอันดับต้นๆ เพียงแต่จะได้มากขนาดไหน

            ...บัตรสองใบ เพื่อไทยจึงแฮปปี้ ประชาธิปัตย์ก็แฮปปี้ เพียงแต่มันน่าสงสัยว่าทำไมพลังประชารัฐถึงยอมเอาด้วยกับบัตรสองใบ ซึ่งพลังประชารัฐก็อาจยังไม่รู้ว่าพลเอกประยุทธ์จะลงต่อหรือไม่สมัยหน้า รวมถึง ส.ส.พลังประชารัฐเองก็ยังไม่รู้ว่าพลังประชารัฐรอบหน้าจะอยู่เป็นพรรคแบบนี้ต่อไปอีกหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือ บัตรสองใบทำให้พรรคก้าวไกลแย่ลง และเพื่อไทยก็แฮปปี้ถ้าก้าวไกลแย่ลง เพราะสองพรรคนี้แย่งฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน เพราะคนที่เลือกเพื่อไทยอาจไปเลือกก้าวไกลได้ หรือคนเลือกก้าวไกลอาจสลับไปเลือกเพื่อไทยได้เช่นกัน แต่ไม่มีทางที่คนเลือกเพื่อไทยและก้าวไกลจะสวิงไปเลือกพลังประชารัฐ หรือประชาธิปัตย์ เป็นไปไม่ได้เลย

            ส่วนภูมิใจไทยก็ไม่ค่อยแฮปปี้กับบัตรสองใบ เขาชอบใบเดียวมากกว่า เพราะหากใช้สองใบอาจเกิดลักษณะเลือกบัญชีรายชื่อเพื่อไทย แต่เลือก ส.ส.เขตเป็นภูมิใจไทย อย่างในแถบภาคอีสาน เช่น คนยังคิดถึงทักษิณ ชินวัตรอยู่ แต่บางจังหวัดภูมิใจไทยก็ดูแลดี คะแนนก็ถูกแบ่งไป เพราะสำหรับภูมิใจไทย อย่างการส่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ เอาแค่ 10-20 คนแรกจาก 100 ชื่อผู้สมัคร ที่ต้องหาคนมาใส่ให้ดูดี ภูมิใจไทยหาไม่ได้ แต่พรรคเพื่อไทยยังพอหาได้

-ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ พรรคการเมืองบางพรรค เช่น พรรคก้าวไกล จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?

            สำหรับก้าวไกลเจ็บหนักพอดูสำหรับสองใบ แต่ก็ไม่กล้าออกตัวโต้มากนัก เพราะเคยด่าระบบใบเดียวและด่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาแล้ว ก้าวไกลคราวหน้าจะไม่มีไทยรักษาชาติเทให้ แถมยังไม่มีตัวเด่นๆ เป็นหัวหน้าพรรคแบบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือคนดังแบบ ปิยบุตร แสงกนกกุล อีกทั้งคนก็รู้ว่าไม่มีทางเป็นรัฐบาล เพราะไม่ว่าฟากไหนก็ไม่คิดจะจูบปากกับก้าวไกลถ้าไม่จำเป็น คราวที่แล้วสมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ได้มา 7 ล้านคะแนน แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่ประทับใจกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคเท่าธนาธร ปิยบุตร ดังนั้นก้าวไกลคราวหน้ายังไงก็ยากที่จะรักษา 7 ล้านไว้ได้ เสียงจะตกลงไปมาก เพราะเรื่องสถาบัน และการใช้เด็ก คราวนี้จะไม่ทิ้งน้ำเลยก็คือบัตรบัญชีรายชื่อ แต่ก็ต้องไปยื้อแย่งใน 100 ที่นั่ง ในขณะที่คราวที่แล้ว 150 ที่สำคัญที่สุดสำหรับก้าวไกลคือ ใครจะจ่ายเงิน เพราะประกาศตัวเองว่าไม่เอานักการเมืองเก่าๆ จะเสนอแต่เลือดใหม่ เลือดใหม่ใครจะมีเงิน อาจจะได้คนอย่างลูกนัทมาคนหนึ่ง ยิ่งถ้าลุงตู่ไม่เล่นการเมืองแล้ว ก้าวไกลก็ไม่มีเป้าหาเสียงต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

มองดูแล้ว คนที่จะเลือกพรรคก้าวไกลทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ก็อาจจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จริงๆ ซึ่งกลุ่มคนอายุ 18-24 ปีในประเทศไทยมีประมาณกี่ล้านคน ก็พบว่ามีไม่เยอะมาก คนที่จะเลือกก้าวไกล ต้องเป็นพวกกลุ่มที่ชอบพรรคนี้จริงๆ ซึ่งมีไม่เยอะ

ส่วนโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส.เขตรอบหน้าเข้ามาจำนวนหนึ่งเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 หรือไม่ ดูแล้วอาจจะยาก เพราะคนที่จะเลือกก้าวไกล พวกกลุ่มคนอายุ 18-24 ปี ถ้ารวมทั้งประเทศเยอะ แต่หากแยกเป็นรายเขตเลือกตั้ง จำนวนก็ยังน้อยกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในอายุกลุ่มดังกล่าว ทำให้ก้าวไกลไม่มีทางจะชนะได้ ส.ส.เขตมากเหมือนปี 2562 ที่ตอนนั้นคนเลือกธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยเขาไม่ได้รู้จักผู้สมัคร ส.ส.เขตเลย รวมถึงไปตอนนั้นก็ได้คะแนนจากที่ไทยรักษาชาติโดนยุบพรรค แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ทำให้พรรคก้าวไกลอาจลำบาก

                -อนาคตพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส.อยู่ในสภานับสิบพรรค รวมถึงพรรคตั้งใหม่ที่นักการเมืองหลายคนไปตั้งกันตอนนี้ เช่น กรณ์ จาติกวณิช, คุณหญิงสุดารัตน์, จาตุรนต์ ฉายแสง, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เมื่อใช้บัตรสองใบพรรคเหล่านี้จะเป็นอย่างไร?

            คงลำบากมาก โดยเฉพาะหากคนที่ลงระบบเขตของพรรคเหล่านี้เสียงไม่ได้แน่นมากจริง เพราะอย่างกรุงเทพมหานคร สำหรับบางพรรคตั้งใหม่ เช่น พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ ก็อาจมีได้บ้างในบางเขตใน กทม. โอกาสที่จะได้ที่นั่งเยอะๆ ดูแล้วน่าจะน้อยมาก หรือพลังท้องถิ่นไท ของชัช เตาปูน ก็น่าจะลำบากเหมือนกัน เช่น อาจได้ ส.ส.เขต กทม.พื้นที่เตาปูนมาหนึ่งคน ขณะที่พรรคอย่าง ชาติไทยพัฒนาและพรรคชาติพัฒนา สำหรับพรรคขนาดนี้ บัตรสองใบย่อมดีกว่าใบเดียว เพราะถ้าเป็นใบเดียวโอกาสจะแพ้เขตสูง แต่ก็จะได้คะแนนเฉลี่ยมาให้หัวหน้าพรรคและบัญชีรายชื่อไม่เกินห้าอันดับได้เข้าไปนั่งในสภา

            ส่วนการที่พรรคเล็กจะไปหวังเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลงจาก 150 คน เหลือ 100 คน ก็ทำให้โอกาสได้ก็ยากอีก การแข่งขันมีมากขึ้น เว้นแต่อาจมีการวาง position การเมืองบางอย่าง เช่น ขอให้เลือกเข้าไปทำงานในสภา จะไปเป็นฝ่ายค้านแบบที่เคยมีคนทำ เช่นตอนสมัย ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำพรรครักประเทศไทย ที่เคยได้ปาร์ตี้ลิสต์สี่คน ตอนเลือกตั้งปี 2554 โดยหากเลือกตั้งรอบหน้า ถ้ามีคนที่ประกาศไม่ชอบทั้งพลังประชารัฐ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ แล้วหาเสียงว่าหากอยากได้คนแปลกๆ เข้าไปสักคนก็ให้เลือกเขา โดยมีคนกว่า 3 แสนคนเลือกพรรค หรือคนคนนั้น จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50 ล้านคน มันก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้

            สำหรับพรรคเล็กคงต้องควบรวม ต้องกัดฟันกลืนเลือด เป็นการรวมเพื่ออยู่ เช่น บางคนที่เคยออกจากเพื่อไทยไปตั้งพรรคใหม่ หากจะกลับมาเพื่อไทยก็ต้องให้นายใหญ่เคลียร์ เช่น เอาจาตุรนต์ คุณหญิงสุดารัตน์ ที่ออกไปตั้งพรรคกลับมาเพื่อไทย

            เมื่อถามถึงโอกาสที่สองพรรคใหญ่เพื่อไทยกับพลังประชารัฐจะจับมือกันตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งรอบหน้า มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่ ศ.ดร.ไชยันต์ มองว่าก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะในกรณีพลเอกประยุทธ์ นายกฯ ไม่ลงการเมืองแล้ว เพราะถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่เล่นการเมืองต่อ พลเอกประวิตรก็สบาย เพราะพลเอกประวิตรเองแม้จะเป็นนายกฯ ไม่ไหว แต่พลเอกประวิตรก็อยู่พลังประชารัฐแล้วคอยคุมเชิงเพื่อไทย เพราะเพื่อไทยก็ต้องขอเสียงสนับสนุนจากพลังประชารัฐ ง่ายกว่าที่เพื่อไทยจะไปขอจากประชาธิปัตย์ แล้วก็จูบปากกันไป เป็นไปได้สูงมาก

            ส่วนการที่สมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามครั้งนี้เกิน 84 เสียง มองว่าอาจเป็นเพราะ ส.ว.เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มากระทบถึง ส.ว. เช่น เรื่องอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.ก็อาจคิดว่าเลยต้องแลกเปลี่ยนกันบ้าง ส.ว.ก็ต้องให้นักการเมืองเขาบ้าง และทางพลังประชารัฐ คงส่งสัญญาณว่าเอาบัตรสองใบเพื่อลดกระแสความขัดแย้งในสภา เพราะหากการเมืองในสภากลมกลืนกันได้ การเมืองนอกรัฐสภาเป็นเรื่องที่ตำรวจจะไปดำเนินการเอง ทั้งหมดดูแล้วการแก้ไขรอบนี้คงมุ่งไปที่พรรคก้าวไกล คือไม่อยากให้พรรคนี้โต

..................................................................................

พรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่ ดิ้นหนีตาย

            รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สอนวิชาพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และการเลือกตั้ง วิเคราะห์ฉากทัศน์การเมือง-การเลือกตั้งของประเทศไทย รอบหน้าหากมีการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ว่า ระบบการเลือกตั้งตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไข เรียกว่า ระบบผสมเสียงข้างมาก หรือ Mixed Member Majoritarian (MMM) โดยเมื่อดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาที่แก้ไขลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลงเหลือ 100 ที่นั่ง จาก 150 ที่นั่ง และให้แยกนับคะแนนระหว่างบัตร ส.ส.เขตกับบัตรปาร์ตี้ลิสต์ จากเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วนำทุกคะแนนของทุกพรรคการเมืองมานับรวมกันหมด ซึ่งการเลือกตั้งรอบที่แล้วได้ประมาณ 70,000 คะแนน พรรคการเมืองจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนโดยไม่นับการปัดเศษ แต่รอบนี้ที่เสนอแก้ไขที่มีการประมาณการว่าจะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 50 ล้านเสียง ซึ่งที่ผ่านมาจะมีคนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยเฉลี่ยประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ คือ 35 ล้านคน เมื่อนำตัวเลขมาคำนวณจะเท่ากับว่า พรรคการเมืองที่จะได้ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งที่นั่งต้องได้ 350,000 คะแนน ที่มากกว่าเลือกตั้งปี 2562

กรณีดังกล่าวยังไม่รวมที่อาจจะมีการไปเขียนรายละเอียดเพิ่มเติมตอนมีการแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ที่จะแก้ไขหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่ผ่านจากรัฐสภา เช่น การกำหนดว่าพรรคการเมืองที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์จะถูกนำมาคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภา จะต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 100 เขต หากมีการเขียนไว้แบบนี้เข้าไปอีก มันก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองขนาดเล็กในการส่งคนลงเลือกตั้งอีก

ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อฉากทัศน์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่จะได้รับผลกระทบมากคือพรรคเล็กที่มีอยู่ตอนนี้ รวมถึงพรรคตั้งใหม่ที่จะมีต้นทุนในการได้ที่นั่ง ส.ส. และต้นทุนการเลือกตั้งที่เพิ่มสูงขึ้น

            ...อย่างที่ผ่านมา จะเห็นความเคลื่อนไหวที่มีนักการเมืองไปตั้งพรรคการเมืองกัน เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง, นางรฎาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์, คุณหญิงสุดารัตน์, นพ.วรงค์, กรณ์ จาติกวณิช ที่จะมีทั้งพรรคเล็กขนาดกลาง พรรคเล็ก คำถามก็คือเมื่อกติกาเปลี่ยนแล้ว พวกที่กำลังตั้งพรรคอยู่เขาจะไปต่อหรือจะพอเพียงเท่านี้ เพราะถึงตอนนี้พรรคที่กำลังตั้งกันอยู่ต้องคิดแล้วว่า ควรจะไปเน้นการได้เก้าอี้ ส.ส.ระบบเขตมากกว่าการจะไปหวัง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้ว เช่น ตอนเริ่มใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และมีการเลือกตั้งระบบบัตรสองใบครั้งแรกตอนเลือกตั้งปี 2544 ก็มีบางคนตั้งพรรคเพื่อลงเลือกตั้งตอนนั้น เช่น ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม.กับพรรคถิ่นไทย ตอนนั้นก็หวังจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่คะแนนก็ไม่ถึงเกณฑ์

หากมาดูกติกาที่แก้ไข ที่พรรคการเมืองจะได้ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคนต้องได้ 350,000 คะแนน การที่พรรคจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ เช่น หากไปหวังให้คนเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขต และกาบัตรปาร์ตี้ลิสต์ในคราวเดียวกัน เกณฑ์เฉลี่ย เช่น ส.ส.เขต หนึ่งคนห้าหมื่นคะแนนก็ชนะแล้ว หากหวังจะให้คะแนนมาพร้อมกันก็เท่ากับต้องได้แบบนี้ถึงห้าเขตเลือกตั้ง หรือจากระบบเขตเลือกตั้งที่แก้ไขกลับไปให้มี ส.ส.เขต 400 เขต ก็เท่ากับว่าพรรคการเมืองแม้ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่ส่งไปจะไม่ชนะ แต่อย่างน้อยต้องให้คนกาบัตรปาร์ตี้ลิสต์ประมาณเขตละ 9,000-10,000 คะแนน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับพรรคเล็ก เพราะระบบการเลือกตั้งที่แก้ไขเอื้อให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ตอนนี้ไม่ใช่โอกาสของพรรคเล็กแบบเดิมแล้ว กับการที่ต้องได้ 350,000 คะแนนต่อ 1 เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงสำหรับพรรคเล็ก

“ดังนั้น พรรคขนาดเล็กและพรรคการเมืองตั้งใหม่ที่เป็นพรรคเล็ก หากตัวพรรค เช่น หัวหน้าพรรค กระแสไม่แรงพอ ดึงดูดคนไม่ได้มากพอ โอกาสชนะก็จะมีน้อย จึงได้เห็นการที่ ส.ส.พรรคเล็กตอนโหวตออกเสียงไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้”

....วันนี้พรรคการเมืองขนาดเล็ก-พรรคตั้งใหม่ คนในพรรคอาจต้องกลับไปถามตัวเองแล้วว่าจะเอาอย่างไร จะไปรวมพรรคกันดีหรือไม่ ระหว่างพรรคเล็ก-พรรคขนาดกลาง แม้แต่เรื่องการลงเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคเอง ก็อาจต้องตัดสินใจแล้วว่าจะลง ส.ส.เขตหรือลงปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ที่คนก็อาจมองว่า หัวหน้าพรรคควรต้องลงปาร์ตี้ลิสต์เพราะเบอร์หนึ่งปาร์ตี้ลิสต์คือแคนดิเดตนายกฯ แต่ขณะเดียวก็มีความเสี่่ยง เพราะหากลงปาร์ตี้ลิสต์สุดท้ายพรรคอาจไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภาก็ได้ อีกทั้งพบข้อมูลจากที่เคยได้ไปสัมภาษณ์ประชาชนเพื่อทำวิจัย ก็พบว่าคนไทยส่วนใหญ่จะชอบ ส.ส.ที่สังกัดพรรคใหญ่มากกว่าสังกัดพรรคเล็ก เพราะเขารู้สึกว่า พรรคใหญ่มีโอกาสจะช่วยเหลือในเรื่องนโยบายได้มากกว่าพรรคเล็ก เช่นเรื่องงบประมาณหรือการผลักดันอะไรต่างๆ ก็ทำให้พรรคเล็กก็ต้องคิดหนักว่าในการเลือกตั้งเขาจะมีอดีต ส.ส.หรือคนดังๆ มาอยู่กับพรรคตัวเองในการเลือกตั้งหรือไม่

                ส่วนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เมื่อกติกาเปลี่ยน กลยุทธ์ที่เคยใช้ตอนเลือกตั้งปี 2562 อย่างกลยุทธ์ แตกแบงก์พัน คงต้องหยุด เพราะระบบที่แก้ไขทำให้พรรคการเมืองใหญ่หาเสียงได้ง่ายว่า "เลือกทั้งคนเลือกทั้งพรรค เบอร์เดียวกัน"

            ดร.อรรถสิทธิ์-คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การวิเคราะห์เรื่องนี้ หากไปดูคะแนนตอนเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเคยได้รับ เช่น เคยมีอยู่สมัยหนึ่งเพื่อไทยได้ 14 ล้านเสียง ประชาธิปัตย์ได้ 11 ล้านเสียง แต่ล่าสุดเพื่อไทยได้ประมาณ 7-8 ล้านเสียง แต่เป็นเพราะเขาแตกแบงก์พันและส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขต ซึ่งดูแล้วสถานการณ์ ณ วันนี้ หากดูที่พรรคใหญ่ในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ เขาอาจจะได้คะแนนจากผู้ลงคะแนนเสียงทั่วประเทศประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ก็คือประมาณ 30-40 ที่นั่งของปาร์ตี้ลิสต์ที่มี 100 ที่นั่ง รวมกับ ส.ส.เขตที่อาจจะได้ในกรณีที่ ส.ส.ปัจจุบันยังอยู่กับพรรคเดิม ไม่ได้ย้ายพรรค เช่น เพื่อไทย อาจจะได้ประมาณ 170-200 ที่นั่ง ส่วนพลังประชารัฐ หากถึงตอนเลือกตั้งถ้าพรรคยังคงอยู่ในสภาพแบบนี้ อาจสักขั้นต่ำ 80 ที่่นั่ง บวกกับปาร์ตี้ลิสต์อีกสัก 30-40 ที่นั่ง ก็จะประมาณ 120 ที่นั่ง ที่เป็นจำนวนเก้าอี้ ส.ส.โดยเฉลี่ยที่พรรคใหญ่จะได้รับ ซึ่งจะอยู่ประมาณ 120-150-170 ที่นั่ง

สำหรับพรรคขนาดเล็ก หากจะลงเลือกตั้งคงต้องถามตัวเองก่อนว่าจะเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อให้ได้มี ส.ส.หรือเพื่อหวังมีบทบาทในสภา หากคิดไปว่าต้องได้สัก 5-7 ที่นั่ง แล้วหากไปเป็นรัฐบาลจะได้หนึ่งเก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งถ้าหวัง ส.ส.เขตแล้วทำได้ก็ไม่มีปัญหา แต่หากหวังปาร์ตี้ลิสต์ ก็เท่ากับ 350,000 คูณ 7 ก็เกือบ 2 ล้านเสียง มันไม่ได้ง่ายแล้วมันยาก สมัยเลือกตั้งปี 2562 พรรค ภูมิใจไทย ยังได้ 3 ล้านเสียงมันจึงเป็นเรื่องลำบากสำหรับพรรคเล็กกับการหวังจะได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์

            สิ่งที่ต้องจับตาสำหรับพรรคขนาดเล็ก ก็คือพรรคเล็กที่มีอยู่และคนที่ออกจากพรรคใหญ่ไปตั้งพรรคใหม่ในช่วงที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วจะเอายังไง จะใช้วิธีมารวมกันหรือไม่ หรือเราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์การจับมือเป็นพันธมิตรการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทยของพรรคขนาดเล็ก 4-5 พรรค แล้วบอกตอนหาเสียงว่า หากประชาชนเลือกพวกเขาก็เหมือนกับเลือกได้สี่ห้าพรรคเล็กที่จับมือกัน จนรวมกันแล้วอาจได้ ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 10-15 ที่นั่ง ทั้งหมดคือสิ่งที่เมื่อกติกาเปลี่ยนไป ก็จะทำให้ ผู้เล่นก็จะเปลี่ยนไปมากไม่เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562

-ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เสนอแก้ไขรอบนี้ พรรคก้าวไกล อาจจะได้รับผลกระทบมากที่สุด?

            ระบบที่แก้ไข แม้จะทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบ แต่หากพรรคเล็ก สู้แล้วเขามีกระแส ซึ่งกระแสพรรคก็คือ กระแสหัวหน้าพรรค และนโยบาย ที่หากตอนเลือกตั้งกระแสของพรรคเกิดว่าโมเมนตัมมันได้ มันก็ไม่ยาก ผมก็คิดว่า พรรคก้าวไกล มีกระแสในการเมืองที่ดี จึงอาจไม่ต้องกังวลมากนัก แต่ถ้าเป็นพรรคเล็กอย่าง ประชาชาติ-เศรษฐกิจใหม่-รวมพลังประชาชาติไทย บางพรรคถามว่า หากมีการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้อะไรคือโมเมนตัมหรือจุดดึงดูดให้คนเลือกพรรค พรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึงหนึ่งล้านคะแนนตอนเลือกตั้ง 2562 จึงน่าจะมีความกังวลใจมากกว่า

                "ก้าวไกล ผมไม่ได้มองว่าเขาเสียเปรียบในระบบบัตรสองใบ เพราะกระแสเขามี และฐานเสียงเขาโต อย่างพวกกลุ่ม first-time voter แต่พรรคเล็กอื่นๆ หากเขาไม่มีโมเมนตัม แบบนี้น่ากลัวกว่า"

            ดร.อรรถสิทธิ์-นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ย้ำตอนท้ายว่าไม่มีระบบการเลือกตั้งที่ดีที่สุดในโลก มันมีระบบที่เรารับข้อด้อยของมันได้ไหม เพราะในข้อดี มันจะมีข้อด้อย เพราะระบบหนึ่ง มันไม่ได้เหมาะกับทุกประเทศ จะพบว่าเกือบทุกประเทศ ก็จะปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งให้เข้ากับประเทศของตัวเอง จึงทำให้ระบบการเลือกตั้งจึงมีหลายรูปแบบ อย่างระบบที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ บัตรสองใบ มันก็มีข้อด้อย พรรคเล็กเลยไม่ชอบ บางคนเสนอให้ใช้ระบบแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP พรรคใหญ่ก็ไม่ชอบ

การเมืองที่ต้องจับตาต่อจากนี้เมื่อจะกลับไปใช้บัตรสองใบก็คือ การเคลื่อนไหวของพรรคขนาดเล็ก และพรรคตั้งใหม่ ที่คนแยกตัวออกจากพรรคใหญ่ออกไปตั้งกัน ว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไร จะมีการรวมพรรคกันหรือจะทำแบบพรรคพันธมิตรก่อนการเลือกตั้ง ที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจับมือกันตอนเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเจอปรากฏการณ์แบบนี้ แต่ต่างประเทศก็มีให้เห็น เช่นที่มาเลเซีย หรือบางประเทศในยุโรป คือ จะแบ่งเขตพื้นที่กันเลย พรรคนี้ส่งคนลงพื้นที่นี้ พวกพรรคพันธมิตรที่เหลือก็ต้องไม่ส่งคนของตัวเองลงไปหาเสียงทับพื้นที่กัน.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"