บริษัทปูนฝรั่งเศสกับคดีสนับสนุนไอซิส


เพิ่มเพื่อน    

โรงงานปูนซีเมนต์ Lafarge Cement Syria ในเมืองจาลาบิยา ทางเหนือของประเทศซีเรีย (ภาพจาก asso-sherpa.org)

 

พฤติกรรมเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนของ Lafarge บริษัทปูนซีเมนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสที่ทำธุรกิจในซีเรียกำลังตามหลอกหลอนพวกเขาอย่างหนัก ข้อหาไม่ใช่เล่นๆ มีทั้งสนับสนุนการก่อการร้าย, ทำอันตรายชีวิตผู้คน, ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของอียู และที่ร้ายแรงสุดคืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

                กลุ่มเอ็นจีโอ Sherpa องค์กรด้านกฎหมายเพื่อการช่วยเหลือเหยื่อจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจากฝรั่งเศส และศูนย์ยุโรปเพื่อรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน (ECCHR) รวมทั้งลูกจ้างของ Lafarge Cement Syria (บริษัทลูกของ Lafarge) จำนวน 11 คน ยื่นเรื่องต่อศาลฝรั่งเศสกล่าวหาว่า Lafarge จ่ายเงินให้กับไอซิสและกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เพื่อให้โรงงานปูนของพวกเขาในเมือง “จาลาบิยา” ทางตอนเหนือของซีเรียสามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้ในช่วงปี ค.ศ.2012-2014

                จำนวนเงินที่จ่ายรวมกันนั้นสูงถึง 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 500 ล้านบาท และเงินจำนวนนี้ก็ได้เป็นทุนรอนในการนำไปซื้ออาวุธเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในสงครามกลางเมืองซีเรียที่ดำรงยาวนาน 10 ปี และยังไม่จบสิ้นลง

            Lafarge บริษัทปูนเก่าแก่ของฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1833 เคยมีส่วนร่วมสร้างคลองสุเอซของอียิปต์ จนถึงตึกใหม่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของสหรัฐ ปี ค.ศ.2015 ได้ควบรวมกิจการกับ Holcim ของสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยจำนวนเงิน 41,000 ล้านยูโร ใช้ชื่อใหม่ LafargeHolcim มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส กลายเป็นบริษัทปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

                กลุ่ม Sherpa เป็นผู้เริ่มต้นตรวจสอบการจ่ายเงินให้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายของ Lafarge อย่างลับๆ ก่อนที่เรื่องนี้จะเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสในปี 2016 ทำให้บริษัท LafargeHolcim จ้างสำนักงานกฎหมายเบเกอร์ แมคเคนซี ของสหรัฐทำการสืบสวนสอบสวนเป็นการภายใน

                ไฟแนนเชียลไทม์สนำเสนอข่าวจากรายงานการสอบสวนที่หลุดออกมาว่า Lafarge ได้ซื้อวัตถุดิบต่างๆ ในการผลิตปูนซีเมนต์จากซับพลายเออร์ที่มีความเกี่ยวข้องหรือจากพื้นที่ควบคุมของกองกำลังไอซิส

                นอกจากนี้เพื่อให้โรงงานซีเมนต์ในซีเรียเปิดดำเนินการต่อไปได้ในสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่กำลังเข้มข้นและชีวิตของลูกจ้างบริษัทตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งถูกคุกคามทำร้าย ถูกขัดขวางการเข้าทำงาน ไปจนถึงลักพาตัว บริษัทได้จ่ายค่าคุ้มครองให้กับกองกำลังติดอาวุธบางกลุ่มผ่านคนกลางเป็นเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทนายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ระบุว่าตัวเลขสูงถึง 15 ล้านเหรียญฯ

                “ฟิราส ตะลาส” คือคนกลางที่ถูกกล่าวถึง เขาผู้นี้เป็นเจ้าของบริษัท Min Ajil Suriya ที่ครอบครองโรงงานซีเมนต์ในเมืองจาลาบิยา ตั้งอยู่ห่างจากเมืองอะเลปโปไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 150 กิโลเมตร บริษัทของตะลาสเป็นเจ้าของโรงงานซีเมนต์ร่วมกับบริษัท Orascom จากอียิปต์ เมื่อบริษัททั้ง 2 ขายโรงงานให้กับ Lafarge ในปี 2007 ตะลาสก็ยังถือหุ้นใน Lafarge อีกนิดหน่อย

                บิดาของตะลาสนั้นในอดีตคือรัฐมนตรีกลาโหมของซีเรีย ครอบครัวของเขามีความสนิทแนบแน่นกับประธานาธิบดี “บาชาร์ อัล-อัดซาด” ต่อมาตะลาสแปรพักตร์และอพยพไปยังอียิปต์ เขาสามารถประสานกับกลุ่มที่ต่อต้านระบอบอัดซาดได้อย่างไม่ยากเย็น

                รายงานระบุว่า เงินที่จ่ายให้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายจะถูกลงบัญชีว่าเป็นส่วนหนึ่งในงบประชาสัมพันธ์และการสร้างความปลอดภัยแก่โรงงาน

                ในแถลงการณ์ต่อสาธารณะ LafargeHolcim ไม่ได้ชี้แจงว่าเงินที่จ่ายไปนั้นตกอยู่กับกลุ่มนักรบกลุ่มใด แต่รายงานภายในที่หลุดออกมาบอกชัดเจนว่า บริษัทลูกในซีเรียรับรู้ว่าเงินถูกจ่ายให้กับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่างไอซิส โดยประเมินว่าราว 500,000 เหรียญสหรัฐ ตกไปอยู่กับกลุ่มไอซิส

            ยาค็อบ วากเนสส์ ผู้จัดการความเสี่ยงของ Lafarge ในซีเรียที่ทำงานจนถึงตุลาคม 2013 บอกกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สว่า บริษัทได้จ่ายให้กับกลุ่มติดอาวุธเป็นเงิน 220,000 ยูโร เมื่อปี 2012 สำหรับเป็นค่าปล่อยตัวลูกจ้างของบริษัทจำนวน 9 คน

                ลูกจ้างในโรงงานซีเมนต์ซึ่งเป็นชาวซีเรียท้องถิ่นให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า การจับตัวเรียกค่าไถ่เกิดขึ้นจริง คนหนึ่งกล่าวว่า “เราตกใจมาก ตอนนั้นเราคิดว่ากำลังทำนรกอะไรกันอยู่ที่นี่”

                ตามรายงานภายในดังกล่าวนี้พบว่า ระหว่างปลายปี 2013 จนถึงสิงหาคม 2014 การเจรจาต่อรองที่ดำเนินการโดยตะลาสกับกลุ่มติดอาวุธ รวมถึงไอซิสและอัลนุศเราะห์ หรืออัลกออิดะห์สาขาซีเรีย ทำให้เส้นทางขนส่งวัตถุดิบเปิดใช้งานได้ เช่นเดียวกับการเดินทางไปยังโรงงานของลูกจ้างบริษัท Lafarge

                เดือนพฤศจิกายน 2013 ในรายชื่อผู้ที่รับการจ่ายเงินจากตะลาสนั้นลงไว้ชัดเจนว่าเป็น “Daech” ซึ่งเป็นคำย่อฝรั่งเศสในความหมายของภาษาอาหรับสำหรับคำว่า “ไอซิส”

                จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2014 สถานการณ์รอบด้านของโรงงาน Lafarge ย่ำแย่อย่างหนัก ตะลาสได้บอกกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทว่ากำลังเจรจากับตัวแทนของไอซิสในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงที่ยั่งยืนในการรับประกันความปลอดภัยของโรงงาน

                เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ตะลาสแจ้งว่าสามารถตกลงกับไอซิสได้ แต่เป็นเพียงข้อตกลงชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน บริษัท Lafarge ก็ทำการอพยพลูกจ้าง จากนั้นโรงงานถูกยึดไปโดยกลุ่มไอซิส แต่ทนายตัวแทนลูกจ้างเหล่านั้นให้ข้อมูลว่าลูกจ้างชาวซีเรียท้องถิ่นถูกทิ้งให้อยู่ในโรงงานและต้องหลบหนีออกมาเองโดยไม่มีคำสัญญาใดๆ จากบริษัท ในส่วนของลูกจ้างชาติอื่นๆ นั้น บริษัทได้อพยพพวกเขาออกไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2012 แล้ว

                มุสตาฟา เชคห์ นูห์ อดีตคนงานของ Lafarge ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราว่า “เราขอให้บริษัทหยุดทำการ แต่พวกเขาไม่หยุด” และว่า “บริษัทแสดงความรับผิดชอบสำหรับผู้ที่ถูกลักพาตัวและผู้ที่ถูกสังหาร”

                รายงานการสอบสวนภายในไม่ได้สรุปว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทคนใดควรต้องรับผิดชอบ แม้ว่ามีรายละเอียดอ้างโดยผู้จัดการภูมิภาคและผู้บริหารบางคนในปารีสว่าพวกเขารายงานผู้บังคับบัญชาเสมอถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรีย รวมถึง “บรูโน ลาฟงต์” ซีอีโอในเวลานั้น

                พวกเขายังบอกว่าลาฟงต์รับรายงานในระยะเวลาสั้นๆ เป็นกิจวัตรประจำวันจากคณะทำงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรียและพูดคุยเกี่ยวกับการจ่ายเงินเพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินการต่อได้ นอกจากนี้ในรายงานยังระบุว่า ลาฟงต์ได้รับการบอกกล่าวจากพนักงานระดับสูงคนหนึ่งเกี่ยวกับการผลิตในโรงงานซีเรียที่ล่าช้าขณะกำลังมีความพยายามเจรจากับกลุ่มไอซิส

                เดือนเมษายน 2017 บริษัท LafargeHolcim ได้ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้ และผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบได้ตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ แต่ก็ยังบอกว่าการตัดสินใจนั้นได้ถูกชี้แนะและหว่านล้อมมาจากการจัดการในระดับภูมิภาค

            “ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของบริษัท” แถลงการณ์จาก LafargeHolcim

                บริษัทยังอธิบายด้วยว่า โรงงานในซีเรียของพวกเขาถือเป็นแหล่งจ้างงานหนึ่งเดียวในชุมชนบริเวณนั้น พวกเขาสามารถจัดหาปูนซีเมนต์สำหรับการสร้างสาธารณูปโภค การดำเนินธุรกิจ ถนนหนทาง และสิ่งจำเป็นต่างๆ ทั่วทั้งซีเรีย

                ทางการฝรั่งเศสได้สืบสวนสอบสวนความเชื่อมโยงของผู้บริหารบริษัทจำนวนหนึ่งกับการจ่ายเงินให้กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และตรวจสอบว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของอียูหรือไม่ รวมถึงบริษัทควรต้องรับผิดชอบกับการเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

                ศาลของฝรั่งเศสที่มีระบบสอบสวนโดยผู้พิพากษาได้ตั้งข้อหาบริษัท Lafarge ว่ามีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, สนับสนุนการก่อการร้าย, ทำอันตรายต่อชีวิตผู้คน และฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของอียู จากนั้นไม่นานผู้บริหารที่เกี่ยวข้องก็ทยอยลาออกจนหมด

                ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2019 ศาลอุทธรณ์ได้สั่งให้ยุติข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เห็นว่าการจ่ายเงินของบริษัท Lafarge ไม่ได้ตั้งใจจะสนับสนุนปฏิบัติการโหดเหี้ยมของกลุ่มไอซิส แต่ให้สอบสวนข้อหาอื่นๆ ต่อไป

                เมื่อรับทราบคำสั่งของศาลอุทธรณ์ กลุ่มเอ็นจีโอ Sherpa ในกรุงปารีส โดย “มารี-ลอร์ กิสแลง” กล่าวว่า การปฏิเสธที่จะยืนยันข้อหาการมีส่วนร่วมในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเปรียบได้กับการสนับสนุนการไม่ต้องรับโทษของบรรษัทข้ามชาติที่หากินในดินแดนสงคราม และลิดรอนสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

                กลุ่ม Sherpa, กลุ่ม ECCHR และผู้เสียหาย 11 รายได้ยื่นฎีกา และเมื่อวันที่ 7 กันยายน หรือกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ศาลยุติธรรมสูงสุดฝรั่งเศส (Court of Cassation) ได้แย้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal)

            “ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถมีส่วนร่วมในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้ ถึงแม้ผู้นั้นไม่ได้มีความตั้งใจให้เกิดอาชญากรรมก็ตาม” ศาลสูงสุดระบุ

                จากนั้นชี้ว่า “ควรจะทราบได้ว่าการจ่ายเงินหลายล้านให้กับองค์กรซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรมก็เทียบเท่ากับการสมรู้ร่วมคิด มิพักต้องพิจารณาว่าเป็นการจ่ายเงินเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมทางการค้า”

                ศาลยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมสมคบคิดอีกมากจะไม่ได้รับการลงโทษหากศาลใช้การตีความอย่างเบาหรือผ่อนผันเกินไป

                อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลยังไม่ได้หมายความว่า บริษัท Lafarge จะต้องถูกดำเนินการไต่สวนด้วยข้อหารุนแรงนี้โดยทันที หากแต่ให้ผู้ที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน (Investigating magistrate) พิจารณาข้อหาการร่วมกระทำผิดนี้อีกครั้ง

                นอกจากนี้ศาลสูงสุดยังคงข้อหาอดีตผู้บริหาร 8 คนของบริษัทกรณีให้เงินสนับสนุนการก่อการร้าย หนึ่งในนั้นคือ “บรูโน ลาฟงต์” อดีตซีอีโอ ทว่าได้เพิกถอนคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ก่อนนี้ได้ให้ดำเนินคดีข้อหาทำอันตรายชีวิตผู้อื่น โดยระบุว่าไม่มีความชัดเจนว่ากฎหมายแรงงานของฝรั่งเศสสามารถใช้กับคดีนี้ได้หรือไม่ ขอให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนทำการพิจารณาใหม่

                จุดที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เอกสารของศาลเปิดเผยว่า หน่วยงานข่าวกรองฝรั่งเศสได้ใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ของบริษัท Lafarge ความร่วมมือและการพบปะของบริษัท Lafarge กับกลุ่มติดอาวุธในซีเรียเพื่อหาข่าวและคงปฏิบัติการในซีเรียต่อไป

            อีกทั้งยังชี้ชัดว่าหน่วยข่าวกรองของฝรั่งเศสไม่ได้เตือนบริษัท Lafarge ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่เป็นการก่ออาชญากรรม.

 

อ้างอิง

 

- ft.com/content/7ef75794-1283-11e8-940e-08320fc2a277

 

- aljazeera.com/news/2021/9/7/frances-lafarge-loses-ruling-in-syria-crimes-against-humanity

 

- aa.com.tr/en/europe/top-french-court-accuses-cement-giant-lafarge-of-financing-terrorism/2358149

 

- france24.com/en/europe/20210907-french-firm-lafarge-loses-bid-to-dismiss-crimes-against-humanity-case-in-syria

 

- asso-sherpa.org/lafargeholcims-reputation-at-risk-over-alleged-links-with-isis

 

- ecchr.eu/en/case/lafarge-in-syria-accusations-of-complicity-in-grave-human-rights-violations/

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"