มองยุทธศาสตร์จีน ผ่านโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนสาละวิน


เพิ่มเพื่อน    

แม่น้ำยวม เป็นแม่น้ำท้องถิ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีต้นกำเนิดที่ อ.ขุนยวม ไหลบรรจบกับแม่น้ำเงาที่หมู่บ้านสบเงา อ.สบเมย ก่อนไหลลงแม่น้ำเมย และลงสู่สาละวินที่หมู่บ้านสบเมย

ใกล้ๆ บริเวณที่แม่น้ำเงาไหลรวมกับแม่น้ำยวมซึ่งชาวบ้านเรียกว่าแม่น้ำสองสี ถูกวางแผนให้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่เรียกสั้นๆว่า “โครงการผันน้ำยวม” มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ด้วยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเพื่อสูบน้ำผ่านอุโมงค์ขนาดใหญ่เจาะทะลุผืนป่ากว่า 60 กิโลเมตรเพื่อส่งน้ำไปยังเขื่อนภูมิพลที่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

โครงการผันแม่น้ำยวมกลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อรายงานผลการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)และเตรียมนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา

โครงการนี้ได้รับความสนใจยิ่งขึ้น เมื่อนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าได้รับการประสานกับรัฐวิสาหกิจของจีน

“กรมชลประทานได้ออกแบบคร่าวๆ ไว้เดิมใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เวลา 7 ปี แต่ทางวิสาหกิจจีนตอบมาว่าเขาใช้งบเพียง 4 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาเพียง 4 ปี เรื่องนี้ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ และท่านประวิตร(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ) ที่นั่งอยู่ด้วยกัน ท่านบอกว่าเอาเลย ถ้าเขาทำให้เราก่อน เราไม่ต้องเสียอะไร เราไม่ต้องลงทุนเอง หากต้องลงทุนเองตอนนี้ รัฐบาลไม่พร้อม หากทางจีนจะทำ ท่านบอกเดินหน้าเต็มที่เลย ผมไฟเขียวให้เลย” นายวีระกรสะท้อนภาพให้เห็นถึงท่าทีของผู้มีอำนาจสูงสุดในฝ่ายบริหารของประเทศไทยและเพิ่มความจริงจังให้โครงการมากขึ้น

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือนายวีระกรกล่าวว่า “จีนกำลังจะลงทุนเมืองอุตสาหกรรมในพม่า บริเวณแถวนั้น ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน หากลากเส้นจากสบเมยไปยังกรุงเนปิดอว์ จะเห็นว่าแค่ 80 กิโลเมตร จุดที่เขาทำเมืองอุตสาหกรรมก็ใกล้ตรงนี้ ตอนนี้เขาประสานงานกับรัฐบาลพม่าแล้ว โดยจะทำเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไปใช้ในเมืองอุตสาหกรรมและส่วนหนึ่งขายให้รัฐบาลไทย”

ในเฟส 2 ของโครงการ ได้วางแผนสูบแม่น้ำสาละวินมาสู่แม่น้ำยวมเพื่อผันน้ำไปใช้ในลุ่มน้ำภาคกลางด้วย

ข้อมูลจากนายวีระกรทำให้เห็นภาพชัดว่าโครงการผันแม่น้ำยวมครั้งนี้ ไม่ใช่โครงการภายในท้องถิ่นหรือภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยกระดับเป็นโครงการระหว่างประเทศเพราะแม่น้ำสาละวินเป็นสายน้ำนานาชาติ

โครงการผันน้ำยวมประกอบด้วย 1.เขื่อนกั้นแม่น้ำยวมในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความสูง 69.50 เมตร เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นโดยมีอาคารระบายน้ำล้นและถนนเข้าหัวงาน อ่างเก็บน้ำมีความยาว 10 กิโลเมตร 2.สถานีสูบน้ำซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ห่างจากตัวเขื่อน 22 กิโลเมตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 เครื่องผันน้ำลงอุโมงค์ 3.ถังพักน้ำและอุโมงค์ซึ่งมีความยาว 64 กิโลเมตร เริ่มต้นจากบ้านสบเงาเจาะทะลุป่าเขาแล้วไปออกที่ลำห้วยแม่งูดริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลใน อ.ฮอด จ.ตาก

EIA ซึ่งกรมชลประทานว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรให้ทำการศึกษาและผ่านความเห็นชอบของ คชก.ไปแล้วนั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากภาคประชาชนและนักวิชาการ เพราะเห็นว่าขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากชุมชน ที่สำคัญคือมีข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในพื้นที่ในหลายจุด นอกจากนี้ยังมีการแอบอ้างนำเอารูปภาพของบุคคลที่คัดค้านซึ่งนั่งกินอาหารอยู่ในร้านลาบไปใส่ไว้เพื่อเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้เห็นว่าได้มีการปรึกษาหารือทุกฝ่าย โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอมและบางคนปรากฏชื่ออยู่ในรายงานโดยที่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่เคยหารือกับนักวิชาการที่ทำ EIA เลย

ความน่าเชื่อถือของ EIA ฉบับนี้จึงถูกตั้งข้อสงสัยมากมาย ขณะเดียวกันการที่รัฐวิสาหกิจของจีนให้ความสนใจเป็นอย่างมากและอาสาเข้ามาดำเนินการลงทุนและก่อสร้างให้ในราคาที่ต่ำกว่าที่กรมชลประทานเคยศึกษาไว้ถึง 3 หมื่นล้าน และเชื่อมโยงกับการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน 2 แห่งที่จีนได้หารือกับผู้นำรัฐบาลทหารพม่าไว้แล้ว ทำให้เห็นภาพยุทธศาสตร์การก้าวย่างของจีนในภูมิภาคแห่งนี้

หลายปีที่ผ่านมานักธุรกิจจีนได้เข้ามาลงทุนสร้างเมืองใหม่บริเวณชายแดนไทย-พม่าชื่อว่า “เมืองฉ่วยโก๊กโก่” ใน จ.เมียวดี ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ชายแดนไทย โดยอนาคตเตรียมอพยพชาวจีนจำนวนมากเข้ามาปักหลักในบริเวณนี้ ขณะเดียวกันตามคำบอกเล่าของนายวีระกรยังระบุว่า จีนยังได้ลงทุนในการสร้างเขตอุตสาหกรรมระหว่างชายแดนไทยและกรุงเนปิดอว์ด้วย ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าสูง จึงได้มีแผนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน 2 แห่ง ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าอนุญาตแล้ว

แม่น้ำสาละวินมีความยาว 2,800 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลพม่าและชายแดนไทยซึ่งตลอดระยะทางได้หล่อเลี้ยงชุมชนชาติพันธุ์มากมาย อาทิ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ คะเรนนี จนได้ชื่อว่าแม่น้ำชาติพันธุ์และถือว่าเป็นแม่น้ำที่ยังคงความเป็นธรรมชาติไว้ได้ดีแห่งหนึ่งของโลกเพราะนอกสายน้ำยังไหลเป็นอิสระ เนื่องจากไม่มีเขื่อนกั้นแล้ว สองฟากแม่น้ำยังเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ขณะที่หลายพื้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพพม่า

ที่ผ่านมากองทัพพม่าใช้ความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาควบคุมพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อน ทั้งในรัฐคะเรนนีและรัฐกะเหรี่ยง แต่ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ เพราะทราบดีถึงวัตถุประสงค์แอบแฝงของรัฐบาลทหารพม่า

นับตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา กองทัพพม่าได้ทุ่มเทสรรพกำลังโจมตีทหาร KNU กองพล 5 ซึ่งควบคุมพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินบริเวณชายแดนไทยและรัฐกะเหรี่ยงอย่างหนักหน่วง ทำให้ประชาชนกว่า 7 หมื่นคนต้องอพยพหนีตายออกจากหมู่บ้าน และบางส่วนข้ามมาหลบภัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวินฝั่งประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

หลังฤดูฝนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเชื่อว่าการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จะรุนแรงอีกครั้ง นอกจากปัจจัยสถานการณ์การเมืองร้อนระอุภายในพม่า และความต้องการอิสรภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆแล้ว เรื่องผลประโยชน์เรื่องของ “เขื่อนสาละวิน”เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่เร่งเร้าให้กองทัพพม่าปราบปรามกลุ่มกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อยึดพื้นที่และอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนจีน

ดังนั้นโครงการผันน้ำยวมของทางการไทย และการอาสาเข้ามาดำเนินการก่อสร้างในราคาต่ำของรัฐวิสาหกิจจีน จึงเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ ไปถึงเขื่อนกั้นแม่สาละวิน และผลประโยชน์อันมหาศาลทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของรัฐบาลจีน พม่าและไทย

ขณะที่ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำสาละวินต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายของสงครามและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง

ภาสกร จำลองราช สำนักข่าวชายขอบ
--------------
หมายเหตุ - ในวันนี้(11 กย.64) เวลา 15.00-17.00 น. มีเวทีเสวนาออนไลน์"โปรเจคยักษ์ - ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ประเทศได้หรือเสีย" ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ และรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร , ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานผู้แทนกรมชลประทาน ดำเนินรายการโดย นายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม รับชมออนไลน์ผ่านทางเพจ 1. The reporters https://www.facebook.com/TheReportersTH 2. ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม https://www.facebook.com/thaisej 3. IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง https://www.facebook.com/imnvoices 4. Greennews https://www.facebook.com/greennewsagency


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"