ตามล่าเมธีส่อวืด 3วันยังไร้คำตอบ งงเยอรมนีเงียบ


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กป้อม" ชี้ม็อบพระเคลื่อนไหวแค่ในโลกออนไลน์ ยอมรับ 3 วันรอคำตอบขอตัว "พระพรหมเมธี" เยอรมนียังเงียบ งงไม่รู้ติดขัดตรงไหน เชื่อไม่เป็นแบบอย่างให้พระหนีคดีหลบออกนอกประเทศตาม "กองปราบฯ" เตรียมฟันเพจปล่อยข่าวเท็จใส่ร้าย จนท. "อพช." บุกร้องผู้ตรวจฯ ยื่นความเห็นเสนอศาล รธน.ตีความ พรบ.คณะสงฆ์ จับพระสึกก่อนคดีถึงที่สุดขัดรัฐธรรมนูญ
    เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) กล่าวถึงกรณีมีผู้โพสต์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียระบุ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยเตรียมนำพระสงฆ์ออกมาชุมนุมเพื่อคว่ำบาตรรัฐบาลในวันที่ 25 มิ.ย. เหตุจับพระสึกก่อนศาลพิพากษาความผิดในคดีทุจริตเงินทอนวัดและคดีอื่นๆ ว่า พระก็ออกมาบอกแล้วว่าไม่ยุ่ง ส่วนใหญ่ก็มีแต่ตามในโซเชียลมีเดีย
    "เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาก็ว่ากันไป พระรูปไหนผิดก็ว่าไปตามผิด พระรูปไหนถูกก็ว่าไปตามถูก ซึ่งการเคลื่อนไหวปลุกระดมคงไม่มี" พล.อ.ประวิตรกล่าว 
    ถามถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไปต่างประเทศถึง 2 ครั้ง  แต่ก็ยังไม่ได้ตัวอดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ผู้ต้องหาร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินทอนวัด ซึ่งหลบหนีไปประเทศเยอรมนีและยื่นขอลี้ภัย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาดำเนินการไปตามขั้นตอน และ 3 วันก็ไม่ใช่การได้ตัวแต่เป็นการให้คำตอบ ซึ่งตนได้ให้ ผบ.ตร.เป็นผู้พิจารณา  ซึ่งเขาก็บอกว่าจะพยายามทำให้ได้ภายใน 3 วัน ซึ่งครบกำหนดเวลา 3 วันเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว
    "ผมไม่ทราบว่าติดขัดตรงไหน เพราะไม่ได้ไปนั่งทำกับเขา คงต้องปล่อยให้เขาพิจารณาแล้วกัน  ทุกอย่างต้องทำไปตามระเบียบและขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งคงต้องตรวจสอบในรายละเอียดกันอีกที" พล.อ.ประวิตรกล่าว 
    ซักว่าถ้าหากไม่สามารถนำตัวกลับมาดำเนินคดีได้ จะถือเป็นตัวอย่างให้พระรูปอื่นที่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันใช้วิธีการหลบหนีออกนอกประเทศเหมือนกันหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดเผื่อไปในทางเลวร้ายตลอด อย่าเพิ่งไปถามอย่างนั้น ถ้าถามอย่างนั้นตนก็ตอบไม่ได้เพราะยังไม่ได้เผื่อไว้
    ขณะที่ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) กล่าวถึงกรณีมีบุคคลอ้างตัวเป็นสำนักข่าวชินบัญชร โพสต์ข้อความทำนองจะมีการจับกุมพระมหาเถรสมาคมทุกรูป และควบคุมตัวเจ้าคณะจังหวัดไว้ที่ค่ายทหารทุกจังหวัด และประกาศใช้มาตรา 44 ให้พระสงฆ์สามเณรงดออกจากวัดตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 05.00 น.ของอีกวันในช่วงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ก่อนงานเข้าพรรษา จนกว่าจะมีการปฏิรูปสงฆ์แล้วเสร็จ และให้ลี้ภัยไปใน 11 ประเทศที่มีสนธิสัญญาว่า ข้อความทั้งหมดไม่เป็นความจริง
    พล.ต.ต.ไมตรีกล่าวว่า ข้อความที่โพสต์นั้นเป็นข้อความที่รุนแรง ยืนยันเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการจับกุมแต่อย่างใด และตำรวจเตรียมดำเนินคดีสำนักข่าวดังกล่าวตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในฐานความผิดนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์กับกลุ่มคนหรือเพจเฟซบุ๊กที่สร้างข่าวลือในลักษณะนี้ โดยประสานให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)  ตรวจสอบต้นทางของข่าวที่มีลักษณะปลุกปั่น สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนและสังคม ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อหรือแชร์ข้อความดังกล่าว
    ถามถึงกรณีนายวรกร พงศ์ธนากุล ประธานเครือข่ายทนายและประชาชนปกป้องพระพุทธศาสนา  มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ข้อหาความผิดตามมาตรา 157 ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  และให้ดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องคดีทุจริตเงินทอนวัดนั้น ผบก.ป.กล่าวว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่การมาแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ พศ.ที่กระทำผิดไปแล้ว 15 ราย
    ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ.แจ้งวัฒนะ องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (อพช.) นำโดยพระมหาทนงค์ วิสุทฺธสีโล เลขานุการ อพช. พร้อมคณะสงฆ์เดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายประจักษ์ธรรม โรจนะภิรมย์ เจ้าหน้าที่สอบสวนอาวุโส เพื่อร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์  พ.ศ.2505 มาตรา 29 ว่าด้วยพนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุสละสมณเพศได้ ถ้าพระภิกษุรูปดังกล่าวถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา และไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และมาตรา 30 ว่าด้วยให้พนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุที่ต้องจำคุกตามคำพิพากษาสละสมณเพศเสียได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
    หนังสือร้องเรียนดังกล่าวอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ระบุว่าในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ รวมถึงการควบคุมหรือคุมขังให้กระทำได้เท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนี ด้วยเห็นว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 15 จัตวา, มาตรา 26, มาตรา 28 ระบุว่าการสละสมณเพศเป็นการลงโทษสำหรับพระภิกษุสามเณรผู้กระทำความผิดคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว แต่มาตรา 29 และมาตรา 30 กลับสามารถลงโทษด้วยการสละสมณเพศก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ไม่ให้ลงโทษอาญาก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด 
    "ทั้ง 2 มาตราดังกล่าวยังขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในมาตรา 27 ระบุไว้ว่า ทุกคนจะต้องได้รับสิทธิและเสรีภาพความคุ้มครองอย่างเท่าเทียม และไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะแตกต่างเรื่องเพศ เชื้อชาติ  ความเชื่อเรื่องศาสนา หรือความคิดเห็นด้านการเมืองที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ" หนังสือร้องเรียนระบุตอนท้าย
    พระมหาทนงค์กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว หากเห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อพช.จะดำเนินการขอคุ้มครองชั่วคราวในเรื่องของกฎหมายคณะสงฆ์ ก่อนจะเตรียมยื่นเรื่องเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ต่อไป 
    "การเดินทางมายื่นเรื่องในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ก่อนหน้านี้ แต่เป็นการศึกษาจากการดำเนินคดีกับพระภิกษุในหลายๆ กรณีที่ผ่านมา ขอยืนยันไม่ได้เป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" เลขานุการ อพช.กล่าว 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่กลุ่มพระภิกษุของ อพช.จะเดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นด ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ อพช.ยื่นเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน เพื่อให้พิจารณาก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"