เกือบจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีข่าวว่า อาเซียนเสนอให้กองทัพเมียนมา “หยุดยิง 4 เดือน” เพื่อเปิดทางให้ความช่วยเหลือจากข้างนอกเข้าประเทศ...กับคำประกาศจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติให้ประชาชน “ลุกฮือทั่วประเทศ" เพื่อ "ต่อต้านรัฐบาลทหาร"
นั่นย่อมหมายความว่า ความสงบและการหาทางออกจากวิกฤตซ้อนวิกฤตของพม่านั้นคงจะยุ่งยากสลับซับซ้อนต่อไป
คำถามของผมคือ กองทัพเมียนมาจะยอม “หยุดยิง" 4 เดือนเพื่อเปิดทางให้อาเซียนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าประเทศ...และเพื่อริเริ่มขบวนการ “เจรจาต่อรอง” ระหว่างมิน อ่อง หล่าย กับอองซาน ซูจี จริงหรือ?
ถึงวันนี้ยังต้องลุ้นกันครับว่า รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน Erywan Yusof ที่ได้รับเลือกเป็นทูตพิเศษอาเซียนว่าด้วยกิจการเมียนมา จะสามารถเดินทางเข้าเมียนมาในเร็ววันเพื่อเปิดหน้าต่างเล็กๆ ในการแสวงหาสันติภาพได้หรือไม่
หาไม่แล้วอาเซียนจะถูกมองว่า “ไร้น้ำยา” โดยสิ้นเชิง
เพราะรัฐประหารในเมียนมาเกิดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ ถึงวันนี้กว่า 7 เดือนแล้ว อาเซียนก็ยังไม่สามารถทำให้คนเมียนมาเห็นว่าองค์กรภูมิภาคแห่งนี้จะเป็นความหวังในอันที่จะกดดันให้กองทัพต้องถอยจากการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาฟังเสียงเรียกร้องประชาชน
นายเอรีวาน ยูซอฟ บอกว่าได้คุยกับเมียนมาแล้ว เขายินยอมตามข้อเสนอหยุดยิง 4 เดือนเพื่อเปิดทางให้นำความช่วยเหลือเข้าไปในเมียนมา
เอรีวาน ยูซอฟ ในฐานะ “ทูตพิเศษอาเซียน” บอกว่าได้ประชุมหารือทางวิดีโอออนไลน์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา วันนา หม่อง ละวิน
หลังจากนั้นเขาบอกกับสำนักข่าวเกียวโดว่า รัฐบาลทหารเมียนมายินยอมทำตามข้อเสนอให้หยุดยิง
เอรีวานอธิบายว่า ข้อตกลงนี้มิใช่เพียงแค่ “การหยุดยิงทางการเมือง” เท่านั้น
หากแต่เป็นการสงบศึกเพื่อรับประกันความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม ที่จะนำความช่วยเหลือต่างๆ ส่งเข้าไปในเมียนมา
ตามความเข้าใจของนักการทูตอาเซียนท่านนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาไม่มีข้อขัดข้องต่อข้อเรียกร้องที่อาเซียนเสนอไป
ผู้แทนพิเศษของอาเซียนบอกว่า ขณะนี้กำลังมีการเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อให้สามารถเดินทางเข้าไปได้ ซึ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นก่อนเดือนตุลาคมนี้
นั่นย่อมหมายรวมถึงโอกาสที่ทูตพิเศษอาเซียนจะได้พบกับนางอองซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาด้วย
ประเด็นนี้แหละที่ผมไม่แน่ใจว่า มิน อ่อง หล่ายเปิดไฟเขียวแล้วหรือยัง
เพราะหากตัวแทนอาเซียนได้พบกับอองซาน ซูจีจริง ก็จะต้องพร้อมที่จะแถลงให้ชาวโลกได้รับทราบว่าเธอมีจุดยืนอย่างไร
ไม่ต้องแปลกใจที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมาบางคนเตือนว่า ไม่ควรที่จะไว้ใจรัฐบาลทหารของเมียนมาในเรื่องการหยุดยิง
ที่รับปากอาจจะเป็นเพราะต้องการความช่วยเหลือจากข้างนอก แต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้ว กองทัพจะมีลูกเล่นเบี้ยวข้อตกลงเรื่องหยุดยิงและเปิดทางให้คุยกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างไรนั้นก็ยังไม่อาจจะเดาได้
มอว์ ฮตัน อ่อง รัฐมนตรีช่วยของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ รัฐบาลเงาของเมียนมา ยืนยันว่าอาเซียนต้องยืนยันกับรัฐบาลทหารเมียนมาให้ชัดเจนว่า จะต้องหยุดการสังหารและโจมตีทำร้ายประชาชนของตนเองอย่างจริงจังจึงจะถือเป็นการ “หยุดยิง” จริง
ความช่วยเหลือที่ว่านี้จะมาในรูปของอุปกรณ์ผลิตออกซิเจนและเวชภัณฑ์ต่างๆ สำหรับสู้โควิด
อีกทั้งจะต้องส่งถึง “ทุกกลุ่มในเมียนมาอย่างเป็นธรรม”
แต่กระแสความไม่พอใจรัฐบาลทหารก็ได้มาถึงจุดที่รัฐบาลเงายกระดับการต่อสู้เผด็จการ ทำ “สงครามภาคประชาชน” เพื่อถอนรากถอนโคนกองทัพ
"ดูวา ลาชี ลา" รักษาการประธานาธิบดีในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ประกาศผ่านวิดีโอที่โพสต์ในเฟซบุ๊กวันก่อน เรียกร้องให้พลเมืองเมียนมาทุกคนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบกองทัพเมียนมาในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
อีกทั้งยังเรียกร้องให้ข้าราชการทุกคนที่ทำงานภายใต้รัฐบาลทหารผละงาน
ขอให้ทหารเข้าร่วมกับประชาชนเพื่อต่อสู้กับศัตรูของประชาชน
คำประกาศนี้ยังบอกว่าจะขับไล่มิน อ่อง หล่าย และโค่นระบอบเผด็จการออกไปจากเมียนมาเพื่อให้สามารถจัดต้้งสหพันธรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติสุข ที่ปกป้องความเสมอภาคอย่างที่พลเรือนทุกคนปรารถนามาอย่างยาวนาน
ที่น่าสนใจคือ ความเคลื่อนไหวล่าสุดทั้งจากอาเซียนและกองฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร มีขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะเปิดสมัยประชุมประจำปีนี้
ทั้งสองฝ่ายคงพยายามที่จะแสวงหา “ความชอบธรรม” ในเวทีระหว่างประเทศในจังหวะที่สำคัญนี้
ถ้าไม่มีการ “หยุดยิง” ก็ไม่มีความช่วยเหลือเข้าไป และหากมีการประกาศ “สงครามประชาชน” ก็ย่อมหมายความว่า ความรุนแรงและความทุกข์ยากของประชาชนคนเมียนมาก็จะลากยาวต่อไป...ไม่มีจุดสิ้นสุดในเร็ววันนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |