การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปี 2563 ผ่านระบบ Zoom มีผู้เข้าร่วม 592 คน
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล / พี่น้องภาคีเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ 600 คน ร่วมประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ นำข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ประเด็น เช่น การจัดการโควิด ภัยพิบัติ ปัญหาที่ดิน กลุ่มชาติพันธุ์ รัฐธรรมนูญประชาชน ความมั่นคงทางอาหาร เสนอทบทวนและยกเลิกเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ผันน้ำยวม ฯลฯ โดยจะนำข้อเสนอในที่ประชุมเสนอกระทรวง พม.และ ครม.พิจารณาตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 และเสนอตั้ง ‘กลไก 5 ฝ่าย’ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของประชาชนให้เป็นจริง-สร้างสังคมที่เป็นธรรม
สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศ และเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรง เพราะตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถนำปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาในตำบลมาประชุม ปรึกษาหารือ เสนอแนวทางพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้
ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ 7,795 แห่ง ทุกปีจะมี ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อ “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ” (พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 (3))
ภาคประชาชน 600 คนร่วมประชุมระดับชาติ
โดยในวันนี้ (10 กันยายน) มีการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2564 ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. โดยประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meetings ตามมาตรการป้องกันโควิด มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ผู้แทนภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ฯลฯ ทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมประมาณ 600 คน พร้อมทั้งผู้แทนองค์กรต่างๆ ร่วมปาฐกถาและแสดงความคิดเห็น โดยมีนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรี พม.รับมอบข้อเสนอจากผู้แทนสภาองค์กรชุมชน
วิรัตน์ พรมสอน
นายวิรัตน์ พรมสอน ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล (เกษตรกรจากจังหวัดเชียงราย)รายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนว่า ปัจจุบันได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว รวม 7,795 แห่ง (ร้อยละ 99.62 ของจำนวนพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) มีสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล ประกอบด้วยผู้แทนชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 254,944 คน มีกลุ่มหรือองค์กรชุมชน หรือเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จดแจ้ง จำนวน 156,280 องค์กร
ทั้งนี้ในช่วงปี 2564 ได้มีการสอบทานคุณภาพของสภาองค์กรชุมชนตำบลผ่านระบบ google form จำนวน 7,061 แห่ง แบ่งระดับความเข้มแข็งจาก A-C ดังนี้ ระดับความเข้มแข็ง A จำนวน 1,816 แห่ง (คิดเป็น 25.72%) ระดับความเข้มแข็ง B จำนวน 1,951 แห่ง (คิดเป็น 27.63%) ระดับความเข้มแข็ง C จำนวน 1,006 แห่ง (คิดเป็น 14.25%) ระดับความเข้มแข็ง D จำนวน 2,288 แห่ง (คิดเป็น 32.40%)
จากการรวบรวมผลงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศพบว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ในด้านต่างๆ รวม 12 ด้าน เช่น บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวม 3,016 แห่ง คุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2,872 แห่ง เสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขให้ อปท.นำไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น 3,215 แห่ง ส่งเสริมให้องค์กรชุมชน สมาชิกสภา และประชาชนทั่วไป มีความเข้มแข็ง 2,913 แห่งฯลฯ
นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนยังทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพานิชย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ใช้พื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่ต้นแบบในการควบคุมก่อนปลดล็อกพืชกระท่อม) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานการประสานสนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย
ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนร่วมประชุมกับ ป.ป.ส. เพื่อใช้พื้นที่สภาฯ เป็นต้นแบบในการควบคุมพืชกระท่อม
รวบรวม 9 ประเด็นปัญหาจากทั่วประเทศสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย
การเตรียมจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลในปี 2564 นี้ มีการจัดเวทีทั่วภูมิภาค เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนประสบนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอ นอกจากนี้ยังมีการจัดสมัชชาเชิงประเด็นเพื่อนำมาสังเคราะห์รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอเพื่อนำเข้าสู่การประชุมในระดับชาติฯ ในวันนี้ (10 กันยายน) ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1 การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด มีข้อเสนอ เช่น รัฐบาลควรประกาศให้โรคระบาดโควิด – 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ในมนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และให้ทุกจังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการปัญหาได้ทุกมิติ
ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการเงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีข้อเสนอ เช่น รัฐบาลควรการกำหนดรูปแบบ/วิธีการใช้งบประมาณในลักษณะ “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากระดับตำบล” โดยจัดให้มีกลไกใหม่ในการบริหารกองทุนแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน กำหนดระเบียบวิธีการใช้งบประมาณแบบพิเศษ ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ฯลฯ
ประเด็นที่ 3 การแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่ทำกิน-ที่อยู่อาศัย มีข้อเสนอ เช่น 1.ข้อเสนอเร่งด่วน ให้มีกระบวนการการปรับแก้เนื้อหาในกฎหมายลำดับรอง ประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่จำกัดสิทธิชุมชน จำกัดสิทธิการทำกินตามวิถีวัฒนธรรม และสิทธิชุมชนในการถือครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยชะลอการประกาศออกไปจนกว่ากระบวนการปรับแก้จะแล้วเสร็จ
2.ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ปรับแก้/ผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับประชาชนเข้าชื่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ยกเลิกคำสั่ง ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้มิติความมั่นคงมาจัดการทรัพยากร ผลักดัน “สิทธิชุมชน” ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ประเด็นที่ 4 การสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ มีข้อเสนอ เช่น ให้มีการเยียวยากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพออกจากชุมชนในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและจัดให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอกับความต้องการที่จำเป็น ให้เร่งดำเนินการศึกษาและออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ดั้งเดิมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ให้เกิดความมั่นคงในการดำรงวิถีชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีศักดิ์ศรี ให้มีการนิรโทษกรรมหรือยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง ฯลฯ
ประเด็นที่ 5 การทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสร้างระบบเศรษฐกิจเกื้อกูลโดยใช้การจัดการทางธุรกิจเป็นแกนกลางระดับตำบล มีข้อเสนอ เช่น (1) เขตเศรษฐกิจพิเศษ เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 โดยเร่งด่วนที่สุด เสนอให้ยกเลิกผังเมือง EEC และให้กลับไปใช้ผังเมืองรวมจังหวัดแต่ละจังหวัดตัวเดิม จนกว่าจะมีการร่วมกันออกแบบผังเมือง EEC ร่วมกันผ่านเครื่องมือ SEA และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน คือ ร่วมออกแบบ ร่วมกำหนด การพัฒนา และร่วมตัดสินใจ
ประเด็นที่ 6 กฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชน กรณีการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และกรณี ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้และกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ......มีข้อเสนอ เช่น (1) กรณีการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญ (ฉบับประชาชน) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เคารพสิทธิของประชาชนเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยใช้กลไก สสร. หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ออกแบบให้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และองค์กรอิสระมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และไม่ควรมีอำนาจหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญใหม่ต้องพูดถึงการกระจายอำนาจ และสิทธิของประชาชนกลุ่มต่างๆให้มีความชัดเจนขึ้น
ประเด็นที่ 7 ความมั่นคงทางอาหาร มีข้อเสนอ เช่น คณะรัฐมนตรีต้องการทบทวนการเข้าร่วม Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และหันมาวางพื้นฐานการพัฒนาระบบการผลิตของเศรษฐกิจฐานล่างให้มีความเข้มแข็ง และวางพื้นฐานให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคาม รวมถึงภัยอุบัติใหม่ ให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันทางด้านความมั่นคงทางอาหารของพลเมืองอย่างเพียงพอ
รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการจัดการที่ดินแนวใหม่เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มั่นคงต่อการผลิตอาหารตั้งแต่ในระดับชุมชน โดยให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีบทบาทสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาของตนเอง เร่งรัดให้มีการจัดสิทธิที่ดินโดยกลุ่ม/ชุมชน แทนการจัดการแบบปัจเจก ทำให้คนจนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นการยึดโยงให้ที่ดินทำกินยังคงเป็นของชุมชน ฯลฯ
ประเด็นที่ 8 กรณีปัญหาเชิงพื้นที่ มีดังนี้ 1.กรณีโครงการผันน้ำยวม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก 2.กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 3. กรณีโครงการสัมปทานเหมืองแร่หินเขาโต๊ะกรัง จังหวัดสตูล และ 4.กรณีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อเสนอให้ทบทวนหรือยกเลิกโครงการเหล่านี้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ประเด็นที่ 9 ข้อเสนอการจัดตั้งกลไกเพื่อการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายสาธารณะ เสนอให้มีการจัดตั้งกลไก 5 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง (รัฐบาล) เจ้าหน้าที่รัฐระดับกระทรวงฯ ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน คณะทำงานระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล และผู้แทนประเด็นปัญหา ในรูปของ “คณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอตามมติที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล” (ระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) และให้มีการกำหนดบาทบาทหน้าที่ เพื่อให้กลไกดังกล่าวมีการขับเคลื่อนและติดตามข้อเสนอต่างๆ ให้บรรลุผล หรือมีความก้าวหน้าตามข้อเท็จจริงต่อไป
ทั้งนี้ข้อเสนอทั้งหมด 9 ประเด็นนี้ ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลจะนำเสนอไปยังรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 (3) เพื่อ “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ” ต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |