ดีเดย์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา สำหรับประเทศจีนออกกฎเหล็ก ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมออนไลน์เกินสัปดาห์ละ 3 วัน และอนุญาตให้เล่นตั้งแต่วันศุกร์ เสาร์ และวันอาทิตย์เท่านั้น และให้เล่นได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง หรือตั้งแต่ 20.00-23.00 น. ด้วยเหตุผลปัญหาการกระทบสุขภาพเด็กด้านต่างๆ และลดปัญหาคุณน้องๆ หนูๆ ติดเกมลง อีกทั้งให้เด็กๆ มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น
แต่ที่น่าสนใจ น่าจะเป็นกรณีที่บริษัทผลิตเกมออนไลน์ชื่อดังยักษ์ใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่าง Tencent และ NetEase ก็ได้ออกมาตอบรับนโยบายดังกล่าว แม้ว่ากฎเหล็กดังกล่าวจะทำให้บริษัทผลิตเกมออนไลน์แดนมังกรสูญเสียรายได้ในกลุ่มของเด็กเล็กอายุไม่ถึง 18 ปีก็ตาม
โดยเฉพาะบริษัทผลิตแพลตฟอร์มเกมออนไลน์อย่าง Tencent ที่คิดค้นนำเอาเทคโนโลยีในการสแกนใบหน้า เพื่อให้จดจำใบหน้าของเด็กๆ ที่เข้ามาเล่นเกมออนไลน์ที่บริษัทผลิตขึ้น เพื่อไม่ให้มีการเข้ามาลงชื่อซ้ำแอบเล่นเกม เกินกฎข้อห้ามดังกล่าว
ย้อนกลับไปที่จีนบังคับใช้กฎเหล็กข้างต้น มาตั้งแต่ปี 2019 กระทั่งปัจจุบัน ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมออนไลน์ได้น้อยลงถึงวันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง กระทั่งเหลือวันละ 1 ชั่วโมงตามกฎข้างต้น...สิ่งที่เกิดขึ้นก็เกิดคำถามสะท้อนมายังหน่วยงานบ้านเรา ที่จะมีการออกกฎหรือข้อห้ามในการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้อย่างไร และมีโอกาสจะขานรับคำสั่ง ในการอนุญาตให้เด็กเล่นเกมแต่พอดี เหมือนประเทศจีนหรือไม่อย่างไร มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับเด็กด้านเกมออนไลน์ และการใช้โซเชียลในเด็กอย่างปลอดภัย มาสะท้อนมุมมองไว้น่าสนใจ
“คุณชาย-พงศ์ธร จันทรัศมี” ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า “ประการแรกสิ่งที่ประเทศจีน ได้ออกกฎข้อห้ามการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เกินสัปดาห์ละ 3 ครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปวัฒนธรรมด้านต่างๆ ในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ ดังนั้นกฎเหล็กดังกล่าวก็ถือเป็นนโยบายหนึ่งในการปฏิรูปประเทศของจีน เพื่อให้เด็กเล็กเล่นเกมออนไลน์น้อยลง มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น และถามว่าทำไมจีนจึงทำนโยบายดังกล่าวสำเร็จ ส่วนหนึ่งจีนเป็นผู้ผลิตเกมออนไลน์เอง ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงสามารถควบคุมกำกับได้โดยง่าย
กลับกันถ้าถามว่าบ้านเราจะทำตามนโยบายข้อห้าม เรื่องการเล่นเกมออนไลน์ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ต้องย้อนกลับไปที่เรื่องของนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในบ้านเราไม่เด็ดขาด ประกอบกับเกมออนไลน์ดังกล่าว เราไม่ได้ผลิตเองหรือเป็นผู้รับปลายทาง จึงทำให้การบล็อกเกมที่รุนแรงในเด็กได้ยาก และในส่วนของภาคประชาสังคมเอง เกี่ยวกับการเล่นเกมออนไลน์ในเด็กเล็กต่ำกว่า 18 ปี ก็ยังเป็นเพียงข้อถกเถียงกัน ยังไม่ได้ออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งจะมีเพียงแค่การรณรงค์ให้เด็กเล่นเกมออนไลน์อย่างพอดี
ดังนั้นหากบ้านเรามีนโยบายที่ชัดเจนและภาครัฐเป็นผู้ออกกฎข้อบังคับ หรือเป็นผู้ที่ออกหน้าในเรื่องนี้ ก็จะทำให้การปฏิบัติตามนโยบายเหมือนในประเทศจีน มีความชัดเจนมากขึ้น และเมื่อบ้านเรามีกฎข้อบังคับจากภาครัฐออกมาจริงๆ นั่นจะทำให้เกิดเครื่องมือ กลไกในการรับมือและป้องกันปัญหาเด็กเล่นเกมออนไลน์มากเกินไปได้ นั่นจึงสะท้อนให้ว่าการเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านนั้น โดยเฉพาะการรับมือปัญหาการติดเกมออนไลน์จะเกิดขึ้นไม่ได้หากว่าบ้านเรายังมีนโยบายการจัดการที่ไม่ชัดเจนอยู่ ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของการสร้างความมั่นใจในการออกกฎข้อบังคับเรื่องการให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์อย่างเหมาะสม แต่การประกาศข้อบังคับเรื่องนี้เป็นของกระทรวงสาธารณสุข นั่นจึงพอสรุปได้ว่าการออกนโยบายข้อเรื่องห้ามเรื่องดังกล่าวจากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งบ้านเรายังไม่มีการศึกษา เกี่ยวกับผลกระทบในเด็กจากการเล่นเกมออนไลน์อย่างชัดเจน
“แม้ว่าปัจจุบันจะมีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่พยายามรณรงค์เรื่องนี้อยู่ แต่ก็ไม่สามารถออกหน้าอย่างชัดเจนได้ แต่พยายามทำตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการรณรงค์เรื่องการให้เด็กเล่นเกมออนไลน์อย่างพอดี หรือหลายหน่วยงานที่พยายามหาแนวทางลดระยะเวลาในการเล่นเกมในเด็กเล็กลง ในขณะที่ประเทศจีนสามารถที่จะบล็อกเกมอันตราย และรุนแรงในเด็กได้ทันที เพื่อให้เด็กไม่อยู่ในการเล่นเกมรุนแรงดังกล่าว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราจึงเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำ เพราะความจริงแล้วรัฐบาลเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ และมีอำนาจในการผลักดันการป้องกันการเล่นเกมออนไลน์ ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ ดังนั้นประการสำคัญถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ในประเทศไทย รัฐบาลต้องพร้อมเดินหน้าเพื่อออกกฎข้อบังคับในเรื่องนี้ เพื่อให้เด็กเล่นเกมอย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลต่อสุขอนามัยของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ”
ทว่าปัญหาหนึ่งของการป้องกัน ปัญหาเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เกี่ยวกับการเล่นเกมออนไลน์ ที่หากในอนาคตรัฐบาลบ้านเราเป็นผู้ออกกฎข้อบังคับ การเล่นเกมอย่างเหมาะสมแล้วในเด็กเล็กแล้ว แต่ข้อเสียคือนโยบายที่ออกโดยภาครัฐจะเป็นรูปแบบของการบังคับควบคุมมากกว่าการกำกับดูแล หรือเป็นยาแรงที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามได้ โดยเฉพาะการต่อต้านนโยบายของรัฐบาลจากเด็กๆ
ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติให้ข้อมูลว่า “สิ่งที่ง่ายที่สุดและเป็นเรื่องที่พอจะสามารถดำเนินการ รับมือกับปัญหาเด็กติดเกมออนไลน์ได้นั้น คือการทำในลักษณะการกำกับดูแล และให้คณะกรรมการมองเรื่องนี้เป็นเชิงเศรษฐกิจ เช่น การที่ภาครัฐบาลนั้นจัดตั้งให้มีคณะกรรมการในการกำกับดูแล เป็นต้นว่ามีคณะกำกับดูแลธุรกิจเกมออนไลน์ในบ้านเรา ซึ่งคล้ายกับธุรกิจประกันภัย ที่จะต้องมีคณะกรรมการในการดูแลทุกอย่าง เรื่องการประกันภัยอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ทุกคนได้สิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง ดังนั้นถ้ามีการจัดตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับธุรกิจเกมออนไลน์ในบ้านเราขึ้นมา ก็จะทำให้สามารถห้าม หรือป้องกันเด็กเล่นเกมที่รุนแรงได้ หรือแม้แต่การห้ามเก็บเงินกับเด็กเล็กในราคาสูงเกินไปได้ หรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นต้น
เนื่องจากการจัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ที่เกิดจากภาครัฐนั้น ถือเป็นการจัดตั้งกลุ่มคนทำงานที่จะมาช่วยสกรีนทั้งเกมออนไลน์ ตลอดจนการเล่นที่เหมาะสมให้กับเด็กในแต่ละช่วงวัยได้ โดยปราศจากการบังคับควบคุมโดยเด็ดขาด ที่อาจทำให้เกิดการต่อต้านได้ในภายหลัง ที่สำคัญเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นกำกับควบคุมดูแลธุรกิจเกมออนไลน์ในบ้านเราแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแรก มันอาจจะมีข้อถกเถียง หรือข้อโต้แย้งจากผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้อยู่บ้าง หรือแม้แต่ตัวเด็กๆ เอง แต่สุดท้ายแล้วมันจะทำให้สังคมเห็นว่ามีปัญหาเรื่องนี้อยู่จริง และเราต้องร่วมกันแก้ไขและรับมือไปด้วยกัน”
“คุณชาย-พงศ์ธร” บอกอีกว่า “หากบ้านเรายังไม่มีการกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลเสียต่อเด็กโดยตรง เพราะจะทำให้เด็กอยู่กับการเล่นเกมมากขึ้น และบางคนก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้เป็นคนที่รุนแรงก้าวร้าว และถ้าเด็กโตที่อายุมากกว่า 18 ปีติดเกม ก็จะทำให้ก่อเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้เกิดกับเด็กทุกคนที่ติดเกมก็ตาม แต่ปัญหาเด็กติดเกมถือเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและคนรอบข้างได้ ดังนั้นบ้านเราต้องเริ่มแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้แล้วครับ และที่ลืมไม่ได้นั้นครอบครัวสำคัญที่สุด เพราะเป็นสถาบันหลักสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กๆ ให้เป็นคนดี ดังนั้นถ้าพ่อแม่คุยกับลูก และถามลูกว่าวันนี้เล่นเกมอะไร? และเนื้อหาเกมเป็นอย่างไร? ซึ่งพ่อแม่สามารถใช้ช่วงเวลานี้สอนลูกได้ว่า เกมไหนที่เด็กๆ เล่นได้และเกมไหนที่เล่นไม่ได้ หรือแต่สอนให้เด็กรู้จักควบคุมค่าใช้จ่ายในการเล่นเกมที่เหมาะสม หรือเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องเล่นที่ต้องเสียเงินซื้อแต้ม เป็นต้น หรือแม้แต่การจำกัดเวลาในการเล่นเกมที่ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือก่อนเล่นเกมให้ทำการบ้านก่อน สิ่งเหล่านี้จะเป็นวินัยที่ติดตัวเด็กไปตลอดครับ”
ด้าน “คุณชลิดา ทาเจริญศักดิ์” ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ที่มีประสบการณ์ลูกชายเล่นเกมออนไลน์สมัยยังเด็ก บอกว่า “สำหรับปัญหาเด็กเกมออนไลน์นั้น โดยเฉพาะในบ้านเรานั้น เด็กไทยจะเริ่มเล่นเกมออนไลน์ตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ อีกทั้งเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน เด็กก็จะไม่มีคนที่คอยควบคุมดูแล ประกอบกับการที่พ่อแม่ยุ่งกับงาน เด็กก็จะถูกปล่อยให้อยู่หน้าจอมากขึ้น อีกทั้งหากบ้านไหนที่ไม่มีระบบห้ามปราม ที่สำคัญปัจจุบันเด็กออกไปเล่นนอกบ้านได้ลำบากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ปัจจัยเหล่านี้ก็สามารถกระตุ้นให้เด็กติดเกมออนไลน์ได้
“วิธีรับมือกับปัญหานี้ที่ดีที่สุดนั้น ในฐานะผู้ที่มีลูกชายเคยเล่นเกม สมัยตอนที่เขายังเด็กๆ นั้น แต่ตอนนี้เขาโตแล้ว ก็อยากแนะนำว่า พ่อแม่เองควรจะพูดคุยกับลูก และอนุญาตให้เด็กเล่นเกมในเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสมกับวัยเขา และต้องคอยดูคอยว่าลูกเล่นเกมอะไร มันรุนแรงไหมสำหรับเด็ก เพราะอย่าลืมว่ายังมีเกมออนไลน์ดีๆ อย่างเกมประวัติศาสตร์ ที่สอนเรื่องการบริหารจัดการ หรือแม้แต่เกมออนไลน์ที่เกี่ยวกับการสร้างเมืองต่างๆ ซึ่งในเกมก็จะมีการสอนให้เด็กบริหารจัดการเมือง วางแผนการดำเนินงานของเมืองออนไลน์ที่สร้างขึ้น หรือตอนที่ลูกชายยังเล็กๆ เขาก็จะชอบเล่น เกมผู้จัดการทีมฟุตบอล เป็นต้นค่ะ แต่อันที่จริงมันก็มีเกมรุนแรงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เช่น เกมยิงกันเลือดท่วมจอ เกมสงครามการล่าอาณานิคมต่างๆ ที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน ถ้าพ่อแม่ไม่ระมัดระวัง เพราะถ้าจะห้ามเด็กเล่นเกมเลย ก็ถือเป็นเรื่องยาก และแม้ว่าช่วงนี้พ่อแม่จะมีเวลาว่างให้กับลูกหลานมากขึ้น แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มกลับมาดีขึ้น เด็กจะกลับไปอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เหมือนเดิม
“ดังนั้นถ้าจะถามว่าแล้วบ้านเราจะทำเหมือนประเทศจีนได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าถ้าจะสกรีนเรื่องเกมออนไลน์ในเด็กเล็กนั้น กระทรวงไอซีที หรือการจัดตั้งผู้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาทำงาน ในการเลือกเกมออนไลน์ที่เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก ก็ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมได้ทางหนึ่งค่ะ ในฐานะที่ลูกชายเคยเล่นเกมออนไลน์ตอนเด็กนั้น เนื่องจากการเลี้ยงดูของเรา คือการที่จะไม่เลี้ยงลูกแบบไม่คาดหวังให้เขาเป็นที่ 1 แต่ให้เขาเอาตัวรอดได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ประกอบกับเวลาที่ลูกเล่นเกม เราก็จะแค่เดินไปดูไปถามว่าลูกเล่นเกมอะไร ดังนั้นการที่เขาเล่นเกม และรู้จักเลือกเกมที่ฝึกสมองสอนการวิเคราะห์ อีกทั้งการเรียนก็ยังอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ดีและไม่แย่ ประกอบการเลี้ยงของเราที่ไม่ได้ล้อมกรอบอะไรลูกมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาสามารถจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องงานและเรื่องเงินและการใช้ชีวิตค่ะ”
ด้าน “ดลย์ ทาเจริญศักดิ์” นักวิจัยภายในองค์กร เล่าว่า “ตอนนี้ผมอายุ 30 ปีแล้วครับ ตอนที่ผมเล่นเกมออนไลน์นั้น ก็จะเล่นตั้งแต่ตอนอายุ 10 ปี จนถึงอายุประมาณ 17-18 ปี เล่นทุกวันครับ ตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึงประมาณ 4 ทุ่ม และเกมที่เล่นนั้น เช่น เกมบริหารเมือง ซึ่งก็จะทำให้เราได้ภาษาอังกฤษ และสามารถวางแผน ตลอดจนการวิเคราะห์วางแผน ซึ่งสิ่งที่ได้จากเกมนั้นมันสอนเรื่องการตัดสินใจ ว่าไม่ให้เราตัดสินใจสุดโต่ง เพราะนั่นถือเป็นข้อดี ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่เกมเกี่ยวกับการสร้างอารยธรรมมนุษย์ (Civilization) เช่น ถ้าเรากำลังสร้างเมืองอาหาร เราก็จะต้องมีการบริหารจัดการส่วนต่างๆ ของเมือง เพื่อเป็นการกันการถูกโจมตี อีกทั้งต้องมีการสร้างไอเท็มต่างๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับเมืองที่อยู่รอบๆ เมืองของเรา เป็นต้น ซึ่งเกมสร้างอารยธรรมมนุษย์ (Civilization) ปัจจุบันผมมีเพื่อนอายุ 40 ปี ที่ตอนนี้ยังเล่นเกมนี้อยู่เลยครับ
“ย้อนกลับไปตอนที่ผมเล่นเกมออนไลน์นั้น การเรียนไม่เสียไม่ดี แต่อยู่ในระดับปานกลางครับ ดังนั้นในฐานะที่ผมเล่นเกมออนไลน์มาก่อน มองว่าอันที่จริงแล้วเด็กสามารถแยกโลกของเกมออกจากเรื่องจริงได้ครับ หากว่าเด็กคนนั้นรู้จักเลือกเกมที่ดี เช่น เกมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่น เกมบริหารเมืองที่ผมบอกไปแล้ว แม้ว่าปัจจุบันเกมที่ยิงกันและตีกันรุนแรงมันก็มีอยู่จริง ดังนั้นส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ที่สามารถคอยชี้แนะเกมที่ดีให้กับลูกได้ หรือการที่เวลาลูกเล่นอะไร พ่อแม่เล่นด้วย ก็ทำให้พ่อแม่ใกล้ชิดลูกและสอนลูกไปด้วยในตัว เมื่อนั้นครอบครัวก็จะอบอุ่นมากขึ้น
“สำหรับการห้ามเด็กเล่นเกม หรือจำกัดเวลาในการเล่นนั้น ต้องบอกว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจว่าเกมรุ่นใหม่เป็นอย่างไร คืออะไร ดังนั้นการห้ามจะเป็นเรื่องใหญ่ นั่นจะทำให้เด็กไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร และทำไมต้องห้ามเล่น หรือแม้แต่การที่เด็กเล่นเกมยิงต่อสู้กัน แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้น เด็กจะรู้ว่ามันทำไม่ได้ในชีวิตจริง แต่สิ่งที่เล่นนั้นเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ไปในเกมที่เล่นเท่านั้น โดยสรุปแล้วเรื่องการห้ามเด็กเล่นเกมออนไลน์เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ในจีนนั้น เรื่องนี้ผมมองว่า มันอยู่ที่ว่าเราสามารถให้เหตุผลเด็กได้หรือไม่ว่า ทำไมเด็กควรหยุดเล่นเวลานี้ หรือพูดง่ายๆ ว่าต้องหาเหตุผลที่ดีพอสำหรับการหยุดเล่นเกม หรือจำกัดการเล่นเกมให้เด็กรู้ เช่น ถ้าเล่นเกมนานเกินไป เด็กอาจจะไม่ได้ทำการบ้าน หรือสุขภาพตาจะเสีย ดังนั้นพ่อแม่ต้องคุยกับลูก เป็นต้น แต่ไม่ใช่การห้ามเด็กเล่นเกม เพราะไม่เพียงทำให้เกิดการต่อต้าน เพราะอันที่จริงแล้วการเล่นเกมก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะเด็กๆ สามารถเรียนรู้ และรู้จักการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ได้จากเกมครับ”
ปิดท้ายกันที่ “น้องแชป-ศุภฤกษ์” นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 14 ปี บอกว่า “ส่วนตัวแชปก็เล่นเกมออนไลน์ ซื้อไอเท็มต่อสู้กันครับ เล่นมาประมาณ 3 ปี วันละประมาณ 2 ชั่วโมงครับ เพราะต้องเรียนออนไลน์ และทำการบ้านด้วยครับ ส่วนตัวมองว่าการห้าม หรือการจำกัดเวลาในการเล่นเกมของเด็กนั้น เป็นเหมือนการยิ่งยุให้เด็กอยากเล่นเกมขึ้นไปอีก และรู้สึกว่าไม่มีอิสระในการเล่นเกมและการใช้ชีวิต สำหรับการแก้ปัญหาการจำกัดเวลาเล่นเกมให้เหลือน้อยลงต่อสัปดาห์นั้น รวมถึงการจำกัดเวลาเล่นเกมช่วง 2 ทุ่ม-3 ทุ่มนั้น
“แชปมองว่าการแบ่งเวลาให้ถูกในการเล่นเกม เป็นสิ่งที่เด็กๆ สามารถยอมรับได้ครับ หมายความว่าเล่นได้วันจันทร์-วันเสาร์ วันละ 1-2 ชั่วโมง และเวลาที่เหลือตลอดทั้งวัน ก็ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน หรือทำการบ้านที่ครูสั่ง โดยการถามเพื่อนและพี่ให้ช่วยอธิบาย หรือแม้แต่การที่พ่อแม่ขายของออนไลน์ เช่น ใน 1 วันของแชปนั้น จะเรียนออนไลน์ 8 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมงเย็น พอถึงเวลาบ่าย 3 โมงเย็น ก็ช่วยงานบ้านอย่างการกวาดบ้านครับ ส่วนเวลา 4-6 โมงเย็นก็เล่มเกมครับ จากนั้นช่วงเย็นก็กินข้าวและคุยกับพี่ๆ น้องๆ ครับ ที่สำคัญแชปคิดว่าเด็กส่วนใหญ่ก็อยากจะเล่นเกมทุกวัน แต่เล่นวันละ 1-2 ชั่วโมง และก็สามารถใช้เวลาที่เหลือเกือบตลอดทั้งวัน ช่วยงานบ้านและทำงานต่างๆ ส่งครูครับ ส่วนตัวแชปจะเล่นเกมวันจันทร์-วันเสาร์วันละ 2 ชั่วโมง ส่วนวันอาทิตย์ก็แบ่งเวลาให้กับการรับผิดชอบตัวเอง ด้วยการซักเสื้อผ้า และเตรียมอุปกรณ์การเรียนในวันจันทร์ครับ สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการเล่นเกม คือการสร้างความผ่อนคลายช่วงเบรกเรียนออนไลน์ครับ และทำให้เรารู้จักการบริหารจัดการ หรือรู้ว่าไอเท็มไหนที่เราควรไม่ควรซื้อในเกม และเรียนรู้การใช้โซเชียล ในการช่วยที่บ้านขายของออนไลน์เมื่อมีเวลาว่างครับ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |