“ประวิตร” โยนรัฐบาลเลือกตั้งตัดสินใจเรื่องนิรโทษกรรมที่ “เอนก” จุดพลุ ส่วน ปชป.ย้ำชัดไม่เอาแน่ ด้านเอนกแจงเป็นการอภัยโทษหลังกระบวนการยุติธรรมสิ้นสุดแล้ว แต่หากนิรโทษกรรมได้ก็ยิ่งดีต่อความสามัคคี "วิษณุ" เผยรัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวาย 2 กฎหมายลูกแล้ว “มีชัย” ย้ำ กกต.ต้องรีบคลอดปฏิทินเลือกตั้งเพื่อให้ทุกฝ่ายมาร่วมเคาะ ส่วนหย่อนบัตรท้องถิ่นยังไม่ชัดว่าเอาอย่างไร
ข้อเสนอของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่เสนอให้นิรโทษกรรมเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายนมีการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมกล่าวว่า ถ้าจะทำก็ทำ ควรเป็นเรื่องของรัฐบาลเลือกตั้ง ส่วนจุดประสงค์เขาเป็นอย่างไรไม่ทราบ ต้องไปถามนายอเนก เพราะไม่ได้อยู่พรรคนี้
เมื่อถามว่าการบอกว่าเรื่องนี้ควรเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หมายความว่าเกิดขึ้นได้และน่าจะนำไปสู่หนทางปรองดองและยุติความขัดแย้งได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า "ไม่รู้ คุณคิดของคุณเอง คิดแบบนั้นใช่ไหม ส่วนจะเป็นสัญญาณบวกสำหรับประเทศหรือไม่ ก็ไม่รู้ แล้วแต่คนมอง"
ถามอีกว่านายเอนกระบุว่า รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นวันข้างหน้าน่าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าไม่รู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องไปดูก่อนว่าจะทำได้อย่างไร ต้องให้ทุกพรรคการเมืองร่วมมือกัน ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มองว่าตอนนี้ถึงเวลาทุกพรรคควรจับมือกันเพื่อให้เกิดการปรองดองหรือยัง พล.อ.ประวิตรตอบว่าตอนนี้ก็ปรองดองแล้ว เดี๋ยวก็ปรองดอง ตอนนี้ก็ไม่เห็นมีอะไร มีคนคิดแตกแยกไม่กี่คน
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวประเด็นนี้ว่า กลุ่มคนที่ไปทำพรรคนี้ส่วนใหญ่บอกว่าผลักดันการปฏิรูปและสู้กับระบอบทักษิณ แต่นายเอนกพูดเสมอว่าจะทำพรรคแบบลืมอดีต ซึ่งตอนนี้ท่าทีของนายเอนกบอกว่าพร้อมจับมือกับทุกพรรค พร้อมลืมอดีต และพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะว่าในการทำงานของนายเอนกที่ผ่านมาหลายสถานะได้เสนอความคิดทำนองนี้ ฉะนั้นอยู่ที่สมาชิก รปช.ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนการทำเรื่องนิรโทษกรรมหรือปรองดองมันสลายขั้วหรือกลุ่มการเมืองจริงหรือไม่
“ผมสนับสนุนให้นิรโทษกรรมคดีของประชาชนเล็กน้อย แต่ในเรื่องของบางคดีถ้าเรานิรโทษกรรมเหมือนกับเรากำลังส่งสัญญาณให้ใช้ความรุนแรง ในที่สุดก็ไม่มีความผิดหรือทุจริต อันนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมือง แต่เป็นการปล้นทรัพยากรของแผ่นดิน เพียงเพราะเขามีอำนาจ อันนี้อันตรายมาก” นายอภิสิทธิ์ระบุ
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.กล่าวว่า นายเอนกคงไปคุยกับใครบางคนมาแล้ว จึงออกมาจุดพลุในเรื่องนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคนที่นั่งอยู่ข้างหลัง ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประชาชนออกมาประท้วงนับล้านคนก็ไม่ใช่เพราะผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเรื่องนี้หรือ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดถึงลืมเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว
ปชป.ค้านนิรโทษกรรม
นายวัชระยืนยันว่า ขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการเสนอนิรโทษกรรม เพราะ ปชป.เคยประกาศจุดยืนต่อต้านกฎหมายล้างผิดและแอบอ้างปรองดองไว้ชัดเจน ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก แต่นายเอนกรีบมาเสนอนิรโทษกรรมแบบไทยแลนด์ 4.0 มันไม่ง่ายไปหรือ ส่วนกรณีที่เกรงว่าหากไม่นิรโทษกรรมจะเกิดการฆ่ากันต่อไปนั้น คิดว่านายเอนกคงดูภาพยนตร์มากเกินไป สังคมไม่ได้เรียกร้องให้ฆ่ากันต่อไป แต่สังคมเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเอาผิดกลุ่มบุคคลที่บังอาจละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และสถาบันสำคัญของชาติอย่างอุกอาจแล้วยังลอยนวลอยู่ในขณะนี้
“นายเอนกออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปตั้งพรรคมหาชนร่วมกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เพราะ เสธ.หนั่นขัดแย้งกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณอย่างหนัก แต่วันนี้นายเอนกกลับมาร่วมกับนายสุเทพเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบทอดอำนาจอีก ในฐานะลูกศิษย์ก็เลยงงๆ กับสองนคราประชาธิปไตย แต่สามพรรคการเมืองของนายเอนก” นายวัชระกล่าว
ส่วนนายสิระ พิมพ์กลาง ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อนไทย กล่าวว่า สอดรับกับแนวคิดพรรคเพื่อนไทยที่สนับสนุนแนวทางปรองดอง ซึ่งก่อนหน้านายเอนกได้ทำเรื่องนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อยากให้มารับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายจริงๆ เพราะบางเรื่องที่ทำไปอาจจะยังผิดเพี้ยนไป หากมาจับมือทำร่วมกันเชื่อว่าจะเกิดความปรองดองอย่างแท้จริง อย่างน้อยก็ขยับไปได้อีกเปลาะหนึ่ง
ค่ำวันเดียวกัน นายเอนกโพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas ระบุว่า "ผมพูดเรื่องนิรโทษไป ในความหมายที่ชวนให้เรารู้รักสามัคคี เท่าที่เป็นไปได้ แต่แน่นอนต้องอยู่ใต้ตัวบทกฎหมายและหลักยุติธรรมครับ ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก อะไรผิดทำให้ถูกไม่ได้ รปช.มีจำนวนหนึ่งที่มาจาก กปปส. พวกเขาได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และพร้อมที่จะรับคำตัดสินพิพากษา ไม่ว่าคำตัดสินนั้นจะเป็นอย่างไร ถูกจำถูกปรับ ถูกรอลงอาญา หรือตรงกันข้าม พิพากษาว่าไม่ผิด และหวังว่าทุกฝ่ายจะน้อมรับคำตัดสินพิพากษาด้วยเช่นกัน
นั่นเป็นความตั้งใจของพวกเขา ส่วนผมนั้นในฐานะคนไทยที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบสันติ ก็มีเพียงความหวังว่า หลังจากกระบวนการยุติธรรมสิ้นสุดแล้ว สังคมไทยที่มีเมตตาธรรมอยู่แล้วจะมีกระบวนการทางกฎหมาย ที่จะลดหย่อนโทษลง ที่เรียกตามภาษากฎหมายว่าอภัยโทษ และหากจะดำเนินไปจนถึงขั้นนิรโทษได้ ก็จะดียิ่งกับความสมานสามัคคี ย้ำนะครับ หลังจากรู้แล้วว่าใครผิด ใครถูก ในเรื่องอะไร ความผิดขนาดไหน และใครไม่ผิด"
นายเอนกระบุต่อว่า ตนได้แต่หวังว่าหากเราทั้งหลายจะยื่นมิตรไมตรีเข้าหากันบ้างหรือพอควรบ้าง ก็จะทำให้การยอมรับเรื่องผิดถูกนั้นอาบอิ่มด้วยความเมตตา การให้อภัย และการลืมเรื่องเก่าบ้าง ที่ตนพูดไปยังไม่ใช่จุดยืนและนโยบายของพรรค เรื่องสำคัญอย่างนี้จะต้องมีกระบวนการภายในพรรคด้วย
สำหรับความคืบหน้าในการเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่ายังไม่บอกว่าเป็นเมื่อไหร่ สถานที่ไหน เอาเป็นว่าที่บอกว่าเป็นปลายเดือน มิ.ย.ก็คือปลายเดือน มิ.ย. จะเอาอะไรอีก
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญการได้มาซึ่ง ส.ว.ทั้ง 2 ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะทำให้ได้ ส.ส.กระจัดกระจาย ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากว่า เป็นเพียงการคาดการณ์เพราะยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง ไม่มีใครเดาใจประชาชนได้
บี้ กกต.รีบคลอดปฏิทิน
เมื่อถามว่า การเลือกแบบไพรมารีโหวตจำเป็นต้องนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ขอย้ำว่า กรธ.ไม่ได้ออกแบบเรื่องนี้ เป็นหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเมื่อมีแล้วก็ต้องเดินตาม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องทำผังกำหนดเวลาออกมาว่าเริ่มเมื่อไหร่ แล้วสิ้นสุดลงเมื่อใด จากนั้นก็ต้องไปดูว่าในแต่ละขั้นตอนเริ่มอย่างช้าที่สุดเท่าไร ตรงนี้ต้องให้ กกต.เป็นคนพูด และให้ กกต.เป็นคนทำผังให้ดูว่าอย่างน้อยจะไปสู่การเลือกตั้งต้องใช้เวลาเท่าใด สิ้นสุดลงเมื่อใด ตรงนี้ต้องชัดเจน
"เมื่อกฎหมายมีเราก็ต้องปฏิบัติตาม จะไปยกเลิกอะไรก็ต้องไปพูดคุยกัน เพราะตรงนี้ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เราต้องเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรก็ต้องคุยกัน การเมืองถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ เราต้องเห็นดีเห็นงามด้วยกัน ดังนั้นผัง กกต.ควรออกมาให้เร็ว เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันให้เกิดความชัดเจนว่าทั้งหมดต้องใช้เวลาเท่าไร แล้วให้ทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลได้มาตัดสินใจด้วย" นายมีชัยกล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีข้อเสนอใช้มาตรา 44 ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตว่า หากไม่ทำไพรมารีจะตอบสังคมอย่างไรกรณีให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งปัญหาทั้งหมดเหมือนแม่น้ำ 5 สายทำให้ทุกอย่างไม่สอดคล้องกับสิ่งที่โฆษณาหรือสิ่งที่พูดไว้ โดยสร้างอุปสรรคกันเอง อย่างการไม่ปลดล็อกก็ทำให้การทำไพรมารียากยิ่งขึ้น รวมทั้งการไม่แบ่งเขตเลือกตั้งด้วย ซึ่งเรื่องแบ่งเขตเป็นตัวปัญหามาจากตัวล็อกที่ คสช.ทำเอาไว้หลายชั้น คือ 1.เมื่อทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้ กกต.จะแบ่งเขตเลือกตั้งต้องไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งเขาก็ตีความว่าการไปรับฟังความคิดเห็นเป็นกิจกรรมทางการเมือง แม้ กกต.จะบอกว่าแบ่งไว้หลายแบบแต่เขาเดินหน้าไม่ได้ และ 2.สนช.จงใจให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. แม้ประกาศแล้วก็ยังไม่ให้ใช้บังคับ โดยต้องเลื่อนไป 90 วัน กลายเป็นว่าถึง กกต.ทำเรื่องแบ่งเขตเสร็จ ก็ยังไม่สามารถประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้
“ผมไม่นิยมการใช้มาตรา 44 ยกเลิกการทำไพรมารี และไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมหรือไม่ คำสั่ง คสช.ต้องแก้ด้วยคำสั่ง คสช. เช่นเรื่องปลดล็อกก็ใช้ได้ เพราะใช้มาตรา 44 สร้างไว้ แต่หากมาตรา 44 ไปใช้กับกฎหมายจะมีปัญหา เพราะกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการทูลเกล้าฯ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทาราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สำนักงาน กกต.ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรอิสระและรัฐสภา ในการยกระดับเจตจำนงทางการเมืองการต่อต้านการทุจริต ระหว่างสำนักงาน กกต. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกต. สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติป้องกันการทุจริตของนักการเมือง พรรคการเมือง และส่งเสริมให้พรรคการเมืองและนักการเมืองแสดงออกซึ่งเจตจำนงต่อต้านการทุจริต เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมติดตามการดำเนินการตามเจตจำนงที่ให้ไว้
เลือกตั้งท้องถิ่นยังเคว้ง
ส่วนความคืบหน้าการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ... หากรับฟังความคิดเห็น 30 วันแล้ว เราก็ต้องมาสรุปและเสนอไปที่รัฐบาลเพื่อปรับแก้ ส่วนแนวโน้มการปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือไม่เป็นการพิจารณาของ สนช. โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ กกต.ในเวลาที่กำหนด
“การเลือกตั้งท้องถิ่นหรือการเลือกตั้ง ส.ส.จะเกิดขึ้นก่อนนั้นยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.มีฐานะเป็นผู้ควบคุม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเลือกตั้ง แต่ในฐานะผู้ควบคุม กกต.ก็ต้องควบคุมให้ดี แต่ กกต.ก็ได้ขอไว้ว่าการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือกตั้งท้องถิ่นควรห่างกัน 3 เดือน ซึ่งกฎหมายอันไหนมีผลบังคับก่อนก็ปฏิบัติไปตามนั้น และยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมจัดเลือกตั้งทุกระดับ” นายศุภชัยกล่าว
ขณะที่นายวิษณุกล่าวถึงกรณี กกต.ประเมินว่าจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ในเดือน พ.ค.62 ว่าไม่ทราบเรื่อง ทั้งหมดนั้นเป็นการคาดการณ์ของ กกต. ทั้งนี้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมีทั้งหมด 6 ฉบับ ส่งไปให้ กกต.รับฟังความคิดเห็นแล้ว 1 ฉบับ เหลืออีก 5 ฉบับอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เดิมที กกต.ระบุว่าการจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นขอให้ทอดระยะเวลาห่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ 3 เดือน ซึ่งจะจัดการเลือกตั้งประเภทใดก่อนหรือหลังก็ได้ โดยตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะจัดการเลือกตั้งระดับชาติก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่
เมื่อถามว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดได้เร็วกว่า พ.ค.2562 ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ตอนไหน และใช้เวลาพิจารณานานเท่าไร รวมถึงขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเมื่อกฎหมายประกาศใช้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 45-60 วัน
“ยังไม่ได้ตั้งเป้า แต่เมื่อการจัดทำกฎหมายล่าช้า จะทำให้มันเร็วขึ้นโดยฉบับใดแล้วเสร็จก็จะนำมารับฟังความคิดเห็นก่อนและเข้าสภาก่อน แทนที่จะรอไปทีเดียวทั้ง 6 ฉบับ” นายวิษณุตอบข้อถามที่ว่ารัฐรัฐบาลยังตั้งเป้าจะเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |